Blog categories

Latest posts

ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

เนื่องจาก การกู้ยืมเงิน เป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่ง จึงต้องยึดถือหลักตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรค 2 ว่า


"สัญญาการกู้ยืมเงิน ย่อมบริบูรณ์เมื่อส่งมอบเงินที่กู้ยืม การส่งมอบเงินที่กู้ยืม อาจส่งมอบภายหลัง (ฎีกาที่ 4684/2536**)

.

หลักฐานการกู้ยืมเงิน อาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมเงินก็ได้ แต่จะต้องมีในขณะฟ้อง

.

               วันที่ 5 มีนาคม 2556 ทีมทนาย Thai Law Consult ได้รับ e-mail จากคุณจำนงค์, คุณดำริ, คุณแดง ปรึกษาเรื่องหลักฐานการกู้ยืมเงิน จึงได้นำเรื่องนี้มาลงไว้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายสู่ประชาชนครับ

 

หลักฐานการกู้ยืมเงินและการใช้เงิน ป.พ.พ. มาตรา 653

               การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาท ขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (วรรค 1)

               ในการกู้ยืมเงิน มีหลักฐานเป็นหนังสือ จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม หรือหลักฐานการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือแทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้ว (วรรค 2)

  • หลักฐานแห่งการกู้ยืม อาจเกิดจากเอกสารหลายฉบับมาประกอบกันได้ (ฎีกาที่ 2406/2520)
  • หลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงอาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมเงินก็ได้ (ฎีกาที่ 2162/2542)
  • แต่หลักฐานนั้น จะต้องมีในขณะฟ้อง ดังนั้น จะถือเอาคำให้การหรือคำเบิกความของผู้กู้ในคดีนั้นมาเป็นหลักฐานการกู้ยืม เงินไม่ได้ (ฎีกาที่ 312/2504)

 

               หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือตกเติม กรณีผู้กู้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า

  • ถ้ากรอกจำนวนเงินตรงตามความเป็นจริงที่กู้ยืมกัน ก็ไม่เป็นเอกสารปลอม ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ (ฎีกาที่ 5685/2548***)
  • แม้จะไม่ได้ความยินยอมจากผู้กู้ก็ตาม (ฎีกาที่ 7428/2543***)

 

Thai Law Consult ได้นำฎีกาที่ 4684/2536, 5685/2548, 7428/2543 มาลงไว้ข้างล่างนี้ เพื่อตอบคำถามของคุณจำนงค์, คุณดำริ, คุณแดง แล้วครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4684/2536

ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง 

          ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาค้ำ ประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1ต่อธนาคาร โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไว้กับโจทก์จำนวน 80,000 บาท เพื่อเป็นประกัน ดังนั้น แม้ในขณะนั้นสัญญากู้เงินจะยังไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสองแต่ก่อนฟ้องคดี ธนาคารได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปแล้วเท่ากับจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1ได้รับเงินตามหนังสือสัญญากู้นับแต่ธนาคารได้หักเงินของโจทก์ชำระหนี้ของ จำเลยที่ 1 หนังสือสัญญากู้จึงเป็นหนังสือสัญญาที่บริบูรณ์มีมูลหนี้ใช้บังคับกันได้ตาม กฎหมาย 

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 80,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในวันที่15 เมษายน 2528 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเงิน 100,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นหนี้เงินกู้และรับเงินกู้จากโจทก์แต่อย่างใด เดิมโจทก์ไปทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 ต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาอุดรธานีจำนวน 80,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากู้ดังกล่าวให้โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้แก่ธนาคารเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1ขอสัญญากู้คืน แต่โจทก์บอกว่าทำลายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกู้จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน

          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากู้เงินกันไว้ เพื่อเป็นประกันก่อนที่จำเลยที่ 1 จะไปกู้เงินจากธนาคารโดยให้โจทก์ค้ำประกันนั้น แม้ในขณะนั้นสัญญากู้เงินจะยังไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อก่อนฟ้องคดีนี้ ธนาคารได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปแล้วเท่ากับจำนวนเงินตามสัญญากู้ย่อมถือได้ว่าหนังสือสัญญากู้นั้น จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญากู้นับแต่ธนาคารได้หักเงินของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1หนังสือสัญญากู้จึงเป็นหนังสือสัญญาที่บริบูรณ์ มีมูลหนี้ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย ฯลฯ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารได้หักเงินโจทก์ชำระหนี้จำเลย ที่ 1 คือวันที่ครบกำหนดชำระคืนตามสัญญากู้

          พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญากู้(วันที่ 15 เมษายน 2528) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ 

( อุดม มั่งมีดี - จเร อำนวยวัฒนา - สุชาติ ถาวรวงษ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5685/2548

ป.พ.พ. มาตรา 653
ป.อ. มาตรา 265 

          หนังสือสัญญา กู้เงินมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และหนังสือสัญญาค้ำประกันมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันเป็นการกรอกข้อความที่มีมูลหนี้กันจริงแม้จะเป็นการกรอกข้อความภายหลัง ที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันแล้ว ก็ไม่ทำให้หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม หนังสือสัญญาทั้งสองฉบับจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสอง

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 525,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542) ต้องไม่เกิน 125,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ดังกล่าวแทนจนครบ

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อ เท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกัน มีปัญหาว่า หนังสือสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 ต้องการกู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท แต่ไม่มีหลักทรัพย์จึงให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีที่ดินและบ้านเป็นผู้กู้ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันยังไม่ได้กรอกข้อความแต่จำเลย ที่ 2 ได้รับเงินกู้จากโจทก์จำนวน 400,000 บาทแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 กรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และหนังสือสัญญาค้ำประกันกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่โจทก์ในจำนวน 400,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กู้โจทก์ อันเป็นการกรอกข้อความที่มีมูลหนี้กันจริง แม้จะเป็นการกรอกข้อความภายหลังที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน และสัญญาค้ำประกันตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างก็ตาม ก็ไม่ทำให้หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม หนังสือสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่านอกจากโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินแล้ว โจทก์ยังให้นายเล็งญาติจำเลยที่ 2 นายสมบูรณ์และนางทิมลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินโดยไม่ได้กรอกข้อความให้ โจทก์ยึดถือไว้ หากจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์ต้องกรอกข้อความในสัญญากู้เงินฉบับละ 100,000 บาท ครบจำนวน 400,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 กู้โจทก์ แต่โจทก์กลับกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และยังกรอกข้อความลงในสัญญากู้เงินของนายเล็ง นายสมบูรณ์และนางทิม แล้วนำมาฟ้องต่อศาลชั้นต้น จึงเกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์นั้น เห็นว่า หากฟังได้ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ไม่มีผลให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นความรับผิด แต่อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แม้โจทก์จะให้นายเล็ง นายสมบูรณ์และนางทิม ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินตามที่จำเลยทั้งสองฎีกากล่าวอ้างก็เป็นเรื่องที่ นายเล็ง นายสมบูรณ์และนางทิม ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ซึ่งแยกเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับ จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

( มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด - วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - คมวุฒ บุรีธนวัต )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7428/2543

ป.พ.พ. มาตรา 653
ป.วิ.พ. มาตรา 84, 177

          จำเลยให้การรับแล้วว่าได้กู้ยืม เงินโจทก์ไปจริงตามที่โจทก์ฟ้องโดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษที่ไม่มีการ กรอกข้อความไว้ แม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ ได้รับความยินยอมจากจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ยืมตามความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เกิน กว่าที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้ตกลงกันไว้ จึงเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็น สำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2532 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 25,000 บาท ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15ต่อปี กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 30 เมษายน 2532 เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยไม่ได้นำเงินมาชำระหนี้โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยรวมค้างดอกเบี้ยเป็นเวลา 7 ปี 11 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 29,375 บาท คิดถึงวันฟ้องจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 54,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 54,375 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 25,000 บาท ไปจากโจทก์จริงโดยการกู้ยืมครั้งนี้โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษที่ ไม่มีการกรอกข้อความไว้ และเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยเป็นรายเดือนเดือนละ 1,250 บาทจำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุก ๆ เดือนตลอดมา สัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จึงเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับ โจทก์ไม่มีสิทธินำมาฟ้อง เงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์เมื่อปี 2532 จำเลยนำไปชำระให้เสร็จสิ้นเมื่อปี 2535 หลังจากที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจำเลยก็ได้ทวงถามขอสัญญาที่ลงลายมือ ชื่อไว้โดยมิได้กรอกข้อความคืน แต่โจทก์อ้างว่ายังหาไม่พบและหากฟังได้ว่าจำเลยยังคงค้างชำระหนี้เงินกู้ โจทก์ โจทก์ก็คงเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้เพียง 5 ปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมเท่ากับว่าการกู้ยืมเงินระหว่าง โจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืม ฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่แท้จริง จำเลยยังคงค้างชำระตามฟ้อง สิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ค้างชำระยังไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระหนี้จำนวน54,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้นำเงินจำนวน 3,240 บาทคำนวณหักออกจากจำนวนดอกเบี้ย

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "จำเลยฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงขึ้นมาเพียงประเด็นเดียวว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 25,000 บาท ทำสัญญากู้เงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานตามสำเนาสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 25,000 บาท ไปจากโจทก์จริง โดยการกู้ยืมครั้งนี้โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อ ความไว้สัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จึงเป็นสัญญาปลอมทั้งฉบับ โจทก์ไม่มีสิทธินำมาฟ้อง ดังนั้นตามคำให้การของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยรับแล้วว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป จริงตามที่โจทก์ฟ้อง โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษที่ไม่มีการกรอกข้อความไว้ แม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่าสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมา ฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์กรอกข้อความขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยก็ ตาม แต่โจทก์ได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ยืมตามความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เกิน กว่าที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้ตกลงกันไว้ การกู้ยืมเงินครั้งนี้จึงเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือ ชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่จำเลยฎีกาโต้เถียงขึ้นมา จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"

          พิพากษายืน

( สมศักดิ์ วงศ์ยืน - ดลจรัส รัตนโศภิต - ประพันธ์ ทรัพย์แสง )

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 24-4-56)