Blog categories

Latest posts

บทความจาก คุณสลิลทิพย์ ทิพย์พิมานชัย      มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 ในการเดินทางบนเส้นทางของนักกฎหมายนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่ามีผู้คนจำนวนไม่ น้อยที่ใฝ่ฝันจะได้เป็น ทนายความ  อัยการ ผู้พิพากษา และสิ่งหนึ่งที่ใฝ่ฝันในก้าวแรกนั้นคือการเป็นเนติบัณฑิต และก้าวต่อไปสู่สนามสอบต่างๆ เพื่อที่จะได้ไปสู่จุดหมายที่ทุกคนใฝ่ฝัน และแม้การจะได้เป็นเนติบัณฑิตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้ที่มีความ พยายามและมีความมุ่งมั่นที่จะต้องเป็นเนติบัณฑิตให้ได้

            ในการเตรียมตัวก่อนเริ่มเรียนเนติบัณฑิตนั้น ข้าพเจ้าได้เริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่เรียนปริญญาตรีปี ๔ เทอม ๒ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากเทอมนี้เป็นเทอมสุดท้ายแล้วมีเพียงไม่กี่วิชาที่ลงเรียน ดังนั้นจึงมีเวลาว่างพอในการเตรียมตัว โดยข้าพเจ้าได้สั่งซื้อหนังสือคำบรรยายของปีที่แล้วมาดูว่าในการสอบเนติฯ นั้นต้องสอบทั้งหมดกี่วิชา แต่ละวิชามีเนื้อหาที่ต้องสอบอะไรบ้าง โดยแยกคำบรรยายออกเป็นรายวิชาเพื่อสะดวกในการอ่าน และหากมีเวลาที่ว่างเว้นจากการเรียนหรือการอ่านหนังสือทบทวนเนื้อหาที่เรียน ในชั้นปริญญาตรีแล้ว ข้าพเจ้าก็จะอ่านคำบรรยายเนติฯสะสมไปเรื่อยๆจนถึงเปิดภาคการศึกษาเนติฯ

             ในส่วนของการเรียนนั้นการบรรยายในชั้นเรียนก็จะมีการบรรยาย ภาคปกติ ภาคค่ำ และภาคทบทวนซึ่งแล้วแต่ว่าแต่ละคนสะดวกในการเข้าฟังการบรรยายช่วงไหน หากใครที่ทำงานไปด้วยเรียนเนติฯไปด้วยก็อาจเข้าฟังการบรรยายในภาคค่ำหรือภาค ทบทวน ส่วนใครที่เรียนอย่างเดียวก็อาจเข้าฟังการบรรยายภาคปกติและภาคค่ำควบคู่กัน ไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าฟังการบรรยายให้ครบทุกวิชา อาจจะเลือกฟังเฉพาะวิชาที่เรารู้สึกว่าเราเรียนแล้วเข้าใจก็พอแล้ว  ในส่วนตัวข้าพเจ้านั้นเนื่องจากข้าพเจ้าได้มีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะใช้เวลา เรียนให้ได้ภายใน๑ปี ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ทำงานไปด้วย และได้เลือกเข้าเรียนในภาคปกติและภาคค่ำ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เข้าฟังครบหมดทุกวิชาแต่ได้เลือกเข้าฟังการบรรยายเป็นบาง วิชาเท่านั้น และในขณะฟังการบรรยายของอาจารย์อยู่นั้น ข้าพเจ้าก็จดบันทึกเป็นสรุปจากคำบรรยายของอาจารย์มาเป็นภาษาของตนเองสั้นๆ เพราะเมื่อนำกลับมาอ่านทบทวนอีกครั้งจะทำให้อ่านได้เร็วและเข้าใจได้ง่าย ขึ้น หรือหากในบางวิชาที่อาจารย์พูดเร็วทำให้จดไม่ทัน ข้าพเจ้าก็จะเอาคำบรรยายในปีก่อนที่ได้แยกออกเป็นรายวิชาไว้มาเปิดอ่านและ ฟังตามที่อาจารย์บรรยายในห้อง เนื่องจากในแต่ละปีการศึกษานั้นเนื้อหาหรือคำพิพากษาฎีกาที่นำมาสอนในห้อง เรียนก็ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่อาจจะมีคำพิพากษาฎีกาใหม่ๆเพิ่มเติมเข้ามาบ้างเล็กน้อย ซึ่งจุดนี้เองเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้พยายามคอยติดคำบรรยายเล่มใหม่ที่ออกมา ในแต่ละสัปดาห์ว่ามีคำพิพากษาใดใหม่ๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมบ้าง เพื่อนำมาเปรียบเทียบในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลง

               โดยในการเข้าเรียนนั้นก็อาจจะแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ว่าใครชอบที่จะอ่านคำบรรยายเองมากกว่าที่จะเข้าฟังการบรรยาย หรือใครที่ชอบเข้าฟังการบรรยายมากกว่าการอ่านเอง

               ในส่วนตัวนั้นข้าพเจ้าชอบเข้าฟังการบรรยายในห้องเรียน มากกว่าเนื่องจากในขณะที่อาจารย์สอนอยู่นั้นก็จะอธิบายหลักกฎหมาย คำพิพากษาฎีกาควบคู่ไปกับการเล่าประสบการณ์ในชีวิตจริงหรือยกตัวอย่างประกอบ ไปด้วย ซึ่งทำให้รู้สึกเข้าใจและมองเห็นภาพได้ง่ายขึ้นและหากอาจารย์เน้นตรงไหน ข้าพเจ้าก็มักจะให้ความสำคัญในส่วนนั้นมากเป็นพิเศษ

               ในส่วนของการอ่านหนังสือนั้นหลังเลิกเรียนในแต่ละวัน ข้าพเจ้าจะกลับมาทบทวนในสิ่งที่เรียนไปสม่ำเสมอ ตามทฤษฎีที่ว่า หากปล่อยเวลาผ่านไปเพียง๑วัน ความรู้หายไป๕๐% และหากผ่านไป๑สัปดาห์ ความรู้ก็จะหายไปทวีคูณ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงใช้วิธีการทบทวนสิ่งที่เรียนมาในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการจดจำสิ่งต่างๆเหล่านั้น ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งในการอ่านหนังสือนั้นต้องเอาใจใส่ มีสมาธิและเข้าถึงกับเนื้อหาที่อ่าน อย่าไปคิดว่าอ่านไปเรื่อยๆเพื่อให้จบแต่อ่านแล้วไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจก็ไม่ ได้ผล และในการฝึกหัดทำข้อสอบเก่านั้นก็จะเอาข้อสอบเก่ามาอ่านและดูว่าใน ๒๐ ปี ที่ผ่านมานั้น ข้อสอบออกอะไรมาบ้าง มีประเด็นไหนที่น่าสนใจบ้าง มีมาตราใดที่สำคัญบ้าง และถือเป็นการทบทวนสิ่งที่เรียนมาทั้งหมดไปในตัวโดยข้าพเจ้าพยายามฝึกเขียน ตอบให้ได้อย่างน้อยวันละ ๑-๒ ข้อและลองหัดจับเวลาในการเขียนตอบดูให้ได้ข้อละไม่เกิน ๒๔ นาที เนื่องจากในห้องสอบจริงนั้นจะมีเวลาในการทำข้อสอบ ๑๐ ข้อ เพียง ๔ ชั่วโมงหรือ ๒๔๐ นาที โดยเฉลี่ยแล้วข้อละ ๒๔ นาทีเท่านั้นและพยายามตอบโดยใช้ภาษากฎหมายจากคำพิพากษาฏีกาจะช่วยให้เราได้ คะแนนดีขึ้น

              และเมื่อเวลาในช่วงสอบใกล้เข้ามาถึง เราจะมีเวลาว่างประมาณ๒สัปดาห์ก่อนสอบ เนื่องจากการบรรยายของอาจารย์ในห้องเรียนจะปิดคอร์สก่อนสอบประมาณ๒สัปดาห์ ซึ่งในช่วงเวลานี้ข้าพเจ้าจะทบทวนเนื้อหาที่เรียนมาทั้งหมดโดยส่วนไหนที่ เข้าใจดีแล้วก็จะอ่านแบบไม่เน้นมากแต่ส่วนไหนที่คิดว่าสำคัญหรือที่อาจารย์ เน้นมากเป็นพิเศษในห้องเรียนหรือที่ไม่ค่อยเข้าใจโดยเฉพาะกฏหมายพิเศษที่ ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนมาก่อนในปริญญาตรีก็จะอ่านละเอียดมากขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญขาดไม่ได้เลยนั้นก็คือ ตัวบทกฎหมาย ซึ่งต้องตีความไปทีละตัวเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ามาตรานี้หมายความว่าอย่าง ไรและควรอ่านให้เกิดความเข้าใจจริงๆไม่ใช่เพียงแต่ท่องจำเท่านั้น

               สุดท้ายนี้สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการ เป็นเนติบัณฑิตนั้นคือสมาธิ ความตั้งใจ และมีวินัยในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการจัดตารางเรียนหรือการจัดเวลาในการอ่านหนังสือ ซึ่งหากเรามีความตั้งใจสม่ำเสมอแล้ว ก็ย่อมเป็นไปตามหลักที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น”

 

สลิลทิพย์  ทิพย์พิมานชัย
เนติบัณฑิตไทย สมัย 64