Blog categories

Latest posts

บทความจาก "กาแลลายช้าง" เนติบัณฑิต รุ่น 64

จุดมุ่งหมายของการเรียนเนติบัณฑิต  มิได้เป็นเพียงทางผ่านในการประกอบอาชีพ เช่น ผู้พิพากษาหรืออัยการ เท่านั้น แต่ถือเป็น “วุฒิ” ๆ หนึ่ง  ที่แสดงถึงความรู้ความเข้าใจในการนำตัวบทกฎหมายไปใช้ให้เกิดประโยชน์ที่แท้ จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมากที่สุด ฉะนั้น การเรียนเนติบัณฑิตจึงจำเป็นที่ผู้ต้องการเข้าศึกษาต้องจบปริญญาตรีในสาขา วิชานิติศาสตร์เสียก่อน เพราะการมีความรู้ทางนิติศาสตร์จะทำให้มีความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย ทราบความเป็นมาของกฎหมายเพื่อทำให้สามารถนำกฎหมายมาปรับใช้ได้ตรงตาม เจตนารมณ์

วิธีการศึกษาในระดับเนติบัณฑิตเป็นการศึกษาโดยเน้นตัวบทกฎหมายประกอบกับ การศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกา ในช่วงแรก ๆ นักศึกษาหลายท่าน (รวมถึงผู้เขียน) อาจมีความสับสนหรือยังไม่ถนัดกับการศึกษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจากการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีส่วนใหญ่จะเป็นการเน้นในทางด้านทฤษฎี เน้นการคิด วิเคราะห์ บ้างก็มีการศึกษากฎหมายของต่างประเทศควบคู่ ทั้งยังแยกเป็นรายวิชา เช่น ในสาขาวิชาแพ่งแยกออกเป็น นิติกรรมสัญญา หนี้ ละเมิด หุ้นส่วนบริษัท ตั๋วเงิน ฯลฯ อย่างชัดเจนทำให้นักศึกษาสามารถแบ่งความคิดเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะรายวิชาได้ อย่างชัดเจน ส่วนในการเรียนเนติบัณฑิตนั้นได้รวมวิชาย่อย ๆ ดังกล่าวไว้เป็นกลุ่มเดียว   ส่งผลให้นักศึกษาหลาย ๆ ท่านเกิดอาการท้อใจ รู้สึกว่าเนื้อหามีมากมายเกินจะจำไหว หลายท่านสอบไม่ผ่านทั้งที่จริง ๆ แล้วมีความรู้ความสามารถที่จะสอบได้ บางท่านถึงขนาดยุติการเรียนและเปลี่ยนสายอาชีพไปเลยก็มี

ผู้เขียนต้องขอบอกก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้เป็นคนเรียนดีมาตั้งแต่สมัยระดับ ปริญญาตรี (ถึงขนาดเกือบไม่ได้รับปริญญาพร้อมเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันด้วยซ้ำ) และยังไม่ได้เป็นคนขยันอีกด้วย จนกระทั่งได้มาเรียนเนติฯผู้เขียนจึงได้เริ่มขยันขึ้น ผู้เขียนได้ใช้เวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 2 ปีครึ่ง โดย 1 ปีครึ่งแรก ผู้เขียนสอบไม่ได้เลย กล่าวคือ ปีแรกสอบตกในทุกลักษณะวิชา (แพ่ง อาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง และวิธีพิจารณาความอาญา) และปีที่สองในภาคการศึกษาแรกผู้เขียนก็สอบตกอีกทั้งสองลักษณะวิชา ผู้เขียนเคยคิดจะยุติการศึกษาของตนเองเนื่องจากรู้สึกเหนื่อยมาก จากการเปลี่ยนเป็นคนขยันตั้งใจอ่านหนังสือมาตลอด ทุ่มเททั้งเวลาทั้งกำลังกายกำลังใจสุดท้ายเหมือนไม่ได้อะไรกลับมาเลย ผู้เขียนรู้สึกท้อใจมากแต่ด้วยกำลังใจจากครอบครัว และตัวผู้เขียนเองที่ประสงค์จะพัฒนาตนเองจึงได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการศึกษา และพัฒนาเรื่อยมาจนได้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตในสมัยที่ 64 นี้

ผู้เขียนเชื่อว่านิติศาสตรบัณฑิตที่เพิ่งเริ่มศึกษาในชั้นเนติบัณฑิตจะคำ ถามเกี่ยวกับวิธีการศึกษามากมาย ซึ่งผู้เขียนขอรวบรวมมาตอบจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง แต่ขอบอกว่าคำตอบเป็นเพียงทรรศนะจากผู้เขียนเท่านั้น หลายคนอาจมีวิธีการและความเห็นที่แตกต่างกันไป จึงขอให้ผู้อ่านพึงใช้วิจารณญาณของตนเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย

1)  จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเข้าฟังคำบรรยาย?

            ตอบ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของนักศึกษา เนื่องจากทางเนติบัณฑิตยสภาได้มีบริการจัดทำคำบรรยายให้แก่นักศึกษาอยู่แล้ว หากนักศึกษาไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเรียน การอ่านคำบรรยายก็มีคุณค่าไม่ต่างกับการเข้าเรียน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยุ่กับความถนัดของแต่ละบุคคล เนื่องจากเพื่อนของผู้เขียนบางท่านที่ถนัดการฟังและเรียนรู้จากในห้องเรียน มากกว่าการอ่านคำบรรยายเองก็จะเข้าฟังบรรยายและจะเก็บเกี่ยวจากห้องบรรยาย ได้มากกว่า ส่วนผู้เขียนถนัดการอ่านเองและไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเข้าฟังคำบรรยายจึง เน้นการอ่านคำบรรยายมากกว่า

2)  อ่านแค่หนังสือของตระกูล Jurisprudence  Group หรือเรียกย่อๆ ว่า “จูริส” พอหรือไม่?

            ตอบ หนังสือตระกูลพิสดารจัดเป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมในแง่การจัดกลุ่มของคำ พิพากษาศาลฎีกาเพราะมีการจัดกลุ่มไว้อย่างเป็นระบบตามลักษณะวิชา แต่หากนักศึกษายังไม่มีพื้นความรู้กฎหมายพอเพียงแล้วการเลือกศึกษาทางลัดโดย ใช้หนังสือกลุ่มนี้จะทำให้ไม่เข้าใจ และสับสน เนื่องจากหนังสือกลุ่มนี้แทบจะไม่มีการแยกองค์ประกอบของตัวบทกฎหมายหรือ เขียนคำอธิบายกฎหมายอย่างละเอียดเลย อย่างไรก็ตาม หากนักศึกษามีพื้นความรู้พื้นฐานเพียงพอและไม่มีเวลาอ่านคำบรรยาย การศึกษาโดยใช้หนังสือตระกูลนี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก ทั้งนี้ ห้ามทิ้งตัวบทกฎหมายเด็ดขาดเพราะถึงแม้ข้อสอบในระดับชั้นเนติบัณฑิตจะนิยมนำ คำพิพากษาศาลฎีกามาตั้งเป็นประเด็นคำถามก็ตามแต่ตัวบทกฎหมายก็มีความสำคัญ ไม่แพ้กัน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบประมวลกฎหมาย คำพิพากษาฎีกาต่าง ๆ ก็มีที่มาจากตัวบทกฎหมายในประมวล ดังนั้น หากท่องแต่คำพิพากษาฎีกาเพียงอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจหลักแท้ ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากมีการพลิกแพลงคำพิพากษาศาลฎีกาในข้อสอบ นักศึกษาอาจเสียคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย

3)  สามารถศึกษาเนติบัณฑิตควบคู่ไปกับการศึกษาปริญญาโทหรือการทำงานได้หรือไม่?

            ตอบ ในทรรศนะของผู้เขียน เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับความสามารถในการแบ่งเวลาและการจัดระบบความคิดของ นักศึกษาเพราะในการศึกษาในระดับปริญญาโทแม้จะเป็นการศึกษากฎหมายเหมือนกัน แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาต่างแขนงกัน เนื่องจากปริญญาโทจะเป็นการศึกษาในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงกว่า ทั้งยังเป็นการศึกษาในแง่ของทฤษฎีเสียส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การศึกษาปริญญาโทจะมีการสอบปลายภาคในปลายเดือนกันยายน  และปลายเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการสอบไล่ในชั้นเนติบัณฑิต ทำให้นักศึกษาหลายท่านอาจต้องเลือกว่าจะสอบอะไรดี แต่หากนักศึกษาเป็นผู้วางแผนการศึกษามาตั้งแต่เปิดภาคเรียนแล้ว ผู้เขียนคิดว่าการศึกษาปริญญาโทก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเลยเช่นเดียวกับการทำงาน
สุดท้ายนี้สิ่งที่ผู้เขียนอยากกล่าวแก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาใหม่หรือท่านที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่แต่สอบไม่ผ่าน ขอให้ตั้งใจแต่อย่าหักโหม อย่ากดดันตัวเองมากจนเกินไป ควรใช้ชีวิตให้มีความสุข การใช้ชีวิตที่มีความสุขจะทำให้ผลที่ตามมาดีด้วย ห้ามท้อถอยเด็ดขาดเพราะการเรียนกฎหมายนั้น ถึงแม้เราจะสอบไม่ผ่านแต่ความรู้ที่ได้มาจะไม่มีวันเสียไป และขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แม้ผู้เขียนจะสอบตกติดกันถึงหกครั้ง แต่ก็ยังพยายามต่อไป จนได้เป็นเนติบัณฑิตสมัยที่ 64 สมความตั้งใจ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จครับ

กาแลลายช้าง