ทนายอุดมศักดิ์ ผู้เรียบเรียง
เรื่องจริงจากคดีชาวบ้าน

 

เรื่องที่ 4      การแบ่งทรัพย์สิน ( ที่ดิน )

               


                    การแบ่งทรัพย์สินนั้น ตามหลักกฎหมายได้กำหนดวิธีการแบ่งไว้เป็น 2 วิธีคือ โดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยการขายตัวทรัพย์นั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกัน ถ้าสองวิธีนี้ยังแบ่งกันไม่ได้อีก กฎหมายก็ได้กำหนดให้ไปฟ้องศาล โดยศาลก็จะกำหนดวิธีการแบ่งตามความยุติธรรม  ถ้าเป็นสิ่งของที่หยิบยกแยกกันได้ก็ไม่มีปัญหาอย่างไร แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นที่ดินมักจะมีเรื่องยุ่งๆ เข้ามาเกี่ยวด้วยเสมอ เพราะต่างคนต่างก็อยากได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างเช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ครับ


                    นางมาก นายมี และ นางน้อย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินรวมกันจำนวนเนื้อที่ 16 ไร่ ที่ดินแปลงนี้ บรรพบุรุษของทั้งสามคนได้ยกให้ ด้วยกลัวว่าลูกหลานจะตกลงกันไม่ได้ในภายหน้า ผู้ที่ยกให้จึงได้ระบุส่วนของแต่ละคนไว้ในสารบัญการจดทะเบียนด้านหลังโฉนดว่า  ส่วนของ นางน้อย กับ นายมี รวมกันได้ 3,000 ส่วน และของ นางมาก 3,000 ส่วน เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ เป็นที่ดินที่ได้ออกเป็นโฉนดตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5   จำนวนเนื้อที่ดินที่ได้ทำประโยชน์อยู่จริง จึงมีเนื้อที่มากกว่าที่ระบุไว้ในโฉนด ถึง 8 ไร่

                    ตอนที่ยกให้นั้น ทั้งสามคนนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าที่ดินที่ตัวเองทำกินนั้นมีเนื้อที่อยู่ถึง 24 ไร่  เป็นส่วนของนางมากคนเดียวครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งแปลง (ที่ดิน24ไร่)  ทั้งสามคนนี้ก็ได้ทำนาในที่ดินเรื่อยมา ต่อามาต่างก็อยากที่จะแบ่งที่ดินเป็นโฉนดของตนเอง ส่วนของใครของมัน จึงได้พากันขอให้เจ้าพนักงานที่ดินมาทำการรังวัดที่ดินเพื่อจะแบ่งเป็นโฉนด 3 แปลง  จึงได้รู้ว่าที่ดินที่ตนทำกินมาตั้งนมนานนั้น แท้จริงแล้วมีเนื้อที่มากกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดอยู่ถึง 7 ไร่ โดยเป็นส่วนของนายมีและนางน้อยรวมกัน 12 ไร่ ที่เหลืออีก 12 ไร่เป็นของนางมาก รู้อย่างนี้แล้วก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่เรื่องไม่ได้เป็นอย่างครับ เพราะส่วนของนางมากจำนวน 12 ไร่นั้นเป็นที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดว่าอยู่ในโฉนดเพียง 2 ไร่เท่านั้น ส่วนอีก 10 ไร่ เป็นที่ดินอยู่นอกโฉนด นางมากเมื่อรู้อย่างนี้ก็ไม่ยอมซิครับ ขอให้สองคนนั้นแบ่งที่ในโฉนดให้แก่ตัวเองให้ครบ 8 ไร่ตามที่ได้ระบุส่วนไว้ในโฉนด ข้างฝ่ายนายมีกับนางน้อยก็เลยบอกว่าถ้าแกจะเอาที่ในโฉนดไป แกก็ต้องแบ่งที่ส่วนนอกโฉนดทดแทนให้พวกข้าสองคนด้วย จะได้เป็นครึ่งๆ ตามเดิม ฝ่ายนางมากก็บอกว่าได้งัยล่ะ ก็ที่ส่วนนั้นมันเป็นของฉันนี่ เพราะฉันทำมาหากินอยู่คนเดียวพวกแกจะมาเกี่ยวได้งัยล่ะเออ  เมื่อตกลงกันไม่ได้นางมากจึงได้นำเรื่องไปฟ้องต่อศาล

                    ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่าเมื่อเจ้าของรวมต่างแบ่งแยกครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด  ถือว่าทุกฝ่ายต่างประสงค์ที่จะยึดที่ดินส่วนที่ตนครอบครองเป็นของตนแล้ว จึงมีคำพิพากษายกฟ้องนางมาก

                    นางมากยังไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของทั้งสองศาลนี้ จึงได้ยื่นฎีกาต่อ เมื่อคดีมาถึงศาลฎีกาเป็นที่น่าเสียดายมากเลยครับ เพราะพยานหลักฐานที่ทั้งสามคนได้นำสืบและต่อสู้กันมาเป็นเวลา 11 ปี ศาลฎีกาท่านไม่ได้นำมาใช้ในการตัดสินคดีเลย โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้แบ่งที่ดินในโฉนดให้แก่นางมากจำนวน 3,000 ส่วน  ตามที่ได้ระบุไว้ในโฉนด

                    ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์มาตรา 1364 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน”    

                    ก่อนคดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวางหลักเรื่องการแบ่งที่ดินไว้ว่า หากเจ้าของรวมต่างแยกการครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมอย่างเป็นสัดส่วนแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมกันเองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคแรก (ฎีกาที่ 2503/2523)

                    สำหรับคดีที่ได้เล่าไว้ข้างต้น ศาลฎีกาไม่ได้มีคำพิพากษากลับหลักเดิมแต่อย่างใด แต่ศาลฎีกาท่านได้ตัดสินตามหลักกฎหมายวิธีสบัญญัติซึ่งจะได้อธิบายขยายความป็นเรื่องต่อไปครับ (เรื่องศาลต้องตัดสินตามประเด็นแห่งคดี)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2503/2523

ป.พ.พ. มาตรา 119, 1364

          เหตุที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยกำหนดส่วนของที่ดินด้วย และทำบันทึกให้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ในโฉนดเกิดจากการกระทำของโจทก์และ ว. โดยจำเลยสำคัญผิดในข้อสารสำคัญแห่งนิติกรรมว่าแบ่งตามที่ครอบครองเป็นส่วนสัด จึงตกเป็นโมฆะไม่อาจแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ เมื่อโจทก์จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมต่างครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของเป็นส่วนสัด จึงต้องแบ่งที่พิพาทตามส่วนดังกล่าว

_______________________________ 

          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยต่างแบ่งการครอบครองนาพิพาทเป็นส่วนสัด จำเลยจดทะเบียนบรรยายส่วนด้วยความสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินตามโฉนดที่ 1917 เอกสารหมาย จ.1 โจทก์จำเลยต่างครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด มีแนวเขตแบ่งการครอบครองมาเกินกว่าสิบปี โจทก์ครอบครองที่ดินส่วนทางทิศใต้ภายในเส้นสีแดงจำเลยครอบครองที่ดินส่วนทางทิศเหนือภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทคดีมีปัญหาว่า โจทก์จะขอแบ่งที่พิพาทตามส่วนที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ได้หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่มีการบรรยายส่วนที่ดินนั้นได้ความจากโจทก์ว่า เนื่องจากโจทก์จำเลยต้องการให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามความเป็นจริงที่มีอยู่ ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม เอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า "ข้าฯ (หมายถึงโจทก์จำเลย) จะได้นำชี้แนวเขตในวันทำการรังวัด" จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าโจทก์จำเลยมีความประสงค์ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินแบ่งแยกโฉนดตามแนวเขตที่โจทก์จำเลยต่างครอบครองกันมาเป็นสำคัญ ตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดคำนวณได้ว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3 ใน 4 ส่วน จำเลยมีกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1 ใน 4 ส่วน แต่ตามเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่า จำเลยมีกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1 ส่วน โจทก์มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 ส่วน ซึ่งไม่ตรงกันอาจเนื่องจากจำเลยซื้อที่ดินส่วนของนางจำรัสเพียงคนเดียว ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินส่วนของนางแผ้วกับนางบุญเรือน เชื่อว่าการระบุส่วนของที่ดินตามเอกสารหมาย จ.3 เกิดขึ้นจากความสำคัญผิด เรื่องจำนวนส่วนของที่ดินที่โจทก์จำเลยต่างครอบครองนั้นจำเลยนำสืบว่า เมื่อนางแผ้วได้รับมรดกที่ดินจากนายฮอดแล้ว นางแผ้วแบ่งที่ดินนั้นให้นางจำรัสและนางบุญเรือนคนละครึ่ง นางจำรัสและนางบุญเรือนต่างครอบครองที่ดินคนละครึ่งของที่ดินทั้งหมด โดยนางจำรัสครอบครองที่ดินส่วนทางทิศเหนือนางบุญเรือนครอบครองที่ดินส่วนทางทิศใต้ มีคันนาเป็นแนวเขต ซึ่งเป็นการแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินแล้วโจทก์ก็ครอบครองที่ดินส่วนทางทิศใต้โดยถือคันนานั้นเป็นแนวเขตและปลูกต้นไม้บนคันนาที่เป็นแนวเขตนั้นด้วย เมื่อโจทก์นำชี้เขตที่ดินที่โจทก์ครอบครองให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดตามแผนที่พิพาทก็ปรากฏว่า โจทก์ครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดทางทิศใต้มีแนวเขตแน่นอนมีเนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวาซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมด จึงเป็นเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลย เหตุที่จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและในบันทึกถ้อยคำให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนบรรยายส่วนตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.2 นั้น จำเลยนำสืบว่า โจทก์มาหาจำเลยที่บ้านขอให้จำเลยไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินกันคนละครึ่ง เมื่อจำเลยไปถึงสำนักงานที่ดิน นางวนิดาบุตรโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสาร จำเลยเป็นหญิงชราอายุ 65 ปี อ่านหนังสือไม่ออก เห็นนางวนิดาเป็นคนเขียนข้อความในเอกสารนั้น จำเลยเชื่อว่าข้อความนั้นถูกต้องตามความจริง จึงพิมพ์ลายนิ้วมือให้ไป ข้อนำสืบของจำเลยมีเหตุผลสนับสนุนน่าเชื่อ นอกจากนี้เมื่อโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยจะได้นำชี้แนวเขตให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดต่อไปตามเอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2516 แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่โจทก์จำเลยจะต้องทำบันทึกถ้อยคำจดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลา 2 วันต่อมา ทั้งการจดทะเบียนบรรยายส่วนนั้นก็ไม่ตรงตามส่วนของที่ดินที่โจทก์จำเลยต่างครอบครองมา เหตุที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยกำหนดส่วนของที่ดินด้วย และทำบันทึกให้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ในโฉนด เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของโจทก์และนางวนิดา โดยจำเลยสำคัญผิดในข้อสารสำคัญแห่งนิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ ไม่อาจแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ เมื่อโจทก์จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมต่างครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของเป็นส่วนสัด มีแนวเขตแบ่งการครอบครองแน่นอนมาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี โจทก์จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามส่วนที่โจทก์จำเลยต่างครอบครองมา จึงต้องแบ่งที่พิพาทตามส่วนดังกล่าว

          พิพากษากลับ ให้จำเลยจัดการแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ 1917 ตำบลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ภายในเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ"

 

 

( ภักดิ์ บุณย์ภักดี - ภิญโญ ธีรนิติ - อาจ ปัญญาดิลก )