ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง
ยกหูถึง "พี่ตุ๊กตา"

 

เรื่องที่ 46      สัญญาเงินกู้ท้ายฟ้อง เขียนมากกว่าเงินกู้จริง 10 เท่า เอกสารปลอม สืบพยานบุคคลได้หรือไม่ ป.วิ.พ.94 วรรคท้าย


                    ต้นเดือนตุลาคม 2556 อิทธิพลของพายุหลายลูก ทำให้น้ำท่วมภาคตะวันออกของไทย ปราจีนบุรี สระแก้ว เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน เมื่อพี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ได้รับอีเมล์จากสาวโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ถามว่า กู้เงินแค่ 12,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน ส่งได้ 8 เดือน ขาดส่งมาแล้ว 4 เดือน วันนี้ได้รับหมายศาล พร้อมสำเนาคำฟ้องว่า กู้ยืมเงิน 120,000 บาท ดอกเบี้ยตามกฎหมายสูงสุด ให้ไปศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน ในวันที่..... (3 สัปดาห์ข้างหน้า).... จะทำอย่างไร ดีค๊ะ

                    ในเบื้องต้น พี่ตุ๊กตาได้โทรคุยหลังไมค์และถามข้อมูลเพิ่มเติม น้องเขาตอบมาทางอีเมล์ว่า ต้องส่งดอกเบี้ยเดือนละ 2,400 บาท รวม 8 เดือน เป็นเงิน 19,200 บาท พอดีน้ำท่วมบ้าน ส่งต่อไม่ไหว ขอเจ้าหนี้ว่า ขอผ่อนเฉพาะต้นเงิน เดือนละ 1,200 บาท เป็นเวลา 10 เดือน เจ้าหนี้ไม่ยอม

                    ช่วงนี้ พี่ตุ๊กตา และทีมทนาย Thai Law Consult ติดว่าความ และเตรียมคดีอื่น ๆ ที่นัดหมายไว้ก่อนแล้ว จึงเรียบเรียงเรื่องนี้ไม่ทัน พี่ตุ๊กตาเห็นว่า เรื่องราวทำนองนี้ มักเกิดขึ้นเสมอในรอบปีที่ผ่านมา ThaiLawConsult ได้รับอีเมล์สอบถามเรื่องราวทำนองนี้ไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง พี่ตุ๊กตาจึงควรตอบปัญหานี้ไปพลาง ๆ ก่อน เมื่อทีมทนาย ThaiLawConsult มีเวลามากกว่านี้ จะเรียบเรียงเรื่องนี้นำเสนอเป็นความรู้กฎหมายต่อประชาชน (อดใจรออีกนิดนะคะ)

ตอบเบื้องต้นพลางๆ ก่อน

1.   เจ้าหนี้หรือโจทก์ เขียนสัญญาเงินกู้มากกว่า การกู้ยืมจริง ถึง 10 เท่า เป็นการปลอมเอกสาร ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายอาญา

2.   แต่มีปัญหาว่า จะพิสูจน์อย่างไรว่า เจ้าหนี้ปลอมเอกสาร

3.   ธรรมเนียมการกู้ยืมเงิน เจ้าหนี้มักให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อ โดยไม่กรอกข้อความลงในแบบฟอร์มสำเร็จรูปของสัญญากู้ยืมเงินที่มีขายตามท้องตลาด ถ้าลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ค่อยกรอกข้อความตามความเป็นจริง แล้วฟ้องศาล

4.   เจ้าหนี้ จะเขียนดอกเบี้ย ได้สูงสุดคือ ร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าเขียนเกินกว่า 15 ต่อปี ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่เงินต้นสมบูรณ์

5.   ถ้าเจ้าหนี้เขียนว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมายสูงสุด ศาลมักคิดให้แค่ 7.5% ต่อปี

6.   ดอกเบี้ย ถ้าเขียนเกิน 15% ต่อปี เป็นโมฆะ แต่ถ้าศาลมีคำพิพากษาแล้ว ศาลจะกำหนดดอกเบี้ยให้ ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันพิพากษา (บางคนแย้งว่า นับจากวันฟ้อง)

7.   ถ้าจำเลยให้การว่า สัญญาเงินกู้ในส่วนของจำนวนเงินกู้ไม่ถูกต้อง หรือสัญญาปลอม หรือโจทก์ปลอมเอกสาร ศาลจะให้ จำเลยนำสืบพยานบุคคล ตาม ป.วิ.พ. 94 วรรคท้าย

8.   กรณีสัญญากู้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินไว้ เมื่อผู้ให้กู้จะฟ้องคดี จึงกรอกข้อความระบุจำนวนเงินที่กู้สูงกว่าที่กู้จริง เช่น กู้ยืมเงิน 5,000 บาท โดยให้ผู้กู้ลงชื่อในช่องผู้กู้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ที่ไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมาผู้กู้ไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้จึงกรอกจำนวนเงินในสัญญากู้เป็น 50,000 บาท หรือ 15,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้ฉบับที่นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม พิพากษายกฟ้องโดยผู้กู้ไม่ต้องรับผิดชอบ (ฎีกาที่ 7541/2548)

9.   จึงแตกต่างกับกรณีของการแก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นโดยผู้กู้ไม่ยินยอม ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้ชำระหนี้ตามสัญญาฉบับก่อนมีการแก้ไข เช่น กู้ยืมเงิน 5,000 บาท ต่อมาผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ผู้ให้กู้จึงเติม 0 อีก 1 ตัวเป็น 50,000 บาท หรือเติม 1 เป็น 15,000 บาท แล้วนำสัญญานันมาฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ปลอม แต่ให้จำเลยผู้กู้ รับผิดใช้เงิน 5,000 บาท ตามที่กู้จริง เพราะก่อนฟ้อง การกู้เงิน 5,000 บาท มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ (ฎีกาที่ 1149/2552)

(พี่ตุ๊กตานำมาจากหนังสือคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ ของท่านอาจารย์ปัญญา ถนอมรอด จัดพิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ.2554 โดย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา)

สรุป

1.   ถ้าสาวโรงงานเล่ามาเป็นความจริง เมื่อขึ้นศาล สาวโรงงานไม่ต้องชำระหนี้เลย ตามฎีกาที่ 7541/2548

2.   ทนายป้อม พันศักดิ์ พัวพันธ์ น.บ.ท.64 โทรมาจากนครศรีธรรมราช บอกพี่ตุ๊กตาว่า เมื่อขึ้นศาล สาวโรงงานจะสู้คดียังไง แม้ว่าโจทก์จะฟ้องเป็นคดี ผบ. ซึ่งเปิดโอกาสให้ไกล่เกลี่ยเสมอ คดีนี้ ถ้าสาวโรงงานไม่มีทนายความช่วยเหลือ ก็เหนื่อยนะครับ ความเห็นของผม คดีส่วนใหญ่ ลูกหนี้หรือจำเลยมักผิดนัดชำระหนี้ แล้วมักต่อสู้ว่า เซ็นต์ชื่อในแบบฟอร์มเงินกู้สำเร็จรูปที่ไม่ได้กรอกข้อความอะไรเลย ปัญหาจึงมีว่า ตอนไปกู้ เราหวังได้เงินกู้ จึงประมาท ขาดความระมัดระวัง (มีลูกหนี้กลุ่มหนึ่ง ตอนกู้แสนดี แต่หนีตลอดตอนจ่ายนะครับ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2548

ป.พ.พ. มาตรา 653

          จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง 

________________________________ 

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวมกับเงินที่ทำสัญญากู้เงินไปก่อนหน้านี้หลายครั้งทำเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียว เป็นเงิน 300,000 บาท ยินยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 10 เมษายน 2542 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 363,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้และรับเงินจำนวน 300,000 บาท จากโจทก์สัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม ข้อความในสัญญาเป็นเท็จทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตามฟ้องแก่โจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  

( สุรพล เอกโยคยะ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - เกษม วีรวงศ์ )

 

หมายเหตุ :    ถ้าประชาชนท่านใดมีปัญหาทำนองนี้ ทีมทนาย ThaiLawConsult ยินดีให้คำปรึกษานะคะ ช่วยส่งอีเมล์เล่าเรื่องของท่านมาก่อน พี่ตุ๊กตาจะรีบดูให้ การส่งอีเมล์จะช่วยให้พี่ตุ๊กตามี
โอกาสได้อ่านหลายเที่ยว เพื่อทบทวนข้อมูลที่ท่านส่งมา แม้ว่าบางช่วงพี่ตุ๊กตาและทีมทนาย ThaiLawConsult จะติดว่าความ และเตรียมคดีอื่นที่นัดไว้ก่อนแล้ว ก็จะช่วยดูให้โดยเร็วค่ะ numaphon@gmail.com