ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง
ยกหูถึง "พี่ตุ๊กตา"

 

เรื่องที่ 31      ครอบครองปรปักษ์ ร้องขัดทรัพย์ - คำถามจากนครพนม


                    วันนี้ 27 สิงหาคม 2556 พี่ตุ๊กตาได้รับอีเมล์จากทหารหนุ่ม ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งพ่อแม่เป็นชาวจังหวัดนครพนม ถามเรื่องการครอบครองปรปักษ์ที่ดินว่า

 

                   ผมได้เข้าไปดูหัวข้อแนะนำทนายความรุ่นใหม่ เรื่องที่ 8 คดีครอบครองปรปักษ์ หลักกฎหมาย และตัวอย่างคดี แล้วอยากเข้ามาพบทีมทนาย Thai Law Consult ที่สำนักงาน

                    เบื้องต้น ผมขอให้ข้อมูลดังนี้  "ที่มรดก พ่อซื้อมา 10 กว่าปีแล้ว ยังไม่ได้โอนจากคนเก่า พ่อกับแม่ทำกินมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ตอนนี้พ่อตาย ผมไปดำเนินการเรื่องมรดก จึงทราบว่าที่ดินนี้ ลูกของเจ้าของเดิม ขายให้คนอื่นและติดจำนองธนาคาร ธนาคารฟ้องคดี ตอนนี้กำลังขายทอดตลาด ผมจะทำอย่างไรดีครับ"

                    วันนี้ เมื่อพี่ตุ๊กตาได้รับอีเมล์แล้ว ได้โทรติดต่อกลับไป จึงทราบข้อเท็จจริงว่า ศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนครพนมกำลังดำเนินการขายทอดตลาด

                    กรณีนี้ จึงมีข้อเท็จจริงสรุปเบื้องต้นได้ว่า

1. ที่ดินอยู่ที่จังหวัดนครพนม

2. ศาลจังหวัดขอนแก่น สั่งยึดทรัพย์จำนอง ที่ดินแปลงนี้ขายทอดตลาด

3. เจ้าพนักงานบังคับคดี จังหวัดนครพนม กำลังดำเนินการขายทอดตลาด

4. ที่ดินนี้ มีโฉนดเดียว 19 ไร่ ที่ดินส่วนของคุณพ่อคุณแม่ทหารหนุ่มทำมาหากิน (ทำนา ปลูกบ้าน) มีจำนวน 10 ไร่ อีก 9 ไร่ เป็นของญาติคุณแม่

5. เมื่อ 10 กว่าปีก่อน คุณพ่อซื้อมาจากน้องชายกำนัน ทำสัญญาซื้อขาย ชำระเงินแล้ว แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน

คำถาม - จะดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างไร

ตอบ - ทีมทนาย ThaiLawConsult โทร. 098-915-0963 เห็นว่า กรณีนี้มีหลักกฎหมายดังนี้

1.    ร้องครอบครองปรปักษ์ ต่อศาลจังหวัดนครพนม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบ และ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา ห้าปี ไซร้ ท่านว่า บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ 

2.    ร้องขัดทรัพย์ ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 288 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง มาตรา 55 ถ้าบุคคลใด กล่าวอ้างว่าจำเลย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออก ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อ ศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้กล่าวอ้างนั้นนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษา และจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงาน บังคับคดีโดยลำดับ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาทนั้นไว้ในระหว่าง รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลดั่งที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้

เมื่อได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสิน คดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา เว้นแต่

(1) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนวันกำหนดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้า มาเพื่อประวิงให้ชักช้าศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงิน ต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดไว้ในคำสั่งตามจำนวนที่ ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดี อันเกิดแต่การยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ ความ

(2) ถ้าทรัพย์สินที่พิพาทนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์และมีพยาน หลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีเหตุอันควรฟัง หรือถ้า ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยึดนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินเช่นว่านี้โดยไม่ชักช้า

คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (1) และ (2) ให้เป็นที่สุด

 

                    พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท. 64 ได้เปิดหนังสือวิแพ่งพิศดาร เล่ม 3 หรือ จูริส และหนังสือแพ่งพิศดาร เล่ม 2 ของอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ และปรึกษาทีมทนาย Thai Law Consult ท่านอื่นแล้ว มีความเห็นเหมือนกันว่า

                   "ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขัดทรัพย์ได้มีดังนี้ (1) ผู้เช่าซื้อ (2) ผู้ได้รับสัมปทานป่าไม้ ร้องขัดทรัพย์ไม้ที่ถูกยึดจากป่าที่ได้รับสัมปทานได้ (3) หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์ที่ตนดูแลรักษา (4) เจ้าหนี้ผู้ครอบครองที่ดินประกันหนี้ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินนั้น (5) ผู้ได้กรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามฎีกาที่ 2070/2548

                    โดยมีข้อสังเกตดังนี้ ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

                    พี่ตุ๊กตา และทีมทนาย ThaiLawConsult โทร. 098-915-0963

(A) ขอนำฎีกา 2070/2548 และ 8696/2549 ฉบับเต็ม มาลงไว้เพื่อตอบคำถามของทหารหนุ่ม

 

(B) แต่ควรระวังว่า ที่ดินมือเปล่าที่มีการออกโฉนดภายหลังการนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นี้ ต้องเริ่มนับแต่เวลาที่ออกโฉนด จะนำระยะเวลาครอบครองในขณะที่เป็นที่ดินมือเปล่า หรือที่มีหลักฐานเป็น น.ส.3 มานับรวมด้วยไม่ได้ ตามฎีกาที่ 6462/2548

(C) เมื่อฟ้องว่า ครอบครองปรปักษ์ แต่ความจริง ที่ดินมีโฉนดไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องไม่อาจหวนกลับไปอ้างว่า มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้อีก เพราะที่ดินพิพาทได้กลายเป็นที่ดินมีโฉนด ผู้ใดประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองจะต้องทำโดยวิธีการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น ตามฎีกาที่ 8411/2544 และ 677/2550

(D) ท่านใดที่มีปัญหาได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ถูกครอบครองปรปักษ์ หรือจะฟ้อง หรือจะยื่นคำร้อง ขอครอบครองปรปักษ์ ที่ดิน พี่ตุ๊กตาและทีมทนาย ThaiLawConsult โทร. 098-915-0963 numaphon@gmail.com ยินดีให้คำปรึกษาแนะนำ หาทางออกให้ ติดต่อพี่ตุ๊กตามานะคะ

(E) ในเบื้องต้น พี่ตุ๊กตาได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมจากทหารหนุ่ม โดยเฉพาะสำเนาโฉนดที่ดินแปลงนี้ และราคาประเมินที่ดิน ฉบับปัจจุบันที่รับรองสำเนา และมีความเห็นเหมือนกันว่า ต้องติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จังหวัดนครพนม โดยเร็วที่สุด เพื่อยื่นคำร้องขัดทรัพย์ (เตรียมพร้อมขึ้นศาลขอนแก่น เพื่อร้องขัดทรัพย์ ... เตรียมคดียื่นคำร้องหรือคำฟ้องครอบครองปรปักษ์ ต่อศาลจังหวัดนครพนม ที่ที่ดินตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาล)

(F) และต้องไม่ลืมว่า คดีครอบครองปรปักษ์นี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ต้องเตรียมค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 (ตามราคาประเมินที่ดิน)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2548

ป.พ.พ. มาตรา 1299, 1382 

          โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น แม้ผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา  

________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 ตำบลปลายกัด (ปลายกัดนอก) อำเภอบางซ้าย (เสนากลาง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้ปล่อยการยึดที่ดินดังกล่าว

          โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 ตำบลปลายกัด (ปลายกัดนอก) อำเภอบางซ้าย (เสนากลาง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

          โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องจะยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม หากผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. แต่กรณีของโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรองกับคดีนี้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

( มนตรี ยอดปัญญา - วิบูลย์ มีอาสา - ประจักษ์ เกียรติ์อนุพงศ์ )

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา - นายปรีชา ปีติโกศล
ศาลอุทธรณ์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8698/2549

ป.พ.พ. มาตรา 1300
ป.วิ.พ. มาตรา 287, 288 

          ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาครบถ้วนและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว คงเหลือแต่การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น ถือได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดได้

________________________________ 

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,366,906.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี จากต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความอีก 5,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้ผ่อนชำระ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จำนองแล้ว แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2545 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 27632 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ที่เหลือ

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้มีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด

          โจทก์ให้การ ขอให้ยกคำร้องขอ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของผู้ร้องและโจทก์แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 และชำระราคา 2 งวด รวม 5,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2543 ทั้งได้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ซื้อแล้ว แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องโดยวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การซื้อขายย่อมไม่สมบูรณ์ ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อไม่มีอำนาจร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทได้ ต่อมาเมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว โจทก์คงยื่นคำแก้อุทธรณ์แก้ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเท่านั้น โดยมิได้ยกเหตุโต้เถียงข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่โจทก์ยกเหตุขึ้นอ้างมาในคำแก้ฎีกาว่าผู้ร้องกับพวกร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยไม่มีการชำระราคากันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีอีกนั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วทั้งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 และได้ชำระราคาครบถ้วนรวมทั้งมีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ซื้อแล้ว คงเหลือแต่การจดทะเบียนสิทธิเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าวผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

          พิพากษากลับ ให้ปล่อยที่ดินโฉนดเลขที่ 27632 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่โจทก์นำยึด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

( ชัชลิต ละเอียด - บุญรอด ตันประเสริฐ - เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ )

ศาลจังหวัดชลบุรี - นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายสมชาย พันธุมะโอภาส

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6462/2549

ป.พ.พ. มาตรา 1382

          ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ผู้ร้องก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เนื่องจากการครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป ทั้งผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนจะมีการออกโฉนดที่ดินรวมเข้าด้วยก็มิได้ เพราะการที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น

________________________________ 

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อประมาณปี 2527 ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 11425 เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ซึ่งมีชื่อนายยศ กาฬหว้า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยผู้ร้องปลูกต้นไม้และปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนถึงปัจจุบันเกิน 10 ปี ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว

          ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินที่ผู้ร้องขอเข้าครอบครองปรปักษ์เป็นของผู้คัดค้านบางส่วน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 (ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในขณะนั้น) มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ผู้คัดค้านมีสิทธิครอบครองเนื้อที่ 5 ไร่ การร้องขอครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องเป็นการรื้อร้องฟ้องเรื่องเดิมซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง (ที่ถูก ยกคำร้อง) ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนผู้คัดค้าน

          ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 121 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้แก่นายยศ กาฬหว้า คือ โฉนดเลขที่ 11425 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ถึงวันฟ้อง คือวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ยังไม่ถึง 10 ปี แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ผู้ร้องก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากการครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป ทั้งผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนจะมีการออกโฉนดที่ดินรวมเข้าด้วยก็มิได้ เพราะการที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( เรวัตร อิศราภรณ์ - ศิริชัย จิระบุญศรี - ประทีป เฉลิมภัทรกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8411/2544

ป.พ.พ. มาตรา 1382

          ที่ดินพิพาทเพิ่งออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539เหตุนี้การครอบครองปรปักษ์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป แม้จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2522 อันเป็นเวลาก่อนที่ที่ดินพิพาทออกโฉนดที่ดิน ก็ไม่อาจนับระยะเวลาที่ครอบครองนั้นรวมเข้ากับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ได้ เนื่องจากการครอบครองปรปักษ์ที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญซึ่งเรียกว่าที่ดินมือเปล่านั้นไม่อาจเกิดมีขึ้นได้เลย ไม่ว่าจำเลยครอบครองช้านานเพียงใด จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยไม่อาจหวนกลับไปอ้างว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทได้อีก เพราะนอกจากเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลล่างแล้วบัดนี้ที่ดินพิพาทกลายเป็นที่ดินมีโฉนด ซึ่งผู้ใดประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ต้องกระทำโดยวิธีครอบครองปรปักษ์เท่านั้น

________________________________ 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสี่อีกต่อไป

          จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 195 ตำบลเขาดิน (ปัจจุบันตำบลยางนอน) อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ตามพื้นที่ส่วนแรเงาในเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ให้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกับจำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 16107 ให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วน 100 ตารางวา หากโจทก์ทั้งสี่เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

          โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสมทรง มะนาวหวานทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 16107 ตำบลยางนอน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ของโจทก์ทั้งสี่และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย

          จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มีชื่อนายสำเนียงมะนาวหวาน ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539 ได้มีการออกโฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อนายสำเนียงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทเนื้อที่86 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2522 คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่าการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382หมายถึงการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครอง ดังนั้นในเบื้องต้นทรัพย์สินของผู้อื่นที่จะครอบครองปรปักษ์นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ หากเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองจะใช้หลักการครอบครองปรปักษ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์มิได้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้ ที่ดินพิพาทเพิ่งออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 4มิถุนายน 2539 เหตุนี้การครอบครองปรปักษ์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป แม้จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2522 อันเป็นเวลาก่อนที่ที่ดินพิพาทออกโฉนดที่ดิน ก็ไม่อาจนับระยะเวลาที่ครอบครองนั้นรวมเข้ากับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ได้เนื่องจากการครอบครองปรปักษ์ที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญซึ่งเรียกว่าที่ดินมือเปล่านั้นไม่อาจเกิดมีขึ้นได้เลย ไม่ว่าจำเลยครอบครองช้านานเพียงใดจำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยไม่อาจหวนกลับไปอ้างว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทได้อีก เพราะนอกจากเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลล่างแล้ว บัดนี้ที่ดินพิพาทกลายเป็นที่ดินมีโฉนด ซึ่งผู้ใดประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ต้องกระทำโดยวิธีครอบครองปรปักษ์เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีทางที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน 

( วิชา มหาคุณ - พูนศักดิ์ จงกลนี - ปัญญา สุทธิบดี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2550

ป.พ.พ. มาตรา 1382

          การครอบครองที่ดินของผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 นับถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้ง ยังไม่ถึงสิบปี จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์

           จำเลยทั้งสองจะนับระยะเวลาที่ครอบครองที่พิพาทก่อนที่พิพาทออกโฉนดรวมเข้าด้วยไม่ได้เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น

________________________________ 

          โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านดังกล่าว ขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินที่เช่าโฉนดเลขที่ 241768 ดังกล่าวของโจทก์ทั้งห้า และส่งมอบที่ดินดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า

           จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2528 โดยปลูกบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นเวลากว่าสิบปี จำเลยทั้งสองไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งห้า ค่าเสียหายไม่เกินเดือนละ 500 บาท ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 241768 ดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 32 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองโดยการครอบครอง ห้ามโจทก์ทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินส่วนดังกล่าว กับให้โจทก์ทั้งห้าจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 32 ตารางวา เป็นของจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ทั้งห้าไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งห้า

           โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองมิได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของโจทก์ทั้งห้า ขอให้ยกฟ้องแย้ง

           ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายกู้เกียรติ ตันอังสนากุล จำเลยที่ 2 ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทน

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 280 พร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 241768 ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ แล้วส่งมอบที่ดินในสภาพที่เรียบร้อยให้แก่โจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 สิงหาคม 2540) จนกว่าจะส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ทั้งห้า และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

           จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ

           จำเลยทั้งสองฎีกา

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี...ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์นั้น จะต้องเป็นของบุคคลอื่น ซึ่งก็คือบุคคลนั้นจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง หลักฐานที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น คือโฉนดที่ดินเพราะเป็นหลักฐานทางทะเบียนของทางราชการ ดังนั้น การครอบครองที่ดินของผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 7 ให้แก่โจทก์ทั้งห้า เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 เช่นนี้ การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปเท่านั้น ระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดไม่อาจนำมานับรวมกันได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2537 เมื่อคิดถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงยังไม่ถึงสิบปี จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นชอบแล้ว

           อนึ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กล่าวยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองและสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งด้วยนั้นยังไม่ถูกต้อง ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย

           พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเสียด้วย ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์ทั้งห้า ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

( ดิเรก อิงคนินันท์ - สถิตย์ อรรถบลยุคล - อดิศักดิ์ ทิมมาศย์ )

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ - นายสมบัติ เดียวอิศเรศ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายบัณฑิต รชตะนันท์

 

(ฎีกาเหล่านี้ ThaiLawConsult โทร. 098-915-0963 นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ 27-08-2556)