ปรึกษาคดีกับทนาย 10 เรื่องเด่น

 

เรื่องที่ 8      มรดก หลักกฎหมาย และตัวอย่างคดี มรดกพ่อ

หลัก  

ป.พ.พ. มาตรา 1599 ว.1   

               เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ตกทอดแก่ทายาท

ป.พ.พ. มาตรา 1600    

               ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนสิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมาย หรือว่า โดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

ป.พ.พ. มาตรา 1601    

               ทายาท ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน

ป.พ.พ. มาตรา 1620 ว.1         

               ถ้าผู้ใดตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือ ทำพินัยกรรมไว้ แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้น ตามกฎหมาย

 

ทบทวน   

  • ทรัพย์สินที่ผู้ตายยกให้แก่ผู้ใดระหว่างมีชีวิต ไม่เป็นมรดก จึงไม่ตกทอดแก่ทายาท และเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ใดอีกไม่ได้ (ฎีกาที่ 583-584/2535, 7706/2548)
  • ทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ต้องเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนหรือขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย (ฎีกาที่ 3776/2545) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์มิใช่ทรัพย์มรดก เพราะมิใช่ทรัพย์มรดกที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย
  • ดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตาย ไม่เป็นมรดก (ฎีกาที่ 370/2506)
  • เงินชดเชยที่ผู้ตายมีสิทธิได้รับเนื่องจากความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่แล้วในขณะถึงแก่ความตาย (ฎีกาที่ 4714/2542)
  • สิทธิในการได้รับเงินประกันชีวิต เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย (ฎีกาที่ 4714/2542)
  • ถ้าเป็นเงินสะสม ซึ่งเป็นเงินที่ทางราชการ หักจากเงินเดือนของผู้ตายในขณะมีชีวิตอยู่ เป็นทรัพย์สินของเจ้ามรดกก่อนตาย จึงเป็นมรดก (ฎีกาที่ 1953/2515)
  • หน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทด้วย ทายาทมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้ามรดก (ฎีกาที่ 107-110/2543)
  • สิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ซึ่งเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท (ฎีกาที่ 6048/2539)
  • การงาน อาชีพ ซึ่งเป็นการเฉพาะตัว ไม่เป็นมรดกตกทอด (ฎีกาที่ 2026/2526)
  • ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกแก่ตน (ม.1601)
  • เนื่องจากทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของเจ้ามรดก ดังนี้ เจ้าหนี้จึงฟ้องทายาทคนใดก็ได้ ทายาทจะยกข้อต่อสู้ว่าตนไม่ได้รับทรัพย์มรดกไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี ว่าตนไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้ (ฎีกาที่ 809/2545)

 

ลำดับชั้นของทายาทโดยธรรม

หลัก

ป.พ.พ. มาตรา 1629    

               ทายาทโดยธรรม มีหกลำดับ เท่านั้น และ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง ดั่งต่อไปนี้ คือ
                    (1) ผู้สืบสันดาน
                    (2) บิดามารดา
                    (3) พี่น้อง ร่วมบิดามารดา เดียวกัน
                    (4) พี่น้อง ร่วมบิดา หรือ ร่วมมารดา เดียวกัน
                    (5) ปู่ ย่า ตา ยาย
                    (6) ลุง ป้า น้า อา
               คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ก็เป็น ทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่ง มาตรา 1635

ป.พ.พ. มาตรา 1630    

               ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือ มีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 ทายาท ผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไป ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
               แต่ความในวรรคก่อนนี้ มิให้ใช้บังคับ ในกรณีเฉพาะ ที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่ หรือ มีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และ มีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้น ให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

ป.พ.พ. มาตรา 1631    

               ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้น มีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ ก็แต่โดย อาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่

 

               ทายาทโดยธรรมทั้ง 6 อันดับนี้ มีสิทธิที่จะได้รับมรดกเรียงกันไป โดยทายาทลำดับต้น ย่อมตัดสิทธิทายาทลำดับถัดลงไป ถ้าทายาทลำดับต้นยังมีชีวิตอยู่หรือรับมรดกแทนที่ ทายาทลำดับถัดไปก็ไม่มีสิทธิรับมรดกเลย (มาตรา 1630 ว.1) นั่นคือ หลักญาติสนิทตัดสิทธิญาติห่าง แต่มีข้อยกเว้น กรณีที่มีทั้งทายาทลำดับ1 (ผู้สืบสันดาน) และทายาทลำดับ2 (บิดามารดา) ทั้งสองลำดับนี้จะไม่ตัดซึ่งกันและกัน โดยบิดามารดามีสิทธิ์รับมรดกเหมือนทายาทชั้นบุตร (มาตรา 1630 ว.2) ถ้าบิดามารดามีชีวิตอยู่ทั้ง 2 คน ก็ต้องคำนวณเป็นรายคนไป เสมือนมีทายาทชั้นบุตรเพิ่มขึ้นอีก 2 คน

               ตัวอย่าง  เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกเป็นเงินสด 8 ล้านบาท มีบุตร 2 คน บิดามารดายังมีชีวิตอยู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มี ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา เช่นนี้ บุตรทั้ง 2 และบิดามารดาของเจ้ามรดกเท่านั้นที่ได้รับมรดก ส่วนทายาทอื่นถูกตัดหมด ตามหลักในมาตรา 1630 บุตรทั้ง 2 และบิดามารดามีสิทธิ์ได้รับทรัพย์มรดกคนละ 2 ล้านบาท)
               ตามตัวอย่างข้างต้น ถ้าเจ้ามรดกไม่มีบุตรเลย บิดามารดาของเจ้ามรดกเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับมรดก โดยได้รับคนละ 4 ล้าน

 

               ผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1)
  • ถ้าเจ้ามรดก คือ มารดา ผู้สืบสันดาน คือ บุตร ไม่ว่าบิดากับมารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่
  • ถ้าเจ้ามรดก เป็น บิดา ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตร ที่เกิดแต่บิดามารดาที่ได้จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย, บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่บิดารับรองแล้ว หรือบุตรบุญธรรม (มาตรา 1627), บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ได้จดทะเบียนกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือคำพิพากษาว่าเป็นบุตร (มาตรา 1547)
  • รวมทั้งบุตรที่เกิดจากบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้ภายหลัง ศาลจะมีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ตาม (ฎีกาที่ 1580/2494)

               พี่น้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629(3), 1629(4) ถือตามความเป็นจริง แม้บิดามารดาจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

               คู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ว.2, 1635

  • คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นทายาทโดยธรรม (มาตรา 1629 ว.2)
  • การสมรสโดยมิได้ยินยอมเป็นสามีภริยากัน ตามมาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495 ต้องมีคำพิพากษาของศาล แสดงว่า การสมรสเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1496
  • ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง ถึงแก่ความตาย โดยยังไม่มีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถือว่า คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1629 ว.2 (ฎีกาที่ 3898/2548)

          จำ  กรณีที่เจ้ามรดกมีคู่สมรส ในชั้นแรก ต้องพิจารณาก่อนว่า ทรัพย์สินนั้น เป็นสินสมรสหรือไม่ ถ้าเป็นสินสมรส ต้องแบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อน ตามมาตรา 1533 ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องนำไปแบ่งปันแก่ทายาท

  • ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกนั้น คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีสิทธิได้รับมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องแล้วแต่ว่า คู่สมรสได้รับมรดกร่วมกับทายาทลำดับใดในมาตรา 1629 แต่คู่สมรสที่มีสิทธิได้รับมรดก ต้องเป็นคู่สมรสที่ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบ ตามมาตรา 1457

 

หลัก

ป.พ.พ. มาตรา 1635    

                    ลำดับ และ ส่วนแบ่ง ของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่งต่อไปนี้

                    (1) ถ้ามีทายาท ตามมาตรา 1629(1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือ มีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่ง เสมือนหนึ่งว่า ตนเป็นทายาทชั้นบุตร

                    (2) ถ้ามีทายาท ตามมาตรา 1629(3) และ ทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือ มีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาท ตามมาตรา 1629(1) แต่มีทายาท ตามมาตรา 1629(2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดก กึ่งหนึ่ง

                    (3) ถ้ามีทายาท ตามมาตรา 1629(4) หรือ (6) และ ทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือ มีผู้รับมรดกแทนที่ หรือ มีทายาท ตามมาตรา 1629(5) แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดก สองส่วนในสาม

                    (4) ถ้าไม่มีทายาท ดั่งที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดก ทั้งหมด

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3527/2535

ป.พ.พ. มาตรา 1517 เดิม, 1625(1), 1635(2), 1639
ป.วิ.พ. มาตรา 148

          คดีก่อนที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งสองมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. และ น. หรือไม่ กับมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และน. หรือไม่ ส่วนคดีนี้ประเด็นข้อพิพาทเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งมรดกของ ส. จากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของส.และน.กับเรียกมรดกของส. คืนจากจำเลยทั้งสองที่รับโอนไปโดยมิชอบคนละประเด็นกับที่ได้วินิจฉัยในคดีก่อน จึงมิใช่เป็นการรื้อฟ้องร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ล. เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ส. เจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629(3) เมื่อ ล.ตายก่อน ส. โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ ล. จึงมีสิทธิรับมรดกของ ส. แทนที่ ล. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 ที่ดินแปลงที่ น. ได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากับ ส.ก่อนจดทะเบียนสมรสกันย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมกันคนละส่วน เมื่อ น.ตายก่อน ส. ส่วนที่เป็นของ น. จึงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1บิดาของ น. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม และ ส. คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635(2) ส. จึงมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว 3 ใน 4 ส่วน เมื่อ ส. และ น. ต่างฝ่ายต่างมีสินเดิม การแบ่งเงินฝากในธนาคารซึ่งเป็นสินสมรสจึงต้องแบ่งกันคนละส่วน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1625(1) ประกอบมาตรา 1517(เดิม) ส่วนของ น. ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 และ ส.คนละกึ่งหนึ่งส. จึงมีส่วนในเงินฝาก3 ใน 4 ส่วน การที่จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากธนาคารไปทั้งหมด จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ส.3 ใน 4 ส่วน.

________________________________

          โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1ดำเนินคดีนี้แทนเมื่อประมาณปี 2488 นายสด อินทร ได้แต่งงานและอยู่กินฉันสามีภรรยากับนางสำเนียง อินทร โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2517 จึงได้จดทะเบียนสมรสกันก่อนแต่งงานนายสดมีสินเดิมจำพวกเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินราคา 61,100 บาท นางสำเนียงมีสินเดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะส่วนของนางสำเนียงเนื้อที่ 13 ไร่86 ตารางวา ราคา 26,000 บาท ระหว่างอยู่กินด้วยกันก่อนจดทะเบียนสมรส ได้ร่วมกันซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 1 แปลง โฉนดเลขที่10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา ราคา30,600 บาท โดยใส่ชื่อนางสำเนียงถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียวหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ได้ร่วมกันทำมาหาได้เกิดสินสมรสหลายรายการมีเงินฝากธนาคาร 45,000 บาท กับทรัพย์สินอื่นรวมแล้วคิดเป็นเงิน 54,877 บาท และสินเดิมส่วนของนายสดได้ขาดหายไปราคา 54,100 บาท นายสดและนางสำเนียงไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2518 นางสำเนียงถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างนายสดคู่สมรสและนางสำเนียงเจ้ามรดก โดยนำสินสมรสที่นายสดและนางสำเนียงทำมาหาได้ร่วมกันไปชดใช้แทนสินเดิมของนายสดที่ขาดหายไป 54,100 บาท ยังเหลือสินสมรสอีกจำนวนเท่าใดแบ่งเป็นของนายสดกึ่งหนึ่ง และเป็นของนางสำเนียงกึ่งหนึ่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 เป็นทรัพย์สินที่นายสดและนางสำเนียงทำมาหาได้ร่วมกันก่อนจดทะเบียนสมรส นายสดจึงมีกรรมสิทธิ์อยู่ด้วยกึ่งหนึ่งและนางสำเนียงมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงเป็นสินเดิมของนางสำเนียง ทรัพย์สินส่วนที่เป็นของนางสำเนียงทั้งหมด คือสินสมรสส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 10263กึ่งหนึ่ง และที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงซึ่งเป็นสินเดิมของนางสำเนียง เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของนางสำเนียงคือจำเลยที่ 1 บิดานางสำเนียง และนายสดคู่สมรสคนละกึ่งหนึ่งเมื่อรวมทรัพย์สินส่วนของนายสดและที่นายสดได้รับส่วนแบ่งจากมรดกของนางสำเนียงแล้ว นายสดจะมีทรัพย์สิน คือสินเดิมของนายสดราคา61,100 บาท สินสมรสส่วนที่เหลือ 3 ใน 4 ส่วน ที่ดินโฉนดเลขที่10263 3 ใน 4 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวาและที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงที่เป็นสินเดิมกึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา ทรัพย์มรดกของนางสำเนียงส่วนที่เหลือจากแบ่งให้นายสดแล้วทั้งหมดตกได้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2519 นายสดถึงแก่ความตายทรัพย์สินของนายสดทั้งหมดแยกเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของนายสด คือโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่นางลำเจียก จันทร์สว่าง พี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสดและโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายสดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2519 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของนางสำเนียงได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายสดและนางสำเนียง ขอให้สั่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 2 ผู้เยาว์ด้วย ซึ่งเป็นความเท็จ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองจำเลยที่ 2 ตามขอ ต่อมา โจทก์ที่ 2 ทราบเรื่องได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง กับให้ส่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นบุตรของนายสดและนางสำเนียงแต่จำเลยที่ 1 มีสิทธิขอจัดการมรดกของนางสำเนียง และไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายสดต่อไป ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายสดและนางสำเนียง ปรากฏว่าเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง จำเลยที่ 1ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงเป็นของจำเลยที่ 1 และโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ส่วนที่เป็นมรดกของนายสดได้ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกประมาณปีละ 90 ถัง ตั้งแต่ปี 2519-2521 รวม 3 ปีได้ข้าวเปลือกเป็นค่าเช่า 270 ถัง คิดเป็นเงิน 6,750 บาท ค่าเช่าดังกล่าวนี้เป็นดอกผลอันเกิดจากที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของนายสดจำเลยที่ 1 ได้เก็บเอาข้าวเปลือกค่าเช่าไป จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนายสดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่จัดการแบ่ง ขอให้บังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราแก้ทะเบียนเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6900ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เป็นชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทั้งสองโฉนดให้เอาสินสมรสระหว่างนายสดและนางสำเนียงไปใช้สินเดิมของนายสดส่วนที่ขาดหายไป 54,100 บาทจนได้สินเดิมครบราคา 61,100 บาท แล้วส่งมอบสินเดิมของนายสดให้โจทก์ทั้งสองต่อไปและให้แบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงให้โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่งและแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ให้โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้เอาที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวออกขายทอดตลาดเอาเงินสุทธิแบ่งให้โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบข้าวเปลือกจำนวน270 ถัง ราคา 6,750 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ถือเอาคำพิพากษาคดีนี้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
          จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า นายสดและนางสำเนียงมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือจำเลยที่ 2 กองมรดกของนายสดและนางสำเนียงจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงสองคนเท่านั้น โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทในลำดับถัดไปไม่มีสิทธิได้รับมรดกรายนี้ จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกนายสดและนางสำเนียงได้จัดการมรดกไปถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หากจะฟังว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรของนายสดและนางสำเนียง กองมรดกก็ตกได้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เดียว นายสดไม่เคยมีสินเดิมมาก่อนอยู่กินกับนางสำเนียง ได้อาศัยทำกินอยู่ในบ้านเรือนของจำเลยที่ 1 เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินก็ดี ที่ดินก็ดีล้วนแต่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้เกื้อกูลให้นางสำเนียงเป็นสินส่วนตัว โดยเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา นางสำเนียงได้มาตั้งแต่ยังเป็นผู้เยาว์กึ่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2508 จำเลยที่ 1ได้ออกเงินซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน)อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่นางสำเนียง ขณะนั้นนายสดและนางสำเนียงยังมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวนายสดจึงไม่มีส่วนได้ในฐานะหุ้นส่วน โจทก์ที่ 2 เคยฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงกับขอให้ส่งมอบทรัพย์มรดกแก่โจทก์ที่ 2มาแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
          ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลได้หมายเรียกนางพิกุล ยอดเจริญ บุตรจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนต่อมานางชิต ยอดเจริญ ภรรยาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 อีกศาลชั้นต้นอนุญาต และศาลได้มีคำสั่งตั้งนางชิตให้เป็นผู้แทนเฉพาะคดีของเด็กหญิงเพียงใจ อินทร จำเลยที่ 2ด้วย ต่อมานางชิดถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายอรุณ ยอดเจริญบุตรจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และศาลได้ตั้งให้พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของจำเลยที่ 2
          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องคดีนี้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกของนายสดพิพากษาให้นายอรุณ ยอดเจริญ ในฐานะผู้รับมรดกความของจำเลยที่ 1 (ที่ถูกคือจำเลยที่ 1) แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10263ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทราแก่โจทก์ทั้งสอง สามในสี่ส่วน แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา บ้าน 1 หลังและยุ้งข้าว 1 หลัง อย่างละสามในสี่ส่วนแก่โจทก์ทั้งสองรวมทั้งคืนเงิน 45,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองด้วย หากผู้รับมรดกความจำเลยที่ 1 บิดพลิ้ว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และถ้าทรัพย์สินรายใดไม่อาจแบ่งได้ตามนั้น ก็ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินสดมาแบ่งกันตามส่วน
          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          จำเลยที่ 1 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520ของศาลชั้นต้นนั้นเห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น ประเด็นข้อพิพาทในคดีมีเพียงว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายสดและนางสำเนียงหรือไม่และมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงหรือไม่เท่านั้นสำหรับประเด็นเรื่องให้ส่งมอบทรัพย์มรดกในคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ที่จะไปฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกในส่วนของนายสดเจ้ามรดกต่อไป ส่วนคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งมรดกส่วนของนายสดเจ้ามรดกจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงกับขอให้เรียกมรดกของนายสดคืนจากจำเลยทั้งสองในส่วนที่จำเลยทั้งสองรับโอนไปโดยมิชอบ คนละประเด็นกับที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น จึงมิใช่การรื้อฟ้องร้องในประเด็นที่ศาลได้เคยวินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องโจทก์ที่ 2 ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่านางลำเจียกมารดาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายไปก่อนนายสด โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถรับมรดกแทนที่นางลำเจียกได้นั้น เห็นว่า นางลำเจียกเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสดมรดก จึงเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629(3) เมื่อนางลำเจียกถึงแก่ความตายก่อนนายสดเจ้ามรดกโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้สืบสันดานของนางลำเจียก จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางลำเจียก ฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกของนายสดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ตำบลบางขวัญ(สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินเดิมของนางสำเนียงซึ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 126 ที่จำเลยที่ 1 ซื้อให้เมื่อปี 2507 นั้น คงมีแต่คำกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ในอุทธรณ์และฎีกาเท่านั้น และก็ขัดกับคำเบิกความของนายอรุณ ยอดเจริญผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นางสำเนียงตั้งแต่นางสำเนียงยังเป็นเด็กข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังเป็นจริงไม่ได้ กลับปรากฏตามหลักฐานในโฉนดที่ดินเลขที่ 10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เอกสารหมาย ล.1 ว่านางสำเนียงได้ที่ดินแปลงนี้มาเมื่อปี 2508 ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนายสดเพียง9 ปีเท่านั้น เมื่อนายสดและนางสำเนียงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันประมาณ30 ปีแล้ว ที่ดินโฉนดดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่นายสดและนางสำเนียงได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน นายสดและนางสำเนียงจึงมีกรรมสิทธิ์รวมกันคนละส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357ส่วนของนางสำเนียงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1 และนายสดคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635(2) นายสดจึงมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ 3 ใน 4 ส่วน อีก 1 ส่วนตกได้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนของนายสดทั้งหมดตกได้แก่โจทก์ทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10263ดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วน จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเงินฝากธนาคารจำนวน 45,000 บาท เป็นสินเดิมของนางสำเนียง เมื่อนางสำเนียงถึงแก่ความตายย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 และนายสดสามีนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่า หลังจากนายสดและนางสำเนียงจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ได้ร่วมกันทำมาหาได้เกิดสินสมรสหลายรายการซึ่งมีเงินฝากธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาฉะเชิงเทรา บัญชีเลขที่ 11592 จำนวน 45,000 บาทตามบัญชีทรัพย์สินสมรสเอกสารท้ายฟ้อง อันดับที่ 1 รวมอยู่ด้วยซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่า เงินสดในธนาคารประมาณสี่หมื่นกว่าบาทเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างนายสดและนางสำเนียงอยู่กินร่วมกันจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้เถียง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายที่ดินสินเดิมของนางสำเนียงนั้น จำเลยที่ 1เพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ไม่มีน้ำหนักในการรับฟังจึงต้องฟังว่าเงินฝากธนาคาร จำนวน 45,000 บาท ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายสดและนางสำเนียง เมื่อคดีฟังว่าก่อนจดทะเบียนสมรสกันนายสดและนางสำเนียงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องถือว่าทั้งนายสดและนางสำเนียงต่างมีสินเดิมด้วยกันเมื่อนางสำเนียงถึงแก่ความตายเงินฝากธนาคารดังกล่าวต้องแบ่งกันระหว่างนายสดและนางสำเนียงคนละส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมมาตรา 1517 ส่วนของนางสำเนียงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1 และนายสดคนละกึ่งหนึ่ง นายสดจึงมีส่วนในเงินฝากธนาคารจำนวน45,000 บาท อยู่ 3 ใน 4 ส่วน อีก 1 ส่วนตกได้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนของนายสดตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงได้ถอนเงินฝากทั้งหมดแล้ว จำเลยที่ 1มีหน้าที่ต้องแบ่งเงินฝากดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินทั้งหมดให้โจทก์ทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน"
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินฝากที่ถอนไปจากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา บัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 11592จำนวนเงิน 45,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสองสามในสี่ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

( สังเวียน รัตนมุง - ประมาณ ชันซื่อ - จองทรัพย์ เที่ยงธรรม )

 

               ทีมงาน Thai Law Consult ย่อความมาจากหนังสือ แพ่งพิสดารหรือจูริส เล่ม 4 ฉบับปี พ.ศ. 2552 ของอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ผู้พิพากษา ซึ่งมีเนื้อหาฉบับเต็มน่าสนใจ ราคาไม่แพง เล่มละ 240 บาท จำนวน 424 หน้า ท่านผู้อ่านที่สนใจกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์และมรดก ควรหาซื้อหนังสือนี้มาอ่านครับ

 

ข้อเท็จจริง

               ดร.ใหญ่ เป็นข้าราชการกระทรวงหนึ่ง มีลูก 4 คน จาก 2 ภริยา มีลูกแฝดกับภริยาคนแรก 2 คน คือ น้ำฝน กับ น้ำฟ้า ทั้งสองคน อายุ 27 เป็นหมอ ร.พ.จุฬา ดร.ใหญ่ หย่ากับภริยาคนแรก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และสมรสทันทีกับภริยาที่ 2 ชื่อคุณจง มีลูกแฝด 2 คน กำลังเรียนวิศวะปีที่ 2 ที่ มหาลัยของรัฐในกทม. ชื่อ ยศ กับ ยุทธ

A.    มกราคม 2553    พ่อของ ดร.ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิในเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของ ดร.ใหญ่ เสียชีวิต

B.    กุมภาพันธ์ 2553 ดร.ใหญ่ เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดี ในวัย 55 ปี

C.    ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง น้ำฝน และ คุณจง เป็น ผู้จัดการมรดกร่วมกัน

D.    ทายาทและญาติของ ดร.ใหญ่ ตกลงนำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่พ่อของดร.ใหญ่จะได้รับ มาแบ่งให้ญาติที่เป็นพี่และน้องของ ดร.ใหญ่
        ในวันเดียวกัน ลูกทั้ง 4 คนของ ดร.ใหญ่และคุณจง ได้ตกลงกันเองจัดการมรดกของ ดร.ใหญ่ และเขียนสัญญาและทำสำเนา ให้ทุกคนยึดถือไว้เองโดยไม่มีทนายความ ว่า

          1.       ส่วนแบ่งทรัพย์ทุกชิ้น คุณจงได้รับ 6 : 10

          2.       ลูกทุกคนได้ส่วนแบ่ง 1 : 10     

          3.       บ้านหลังใหญ่ หมายเลข 1 ที่คุณจงและดร.ใหญ่ อาศัยก่อนเสียชีวิต โอนเป็นชื่อคุณจง

          4.       คอนโด 3 ยูนิต ที่ทองหล่อ ให้ฝรั่งเช่าเดือนละ 2 หมื่นบาท ค่าเช่าที่เก็บได้ให้เป็นค่าใช้จ่ายของ ยศ กับ ยุทธ จนกว่าจะเรียนจบ / เมื่อเรียนจบให้ขายนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท

          5.       ทาวน์เฮาส์ 3 ห้อง ที่โชคชัย 4 เก็บค่าเช่าได้เดือนละ 1 หมื่นบาท ค่าเช่าที่เก็บได้ นำมาแบ่งปันระหว่างทายาท

          6.       รถ Benz.ใหม่ 2 คัน โอนใส่ชื่อคุณจง                                                        

                        6.1 รถ Benz โบราณ 1 คัน ให้ขายนำเงินมาแบ่งกัน

          7.       เงินสด - เงินฝาก จำนวน 5 ล้านบาท แบ่งกันตามส่วน

          8.       ที่ดิน 7 แปลง ที่โคราช ร่วม 100 ไร่ จะขายหลังจากปี 2560 หรือเมื่อการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์โคราชแล้ว

 

  • เมษายน 2555          คุณจง ถอนเงินสด เงินฝาก ทั้ง 5 ล้านบาท ไปปิดจำนองบ้านหมายเลข 1และ ใช้หนี้เงินกู้ธนาคาร โดยไม่แบ่งให้ น้ำฝน และ น้ำฟ้า ตามส่วนคนละ 5 แสนบาท คุณจงบอกว่าขอยืมก่อน  ถ้าขายรถ Benz โบราณได้ จะคืนให้
  • พฤษภาคม 2555       คุณจง ขายทาวน์เฮ้าส์ 3 ห้องที่โชคชัย4 นำเงินมาแบ่งกันตามส่วน / แต่ยังไม่คืนเงินยืม บอกว่าจะคืนเมื่อขายรถ Benz โบราณได้
  • มิถุนายน 2555         คุณจง รีบขายรถ Benz โบราณจึงได้ ราคาแค่ 2.6 ล้านบาท และเงินเหลือเพียง 6 แสนบาท เพราะค้างเงิน พลโทชาติ เจ้าของเดิม 2 ล้านบาท
  • คุณจงนำเงิน 6 แสน แบ่งให้ทายาทตามส่วน โดยยังไม่คืนเงินยืมให้น้ำฝน, น้ำฟ้า
  • กรกฎาคม 2555        คุณจง จะขายคอนโดทั้ง 3 ยูนิต ที่ทองหล่อ แต่น้ำฝนไม่ยอมให้ขาย ส่วนน้ำฟ้าทวงถามเงิน 5 แสนบาท คุณจงเพิกเฉย บอกว่าลูกต้องรับผิดชอบหนี้สินของพ่อด้วย
  • 1 กันยายน 2555       น้ำฝน และ น้ำฟ้า เข้ามาปรึกษากับทีมทนาย Thai Law Consult และถามว่า คุณจงจะปลดน้ำฝนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ไหม ถ้าไม่เซ็นต์ชื่อยอมให้คุณจงขายคอนโด / คุณจงต้องจ่ายเงินที่ยืม 1 ล้านบาทคืนหรือไม่ / การแบ่งทรัพย์มรดกของคุณพ่อ ถูกต้องหรือไม่

 

ทนายพี่ตุ๊กตา น.บ.ท.64 ชี้แจงว่า

  • เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินประกันชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์มรดก เพราะมิใช่ทรัพย์มรดกที่ ดร.ใหญ่เจ้ามรดก มีอยู่ก่อน หรือ ขณะถึงแก่ความตาย เมื่อ ดร.ใหญ่ แสดงเจตนายกให้ใคร ก็เป็นสิทธิของผู้นั้นตามสัญญา (ฎีกาที่ 3776/2545)
  • ดร.ใหญ่ กับ คุณจง สมรสกัน 19 ปี ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็น สินสมรส เมื่อ ดร.ใหญ่ ตาย ต้องแบ่งสินสมรสให้คุณจงครึ่งหนึ่งก่อน ตามมาตรา 1533 ที่เหลือครึ่งหนึ่ง เป็นทรัพย์มรดกของ ดร.ใหญ่ ---> ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องนำมาแบ่งปันแก่ทายาท

 

ทนายน้อย ปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64 ชี้แจงว่า

  • ป.พ.พ. มาตรา 1727 บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกได้ในเหตุดังนี้

      1.  เพราะผู้จัดการมรดกละเลย ไม่ทำตามหน้าที่ หรือ
      2.  เพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควร
และต้องร้องขอถอนผู้จัดการมรดก ก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นลง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1727 วรรค1

  • เหตุตามมาตรา 1727 เป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้จัดการมรดก แต่การถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของศาล (ฎีกาที่ 3228/2532)

          เมื่อสัญญาจัดการมรดกของ ดร.ใหญ่ ที่ทายาททำขึ้น ข้อ 4 ตกลงว่า คอนโดที่ซอยทองหล่อ 3 ยูนิต ให้ฝรั่งเช่าเดือนละ 2 หมื่นบาท ค่าเช่าที่เก็บได้ ให้เป็นค่าใช้จ่ายของ ยศ กับ ยุทธ จนกว่าจะเรียนจบ / เมื่อ ยศ กับ ยุทธ เรียนจบปริญญาตรี แล้วให้ขายนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท

          การที่น้ำฝน ผู้จัดการมรดก ไม่ยอมเซ็นต์อนุญาตให้คุณจงขายคอนโดที่ซอยทองหล่อทั้ง 3 ยูนิต เนื่องจาก ยศ กับ ยุทธ ยังเรียนไม่จบ จึงไม่เข้าเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะน้ำฝนผู้จัดการมรดก  หาได้ละเลยไม่ทำหน้าที่ตามสัญญาจัดการมรดก ที่ทำที่ขึ้นตามข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทไม่

 

ทนายสมบัติ บุญสุทัศน์ น.บ.ท.63 ชี้แจงว่า

  • การที่ทายาทของ ดร.ใหญ่ ตกลงกันโอนบ้านหลังใหญ่ เลขที่1 มูลค่าตลาด 15 ล้านบาท ให้คุณจง, ถือว่าทายาททุกคนเสียสละส่วนแบ่งในบ้านหลังนี้ เมื่อบ้านหลังนี้ค้างจำนองธนาคาร 5 ล้านบาท จึงเป็นหน้าที่ของคุณจง ต้องหาเงิน ชำระหนี้กู้ยืมจำนองเอง เพราะควรรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ด้วย การที่คุณจง ให้น้ำฝน, น้ำฟ้า ช่วยชำระหนี้ค่าจำนองบ้าน คนละ 5 แสนบาท เป็นการอ้างเพื่อไม่ต้องคืนเงินยืม จึงไม่ถูกต้อง

 

ทีมทนาย Thai Law Consult สรุปว่า

  • การที่คุณจง เร่งขายทรัพย์มรดกเป็นเพราะไม่มีรายได้ เดิมเป็นแม่บ้านของรองอธิบดี ควบคุมโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีเงินใช้สบายมือ -- เมื่อ ดร.ใหญ่ ตาย จึงไม่มีรายได้เหมือนเคย ต้องขายทรัพย์สิน แต่กินอยู่แบบฟุ่มเฟือย จึงมีปัญหาการเงิน -- ถ้า น้ำฝน, น้ำฟ้า อยากรักษาสมบัติพ่อ, อยากให้น้องคือ ยศ กับ ยุทธ มีค่าใช้จ่ายในการเรียน, มีโอกาสได้ส่วนแบ่งในมรดกพ่อ ก็อย่าเซ็นต์ยินยอมให้คุณจงขายคอนโดทั้ง 3 ยูนิต, และคุณหญิงไม่กล้าร้องศาลถอนน้ำฝนจากการเป็นผู้จัดการมรดก เพราะไม่มีเหตุที่จะทำได้
  • ทนายอมรเทพ น.บ.ท.64 อีกคน พูดปิดท้ายว่า อย่ากังวลเรื่องเงินยืม ถ้าคุณจงไม่คืน, หรือ คืนช้า คุณจงเดือดร้อนเอง เพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่ยังมีทรัพย์สินส่วนแบ่งอื่น ที่จะชำระหนี้เงินยืมได้ แต่น้ำฝน น้ำฟ้าต้องทวงถาม เรื่อยๆ
  • 12 พฤศจิกายน 2555 ทีมทนาย Thai Law Consult ได้พบเจรจากับคุณจงและทนายความ สรุปข้อตกลงกันว่า คุณจงจะคืนเงินยืมก่อนสิ้นปี 2555 และคุณจงจะไม่ขายคอนโดที่ซอยทองหล่อทั้ง 3 ยูนิต จนกว่า ยศ กับ ยุทธ จะเรียนจบปริญญาตรี แต่ถ้ามีข้อโต้แย้ง เรื่องการจัดการมรดกของ ดร.ใหญ่ อีก จะปรึกษาทนายทั้ง 2 ฝ่าย ช่วยหาข้อยุติ
  • คดีเรื่องมรดกพ่อ จึงยุติลงแค่นี้...เมื่อคดียุติ ความเครียดของทนายความก็ลดลง อย่างน้อยระยะเวลาหนึ่งครับ

 

ทีมงาน Thai Law Consult ได้นำฎีกาน่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายมรดกมาลงไว้แล้วครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  583 - 584/2535

ป.พ.พ. มาตรา 1646

          การที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใด โดยอ้างว่า เป็นทรัพย์ของเจ้ามรดกนั้น มิใช่จะถือว่าทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรม เป็นของเจ้ามรดกเสมอไป ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่าเป็น ทรัพย์ของเจ้ามรดกหรือไม่ เมื่อคดีฟังได้ว่าเจ้ามรดกได้ยกทรัพย์ บางส่วนให้จำเลยทั้งสองก่อนตาย ทรัพย์ส่วนที่ยกให้ย่อมไม่เป็น ของเจ้ามรดกที่จะทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ทั้งสองได้.

________________________________

          คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกนายประคอง แจ่มประทีป โจทก์ในสำนวนแรก และจำเลยที่ 2ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 1 เรียกนางละมัย ทรงไตรย์ จำเลยที่ 1ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 เรียกนางทวี ศรสุวรรณ จำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ที่ 2 ในสำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 1 เรียกนางละเมียด จันทร์ทรงโจทก์ที่ 1 ในสำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 2
          สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนางบุญนาค แจ่มประทีป มารดา โดยนางบุญนาคทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านคลังอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงวัวซึ่งอยู่ติดกับบ้านดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 เมื่อนางบุญนาคตายแล้ว โจทก์ที่ 1เข้าไปทำการรื้อบ้านและโรงวัว แต่จำเลยที่ 1 ขัดขวางอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และบริวารขัดขวาง
          จำเลยที่ 1 ให้การว่า นางบุญนาค แจ่มประทีป มารดา ยกบ้านทรงไทยยอดแหลมเลขที่ 24 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยยกให้ตอนจำเลยที่ 1 สมรสกับนายกมล ศรสุวรรณ และใช้บ้านหลังนี้เป็นเรือนหอต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ต่อเติมบ้านทรงไทยยอดแหลมขึ้นอีกหลังเป็นทรงบังกะโลและปลูกโรงวัวขึ้นเองภายหลัง นางบุญนาคไม่มีสิทธิเอาทรัพย์ดังกล่าวไปทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ที่ 1 พินัยกรรมท้ายฟ้องไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ เพราะขณะทำพินัยกรรมนางบุญนาคมีสติไม่สมบูรณ์หลงใหลฟั่นเฟือน ลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมจะเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางบุญนาคที่แท้จริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่รับรอง ขอให้ยกฟ้อง
          สำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเมื่อนางบุญนาค แจ่มประทีป มารดายังมีชีวิตนางบุญนาคยกที่ดินส.ค.1 เลขที่ 21 หมู่ที่ 21 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านคล้ง อำเภอบางบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ประมาณ 78 ตารางวา กับเรือนทรงไทยยอดแหลมเลขที่ 24 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ครอบครองปลูกบ้านเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง เป็นบ้านทรงบังกะโลติดกับเรือนหลังเดิมและปลูกโรงวัวขึ้นอีก 1 โรงและนางบุญนาคยังยกที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 54 เล่ม 1 หน้า 47 หมู่ที่ 5ตำบลบ้านคล้ง เนื้อที่ 3 งาน 92 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ด้วย โดยจำเลยที่ 2 ได้ปลูกเรือนในที่ดินส่วนที่ได้รับยกให้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดิน โจทก์ที่ 2ก็เข้าครอบครองที่ดินส่วนที่ได้รับยกให้เช่นกัน ใช้ปลูกบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ที่ดินทางด้านทิศตะวันตก ได้ใช้ที่ดินทำลานนวดข้าว และทำสวน นอกจากนี้นางบุญนาคยังได้ยกที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 19หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านคล้งเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2และโจทก์ที่ 2 คนละครึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้ทางด้านทิศตะวันออกและปลูกโรงวัวไว้ 1 โรง สำหรับที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ปล่อยทิ้งว่างไว้ หลังจากนางบุญนาคตายแล้ว จำเลยจึงรู้ว่าโจทก์ทั้งสองสมคบกันฉ้อฉลหลอกลวงพานางบุญนาคไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่อำเภอบางบาล นางบุญนาคไม่มีอำนาจเอาทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้วไปทำพินัยกรรมยกให้แก่โจทก์ทั้งสอง ทั้งขณะทำพินัยกรรมนางบุญนาคชรามากแล้ว มีสติไม่สมบูรณ์หลงลืม ได้ทำพินัยกรรมเพราะถูกข่มขู่โดยสำคัญผิดหรือถูกกลฉ้อฉลถึงขนาด พินัยกรรมดังกล่าวจึงเสียไปทั้งฉบับ ขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่20 สิงหาคม 2528 และพิพากษาว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 21 พร้อมเรือนทรงไทยเลขที่ 24 กับเรือนทรงบังกะโลและโรงวัวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 19 เนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวาตามเส้นสีแดงในแผนที่ท้ายฟ้องกับโรงวัวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2และที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 54 เล่ม 1 หน้า 47 เนื้อที่ดินประมาณ150 ตารางวา ตามเส้นสีเหลืองในแผนที่ท้ายฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ที่ดินตามเส้นสีเขียวในแผนที่ท้ายฟ้องเนื้อที่ประมาณ 92 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1
          โจทก์ให้การว่า นางบุญนาคไม่เคยยกที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 21พร้อมบ้านเลขที่ 24 หรือยกที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 19 หรือยกที่ดินน.ส.3 เลขที่ 54 ให้แก่จำเลยคนหนึ่งคนใดเลย จำเลยอยู่ในที่ดินโดยอาศัยนางบุญนาค มารดา พินัยกรรมของนางบุญนาคมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมเป็นของนางบุญนาคทั้งสิ้นคำฟ้องที่อ้างว่าพินัยกรรมไม่สมบูรณ์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 21 (ที่ถูกควรจะเป็นส.ค.1 เลขที่ 19) หมู่ 5 ตำบลบ้านคล้ง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน คือบ้านทรงบังกะโลเลขที่ 24 และโรงวัวเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 19(ที่ถูกควรจะเป็น ส.ค.1 เลขที่ 21) หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านคล้งอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 2ปลูกโรงวัวอยู่ตามรูปแผนที่ท้ายคำฟ้องในสำนวนคดีหมายเลขดำที่126/2530 เส้นสีแดงเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา เป็นของจำเลยที่ 2ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 54 เล่ม 1 หน้า 47 หมู่ 5 ตำบลบ้านคล้งอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 2ปลูกบ้านอยู่ตามรูปแผนที่ท้ายคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 126/2530เส้นสีเหลือง เนื้อที่ประมาณ 150 ตารางวา เป็นของจำเลยที่ 2และเฉพาะส่วนตามเส้นสีเขียวเนื้อที่ประมาณ 92 ตารางวา เป็นของจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ฉบับลงวันที่20 สิงหาคม 2528 ของนางบุญนาค แจ่มประทีป ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 32/2530 (สำนวนแรก)
          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ทั้งสองฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...การที่นางบุญนาคได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใดโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของนางบุญนาคนั้น มิใช่จะถือว่าทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมเป็นของนางบุญนาค ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่าเป็นทรัพย์ของนางบุญนาคหรือไม่ เมื่อคดีฟังได้ว่านางบุญนาคได้ยกให้จำเลยทั้งสองบางส่วนก่อนตาย ทรัพย์ส่วนที่ยกให้ย่อมไม่เป็นของนางบุญนาคที่จะทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ทั้งสองได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าเมื่อมีการพิพาทเรื่องทางภารจำยอมทางด้านทิศใต้ของที่ดิน ส.ค.1ทั้งสองแปลงถูกปิดกั้นจำเลยทั้งสองเป็นผู้ฟ้องร้อง เป็นข้อสนับสนุนว่านางบุญนาคยกให้จำเลยทั้งสองทั้งที่คดีดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยกเหตุผลตามพยานหลักฐานในสำนวนให้เห็นว่าพยานจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์เพื่อชี้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับการยกให้ทรัพย์พิพาทมาก่อนแล้วมิใช่เอาคำพิพากษาคดีก่อนมาผูกมัดโจทก์แต่อย่างใด ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
          แต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิกถอนพินัยกรรมนั้น เห็นว่าพินัยกรรมดังกล่าวนายอุดม บุญนรา ปลัดอำเภอเสนาผู้ทำหน้าที่แทนนายอำเภอและเป็นผู้ทำพินัยกรรมรายนี้เบิกความว่า นางบุญนาคมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ็ดี และพินัยกรรมทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายจึงเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย และทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมมีพิพาทบางส่วนเท่านั้น ยังมีส่วนที่มิได้พิพาทกัน เช่นที่ดินตามน.ส.3 เอกสารหมาย ล.2 และ ส.ค.1 เลขที่ 21 เอกสารหมาย ล.3บางส่วน ส่วนที่ไม่พิพาทยังมีผลตามพินัยกรรม ไม่มีผลเฉพาะแต่ทรัพย์พิพาทที่ได้ยกให้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น จึงควรเพิกถอนพินัยกรรมบางส่วนเฉพาะทรัพย์ส่วนที่เกี่ยวกับที่นางบุญนาคได้ยกให้แก่จำเลยทั้งสอง"
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2528 ของนางบุญนาค แจ่มประทีป บางส่วนเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์ที่นางบุญนาคได้ยกให้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

( ก้าน อันนานนท์ - อุดม เฟื่องฟุ้ง - อัมพร ทองประยูร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7706/2548

ป.พ.พ. มาตรา 1377, 1724, 1600, 1605
ป.วิ.พ. มาตรา 142, 148

          ที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เมื่อ ม. เจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่ ม. ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 และต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดเป็นการโอนไปซึ่งการครอบครองให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว ม. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ ม. การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของ ม. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ม. ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของ ม. ฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
          โจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 จึงพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนายมี พันธ์วงษ์หรือพันธุวงษ์ ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นได้โอนขายที่ดินมรดกของนายมีตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1879 เนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันแก่ทายาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตไม่ได้แจ้งและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและทายาทโดยธรรมของนายมี ถือว่าจำเลยที่ 1 ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และปกปิดการโอนขายทรัพย์มรดกเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 รับมรดกของเจ้ามรดก กับเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง
          จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
          จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายมี พันธ์วงษ์หรือพันธุวงษ์ ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายมีตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมีได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1879 ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 150,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์กล่าวในฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมี บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่จากการนำสืบของโจทก์ได้ความว่าในระหว่างมีชีวิตอยู่ นายมีเจ้ามรดกได้ยกที่ดินพิพาทคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1879 ตั้งอยู่ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่ง หลังจากที่ได้รับการยกให้แล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสองส่วนมีคันนาเป็นแนวแบ่งเขตโจทก์ครอบครองที่ดินทางด้านทิศใต้ ส่วนจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินทางด้านทิศเหนือ เห็นว่า ที่พิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) นายมีเจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เจ้ามรดกจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่เจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่งและต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามที่ได้รับการยกให้เป็นการที่เจ้ามรดกโอนไปซึ่งการครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่ได้รับโอนการครอบครองจากเจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อนายมีถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนายมีที่จะตกทอดแก่ทายาท การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของนายมี โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายมี ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของนายมีฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกได้ คดีนี้โจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของ เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สบโชค สุขารมณ์ - เรวัตร อิศราภรณ์ - ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3776/2545

ป.พ.พ. มาตรา 850, 1612, 1615, 1656, 1705, 1727

          พินัยกรรมที่มีพยานลงลายมือชื่อสองคน แต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705
           บันทึกข้อตกลงที่มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของ ส. ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดก ที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 นอกจากนี้เงิน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป แล้วทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วนจึงมีผลเป็นการสละมรดกตามมาตรา 1612 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้วมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีอำนาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดก

________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทรเกตุจิตร ผู้ตาย เพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรม
          ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันสี่คน คือ นางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 1 นางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย และนายสุจินต์กลิ่นเกษร ซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ตายได้สมรสกับนายโนแล เกตุจิตร นายโนแลถึงแก่กรรมก่อนผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมนั้น เนื่องจากพินัยกรรมของผู้ตายไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมายเพราะพินัยกรรมไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมและพยานมิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะทำพินัยกรรม ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดก อีกทั้งพินัยกรรมมีพิรุธ เพราะระบุยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้อง บุตรของผู้ร้องและบุตรของพี่สาวผู้ร้องเท่านั้น และในขณะที่ทำพินัยกรรมผู้ตายกำลังป่วย ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะสามารถทำพินัยกรรมได้ ขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันสี่คน คือ ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 นางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย นายสุจินต์ กลิ่นเกษรซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วผู้ร้องได้แบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นเงิน 60,000 บาท แล้วทำหลักฐานเป็นหนังสือยืนยันว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอีก และยังทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก โดยยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของตนบางส่วน จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องกับยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1
          ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมของผู้ตายมีผลสมบูรณ์เพราะมีพยานหลายคนขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายไป 60,000 บาท และทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆอีก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยทำผิดหน้าที่ในการจัดการมรดกแต่อย่างใด
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนนางสนิท คงดิษฐ์ ผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งนางชำเรือง มาใหญ่ ผู้คัดค้านที่ 1 กับนางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตรผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
          ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
          ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.6 ไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นเงิน 10,000 บาทเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 โดยบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ อีก ตามเอกสารหมายร.12 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.6 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.6 ไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ไว้ ซึ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 บัญญัติว่า พินัยกรรมต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้นและผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ดังนั้น แม้พินัยกรรมดังกล่าวจะมีพยานลงลายมือชื่อสองคนแต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมก็ต้องถือว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1656 ย่อมเป็นโมฆะ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1705 เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรมไม่มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอันจะทำให้มีสิทธิเรียกร้องขอถอนผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตามบันทึกเอกสารหมาย ร.12 มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกรายนี้ ที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป โดยผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในขณะนั้นยอมจ่ายเงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 10,000 บาท แล้วผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850นอกจากนี้เงินจำนวน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้ความจากพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองว่าเป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ของลูกค้า ธกส. อำเภอสรรพยาซึ่งผู้ตายระบุไว้ในใบสมัครว่า เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมแล้วให้ผู้ร้องเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์เงินดังกล่าวย่อมมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป 10,000 บาท แล้ว ทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วนการประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ร.12 ดังกล่าวจึงมีผลเป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้วมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ไม่มีอำนาจมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น"
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวให้ยกคำร้องของนางชำเรือง มาใหญ่ผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

( วสันต์ ตรีสุวรรณ - ชาญชัย ลิขิตจิตถะ - จำรูญ แสนภักดี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  370/2506

กฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68
ป.พ.พ. มาตรา 111, 1466, 1600
ป.วิ.พ. มาตรา 177

           ลูกสุกรเกิดจากสุกรพ่อและสุกรแม่ซึ่งเลี้ยงไว้ในระหว่างเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่แต่เกิดเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วลูกสุกรและเงินที่ขายลูกสุกรได้ก็เป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับภรรยาส่วนของเจ้ามรดกตกเป็นมรดก ทายาทมีส่วนแบ่งในสุกรพ่อและสุกรแม่อย่างไรก็มีส่วนแบ่งในลูกสุกรหรือเงินที่ขายได้อย่างนั้น
           แม้จะขายลูกสุกรเหล่านี้ไปหลังจากเจ้ามรดกตาย 2 ปีเศษทายาทก็มีสิทธิขอแบ่งมรดกตามราคาที่ขายได้ (ไม่ใช่ตามราคาของลูกสุกรเมื่อแรกเกิด) ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสุกรจนกระทั่งขายไปนั้น ทายาทผู้เป็นเจ้าของรวมต้องช่วยกันออกตามส่วนของตน ในเวลาแบ่งเจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ชำระหนี้เสียก่อนก็ได้ ทายาทที่อ้างว่าตนออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสุกรคนเดียว เมื่อถูกทายาทอื่นฟ้องขอแบ่งมรดกเงินค่าขายสุกรชอบที่จะขอหักค่าใช้จ่ายนี้มาในคำให้การ

________________________________

          คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนายสนั่นเจ้ามรดก ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสนั่นตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะทรัพย์รายการที่ 4 คือ เงินค่าขายสุกร คู่ความรับกันว่าสุกรมี 9 ตัว ขายไปในราคา 4,916 บาท และได้ความว่าสุกร 9 ตัวนี้เกิดจากสุกรพ่อและสุกรแม่ซึ่งเลี้ยงไว้ในระหว่างที่นายสนั่นยังมีชีวิตอยู่แต่เกิดเมื่อนายสนั่นตายแล้วได้ 7 วัน เพิ่งขายไปหลังจากนายสนั่นตาย 2 ปีเศษ
          ศาลชั้นต้นเห็นว่า ลูกสุกร 9 ตัวนี้เป็นดอกผลธรรมดาของสุกรพ่อแม่ซึ่งเป็นสินสมรส จึงเป็นสินสมรสเงินค่าขายสุกรย่อมเป็นสินสมรสด้วยตามลักษณะช่วงทรัพย์ โจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในมรดกที่เป็นสินสมรสของนายสนั่น เงินค่าขายสุกร 4,916 บาทนี้ ให้คิดหักใช้สินเดิม 1,320 บาท ให้จำเลยก่อน ที่เหลือเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 จำเลยมีสินเดิมฝ่ายเดียวได้ 2 ส่วน นายสนั่นไม่มีสินเดิมได้ส่วนเดียว สินสมรสส่วนของนายสนั่นเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ จำเลยผู้เป็นทายาทคนละกึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1633, 1635(1) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 6 เป็นเงิน 599 บาท 33 สตางค์
          จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกาว่าลูกสุกรนี้เกิดภายหลังจากที่เจ้ามรดกตายแล้ว จึงไม่เป็นมรดกและหากว่าเป็นมรดก การคำนวณราคาต้องคำนวณราคาในวันแรกเกิดคือ ตัวละ 10 บาท เพราะที่ขายไปได้รวมราคาถึง 4,916 บาท ก็เพราะจำเลยเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเป็นเวลา 1 ปี ราคาส่วนที่เกินจาก 90 บาทนั้นไม่เป็นมรดกไปด้วย
          ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนายสนั่นตาย สุกรพ่อและสุกรแม่เป็นมรดกซึ่งโจทก์มีส่วนแบ่ง 1 ใน 6 อยู่แล้ว ลูกสุกรซึ่งเกิดจากสุกรอันเป็นมรดก ก็คงเป็นของทายาทตามส่วนเดิมอยู่นั่นเอง ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสุกร เจ้าของรวมต้องช่วยกันออกตามส่วนของตน ในเวลาแบ่งเจ้าของรวมผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกให้เอาส่วนซึ่งจะได้แก่ลูกหนี้ชำระหนี้เสียก่อนก็ได้ แต่จำเลยมิได้เรียกให้โจทก์ชำระหนี้ค่าใช้จ่าย โดยมิได้ขอหักมาในคำให้การสู้คดี เมื่อมิได้เรียกร้องขอหักโดยอ้างว่าตนออกค่าใช้จ่ายคนเดียว จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยในข้อนี้ พิพากษายืน

( พจน์ ปุษปาคม - บริรักษ์จรรยาวัตร - จิตติ ติงศภัทิย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4714/2542

ป.พ.พ. มาตรา 897 วรรคสอง, 1470, 1600, 1625
ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง, 249 วรรคสอง

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้นหมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น เนื่องจากความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตาย กับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ. จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 316,420.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ และร่วมกับโจทก์เพื่อแบ่งสินสมรสและมรดก กับหักชำระหนี้ให้ถูกต้องต่อไป
          จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์กับนายณรงค์ชัย อุระสุข เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534ไม่มีบุตรด้วยกัน จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของนายณรงค์ชัย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการธนาคารโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 นายณรงค์ชัยเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 นายณรงค์ชัย ถึงแก่กรรมทำให้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจำนวน 85,380 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพจำนวน25,490.43 บาท เงินเพื่อนช่วยเพื่อนจำนวน 85,000 บาท และเงินประกันชีวิตจำนวน100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 295,870.43 บาท จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 นำเงินชดเชยและเงินกองทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวไปชำระหนี้ที่นายณรงค์ชัยเป็นหนี้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตมาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า เงินชดเชย เงินกองทุนเลี้ยงชีพ เงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์และเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งบ้างหรือไม่ จะได้วินิจฉัยเป็นลำดับเริ่มตั้งแต่เงินชดเชยจำนวน 85,380 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่เกิดขึ้นตามสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานจึงเป็นสินสมรสและเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้นหมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่นายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 ฉะนั้น เงินชดเชยซึ่งเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัย และได้รับมาหลังจากนายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์ ส่วนเงินชดเชยนี้จะเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้จะต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้เงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัย มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่นายณรงค์ชัยมีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัยเช่นเดียวกันบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินชดเชยและเงื่อนไขการจ่ายเงินจึงต้องเป็นไปตามระเบียบที่จำเลยที่ 2 กำหนด เมื่อระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดให้ต้องนำเงินชดเชยมาหักหนี้สินที่นายณรงค์ชัยมีต่อจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะหักหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อปรากฏว่าหลังจากหักหนี้สินแล้วไม่มีเงินเหลืออยู่อีกเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินชดเชยนี้ สำหรับเงินกองทุนเลี้ยงชีพจำนวน25,490.43 บาท นั้น โจทก์ยอมรับว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัย แต่โต้แย้งว่าทรัพย์มรดกดังกล่าวต้องหักชดใช้สินสมรสระหว่างโจทก์กับนายณรงค์ชัยครึ่งหนึ่งก่อนโจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 12,745.21 บาทนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่กำหนดให้แบ่งมรดกของผู้ตายที่เป็นผู้สมรสแล้วมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตายกับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องมีการนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตายไม่ และโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าเงินกองทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวโจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปชำระหนี้เงินที่ผู้ตายกู้ยืมจำเลยที่ 2 ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.12 แผ่นที่ 4 (จ.24) ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆในเงินกองทุนเลี้ยงชีพสำหรับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนจำนวน 85,000 บาท โจทก์อ้างว่าเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยเพราะเป็นเงินที่นายณรงค์ชัยยินยอมให้จำเลยที่ 2 หักเงินเดือนของผู้ตายในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 รายเพื่อนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมนั้น เห็นว่า สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัยมิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่นายณรงค์ชัยมีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มานายณรงค์ชัยจะต้องเคยชำระเงินในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย ร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 คนอื่น ๆเพื่อรวบรวมนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็ตาม ก็มิใช่เป็นมรดกของนายณรงค์ชัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง ส่วนเงินประกันชีวิตจำนวน 100,000 บาท นั้น โจทก์อ้างว่านายณรงค์ชัยชำระเบี้ยประกันภัยโดยการให้จำเลยที่ 2 หักเงินจากเงินทุนเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้นายณรงค์ชัยทุกปีเป็นจำนวน 418 บาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปี 2536 ที่นายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมรวม 8 ปี เป็นเงิน 3,344 บาท เบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท ดังกล่าวจึงเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิขอแบ่ง เห็นว่า เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและจำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ คือ จำเลยที่ 1สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ และที่โจทก์ฎีกาว่าเงินเบี้ยประกันชีวิตที่ผู้ตายให้หักจากเงินทุนเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 2 จ่ายแทนให้ผู้ตายทุกปีเป็นเงิน 418 บาท ต่อปี ตั้งแต่ปี2529 ถึงปี 2536 รวม 8 ปี เป็นเงิน 3,344 บาท จึงเรียกเบี้ยประกันชีวิตจำนวน3,344 บาท โดยอ้างว่าเป็นมรดกของผู้ตายที่โจทก์มีสิทธิขอแบ่งนั้น แม้สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท ดังกล่าว โดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิตจำนวน 100,000 บาท ว่าโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของผู้ตายที่จะตกแก่ทายาท แต่จำเลยที่ 2 มอบเงินประกันชีวิตแก่จำเลยที่ 1เพียงผู้เดียวเป็นการไม่ชอบ ในส่วนเบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในเงินชดเชย เงินกองทุนเลี้ยงชีพเงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตของนายณรงค์ชัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

( ประสพสุข บุญเดช - วิเทพ ศิริพากย์ - สุเมธ ตังคจิวางกูร )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1953/2515

ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1600
ป.วิ.พ. มาตรา 254, 286
พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2505 มาตรา 21, 24, 3
พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2502 มาตรา 4

          เงินช่วยพิเศษซึ่งจ่ายให้ในกรณีข้าราชการตายในระหว่างรับราชการเป็นจำนวนสามเท่าของอัตราเงินเดือน ในอัตราที่ถือจ่ายอยู่เมื่อถึงแก่ความตายนั้น มิใช่เงินเดือนของข้าราชการ แต่เป็นเงินพิเศษอีกส่วนหนึ่งซึ่งทางราชการจ่ายให้เมื่อข้าราชการผู้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว จะตกได้แก่ผู้ใด ต้องเป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกาบัญญัติไว้ จึงมิใช่มรดกของข้าราชการซึ่งถึงแก่ความตาย เพราะมิใช่เป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย
          เงินสะสมเป็นเงินที่ทางราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งจะจ่ายคืนเมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ เงินสะสมจึงเป็นมรดกของข้าราชการซึ่งถึงแก่ความตาย เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย หากแต่ทางราชการยังไม่ได้จ่ายให้ เพราะยังไม่ถึงคราวที่จะต้องจ่าย

________________________________

          โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ร่วมกันรับผิดใช้เงินที่นายเสถียรผู้ตายสามีจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียนอู่ทองไปในระหว่างนายเสถียรเป็นครูใหญ่โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกของนายเสถียรผู้ตาย
           โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยึดและอายัดที่ดิน 1 แปลง เรือน 1 หลัง ปืนพก 2 กระบอก พร้อมด้วยเงินพิเศษช่วยข้าราชการที่ถึงแก่กรรม 6,000 บาท และเงินสะสมของผู้ตาย 6,218.66 บาทไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
           ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยถือว่าเงินพิเศษช่วยข้าราชการที่ถึงแก่กรรมและเงินสะสมเป็นมรดกของผู้ตายด้วย
           จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
           ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
           จำเลยที่ 1 ฎีกา
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2505 มาตรา 21 บัญญัติว่า "ข้าราชการผู้ใดตายในระหว่างรับราชการให้จ่ายเงินเดือนจนถึงวันที่ถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ให้จ่ายเงินอีกจำนวนหนึ่งเรียกว่าเงินช่วยพิเศษเป็นจำนวนสามเท่าของอัตราเงินเดือนในอัตราที่ถือจ่ายอยู่เมื่อถึงแก่ความตาย ฯลฯ" และมาตรา 24 บัญญัติว่า "เงินเดือนที่จ่ายตามมาตรา 21 ฯลฯ เป็นทรัพย์สินของผู้ตายในขณะตายและให้จ่ายแก่ผู้มีสิทธิควรได้ตามกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก
           เงินช่วยพิเศษตามมาตรา 21 ฯลฯ ให้จ่ายให้แก่บุคคลซึ่งข้าราชการผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุไว้เป็นหนังสือตามแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด
           ถ้าข้าราชการผู้ตายมิได้แสดงเจตนาระบุไว้ตามวรรคสอง หรือบุคคลซึ่งข้าราชการผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุไว้ได้ตายไปเสียก่อนก็ให้จ่ายให้แก่บุคคลตามลำดับก่อนหลัง ดังต่อไปนี้ 1. คู่สมรส ฯลฯ"
           นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 3 ยังบัญญัติว่า "ในกรณีที่ทางราชการมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นผู้จัดการศพผู้ตาย เพราะไม่มีผู้ใดเข้าจัดการศพในเวลาอันสมควรก็ให้ทางราชการหักค่าใช้จ่ายจากเงินช่วยพิเศษที่ต้องจ่ายพระราชกฤษฎีกานี้ได้เท่าที่จ่ายจริง แล้วมอบส่วนที่เหลือให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ" ดังนั้น เงินช่วยพิเศษข้าราชการที่ถึงแก่ความตายตามบทกฎหมายนี้จึงเห็นได้ชัดว่ามิใช่เงินเดือนของข้าราชการ แต่เป็นเงินพิเศษอีกส่วนหนึ่งที่ทางราชการจ่ายให้เมื่อข้าราชการผู้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว และเงินนี้ก็มิใช่เงินอันเป็นมรดกของข้าราชการที่ตายผู้นั้นด้วย เพราะมิใช่เป็นเงินที่ข้าราชการผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เงินนี้จะตกได้แก่ผู้ใดก็ต้องเป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกาบัญญัติไว้ หาใช่เป็นมรดกได้แก่ทายาทของผู้ตายเช่นเงินเดือนไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุไว้ก่อนตายว่าจะให้จ่ายแก่ผู้ใด เงินจำนวนนี้จึงตกเป็นของบุคคล เช่น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสและไม่อยู่ในความรับผิดในหนี้สินของนายเสถียร ศรีพุฒตาล ผู้ตาย โจทก์จึงจะขอให้อายัดเงินจำนวนนี้ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเพราะถือว่าเป็นมรดกของผู้ตายมิได้
           ส่วนเงินสะสมนั้น เป็นเงินที่ทางราชการหักเก็บไว้จากเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งเมื่อข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการจึงจะรวบรวมเอาจ่ายคืนให้ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าหากข้าราชการผู้นั้นถึงแก่ความตาย เงินสะสมนี้ย่อมเป็นมรดกของผู้ตายอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นเงินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย หากแต่ทางราชการยังไม่ได้จ่ายให้เพราะยังไม่ถึงคราวที่จะต้องจ่ายเท่านั้น เมื่อเงินสะสมมีลักษณะดังนี้ เงินสะสมของนายเสถียร ศรีพุฒตาล ผู้ตายในคดีนี้จึงอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเรื่องนี้ด้วย โจทก์จึงขอให้อายัดเงินสะสมของผู้ตายรายนี้ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาได้ตามความเห็นของสองศาลล่าง
           พิพากษาแก้เป็นให้ยกคำขออายัดเงินช่วยพิเศษข้าราชการที่ถึงแก่กรรมระหว่างรับราชการของนายเสถียร ศรีพุฒตาล ผู้ตาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( ประสม เภกะสุต - รัตน์ ศรีไกรวิน - สนับ คัมภีรยส )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  107/2543

ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1600
ป.วิ.พ. มาตรา 177, 224 วรรคหนึ่ง

          คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคดีละเมิดขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทที่แต่ละคนครอบครองอยู่ได้ซื้อมาจาก พ. และชำระราคาแล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การด้วยพร้อมทั้งขอให้ศาลบังคับตามฟ้องแย้ง ก็หาเป็นเหตุให้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ซึ่งกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์กลับมาเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ การฟ้องแย้งของจำเลยคงมีผลทำให้จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันด้วยเท่านั้นเมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำนวนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
           ศาลชั้นต้นฟังว่าการซื้อขายที่ดินระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแม้ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้ระบุว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพ. กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขาย พ. มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย แต่ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยมิได้ระบุอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพียงแต่ระบุอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งจำเลยก็ได้มีคำขอท้ายฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมีผลผูกพัน พ. และโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกที่ดินพิพาทแต่ละส่วนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องแย้งของจำเลย
          พ. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลย เมื่อ พ. ถึงแก่กรรมทรัพย์มรดกของ พ. ตกทอดแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของพ. เมื่อ พ. มีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามหน้าที่ของ พ. สืบต่อไป

________________________________

          คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรก สำนวนที่สอง สำนวนที่สามและสำนวนที่สี่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ตามลำดับ
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสี่สำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมออกจากที่ดินของโจทก์ และขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป กับให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไป
          จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสี่เป็นเนื้อที่คูหาละประมาณ 2 ตารางวา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งทั้งสี่สำนวน ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/21 เนื้อที่ 2 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 1 ในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/25 เนื้อที่ 2 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/27เนื้อที่ 2 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 3 และในส่วนที่ติดกับตึกแถวเลขที่ 909/28 เนื้อที่ 2ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 4 ขนาดที่ดินพิพาทกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ทั้งสี่แปลง โดยให้แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดพิพาท แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ยกฟ้องโจทก์
           โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ทั้งสี่สำนวนฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นคดีละเมิดขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งที่ดินพิพาทก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะให้เช่าได้ คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จำเลยจะให้การและฟ้องแย้งโดยอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็มีผลเพียงแต่ทำให้คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยเท่านั้นเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เห็นว่า แม้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จะเป็นคดีละเมิดขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ต่างให้การว่าที่ดินพิพาทที่แต่ละคนครอบครองอยู่นั้น ได้ซื้อมาจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและชำระราคาแล้ว จำเลยทั้งสี่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้จำเลยทั้งสี่จะฟ้องแย้งมาในคำให้การด้วยพร้อมทั้งขอให้ศาลบังคับตามฟ้องแย้ง ก็หาเป็นเหตุให้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ซึ่งกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์กลับมาเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ การฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวคงมีผลทำให้จำเลยทั้งสี่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันด้วยเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างตกลงกันว่าที่ดินพิพาทราคาตารางวาละ 25,000 บาท คดีทั้งสี่สำนวนพิพาทกันมีเนื้อที่สำนวนละ 2 ตารางวา จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์สำนวนละ 50,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกค่าขึ้นศาลในจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำนวนละไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงของโจทก์ชอบแล้ว
          ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอฟ้องแย้งหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า ประเด็นข้อพิพาทที่จะทำให้โจทก์หรือจำเลยทั้งสี่ชนะคดี คือประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่เท่านั้นส่วนข้ออ้างของจำเลยทั้งสี่ที่ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว โดยนาวาเอกหลวงพินิจกลไกสัญญาว่าจะไปแบ่งแยกโฉนดและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสี่ในภายหลังนั้น แม้โจทก์จะโต้แย้งข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์แล้วก็ตามก็เป็นเพียงการโต้แย้งกันในประเด็นที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของจำเลยทั้งสี่เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นนำเรื่องสัญญาซื้อขายที่โจทก์จำเลยทั้งสี่โต้เถียงกันในฐานะเป็นส่วนประกอบของข้ออ้างที่จำเลยทั้งสี่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของจำเลยทั้งสี่มาใช้เป็นข้อวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทหลัก จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอฟ้องแย้ง อีกทั้งฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ก็มิได้ยกเอาสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้าง และไม่มีการโต้แย้งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่เกี่ยวเนื่องด้วยบุคคลสิทธิอันเกิดแต่สัญญานั้นนับแต่ได้ทำสัญญาจนถึงวันฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจฟ้องแย้งในเรื่องสัญญาดังกล่าวได้ ซึ่งก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยทั้งสี่มิได้อ้างสัญญาดังกล่าวขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำเอาประเด็นที่มิได้มีการโต้แย้งกันอยู่โดยบริบูรณ์ก่อนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี จึงเกินคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อรวมพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นมิได้ชี้สองสถาน ซึ่งหากชี้สองสถานโดยพิเคราะห์คำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วคดีมีประเด็นข้อพิพาทดังนี้
          ข้อ 1. จำเลยทั้งสี่ทำละเมิดต่อโจทก์โดยต่อเติมอาคารตึกแถวรุกล้ำที่ดินพิพาทหรือไม่
          ข้อ 2. โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่
          ข้อ 3. จำเลยทั้งสี่ได้ซื้อที่ดินพิพาทแต่ละส่วนของตนจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกโดยชำระราคาครบถ้วนแล้วหรือไม่
          ข้อ 4. จำเลยทั้งสี่ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเกิน 10 ปีหรือไม่
          ข้อ 5. จำเลยทั้งสี่มีสิทธิขอให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือไม่
          ประเด็นข้อพิพาททั้งห้านี้ แยกออกได้เป็นประเด็นข้อเท็จจริง 4 ข้อ คือ ข้อ 1ถึงข้อ 4 ซึ่งคู่ความจะต้องนำสืบตามที่ตนกล่าวอ้าง ส่วนประเด็นข้อ 5 เป็นประเด็นข้อกฎหมายศาลวินิจฉัยเองได้ เฉพาะประเด็นข้อ 3 และข้อ 4 ภาระการพิสูจน์ตกจำเลยทั้งสี่ที่จะต้องนำสืบให้ครบตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นข้อ 3 นั้น ถ้าจำเลยทั้งสี่นำสืบรับฟังไม่ได้แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นข้อ 4 เพราะเมื่อขาดข้อเท็จจริงในข้อ 3 เสียแล้ว จำเลยทั้งสี่ก็ไม่มีสิทธิที่จะอ้างเรื่องครอบครองปรปักษ์มายันโจทก์ได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าประเด็นข้อ 3 เป็นประเด็นหลักมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อ 4 ดังโจทก์ฎีกา เนื่องจากจำเลยทั้งสี่อ้างการครอบครองปรปักษ์โดยการซื้อที่ดินพิพาทแต่ละส่วนจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไก โดยจำเลยแต่ละคนชำระราคาครบถ้วน และนาวาเอกหลวงพินิจกลไกส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่ละคนครอบครองแล้ว และข้ออ้างส่วนนี้ก็เป็นประเด็นหลักแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ที่ระบุว่าจำเลยทั้งสี่ทำละเมิดต่อเติมอาคารตึกแถวรุกล้ำที่ดินพิพาท ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อ 3 พร้อมทั้งฟังต่อไปว่า นาวาเอกหลวงพินิจกลไก ต้องการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ จึงได้มีการรังวัดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการตอกหมุดหลักเขตไว้ แต่ไม่ทันมีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทนาวาเอกหลวงพินิจกลไกได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน เมื่อทรัพย์มรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกตกทอดแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก เมื่อนาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่เนื่องจากนาวาเอกหลวงพินิจกลไกได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยทั้งสี่ไปแล้วพร้อมทั้งส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ครอบครอง แต่การดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ยังไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามหน้าที่ของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกสืบต่อไป คือแบ่งแยกแล้วโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสี่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยทั้งสี่เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แม้ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับจำเลยทั้งสี่เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย นาวาเอกหลวงพินิจกลไกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวก็ตาม แต่ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ก็มิได้ระบุอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพียงแต่ระบุอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งจำเลยทั้งสี่ก็ได้มีคำขอท้ายฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าวมีผลผูกพันนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกที่ดินพิพาทแต่ละส่วนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสี่ หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาเกินคำขอ ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

( ชวลิต ธรรมฤาชุ - สมชัย เกษชุมพล - สุมิตร สุภาดุลย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6048/2539

ป.พ.พ. มาตรา 1600

          ป. ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ป. เข้าทำการค้าในสถานที่หรือแผงขายสินค้าด้วยตนเองจะนำไปให้บุคคลอื่นทำการค้าหรือโอนสิทธิให้บุคคลอื่นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยที่ 1ก่อน สิทธิอันเกิดจากสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของป. ไม่เป็นทรัพย์ในกองมรดกของ ป. ที่ผู้จัดการมรดกจะจัดการได้

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายปรีตัม ซิงห์หรือพี.เอส.กุกเรยา ตามคำสั่งของศาล ขณะที่นายปรีตัม ซิงห์ยังมีชีวิตอยู่ จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับนายปรีตัม ซิงห์ยินยอมให้นายปรีตัม ซิงห์ เข้าทำการค้าขายในสถานที่หรือแผงขายสินค้าห้องที่ 7 ล็อกที่ อี.1 นายปรีตัม ซิงห์ได้นำออกให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 3,500 บาท ครั้นนายปรีตัม ซิงห์ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 เข้าจัดการให้เช่าและเก็บค่าเช่าจากแผงขายสินค้าดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2533 โดยเก็บค่าเช่าเดือนละ3,500 บาท จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 91,000 บาท เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1จัดการให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปรีตัม ซิงห์ผู้ตายเข้าสวมสิทธิเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1ไม่ปฎิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปและไม่ยุ่งเกี่ยวกับแผงขายสินค้าพิพาท และร่วมกันชำระเงินจำนวน 91,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปและค่าเสียหายเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะปฎิบัติตามคำขอข้างต้น ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถจัดให้โจทก์เข้าเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1ได้ รวมทั้งให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากแผงขายสินค้าพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
          จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายปรีตัม ซิงห์ ผิดสัญญาไม่ชำระค่ายามรักษาความปลอดภัยและค่ารักษาความสะอาด และยังนำสถานที่การค้าไปให้บุคคลอื่นทำการค้าโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเลิกสัญญากับนายปรีตัม ซิงห์และด้วยสิทธิการเข้าทำการค้าในสถานที่ของจำเลยที่ 1 นี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายปรีตัม ซิงห์ เมื่อนายปรีตัม ซิงห์ถึงแก่กรรมจึงไม่เป็นมรดกตกแก่ทายาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 2 ให้การว่า หลังจากนายปรีตัม ซิงห์ ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องให้เช่าหรือเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่า ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า สิทธิที่นายปรีตัม ซิงห์ เข้าครอบครองใช้ประโยชน์จากแผงขายสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ เป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อนายปรีตัม ซิงห์ ถึงแก่กรรม สิทธิการเช่าจึงระงับ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สิทธิที่นายปรีตัม ซิงห์เข้าครอบครองใช้ประโยชน์จากแผงขายสินค้าตามสัญญาเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่เป็นมรดก พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่าสิทธิที่นายปรีตัม ซิงห์เข้าครอบครองใช้ประโยชน์จากแผงขายสินค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 หรือเอกสารหมาย ล.1และ ล.2 เป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์อ้างว่านายปรีตัม ซิงห์ ได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1ยินยอมให้นายปรีตัม ซิงห์ เข้าทำการค้าในสถานที่หรือแผงขายสินค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 หรือเอกสารหมาย ล.1และ ล.2 ในสัญญาระบุให้นายปรีตัม ซิงห์ ทำการค้าด้วยตนเองจะนำไปให้บุคคลอื่นทำการค้าหรือโอนสิทธิให้บุคคลอื่นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยที่ 1เสียก่อน ตามฟ้องและข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายปรีตัม ซิงห์ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าเอกสารหมายล.1 และ ล.2 เป็นเพียงที่มาแห่งสิทธิของนายปรีตัม ซิงห์เท่านั้น เมื่อยังไม่หมดอายุสัญญาวิธีปฎิบัติของการประกอบธุรกิจลักษณะนี้ย่อมทราบโดยทั่วไปว่าเป็นการจองหรือซื้อสิทธิเพื่อหาประโยชน์ จึงมิใช่สิทธิเฉพาะตัว เมื่อนายปรีตัม ซิงห์ถึงแก่กรรมผู้จัดการย่อมเข้าจัดการได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 หรือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นสัญญาอันเป็นที่มาแห่งสิทธิของนายปรีตัม ซิงห์ ดังที่โจทก์อ้างแต่สิทธิอันเกิดจากสัญญาดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว เมื่อเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายปรีตัม ซิงห์ก็ย่อมไม่เป็นทรัพย์ในกองมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะจัดการได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

( ก้าน อันนานนท์ - อัครวิทย์ สุมาวงศ์ - อำนวย หมวดเมือง )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2026/2526

ป.พ.พ. มาตรา 99, 1012, 1025, 1356, 1599, 1600

          กิจการแพปลาซึ่ง ผ.มารดาของโจทก์จำเลยประกอบอาชีพอยู่ก่อนถึงแก่กรรมนั้น ไม่ปรากฏว่านอกจากเงินสดและเงินที่ผ.ให้ชาวประมงยืมไปเป็นทุนแล้ว ยังมีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอีก กิจการแพปลาจึงเป็นเพียงการงานอาชีพของผ.อันเป็นกิจการเฉพาะตัวโดยแท้ และย่อมไม่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์จำเลย การที่จำเลยประกอบกิจการแพปลาต่อมาหาทำให้โจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของกิจการแพปลาร่วมกับจำเลยด้วยไม่

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อนางผินมารดาโจทก์จำเลยถึงแก่กรรม มีทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งคือ กิจการแพปลาซึ่งมีทุนหมุนเวียนหลายแสนบาท หลังจากมารดาถึงแก่กรรมโจทก์กับจำเลยได้ร่วมกันรับมรดกแพปลาและตกลงร่วมกันเป็นหุ้นส่วนดำเนินกิจการแพปลาในฐานะหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตลอดมา มีทรัพย์สินและทุนหมุนเวียนหลายล้านบาทจำเลยประพฤติผิดสัญญาหุ้นส่วนไม่แบ่งปันผลกำไรจากกิจการแพปลาให้โจทก์ขอให้พิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกิจการแพปลาระหว่างโจทก์จำเลยและตั้งให้โจทก์เป็นผู้ชำระบัญชี
          จำเลยให้การว่า เดิมกิจการแพปลาเป็นของนางผินมารดาโจทก์จำเลยเมื่อมารดาถึงแก่กรรมไม่มีทายาทคนใดดำเนินกิจการต่อไป จำเลยได้นำทุนของจำเลยมาใช้ดำเนินกิจการแพปลาเป็นกิจการส่วนตัวของจำเลย โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กิจการแพปลาซึ่งนางผินมารดาของโจทก์จำเลยประกอบอาชีพอยู่ก่อนถึงแก่กรรมนั้น โจทก์มิได้นำสืบว่า นอกจากเงินสดและเงินที่นางผินให้ชาวประมงยืมไปเป็นทุนสำหรับใช้จ่ายในการจับปลาแล้ว ยังมีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท กิจการแพปลาจึงเป็นเพียงการงานอาชีพของนางผินอันเป็นกิจการเฉพาะตัวโดยแท้ เมื่อนางผินถึงแก่กรรมกิจการแพปลาย่อมไม่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์จำเลยดังนั้น ถึงหากจำเลยจะประกอบกิจการแพปลาต่อมา โจทก์ก็คงมีสิทธิขอแบ่งปันเฉพาะเงินสดและสิทธิเรียกร้องในหนี้สินซึ่งเป็นมรดก หามีสิทธิเป็นเจ้าของกิจการแพปลาร่วมกับจำเลยด้วยไม่ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการแพปลาร่วมกัน
          พิพากษายืน

( ศักดิ์ สนองชาติ - นิยม ติวุตานนท์ - ม.ร.ว.ชัยวัฒน์ ชมพูนุท )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  809/2545

ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 728, 823, 1600, 1601, 1754

          แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ ท. ได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้หลังจากที่ ท. ถึงแก่ความตายไปแล้วเกิน1 ปี ซึ่งทำให้คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่โจทก์ผู้รับจำนองยังสามารถใช้สิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้โจทก์เอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27
           แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนอง แต่เมื่อทนายโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการบังคับจำนองที่ทนายโจทก์ได้บอกกล่าวในนามของโจทก์แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 และถือว่าได้มีการบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสามแล้ว
          ท. เป็นหนี้โจทก์อยู่และถึงแก่ความตายลง จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. ย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1601 ส่วนการที่จำเลยทั้งสามจะได้รับมรดกของ ท. และท. จะมีทรัพย์มรดกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า นางทองคำ มัสสะ กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยนำที่ดินมาจำนองเป็นประกันกำหนดชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ภายใน 1 ปี หลังทำสัญญานางทองคำผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามแล้วนางทองคำไม่ชำระ ต่อมาโจทก์ทราบว่านางทองคำถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของนางทองคำร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7520 ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัยจังหวัดนครราชสีมา ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้
          จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามเป็นทายาทของนางทองคำ มัสสะจริง แต่ไม่ใช่ทายาทผู้ได้รับมรดก จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบเพราะนางสาวรุ่งสุรีย์ อยู่บุญสุขไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นหนังสือ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องหากฟังว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนางทองคำที่จำเลยทั้งสามได้รับซึ่งขณะนี้จำเลยทั้งสามมิได้รับมรดกของนางทองคำ ทั้งนางทองคำมีทายาทหลายคน จำเลยทั้งสามอาจไม่ได้รับมรดก จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้นางทองคำถึงแก่ความตายตั้งแต่เดือนสิงหาคม2540 และโจทก์ทวงถามหนี้จากผู้ตายตลอดมา จึงควรทราบเรื่องการตายของนางทองคำ การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 กันยายน2542 คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2542) ต้องไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ตามที่โจทก์ขอแต่จำเลยทั้งสามไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนางทองคำ มัสสะ ที่ตกทอดได้แก่ตน หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7520 ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้
          จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
          จำเลยทั้งสามฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนางทองคำผู้ตายให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่นางทองคำได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้ แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า โจทก์ฟ้องคดีหลังจากนางทองคำถึงแก่ความตายไปแล้วเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม แล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวยกเว้นมิให้ใช้บังคับในกรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 193/27 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนองผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธินั้นบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ เห็นได้ว่า แม้คดีขาดอายุความแล้วก็ดี แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ก็ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนางทองคำเพื่อชำระหนี้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการที่สองว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองชอบหรือไม่ นั้น เห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือแก่นางสาวรุ่งสุรีย์ อยู่บุญสุขทนายโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนอง แต่เมื่อนางสาวรุ่งสุรีย์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการบังคับจำนองที่นางสาวรุ่งสุรีย์ได้บอกกล่าวในนามของโจทก์แล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823และถือว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสามแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่านางทองคำผู้ตายเป็นหนี้โจทก์อยู่และถึงแก่ความตายลง จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ดังนั้น จำเลยทั้งสามจะได้รับมรดกของผู้ตาย และผู้ตายจะมีทรัพย์มรดกหรือไม่เป็นเรื่องต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

( ปรีดี รุ่งวิสัย - อัธยา ดิษยบุตร - สมศักดิ์ เนตรมัย )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3898/2548

ป.พ.พ. มาตรา 1496, 1629, 1713

          บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้
          ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

________________________________

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสินชัย นิลรัตน์ ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 โดยมิได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย ผู้ร้องกับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันหลอก ๆ เพื่อผู้ร้องจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เป็นการแสดงเจตนาลวง การจดทะเบียนสมรสจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ และตั้งนายกุมภา ไทรเอี่ยมชัย ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          ผู้ร้องอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ (ที่ถูก พิพากษากลับ) เป็นว่า ให้ตั้งนางภัทรวดี นิลรัตน์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องคัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
          ผู้คัดค้านฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นางภัทรวดี นิลรัตน์ ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ร.1 ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ร.2 โดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ก่อนตายผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากในธนาคารกับที่ดินและกรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและบิดามารดาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ส่วนนายกุมภา ไทรเอี่ยมชัย ผู้คัดค้านเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) และผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องกับผู้ตายสมรสกันโดยมิได้ยินยอมเป็นสามีภริยากัน มิได้มีเจตนาเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นคู่สมรสของผู้ตายจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า บุคคลที่จะร้องขอขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นั้น ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้หากการสมรสจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังที่ผู้คัดค้านอ้างก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกับผู้คัดค้าน”
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นางภัทรวดี นิลรัตน์ ผู้ร้องและนายกุมภา ไทรเอี่ยมชัย ผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย นิลรัตน์ ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

( ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ - รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - พรเพชร วิชิตชลชัย )

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 1-11-55)