Blog categories

Latest posts

มัดจำ เบี้ยปรับ

               ทีมทนายความ Thai Law Consult เห็นว่าในการทำสัญญาทุกประเภท มักจะกล่าวถึง มัดจำ เบี้ยปรับ จึงช่วยกันเรียบเรียงบทความนี้ ส่วนตัวอย่างคดี ปรับปรุงจากสำนวนคดีจริง เพื่อเป็นความรู้กฎหมายแก่ประชาชน ถ้าประชาชนท่านใดมีเรื่องราวทำนองนี้ อยากปรึกษาทนายความ ส่งอีเมล์มานะคะ พี่ตุ๊กตาจะช่วยดูแลให้ค่ะ (ThaiLawConsult โทร. 098-915-0963)

 

หลัก  

ป.พ.พ. มาตรา 377       

               เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่า การที่ให้มัดจำนั้น ย่อมเป็น พยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ ย่อมเป็นประกัน การที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย

ป.พ.พ. มาตรา 378      

               มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
                (๑) ให้ส่งคืน หรือ จัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วน ในเมื่อชำระหนี้
                (๒) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำ ละเลยไม่ชำระหนี้ หรือ การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือ ถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะ ความผิดของฝ่ายนั้น
                (๓) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือ การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ

ป.พ.พ. มาตรา 379   

               ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็น เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือ ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้น ได้แก่ งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

ป.พ.พ. มาตรา 380     

               ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระ หนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้น แทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ ฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
               ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอา เบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้น ในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้

ป.พ.พ. มาตรา 381      

               ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่นว่า ไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วย ก็ได้
               ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรค 2
               ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อ ได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้

ป.พ.พ. มาตรา 383 ว.1          

               ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวน พอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับ แล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป

ป.พ.พ. มาตรา 391      

               เมื่อ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่าย จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะ ให้เป็นที่เสื่อมเสีย แก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
               ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
               ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ และ เป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
               การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

 

ทบทวน

  • มัดจำ คือ สิ่งที่ให้ไว้เป็นหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว หรือเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา (ป.พ.พ. มาตรา 377) ถ้อยคำใน ป.พ.พ. มาตรา 377 นี้แสดงว่า ทรัพย์สินที่ให้ไว้เป็นมัดจำ ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ดังนั้น แม้จะระบุว่าทรัพย์สินใดเป็นมัดจำ แต่ยังไม่ได้มอบให้แก่กัน ก็ไม่ใช่มัดจำ อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีสิทธิริบ ดูฎีกาที่ 1056/2541

                    ตามฎีกาที่ 1056/2541 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้มอบบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบ

  • นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่ได้มอบให้แก่กันภายหลังทำสัญญา ก็ไม่มีลักษณะเป็นมัดจำ อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีสิทธิริบเช่นกัน (ฎีกาที่ 513/2538, 3301/2547)

                    ตามฎีกาที่ 3301/2547 โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน ดังนี้ เงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยในวันทำสัญญา จึงถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินผ่อนชำระ 12 งวด รวม 840,000 บาท ซึ่งให้กันในภายหลัง ไม่ใช่มัดจำ จำเลยไม่มีสิทธิริบ ปกติจำเลยต้องคืนให้โจทก์ ดังฎีกาที่ 513/2538

                    แต่เนื่องจากมีข้อตกลงว่า ถ้าโจทก์ผิดสัญญา ให้เงินตกเป็นของจำเลย มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติเรื่องเบี้ยปรับ

  • มัดจำ ต้องเป็นสิ่งที่ให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว หรือเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาประการใดประการหนึ่ง ดังนั้น เงินที่ให้ต่อกันโดยมิใช่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ไม่ใช่มัดจำ แม้จะให้ในวันทำสัญญาก็ตาม จึงริบไม่ได้ เช่น เงินที่ชำระเป็นเงินดาวน์ หรือมีเจตนาให้เป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่แบ่งชำระล่วงหน้าเท่านั้น แม้จะระบุว่าเป็นเงินมัดจำก็ตาม (ฎีกาที่ 4932/2541, 9514/2544)
  • ข้อตกลงที่ให้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวาง เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เงินที่มอบให้กันทันทีขณะทำสัญญา จึงไม่มีลักษณะเป็นมัดจำ แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย ฐานผิดสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ (ฎีกาที่ 333/2546)
  • คู่สัญญาอาจมอบเช็ค ลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นมัดจำได้ (ฎีกา 747/2544, 4252/2528)
  • คู่สัญญาอาจตกลงให้ทำสัญญากู้ยืมไว้แทนการวางมัดจำได้

 

ผลของการวางมัดจำ (ป.พ.พ. มาตรา 378)

1.  เงินมัดจำ จะจัดให้เป็นการชำระหนี้บางส่วนเมื่อมีการชำระหนี้นั้น ต้องเป็นการชำระหนี้โดยถูกต้องตามสัญญา (ฎีกาที่ 4861/2539)

2.  ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ (ฎีกาที่ 136/2509)

     ให้ริบมัดจำ เมื่อมีการเลิกสัญญา เพราะความผิดของฝ่ายที่วางมัดจำ (ฎีกาที่ 44/2532)

3.  กรณีให้คืนเงินมัดจำ ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่รับมัดจำต้องรับผิดชอบ (ฎีกาที่ 1131/2532)

 

  • การฟ้องคดี เรียกมัดจำคืน ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎีกาที่ 1171/2541)
  • อำนาจศาลในการลดมัดจำ ตาม ป.พ.พ. มีความแตกต่างประการหนึ่งของมัดจำและเบี้ยปรับ คือ กรณีเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้มีจำนวนพอสมควรได้ (ป.พ.พ. มาตรา 383) แต่เรื่องมัดจำ ป.พ.พ. มิได้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันไว้ แต่ศาลอาจใช้มาตรา 7 แห่งข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงได้)

 

เบี้ยปรับ คือ เงินที่ลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ ว่าจะใช้ให้แก่เจ้าหนี้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ก็ริบได้ทันที (ป.พ.พ. มาตรา 379)

  • จะเห็นได้ว่า เบี้ยปรับ เป็นค่าเสียหายที่คู่ความกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะไม่มีการชำระหนี้ ดังนั้น หากมีการผิดสัญญากันแล้ว จึงได้มาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ ไม่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อไม่ใช่เป็นเบี้ยปรับ ศาลจะลดเงินตามสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ไม่ได้ (ฎีกาที่ 3242/2533)
  • แต่ถ้าตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเอง มีข้อกำหนดไว้ว่า ถ้าผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า เป็นเบี้ยปรับ ศาลลดลงได้ (ฎีกาที่ 3746/2535)

เบี้ยปรับ มี 2 กรณีด้วยกัน คือ

  1. กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เลย (ป.พ.พ. มาตรา 380)
  2. กรณีชำระหนี้ แต่ไม่ถูกต้องสมควร (ป.พ.พ. มาตรา 381) เช่น ล่าช้า, ไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง

 

จำ  ป.พ.พ. มาตรา 380      กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เลย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็ไม่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีก (ฎีกาที่ 2299/2533)

  • ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเบี้ยปรับจากลูกหนี้อีกไม่ได้ (ฎีกาที่ 3354/2531)
  • ในกรณีที่เจ้าหนี้เลือกฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แม้จะไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายทดแทน โดยถือเอาเบี้ยปรับที่กำหนดไว้เป็นค่าเสียหายจำนวนน้อยที่สุดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรค2 (ฎีกาที่ 65/2489)
  • เมื่อเรียกเบี้ยปรับที่มีจำนวนสูงกว่าค่าเสียหายแล้ว จะเรียกค่าเสียหายอีกไม่ได้ (ฎีกาที่ 664/2530)
  • ในกรณีกลับกัน เมื่อเรียกค่าเสียหายเต็มจำนวน ค่าเสียหายที่ได้รับแล้ว ก็จะเรียกเบี้ยปรับอีกไม่ได้เช่นกัน (ฎีกาที่ 5277/2540)
  • หนังสือค้ำประกันของธนาคาร มีข้อตกลงว่า หากผิดสัญญาให้ริบหลักประกันได้ โดยให้ธนาคารใช้เงินตามสัญญาค้ำประกัน มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอื่นอีก ก็ต้องนำเงินที่ธนาคารส่งมา ไปหักกับค่าเสียหายนั้นก่อน ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรค 2 (ฎีกาที่ 2983/2541)

จำ  ป.พ.พ. มาตรา 381      กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับได้ด้วย ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ดีว่า เป็นการเรียกเบี้ยปรับกรณีใด (ฎีกาที่ 2216/2515 ประชุมใหญ่)

  • ในกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับ ไว้ในขณะรับชำระหนี้ (ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคท้าย)

                    ถ้าเจ้าหนี้รับชำระหนี้โดยไม่บอกสงวนสิทธิไว้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับในภายหลังได้อีก (ฎีกาที่ 2365/2536)

  • กรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 รวมทั้งไม่ต้องชำระเบี้ยปรับด้วย (ฎีกาที่ 545/2532)

 

อำนาจศาลในการลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน (ป.พ.พ. มาตรา 383)

  • หลัก ถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงมาเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ โดยศาลต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เชิงได้เสียเฉพาะเชิงทรัพย์สิน แต่ถ้าใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับก็เป็นอันขาดไป
  • ข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า แม้จะไม่เรียกเบี้ยปรับ ก็ถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับได้ (ฏีกาที่ 1492/2544, 2356/2545)

 

ทีมงาน Thai Law Consult นำมาจาก หนังสือแพ่งพิสดาร เล่ม 1 ของท่านอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ฉบับปี 2547

 

ข้อเท็จจริง

                โกเหนียว นักธุรกิจจากนครศรีธรรมราช ตั้งใจสร้างคอนโด ใกล้มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เพื่อขายแก่ลูกค้าทั่วไป จึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เนื้อที่ราว 4 ไร่ ในราคา 25 ล้านบาท จากพ่อเลี้ยงสง่า ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ทำขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 ระบุข้อความว่า

(1) ในวันทำสัญญานี้ ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน 2 ล้านบาท และจะชำระในวันที่ 16 มีนาคม 2555 อีกจำนวน 3 ล้านบาท

(2) ที่เหลือผ่อนชำระเป็น 20 งวด ๆ ละ 500,000 บาท กำหนดงวดละ 1 เดือน งวดแรกชำระวันที่ 1 พฤษภาคม 2555............ งวดสุดท้าย ชำระวันที่ 1 มกราคม 2556

(3) ถ้าผู้ซื้อผิดสัญญา เมื่อผู้จะขายยกเลิกสัญญาแล้ว เงินที่ผู้ซื้อชำระมาแล้วทั้งหมด ให้ตกเป็นของผู้จะขาย

 

  • เมื่อโกเหนียวผ่อนชำระได้เพียง 3 งวด เจ้าหนี้ของโกเหนียวในคดีอื่นได้ฟ้องโกเหนียวเป็นคดีล้มละลาย ทำให้ธุรกิจของโกเหนียวที่นครศรีธรรมราชมีปัญหา และโกเหนียวไม่สามารถ ขอเงินกู้จากธนาคารได้ โกเหนียวจึงผิดสัญญาจะซื้อจะขายกับพ่อเลี้ยงสง่า
  • 1 พฤศจิกายน 2555 พ่อเลี้ยงสง่า มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายถึงโกเหนียวและ ริบเงินที่โกเหนียวชำระมาแล้วทั้งหมดให้ตกเป็นของพ่อเลี้ยงสง่า
  • 22 พฤศจิกายน 2555 โกเหนียวเดินทางมาพบทีมทนาย Thai Law Consult ขณะที่กำลังรวมตัวที่ สนง.ทนายความสมปราถน์และเพื่อน อาคารพิบูลย์คอนโด ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 44 เพื่อให้คำปรึกษาแก่จำเลยอื่นในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็ค
  • โกเหนียว เล่าความให้ฟัง และถามว่า มีทางใดจะได้รับเงินคืนมาบ้าง ผมติดต่อนักธุรกิจคนอื่นๆ ให้ช่วยซื้อที่ดินต่อจากผม แต่ไม่มีใครสนใจเลย ทุกคนบอกว่า ผมซื้อที่ดินราคาแพงมาก จึงขายต่อยาก, ผมถูกฟ้องล้มละลาย กระทบต่อเครดิตด้านการเงิน, ขอให้ทนายช่วยหาทางออกให้ที
  • วันนั้นทีมทนาย Thai Law Consult ที่นั่งฟังข้อเท็จจริงจากโกเหนียว มีทนายธวัชชัย, ทนายเจี๊ยบ สาวิตรี จิตซื่อ, ทนายอมรเทพ น.บ.ท.64, ทนายน้อย ปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64, ทนายพี่ตุ๊กตา น.บ.ท.64, ทนายสมบัติ บุญสุทัศน์ น.บ.ท.63
  • ทนายสมบัติ น.บ.ท.63 ให้ความเห็นว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ...” แสดงว่า มัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น

เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนี้ ทำขึ้นเมื่อ 6 มีนาคม 2555 ..... ในวันทำสัญญา ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน 2 ล้านบาท เงินจำนวน 2 ล้านบาท จึงเป็นมัดจำ เมื่อโกเหนียวผิดสัญญา พ่อเลี้ยงสง่าจึงริบได้

  • ทนายน้อยปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64 ให้ความเห็นว่า เงินสดจำนวน 2 ล้านบาทเท่านั้นเป็นมัดจำ เงินที่ให้อีก 3 ล้านบาทในวันที่ 16 มีนาคม 2555 ไม่ใช่เงินมัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาบางส่วนล่วงหน้า ซึ่งจะชำระภายหลังวันทำสัญญาเท่านั้น เมื่อเลิกสัญญา เงินจำนวน 3 ล้านบาท พ่อเลี้ยงสง่าต้องคืนโกเหนียว (ฎีกาที่ 513/2538) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่รับเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ส่วนเงินมัดจำ 2 ล้านบาท พ่อเลี้ยงสง่ามีสิทธิริบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) (ฎีกาที่ 513/2538)
  • ทนายเจี๊ยบ สาวิตรี จิตซื่อ ให้ความเห็นว่า เงินที่โกเหนียว ผ่อนชำระงวดละ 500,000 บาท รวม 3 งวด รวม 1,500,000 บาท ก็ไม่ใช่เงินมัดจำอันจะพึงริบได้
  • ทนายธวัชชัย ให้ความเห็นว่า ตามสัญญาข้อ (3) ถ้าผู้จะซื้อผิดสัญญา เมื่อผู้จะขายบอกเลิกสัญญาแล้ว เงินที่ผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมด ให้ตกเป็นของผู้จะขาย... สัญญาข้อนี้ โกเหนียวผู้จะซื้อ เสียเปรียบมาก อาจจะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดได้
  • ทนายพี่ตุ๊กตา น.บ.ท.64 ออกความเห็นว่า ได้เปิดจูริส ทบทวนตามฎีกา 513/2538 และ 3301/2547 แล้ว มีความเห็นว่า

- เงิน 2 ล้านบาท ที่ให้ในวันทำสัญญา 6 มีนาคม 2555 เป็นมัดจำ พ่อเลี้ยงสง่าริบได้เมื่อโกเหนียวเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2)

- เงิน 3 ล้านบาท ที่ให้ในวันที่ 16 มีนาคม 2555 ไม่ใช่มัดจำ หากไม่มีสัญญาข้อ (3) เมื่อเลิกสัญญา พ่อเลี้ยงสง่าต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391

- เงินผ่อนชำระแล้ว 1.5 ล้านบาท ไม่ใช่มัดจำ

- แต่เมื่อมีสัญญาข้อ (3) ว่า ถ้าผู้จะซื้อผิดสัญญา เมื่อผู้จะขายบอกเลิกสัญญาแล้ว เงินที่ผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดให้ตกเป็นของผู้จะขาย ข้อตกลงดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เงินจำนวน 3 ล้านบาท และ 1.5 ล้านบาท มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติเรื่องเบี้ยปรับ ถ้าสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้

- ทีมทนาย Thai Law Consult กับโกเหนียว จึงสรุปกันว่า

  1. จะขอเจรจากับพ่อเลี้ยงสง่าเพื่อ ขอเวลาให้โกเหนียวอีก 100 วัน ที่จะหาผู้สนใจมาซื้อที่ดินนี้ต่อจากโกเหนียว
  2. วางแผนเจรจาว่า ขอให้ริบเฉพาะเงิน 2 ล้านบาทที่วางไว้เป็นมัดจำเท่านั้นได้หรือไม่
  3. เตรียมคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีข้อต่อสู้ตามฎีกาที่ 513/2538, 3301/2547

- วันนั้น เมื่อโกเหนียวออกไปแล้ว ตอนใกล้ค่ำทีมทนาย Thai Law Consult ทุกคนได้รับ sms จากโกเหนียวว่า ก่อนมาพบทนายความ ผม, ภริยา และลูกๆ มีความทุกข์มาก เหมือนเดินอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิด เมื่อมาพบพวกคุณแล้ว เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และคืนนี้อาจเป็นคืนแรกในรอบ 4 เดือนที่ผมได้สิ่งที่เรียกว่า นอนหลับ

 

ทีมงาน Thai Law Consult ได้นำฎีกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมัดจำ เบี้ยปรับ มาลงไว้ให้ท่านผู้สนใจได้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาเพิ่มเติมแล้วครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  513/2538

ป.พ.พ. มาตรา 377

          มัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ ให้ในวันทำสัญญาไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทำขึ้นเมื่อวันที่3มีนาคม2532ระบุว่าในวันทำสัญญานี้ ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน200,000บาทและในวันที่20มีนาคม2532อีก จำนวน3,300,000บาทเงินสดจำนวน200,000บาทเท่านั้นที่เป็นเงินมัดจำที่จะต้อง ริบเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาส่วนเงินจำนวน3,300,000บาทนั้นไม่ใช่มัดจำแต่เป็น เพียงการชำระราคาค่าที่ดินบางส่วนล่วงหน้าซึ่งชำระภายหลังวันทำสัญญาเท่า นั้นจึงริบไม่ได้

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ ราคาไร่ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,500,000 บาท ให้โจทก์ กำหนดชำระเงิน 3 งวดงวดละ 4,375,000 บาท 2 งวด และ 5,250,000 บาท ภายในวันที่ 20 เมษายน 2532 วันที่ 20 สิงหาคม 2532 และวันที่ 20 ธันวาคม 2532 ตามลำดับ วันทำสัญญาโจทก์ชำระเงิน200,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2532 ชำระ 3,300,000 บาทรวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสอง 3,500,000 บาทต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2532 โจทก์จำเลยทั้งสองตกลงเลื่อนเวลาชำระค่าที่ดินงวดที่ 1 จากวันที่ 20 เมษายน 2532 เป็นภายในวันที่ 30 เมษายน 2532 ปลายเดือนมีนาคม 2532 โจทก์จะเข้าไปปรับปรุงพัฒนาที่ดินบางส่วนตามที่จำเลยทั้งสองให้สัญญา แต่ที่ดินดังกล่าวมีชื่อผู้อื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งได้โต้แย้งขัดขวางไม่ให้โจทก์เข้าไปดำเนินการ วันที่ 3 เมษายน 2532 จำเลยทั้งสองหาเหตุบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงิน งวดที่ 1 โจทก์ติดต่อกับจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองหลบเลี่ยงโจทก์จึงมอบให้ทนายความบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 3,500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหาย2,000,000 บาท ภายใน 7 วัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับหนังสือการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับ ความเสียหาย จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินจำนวน 3,500,000 บาท และค่าเสียหายอีกสองเท่าของราคาซื้อขาย แต่โจทก์เรียกร้องเพียง 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2532ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 5,500,000 บาทและดอกเบี้ย 103,125 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 5,603,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวน 5,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โดยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ในวันทำสัญญาจำเลยทั้งสองได้รับเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท และต่อมาวันที่20 มีนาคม 2532 ได้รับเงินอีก 3,300,000 บาทรวมเป็นเงินมัดจำที่จำเลยทั้งสองได้รับ 3,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2532จำเลยทั้งสองโอนที่ดินจำนวน 2 แปลง ให้โจทก์เนื้อที่รวม 4 ไร่2 งาน 51 ตารางวา คิดเป็นเงิน 2,000,000 บาท โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา กล่าวคือ งวดที่ 1 โจทก์ต้องชำระเงินจำนวน4,375,000 บาท เป็นเช็คที่ธนาคารรับรองไว้ล่วงหน้าในวันทำสัญญาลงวันที่สั่งจ่ายภายในวัน ที่ 20 เมษายน 2532 แต่โจทก์ผิดนัดไม่ยอมชำระให้จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญา จำเลยทั้งสองทวงถามหลายครั้งโจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าไม่มีเงิน ครั้งแรกอ้างว่าจะจ่ายเช็คให้วันที่ 24 มีนาคม 2532 พอถึงกำหนดก็ผิดนัด ต่อมาวันที่25 มีนาคม 2532 โจทก์ขอเลื่อนวันสั่งจ่ายเงินจำนวน4,375,000 บาท จากภายในวันที่ 20 เมษายน 2532 ไปภายในวันที่ 30 เมษายน 2532 โจทก์ไม่สามารถชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง สองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน2,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน จำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามแผนผังจำลองและระวางรูปถ่าย ทางอากาศหมายเลข4746 แผ่นที่ 112 ตามผัง ก. ข. และค. ตั้งอยู่หมู่ที่ 2ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ350 ไร่ ในราคาไร่ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,500,000 บาทโดยการผ่อนชำระราคาเป็นงวด ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ต่อมา จำเลยทั้งสองโอนที่ดินให้โจทก์ 2 แปลงรวมเนื้อที่ดิน 4 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา ส่วนการชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทงวดที่ 1 ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 20 เมษายน 2532โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2532 ให้เลื่อนไปวันที่ 30 เมษายน 2532 ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.2 (หรือ ล.12)วันที่ 2 เมษายน 2532 จำเลยทั้งสองมอบให้ทนายความบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ชำระ เงินค่าซื้อที่ดินงวดที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.4 (หรือ ล.10) วันที่ 17 เมษายน 2532 โจทก์มีหนังสือถึงนายอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ขายที่ดินให้ตามสัญญา วันที่ 22 พฤษภาคม 2532จำเลยทั้งสองมอบให้ทนายความมีหนังสือให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 ไปชำระภายใน 7 วัน มิฉะนั้น จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยทั้งหมดตามเอกสาร หมาย ล.3วันที่ 23 พฤษภาคม 2532 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองตาม เอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตามสัญญาข้อ 7 ซึ่งระบุว่า"หากผู้จะซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำนั้นทั้งหมด" มีปัญหาว่า โจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้เป็นจำนวนเท่าไร ในข้อนี้ตามสัญญาไม่ปรากฏข้อความชัดเจนว่าเงินจำนวนใดเป็นเงินมัดจำ จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงความหมายของเงินมัดจำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกัน ขึ้นแล้วอนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" ถ้อยคำที่กฎหมายบัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ" แสดงความหมายของมัดจำว่า จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ในวันทำสัญญานั้นเองไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ใน วันอื่นนอกจากวันทำสัญญาดังจะเห็นได้จากผลของมัดจำตามมาตรา 378 นั้นว่าถ้าผู้รับมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องส่งคืนมัดจำ แต่ถ้าผู้วางมัดจำผิดสัญญา ผู้รับมัดจำมีสิทธิริบมัดจำ ฉะนั้นตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 ที่ระบุข้อความว่า "ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน 200,000 บาท และในวันที่ 20 มีนาคม2532 อีกจำนวน 3,300,000 บาท" เงินสดจำนวน 200,000 บาทซึ่งโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองยึดเป็นประกันเท่านั้นที่เป็นเงินมัดจำส่วน เงินจำนวน 3,300,000 บาท ซึ่งจะมีการชำระในวันที่20 มีนาคม 2532 หลังวันทำสัญญานานถึง 14 วันนั้น ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระราคาค่าที่ดินพิพาทบางส่วนล่วงหน้าซึ่งจะชำระภายหลังวัน ทำสัญญาเท่านั้น เมื่อได้ความว่า จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 (หรือ ล.10)ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2532 ก่อนวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.7 นับแต่วันนั้นโจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืน สู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ซึ่งบัญญัติว่า"เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

          ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืน ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้" ฉะนั้นเมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเงินจำนวน 3,300,000 บาท ซึ่งโจทก์มอบให้จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่20 มีนาคม 2532 เป็นเงินค่าที่ดินบางส่วนล่วงหน้าไม่ใช่เงินมัดจำจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ ต้องคืนให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่เวลาที่รับเงินไว้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินมัดจำซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนโจทก์ซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองก็ต้องโอนคืนให้จำเลยทั้ง สองเฉพาะที่ดินตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งยังมีชื่อทางทะเบียนเป็นของโจทก์จำนวน 2 ไร่ 1 งาน 02 ตารางวาสำหรับที่ดินตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์ให้นางจงกลนีบุคคลภายนอกเป็นผู้รับโอนจากจำเลยทั้งสองจำนวน 2 ไร่ 1 งาน49 ตารางวา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 นั้น โจทก์คงมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาที่ดินให้จำเลยทั้งสองแทนเพื่อไม่ให้เสื่อม เสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินไปโดยสุจริต ส่วนราคาที่ดินนั้น โจทก์ตอบคำถามติงของทนายโจทก์ว่า ขณะจำเลยทั้งสองโอนมาให้โจทก์นั้นราคาแปลงละ 300,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์คือนายวีระชัย เชื่อมั่นนางสบสุข เจือศรีกุล ที่เบิกความว่า ปัจจุบันที่ดินพิพาท 1 ไร่ราคาประมาณ 100,000 บาท เมื่อคำนึงถึงราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ในวันที่ 6 มีนาคม 2532 ราคาเพียงไร่ละ50,000 บาท แล้วไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 รับซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาในราคา 2,000,000 บาท หรือราคาไร่ละประมาณ500,000 บาท ดังคำอ้าง ฟังได้ว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 2 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวาซึ่งได้โอนให้บุคคลภายนอกไปแล้วจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 21 มีนาคม 2532 อันเป็นวันที่โจทก์ให้นางจงกลนีบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินฎีกาโจทก์ฟังขึ้น เพียงบางส่วน"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าที่ดินล่วงหน้าจำนวน 3,300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 20 มีนาคม 2532 ให้โจทก์คืนที่ดินโฉนดเลขที่ 8256 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ และชดใช้เงินค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5255ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ราคา 300,000 บาทให้จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่21 มีนาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

( อากาศ บำรุงชีพ - ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา - ปราโมทย์ บุนนาค )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3301/2547

ป.พ.พ. มาตรา 378(2), 379, 391

          โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน ดังนั้น เงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตาม สัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลย ได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 990,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...มี ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิด สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านตามฟ้อง โจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ตกลงขอเปลี่ยนไปซื้อที่ดินและบ้านแปลงใหม่โดยถือเอาข้อตกลงและ เงื่อนไขตามสัญญาจะซื้อจะขายเดิม แม้จะมีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยยกเลิกหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านฉบับเดิมตามเอกสารหมาย ล.1 แต่ข้อตกลงตามบันทึกแนบท้ายสัญญาเดิมตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งจำเลยรับว่าจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่อาศัยได้ภายในวัน ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 ต้องผูกพันจำเลยในการก่อสร้างบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารหมาย จ.5 ด้วย เมื่อจำเลยไม่สามารถก่อสร้างบ้านแบบบีบนที่ดินแปลงที่ 18 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า แม้ฎีกาของโจทก์จะมีเหตุผลให้พอรับฟังได้ว่าจำเลยรับว่าจะก่อสร้างบ้านแบบบี บนที่ดินแปลงที่ 18 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า แม้ฎีกาของโจทก์จะมีเหตุผลให้พอรับฟังได้ว่าจำเลยรับว่าจะก่อสร้างบ้านแบบบี บนที่ดินแปลงที่ 18 ให้แล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่อาศัยได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 และจำเลยไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ก็ตาม แต่ตามข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.5 หรือบันทึกแนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ไม่มีข้อตกลงว่า หากจำเลยก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 แล้ว โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ทั้งโจทก์มิได้แสดงเจตนาให้ปรากฏว่าหาก จำเลยไม่สามารถสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเมื่อใด ทั้งโจทก์ยังส่งเงินชำระค่างวดแก่จำเลยในงวดที่ 9 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 งวดที่ 10 วันที่ 18 เมษายน 2540 และงวดที่ 11 วันที่ 7 กรกฎาคม 2540 ตลอดมา และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2540 โจทก์ยังลงชื่อในแบบฟอร์มใบรับสภาพบ้าน เอกสารหมาย ล.3 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าโครงการพายเนอรี่ ปาร์ค บีช แปลงที่ 18 บี บ้านเลขที่ 158/31 ได้ทำการตรวจสภาพบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่โจทก์เบิกความว่าที่ลงชื่อในเอกสารหมาย ล.3 ดังกล่าวเพราะเข้าใจว่าเป็นการลงชื่อขอมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ขาดเหตุผลไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แสดงให้เห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลย นั้น โดยสภาพหรือโดยเจตนาของโจทก์จำเลย มิได้ถือเอาผลสำเร็จในการสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นสำคัญ กรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือ เรียกเงินค่าที่ดินและบ้านที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืนจากจำเลยได้ ปัญหาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยมีนางพรรณอร วิลลานนท์ ผู้จัดการโครงการมาเบิกความว่า หลังจากโจทก์ได้ลงชื่อในแบบฟอร์มใบรับสภาพบ้านเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2540 ตามเอกสารหมาย ล.3 แล้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2540 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนซื้อขายรับโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินและบ้านที่สำนักงานที่ดินระยอง สาขาระยอง ในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 เวลา 11 นาฬิกา โดยเตรียมเงินไปชำระค่าที่ดินและบ้านส่วนที่เหลือและค่าธรรมเนียมกับค่า บริการต่างๆ โดยส่งไปถึงโจทก์ยังบ้านเลขที่ 151 ซอยพัฒนาการ 48 แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งมีบุคคลชื่อทองปนลงชื่อรับหนังสือไว้แทนเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2540 ตามหนังสือและใบไปรษณีย์ตอบรับเอกสารหมาย ล.7 แต่โจทก์ไม่ไปตามนัด จำเลยจึงมีหนังสือไปถึงโจทก์อีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2540 นัดให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนซื้อขายและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านใน วันที่ 10 กันยายน 2540 เวลา 11 นาฬิกา โดยจัดส่งไปให้โจทก์ตามที่อยู่เดิมทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ปรากฏว่ามีบุคคลชื่อทองปนลงชื่อรับแทนโจทก์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ตามหนังสือและใบไปรษณีย์ตอบรับ เอกสารหมาย ล.6 แต่โจทก์ก็ไม่ไปตามนัดอีก จำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.4 ส่งไปยังที่อยู่เดิมทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ มีบุคคลชื่อสายใจลงชื่อรับหนังสือ ระบุความเกี่ยวพันกับโจทก์โดยเป็นคนในบ้านตามเอกสารหมาย ล.5 โจทก์นำสืบรับว่าบ้านเลขที่ 151 ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของบริษัททองหล่ออินเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการ และนางทองปนก็เป็นลูกจ้างของบริษัท โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 657/114 ถนนพัฒนาการ หมู่บ้านปรีชา 3 แขวงและเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยมีหนังสือดังกล่าว โจทก์ไม่ค่อยได้เข้าไปทำงานที่บริษัทเนื่องจากป่วยเป็นโรคหัวใจ ต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลโจทก์จึงไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวของจำเลย นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมีถิ่นที่อยู่ที่บ้านเลขที่ 657/114 ถนนพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร อันถือเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ แต่บ้านเลขที่ 151 ซอยพัฒนาการ 48 แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งของบริษัททองหล่ออินเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งโจทก์ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการย่อมถือว่าที่ตั้งของบริษัทดังกล่าว เป็นสำนักทำการงานปกติของโจทก์และจำเลยมีนายพีพัฒน์ รังกุพันธ์ กรรมการบริษัทจำเลย และนางพรรณอร วิลลานนท์ ลูกจ้างบริษัทจำเลยมาเบิกความตรงกันว่าโจทก์ได้แจ้งจำเลยติดต่อกับโจทก์ที่ บ้านเลขที่ 151 ซอยพัฒนาการ 48 ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้ถือเอาบ้านเลขที่ 151 อันเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัททองหล่ออินเตอร์ไพร์ส จำกัด เป็นภูมิลำเนาของโจทก์อีกแห่งหนึ่ง เมื่อจำเลยได้ส่งหนังสือบอกกล่าวให้ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์และหนังสือบอกเลิก สัญญาแก่จำเลยยังที่อยู่ดังกล่าวโดยมีผู้รับแทนโจทก์โดยชอบแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือบอกกล่าวและหนังสือบอกเลิกสัญญาจากจำเลยโดย ชอบแล้ว โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่เคยได้รับหนังสือดังกล่าวเลย เพราะไม่ค่อยได้ไปที่บริษัทและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพบาบาลเมื่อโจทก์ไม่ไป รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านตามกำหนดเวลาที่จำเลยได้บอกกล่าว คือวันที่ 1 สิงหาคมและวันที่ 10 กันยายน 2540 ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ได้ เมื่อจำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์โดยมีผู้ลงลายมือชื่อรับไว้แทน โจทก์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันในวัน ดังกล่าว

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อสุดท้ายว่า จำเลยมีสิทธิริบเงินจำนวน 990,000 บาท ที่โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยไปแล้วทั้งหมดหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2 ระบุว่า ผู้จะซื้อตกลงจะชำระค่าทรัพย์สินที่จะซื้อจะขายให้แก่ผู้จะขาย ณ สถานที่ซึ่งเป็นที่ทำการของผู้จะขาย โดยชำระเงินดังนี้ ชำระในวันจองจำนวน 30,000 บาท ชำระในวันทำสัญญาจำนวน 120,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระดังนี้ งวดที่ 1 ชำระภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2538 จำนวน 70,000 บาท งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 14 ชำระภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไปทุกเดือน เดือนละ 70,000 บาท งวดที่ 15 ชำระภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 181,000 บาท งวดสุดท้ายชำระส่วนที่เหลือจำนวน 2,963,000 บาท ในวันโอนกรรมสิทธิ์ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และโจทก์ชำระเงินอีกจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.5 ดังนั้น เงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันที่จะปฏิบัติตาม สัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด รวมเป็น 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (2) ส่วนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 12 ที่ระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใด เมื่อผู้จะขายบอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงทันที และให้บรรดาเงินค่าบ้านพร้อมที่ดินที่ผู้จะซื้อชำระแก่ผู้จะขายไว้แล้วทั้ง หมดตกเป็นของผู้จะขายโดยพลัน โดยผู้จะซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากผู้จะขายทั้งสิ้นนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เนื่องจากโจทก์ผิดสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นอันเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าเช่าบ้านและที่ดินบางส่วนรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 การที่โจทก์จำเลยจะตกลงกันว่าถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลย ได้ตามข้อ 12 แห่งสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ คดีนี้โจทก์ผิดสัญญาหลังจากชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้ว 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท นอกเหนือจากเงินมัดจำจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่โจทก์ไม่ชำระราคาส่วน ที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจากจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด บ้านและที่ดินตามสัญญายังเป็นของจำเลยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจำเลยสามารถนำไปจำหน่ายแก่ผู้อื่นในสภาพบ้านใหม่ได้เมื่อพิเคราะห์ทาง ได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้จำนวน 440,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยสามารถริบเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปแล้ว ทั้งหมดได้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

          พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

  ( สุวัฒน์ วรรธนะหทัย - สิทธิชัย รุ่งตระกูล - อุดมศักดิ์ นิติมนตรี )

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 1-11-55)