Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
เว็บ TLC เผยแพร่บทความเพื่อเป็นความรู้แก่ประชาชน
และพร้อมที่จะให้ท่านแคปหน้าจอไปใช้ได้
แต่กรุณาให้เครดิตว่ามาจากเว็บ Thai Law Consult
มิฉะนั้น ท่านอาจจะมีความผิดฐานละเมิดงาน "วรรณกรรม" อันมีลิขสิทธิ์ได้
|
|
|
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
หลัก
ป.พ.พ.
มาตรา 1745 วรรค 3 ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ อันมีต่อ เจ้ามรดก มีกำหนดอายุความ ยาวกว่าหนึ่งปี
มิให้ เจ้าหนี้นั้น ฟ้องร้อง เมื่อพ้นกำหนด หนึ่งปี นับแต่ เมื่อเจ้าหนี้ ได้รู้ หรือ ควรได้รู้ ถึงความตาย ของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้อง ตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆนั้น มิให้ฟ้องร้อง เมื่อพ้นกำหนด สิบปี นับแต่ เมื่อ เจ้ามรดก ตาย
มาตรา 1755 อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ ก็แต่โดยบุคคล ซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดก
มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือ ผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือ ทรัพย์สิน ของลูกหนี้ อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิ บังคับชำระหนี้ จากทรัพย์สิน ที่จำนอง จำนำ หรือ ที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่า สิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธาน จะขาดอายุความแล้ว ก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้น บังคับให้ชำระ ดอกเบี้ย ที่ค้างย้อนหลัง เกินห้าปีขึ้นไป ไม่ได้
มาตรา 745 ผู้รับจำนอง จะบังคับจำนอง แม้เมื่อ หนี้ที่ประกันนั้น ขาดอายุความแล้ว ก็ ได้ แต่จะบังคับเอา ดอกเบี้ย ที่ค้างชำระ ในการจำนอง เกินกว่า ห้าปี ไม่ได้
ข้อเท็จจริง
ลุงแจ้ง มีลูกสาวชื่อ ครูดา, ครูดา เป็นโสดไม่เคยสมรส และไม่มีบุตร, เมื่อปี 2534 ครูดา กู้เงินธนาคาร 5 แสนบาท โดยจำนองที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา พร้อมบ้าน 1 หลัง ที่ปลูกสร้างบนที่ดินเป็นประกันการกู้ยืม และครูดา ได้ผ่อนชำระเรื่อยมาไม่เคยผิดนัด แต่ครูดา เสียชีวิตเมื่อตุลาคม 2540 ธนาคารจึงไม่ได้รับเงินผ่อนชำระอีกเลย
1. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วศาลต้องยกฟ้อง เพราะเจ้าหนี้ฟ้องผู้จัดการมรดก ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดก เมื่อเจ้ามรดกตาย มิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีนี้ ครูดา เจ้ามรดกตาย, ศาลตั้งลุงแจ้งเป็นผู้จัดการมรดก, เจ้าหนี้รายใหม่ คือ โจทก์ในคดีนี้ ได้มีหนังสือแจ้งโอนสิทธิเรียกร้องมายังลุงแจ้ง ตั้งแต่ กรกฎาคม 2547 แสดงว่า เจ้าหนี้รู้ว่า เจ้ามรดกตาย ตั้งแต่วันแจ้งโอนสิทธิเรียกร้องให้ลุงแจ้งทราบ นับถึงวันฟ้อง 20 สิงหาคม 2555 เป็นเวลา 8 ปี จึงเกิน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ว.3 (ฎีกาที่ 3550/2524)
2. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะครูดาเจ้ามรดกตายเกิน 10 ปี คือ ตายตั้งแต่ ตุลาคม 2540 นับถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 15 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ว.4
3. ดอกเบี้ยที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นโมฆะทั้ง จำนวน.....................เพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยถึง 15ปีตามสัญญาเงินกู้ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ที่ให้เจ้าหนี้ที่มีทรัพย์จำนองยึดถือไว้ มีสิทธิบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังแค่ 5 ปี
เมื่อต้นเงิน วันที่ครูดา เสียชีวิต เหลือแค่ 250,000 บาท คิดดอกเบี้ย 15% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เท่ากับดอกเบี้ยแค่ 187,500 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยและต้นเงินที่โจทก์เรียกร้องได้ คือ 437,500 บาท เท่านั้น แม้จะมีข้อสัญญาให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม (ฎีกาที่ 1414/2509, 2245/2526, 460/2550)
4. คดีนี้ โจทก์ฟ้องลุงแจ้งเป็นคดีผู้บริโภค หรือ คดี ผอบอ ต่อศาลจังหวัด ทีมทนายความจึงวางแผนกันว่า ให้ลุงแจ้งเข้าร่วมไกล่เกลี่ย ขอชำระหนี้จำนวน 400,000 บาท ให้โจทก์(โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แค่437,500บาท) และขอให้โจทก์ถอนการอายัดทรัพย์จำนองแปลงนี้ แล้วโอนให้ลุงแจ้ง จากนั้นลุงแจ้งค่อยเอาที่ดินพร้อมบ้านทรัพย์จำนองแปลงนี้ ขายให้น้องสาวในราคา 1.2 ล้านบาท
5. คดีนี้ เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2555 ขึ้นศาลนัดแรกศาลไกล่เกลี่ย ลุงแจ้งเสนอชำระหนี้ 400,000 บาท ทนายโจทก์ รับข้อเสนอ ไปปรึกษากับผู้มีอำนาจในบริษัทบริหารสินทรัพย์ คดีน่าจะจบลงได้ในขั้นไกล่เกลี่ยนัดหน้า และ ทีมทนายจำเลยได้เตรียมคำให้การไว้แล้ว
6. ทีมงาน Thai Law Consult เห็นว่า คำให้การ น่าจะมีประโยชน์ต่อการศึกษากฎหมายของประชาชนทั่วไป และมีประโยชน์ต่อทนายความรุ่นใหม่ ที่ยังไม่ได้ทำคดีแนวนี้ จึงขออนุญาตลุงแจ้ง ดัดแปลงคำให้การ มาลงไว้ที่นี่ครับ
ข้อ 1
จำเลยขอให้การต่อศาลว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ กล่าวคือ โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร ตั้งแต่วันที่.....พฤษภาคม 2547 และโจทก์ได้แจ้งโอนสิทธิเรียกร้องไปยังลูกหนี้ (ลุงแจ้ง ผู้จัดการมรดก) ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข..... จึงถือว่าโจทก์ทราบแล้วว่า ลูกหนี้ คือ ครูดา ได้ถึงแก่ความตายแล้ว ตั้งแต่วันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งโอนสิทธิเรียกร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 โจทก์ต้องฟ้องคดี ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ โจทก์เจ้าหนี้ รู้หรือควรรู้ ถึงความตายของเจ้ามรดกลูกหนี้ แต่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องศาล เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 จึงเกิน 1 ปี และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้อง ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปี นับแต่ครูดา เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ข้อ 2
จำเลยขอให้การในส่วนดอกเบี้ยว่า โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย นับตั้งแต่วันที่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 15 ปี คิดเป็นดอกเบี้ยตามฟ้องของโจทก์......... บาท ส่วนดอกเบี้ย จึงขาดอายุความ เกิน 5 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และ มาตรา 745 ห้ามมิให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้อง บังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง เกินกว่า 5 ปีขึ้นไป ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์
ข้อ 3
ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยเคลือบคลุม กล่าวคือ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น ว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน และยอดหนี้จำนวนเท่าใด โจทก์หาได้บรรยายฟ้องเช่นนั้นไม่ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจ และเสียเปรียบในการต่อสู้คดี โจทก์เพียงบรรยายฟ้องในข้อ 5 ว่า ดอกเบี้ยจำนวน 465,851 บาท (หนี้ ณ พฤษภาคม 2547) และดอกเบี้ยผิดนัด นับจาก.....พฤษภาคม 2547 ถึงวันฟ้อง จำนวน 551,900 บาท เท่านั้น
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่า ดอกเบี้ยผิดนัดจำนวนดังกล่าว โจทก์คิดโดยอาศัยประกาศธนาคารใด มีอำนาจให้คิดได้ในอัตราเท่าใด จึงได้คิดดอกเบี้ยในยอดเงินจำนวนดังกล่าว ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมในส่วนนี้ และฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคิดดอกเบี้ย เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด มิให้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4
ยอดหนี้ตามฟ้องโจทก์ ที่อ้างว่า ผู้ตายค้างตนจำนวน 350,000 บาท ไม่ถูกต้อง และสูงเกินความเป็นจริง กล่าวคือ หลังจากผู้กู้ถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มาตลอด ยอดหนี้คงค้างจึงไม่ถึงตามโจทก์ฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนยอดหนี้ ต้นเงินจำนวนดังกล่าว ตามฟ้องของโจทก์
ด้วยอาศัยเหตุผลดังที่จำเลยได้ประทานกราบเรียนต่อศาลมาแล้วข้างต้น ขอศาลได้โปรดยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนจำเลยด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
หมายเหตุ
1. ทีมงาน Thai Law Consult ได้นำฎีกาที่เกี่ยวข้องกับคดีเรื่องนี้มาลงไว้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ศึกษากฎหมายในทางปฏิบัติครับ
2. ทีมงาน Thai Law Consult กำลังเรียบเรียง เรื่องอายุความคดีมรดก และอายุความจัดการมรดก เพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านจำนวนมากที่สนใจกฎหมายมรดก เห็นได้จากลูกความในคดีมรดก มักสอบถามทนายความเสมอว่า อายุความในคดีมรดกเป็นอย่างไรจะยกขึ้นต่อสู้ได้ไหม และ แตกต่างอย่างไรกับอายุความในคดีจัดการมรดก ขอให้อดใจรอนิดเดียวครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3550/2524
ป.พ.พ. มาตรา 1473 เดิม, 1754
สามีมีอำนาจจัดการและจำหน่าย ที่ดินอันเป็นสินบริคณห์ส่วนของภริยาได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468,1473(เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดก ถึงแก่กรรมก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม มาตรา 1754 วรรคสาม
________________________________
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายซ้ำมีอำนาจเอาที่พิพาทส่วนของจำเลยที่ 1 ไปตกลงขายให้โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทเป็นสินบริคณห์ระหว่างนายซ้ำกับจำเลยที่ 1 นายซ้ำซึ่งเป็นสามีจึงมีอำนาจจัดการและจำหน่ายที่พิพาทส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 และ 1473 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ปัญหาข้อต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายซ้ำทำบันทึกยอมขายที่พิพาทคืนให้โจทก์ นายซ้ำมีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ และมีสิทธิได้รับราคาที่พิพาทเป็นการตอบแทน เมื่อนายซ้ำถึงแก่กรรม สิทธิและหน้าที่ตามบันทึกดังกล่าวจึงตกเป็นกองมรดกของนายซ้ำตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 แม้ตามบันทึกจะกำหนดให้โจทก์ซื้อที่พิพาทคืนภายในเดือนพฤษภาคม 2520 และโจทก์ทราบว่านายซ้ำถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมิถุนายน 2518 ซึ่งยังไม่ถึงเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อซื้อที่พิพาทคืน โจทก์ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อ โจทก์ได้รู้ถึงความตายของนายซ้ำ ตามมาตรา 1754 วรรคสามปรากฏว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2521 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ"
พิพากษายืน
( อาจ ปัญญาดิลก - จังหวัด แสงแข - ไพศาล สว่างเนตร )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1414/2509
ป.พ.พ. มาตรา 189, 291, 1754 วรรคสาม
ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะ ทายาทของเจ้ามรดกเพื่อให้จำเลยไถ่ถอนการจำนอง แม้สิทธิของโจทก์จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรค 3 แล้วก็ตามแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองได้ ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกเป็นจำเลยเพื่อบังคับชำระ หนี้ให้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้
หนี้จำนองที่เป็นหนี้ร่วม โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 จำเลยจะอ้างว่าหนี้จำนองรายนี้ซึ่งเป็นหนี้ร่วม โจทก์จะต้องฟ้องบังคับจำนองร่วมกันไปคราวเดียวกันดังนี้ย่อมไม่ได้
________________________________
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2502 นายทองดีนางทองเยื้อน บิดามารดาจำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 8647 ให้โจทก์ไว้เพื่อประกันหนี้จำนวน 20,000 บาท ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาทต่อเดือนต่อมา 3 วัน นางทองเยื้อนได้ตาย นายทองดีกับจำเลยทั้ง 5 ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าว โจทก์ขอให้นายทองดี และจำเลยไถ่ถอน นายทองดีได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนทั้งหมดให้แก่นางสาวสำลีบุตรโจทก์หลัง จากจำนองได้ประมาณ 1 ปี โจทก์ได้รับปืนลูกซองราคา 2,000 บาท ของนายทองดีและนางทองเยื้อน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและนางสาวสำลีไถ่จำนอง นางสาวสำลียินดีทำการไถ่แต่จำเลยไม่ยอมไถ่ถอนหนี้จำนองรายนี้เมื่อแบ่งเอา ส่วนของนางสาวสำลีออกแล้ว จำเลยทั้ง 5 คง เป็นหนี้จำนอง 8,333.35 บาท กับดอกเบี้ย 5 ปี เป็นเงิน 6,250 บาท เมื่อหักเงินค่าปืนที่เป็นส่วนของจำเลย 833.34 บาทออกแล้ว จะเหลือดอกเบี้ยส่วนของจำเลย 5,416.66 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไถ่ถอนจำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยร่วมกันนำเงิน 8,333.35 บาท ดอกเบี้ย 5,416.66 บาท รวมเป็นเงิน 13,750 บาท ชำระให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือน ในต้นเงิน 8,333.35 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะทำการไถ่ กับค่าธรรมเนียมค่าทนาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า นายทองดีขายที่ดินเฉพาะส่วนให้นางสาวสำลีบุตรโจทก์นั้น นายทองดีได้เอาเงินจำนวนนี้ชำระหนี้จำนองแทนจำเลยไปหมดสิ้นแล้ว ต่อมานายทองดี นางแล่มไม่ถูกกัน จำเลยอยู่กับนางแล่ม นายทองดีก็พลอยเกลียดจำเลยไปด้วยหนี้รายนี้นายทองดีกับโจทก์ร่วมกันทำอุบาย มาฟ้องเพื่อจะเอาเงินจากจำเลยไปให้นายทองดีนั่นเองโจทก์ทราบว่านางทองเยื้อน ตายมาหลายปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นความจริงไม่ขอต่อสู้แต่ประการใด จำเลยไม่มีเงินจะไถ่ถอน ขอให้ที่ดินส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์
ในวันชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับว่าเป็นบุตรของนายทองดี และนางทองเยื้อน นายทองดี นางทองเยื้อนเป็นลูกหนี้จำนองของโจทก์นางทองเยื้อนตายเมื่อ พ.ศ. 2502 จำเลยเป็นทายาทของนางทองเยื้อนได้รับมรดกของนางทองเยื้อนแล้ว รวมทั้งนาจำนองคดีนี้ด้วย จำเลยรับมรดกมา 3 ปีเศษแล้ว และได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วแต่ไม่มีหนังสือแสดงการชำระหนี้ และมิได้สลักหลังหนังสือหลักฐานการเป็นหนี้ โจทก์ปฏิเสธว่าจำเลยยังไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนองและดอกเบี้ยค้างชำระรวม 13,750 บาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 8,333.35 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าแม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาด อายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม แล้วก็ตาม แต่มาตรา 189 ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในฐานะทายาทของนางทองเยื้อนเจ้ามรดกเป็นจำเลย เพื่อบังคับชำระหนี้ให้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ที่จำเลยฎีกาว่าหนี้จำนองรายนี้เป็นหนี้ร่วม โจทก์จะต้องฟ้องบังคับจำนองร่วมกันไปคราวเดียวกัน การจำนองส่วนของนายทองดียังไม่ไถ่จำนอง นายทองดีจะขายที่ดินของตนให้แก่นางสาวสำลีบุตรโจทก์ได้อย่างไร โจทก์จะละเว้นไม่ฟ้องนายทองดีหาได้ไม่และโจทก์ควรฟ้องนายทองดีผู้เดียวศาล ฎีกาเห็นว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ร่วม เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ ได้ตามแต่จะเลือกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงฟ้องเรียกชำระหนี้โดยส่วนจากจำเลยในฐานะเป็นทายาท ของนางทองเยื้อนลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องฟ้องนายทองดีเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยและ โจทก์ยังไม่ได้ฟ้องนายทองดีก็ได้และจะกล่าวหาว่าโจทก์มีเจตนาไม่สุจริต สมยอมกับนายทองดีไม่ได้
พิพากษายืน
( วงษ์ วีระพงศ์ - โพยม เลขยานนท์ - มณี ชุติวงศ์ )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2245/2526
ป.พ.พ. มาตรา 189, 702, 1754
ป.วิ.พ. มาตรา 172, 224
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้รับ มรดกให้ชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนจำนอง เป็นหนี้เหนือบุคคล มิใช่ คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิใน ครอบครัว เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 20,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ฟ้องทายาทให้ไถ่ถอนจำนองที่ผู้ตายได้ทำไว้ หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมเกิน 1 ปีคดีขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม แล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ยกเว้นมิให้บังคับในกรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ ตาม มาตรา189 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ให้โจทก์จาก ทรัพย์สินที่จำนองได้
สัญญาจำนองระบุว่าให้ส่งดอกเบี้ยเดือนละ 1 ครั้ง ย่อม เป็นที่เข้าใจว่าระหว่างผู้ตายมีชีวิตอยู่อาจจะชำระดอกเบี้ยไปบ้างแล้วก็ได้ เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ยืนยันว่าตั้งแต่ทำสัญญาจำนองแล้ว ผู้ตายไม่ได้ชำระดอกเบี้ยเลยหรือ ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด ไม่สามารถคำนวณดอกเบี้ยได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงไม่ชัดแจ้ง เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์จะเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างไม่ได้
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า นายตันบิดาจำเลยกู้เงินโจทก์ไป และได้นำที่ดินมาจำนองเป็นประกันโดยตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนนายตันไม่ได้ไถ่ถอนจำนองและไม่ได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ นายตันถึงแก่กรรมไปแล้ว ทรัพย์มรดกตกได้แก่จำเลยในฐานะทายาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเพื่อไถ่ถอนจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์หากไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของนายตันออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า นายตันไม่เคยกู้เงินโจทก์และจำนองที่ดินเป็นประกันจำเลยไม่ใช่ทายาทโดยธรรม และยังไม่ได้รับมรดกของนายตัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยเป็นฟ้องเคลือบคลุมและคดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้า ต่อปี ย้อนหลังไปห้าปีนับแต่วันฟ้อง และถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จน ครบ หากไม่ครบจะยึดทรัพย์สินอื่นขายทอดตลาดชำระหนี้อีกไม่ได้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าจำเลยเป็นบุตรของผู้ตาย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ตายจำเลยไม่ต้องรับผิดตาม ฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายตัน ให้ชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนจำนอง ซึ่งเป็นหนี้เหนือบุคคลมิใช่ดคีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความ อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ปรากฏว่าอุทธรณ์ของจำเลยมีทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์ไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลัก ฐานในสำนวน ซึ่งรับฟังได้ว่า นายตันบิดาจำเลยกู้เงินโจทก์ไป โดยเอาที่ดินจำนองเป็นประกัน นายตันได้ถึงแก่กรรมไปแล้วโดยยังมิได้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจำเลยเป็นบุตร ของนายตัน จึงต้องรับผิดในหนี้ตามฟ้องในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนายตัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายตัน ผู้ตายเพื่อให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ผู้ตายได้จำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้ ไว้แม้โจทก์จะฟ้องหลังจากนายตันถึงแก่กรรมไปแล้วเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม แล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวยกเว้นมิให้ใช้บังคับในกรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ ตามมาตรา 189 ซึ่งบัญญัติว่า "เหตุที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความย่อมไม่ห้ามผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองหรือผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิ เหนือทรัพย์สิน อันตนได้ยึดถือไว้ ในการที่จะใช้สิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองจำนำ หรือยึดถือไว้นั้น แต่เมื่อใช้สิทธิอันนี้ท่านห้ามมิให้เจ้าหนี้คิดเอาดอกเบี้ยที่ค้างกว่าห้า ปีขึ้นไป" เห็นได้ว่า แม้คดีขาดอายุความแล้วก็ดี แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 ก็ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของนายตันเพื่อบังคับชำระหนี้ให้โจทก์ จากทรัพย์สินที่จำนองได้ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ตามสัญญาจำนอง ดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี และตกลงส่งดอกเบี้ยเดือนละ 1 ครั้ง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องเพียงว่า บิดาจำเลยไม่ได้ไถ่ถอนจำนองและชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เท่านั้น และตามหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองกับคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ปรากฏ ว่าเริ่มคิดดอกเบี้ยเพราะจำเลยผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด ดังนั้นเมื่อสัญญาจำนองระบุไว้ชัดว่า ให้ส่งดอกเบี้ยเดือนละ 1 ครั้ง ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าระหว่างนายตันมีชีวิตอยู่อาจชำระดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว ก็ได้ เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ยืนยันว่าตั้งแต่ทำสัญญาจำนองแล้วนายตันผิดนัดไม่ชำระ ดอกเบี้ยมาตั้งแต่เมื่อใดจึงไม่สามารถจะคำนวณดอกเบี้ยได้ถูกต้อง ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงไม่ชัดแจ้ง เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์จะเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างไม่ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือ เมื่อนำหนังสือไปส่งให้จำเลย จำเลยอ่านข้อความในหนังสือแล้วแต่ไม่ยอมเซ็นรับหนังสือไว้ฉะนั้น เมื่อครบกำหนด 15 วันนับแต่วันส่งหนังสือบอกกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยก็ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
( พิชัย วุฒิจำนงค์ - สนิท อังศุสิงห์ - สำเนียง ด้วงมหาสอน )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550
ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 224, 733, 1754 วรรคสาม
ป.วิ.พ. มาตรา 84, 90
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึง ความตายของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็น ประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า จำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวน นั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตาม ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224
________________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นจำนวน 849,241.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 763,043.07 บาท แก่โจทก์ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 849,241.07 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจำนวน 849,241.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี นับจากวันที่ 30 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออก ขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ จนครบถ้วน แต่ทั้งนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไถ่ถอนหนี้จำนองจำนวน 849,241.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี เฉพาะดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องให้จำเลยชำระไม่เกิน 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติ ว่า จำเลยเป็นภริยานายชูเกียรติ ชินแสงอร่าม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536 นายชูเกียรติทำสัญญากู้เงินกับโจทก์จำนวน 850,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัวหลวง ตกลงผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 12,000 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์ดำเนินคดีได้ทันที กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 กันยายน 2546 และนายชูเกียรติได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกัน การชำระหนี้ไว้แก่โจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่ง ประเทศไทยและมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ นายชูเกียรติยอมให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของตนชำระหนี้จนครบ ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 นายชูเกียรติถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายชูเกียรติ
...ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า เมื่อโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายชูเกียรติเจ้าของมรดกบังคับ ชำระหนี้จนครบได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เมื่อหนี้ประธานขาดอายุความโจทก์ไม่มีอำนาจบังคับชำระหนี้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 เว้นแต่จะเป็นการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองด้วยการบังคับจำนองตามมาตรา 193/27 เท่านั้น หากในกรณีที่บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ หนี้ที่คงค้างเหลืออยู่ก็ยังถือว่าเป็นหนี้ที่ขาดอายุความด้วยเช่นกัน โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์จำนองและวิธีการบังคับจำนองเท่า นั้น ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอามาชำระหนี้ได้เพราะมิใช่เป็นทรัพย์สินที่ จำนองและมิใช่เป็นวิธีการบังคับจำนองภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ลักษณะ 12 หมวด 4 (การบังคับจำนอง) นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึง ความตายของนายชูเกียรติเจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน ขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของนายชูเกียรติเจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็น ประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า จำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง จนครบจำนวนก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายชูเกียรติเจ้ามรดกบังคับชำระ หนี้จนครบได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละเท่าใด เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตาม ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่จะต้องนำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ เรียกจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 เป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมา นำสืบว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ได้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี อันเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างโจทก์จำเลยจึงตกเป็นโมฆะ อย่างไรก็ดี การที่นายชูเกียรติเจ้ามรดกทำสัญญากู้เงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็น ประกันแล้วไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เดือนละครั้งตามที่ได้ ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 จึงเป็นการผิดนัดผิดสัญญานับแต่วันที่ 22 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้เงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นต้นมา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายชูเกียรติ ชินแสงอร่าม รับผิดชำระเงินจำนวน 850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยชะ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องให้จำเลยชำระไม่เกิน 5 ปี หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 36270, 36271 และ 36272 ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
( ศุภชัย สมเจริญ - ศิริชัย จิระบุญศรี - ณรงค์ ธนะปกรณ์ )