Blog categories

Latest posts

ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

.

ล้มละลาย ตอน "หนี้ขาดอายุความบังคับคดี" และตัวอย่างคดี

หลัก  

พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 9       เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
                     (1)  ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
                     (2)  ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียว หรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลาย คนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
                     (3)  หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

มาตรา 14    ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 9 หรือ มาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแต่ ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุ ที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง

 

ป.วิ.พ.

มาตรา 271   ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่าย แพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมด หรือบางส่วนคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วัน มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

 

ข้อเท็จจริง   

               สิงหาคม พ.ศ. 2540 พี่ชุมพล คหบดีเชียงใหม่ กู้เงินธนาคาร จำนวน 300 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงแรมที่จังหวัดในภาคเหนือ โดยจำนองที่ดินหลายแปลงในกรุงเทพเป็นประกัน แต่พี่ชุมพล ผิดนัดชำระหนี้ เพราะกิจการโรงแรมของพี่ชุมพลไม่ดี ธนาคารเจ้าหนี้ได้ฟ้องพี่ชุมพลเป็นคดีแพ่ง ศาลมีคำพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ให้พี่ชุมพลชำระหนี้เงินจำนวน 402 ล้านบาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่พี่ชุมพลก็ผิดนัดเรื่อยมา ... จนปี 2549 ธนาคารเจ้าหนี้ได้โอนภาระหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดำเนินการต่อ ตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น ... บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ติดตามหนี้และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับพี่ชุมพล หลายครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ภาระหนี้ของพี่ชุมพลมีถึง 1,200 ล้านบาท แต่บริษัทบริหารสินทรัพย์ปรับโครงสร้างหนี้ให้พี่ชุมพลชำระหนี้ ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2554 เพียง 150 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ของพี่ชุมพลที่จำนองเป็นประกันไว้ มีมูลค่าตลาด 450 ล้านบาท แต่พี่ชุมพลผิดนัดอีก

               ดังนั้น 30 กรกฎาคม 2555 บริษัทบริหารสินทรัพย์ จึงฟ้องพี่ชุมพล เป็นคดีล้มละลาย ต่อศาลล้มละลายกลาง

               เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 พี่ชุมพล มาร่วมถ่ายรูปแสดงความยินดีกับหลานชายที่จบเนติบัณฑิต รุ่น 64 ในวันรับพระราชทานประกาศนียบัตร จึงได้พบกับทีมทนาย Thai Law Consult และได้นัดพบกันในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 พี่ชุมพลถามว่า เขาฟ้องมา แต่ผมมีทรัพย์สินไม่ถึง 1,200 ล้านบาท จะล้มละลายตามที่เขาฟ้องหรือไม่

               ทีมทนาย Thai Law Consult จำนวน 9 คน นั่งฟังคดี แล้วตอบพี่ชุมพล เหมือนกันว่า เจ้าหนี้ฟ้องได้ แต่ศาลไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลาย เพราะเจ้าหนี้ไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีแล้ว มาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ตามฎีกาที่ 6176/2540, 5323/2542

  • แต่เจ้าหนี้ ยังมีสิทธิบังคับจำนองหลักประกัน โดยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันพิพากษาตามยอม ย้อนหลังไป 5 ปี เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 (ฎีกาที่ 6678/2543)
  • และเจ้าหนี้ หามีสิทธิบังคับจำนองแก่ทรัพย์นอกหลักประกันได้ไม่ (ฎีกาที่ 667/2549, 3442/2547
  • ทนายน้อย ปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64 ทนายบาว วีระพงษ์ ปานชู น.บ.ท.63 ทนายพี่ตุ๊กตา น.บ.ท.64 ช่วยกันอธิบายว่า การฟ้องคดีล้มละลาย ต้องฟ้องภายในอายุความบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 คือภายใน 10 ปี นับจากวันที่ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่ง พิพากษาตามยอม เมื่อ 1 สิงหาคม 2543 บริษัทบริหารสินทรัพย์เจ้าหนี้ ต้องฟ้องพี่ชุมพลเป็นคดีล้มละลาย ภายใน 1 สิงหาคม 2553ดังนั้นเมื่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ นำมาฟ้องวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 จึงล่วงเลยเวลาบังคับคดีแล้ว ศาลล้มละลายต้องยกฟ้อง แต่เจ้าหนี้ยังสามารถบังคับคดีกับหลักประกัน โดยนำที่ดินทรัพย์จำนองขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ได้อยู่ และการที่เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ให้พี่ชุมพลชำระหนี้เป็นเงินสดแค่ 150 ล้านบาท เป็นคุณแก่พี่ชุมพลแล้ว  พี่ชุมพลควรขายทรัพย์จำนอง ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จนครบ 150 ล้านบาท ก่อนศาลล้มละลายกลางพิพากษาดีกว่า
  • เมื่อเข้าใจแนวทางต่อสู้คดีแล้ว  คืนนั้นเป็นคืนแรกในรอบ 2 เดือนที่พี่ชุมพลบอกว่า นอนหลับสบาย เพราะคดีมีทางออกแล้ว
  • ตอนนี้คดีล้มละลายของพี่ชุมพลยังอยู่ระหว่างพิจารณา พี่ชุมพลกล้าตัดสินใจขายทรัพย์จำนองในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อขายให้เร็ว กล้าเดินเข้าไปหาผู้ซื้อตัวจริง ซึ่งผู้ซื้อเองก็ประหลาดใจไม่น้อยเพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าคหบดีใหญ่มีชื่อ เสียงระดับนี้จะมาหาเพิ่อบอกขายที่ดิน เพื่อเอาเงินไปชำระหนี้ให้ บริษัทบริหารสินทรัพย์เจ้าหนี้ ที่ต้องการเงินสดเพียง 150 ล้านบาท
  • แม้พี่ชุมพลจะเชื่อมั่นในหลักกฎหมายที่ทีมทนายความยกขึ้นต่อสู้ แต่พี่ชุมพลตั้งใจแล้วว่าชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จนครบ ก่อนศาลล้มละลายกลางกลางมีคำพิพากษา

 

หลัก

ป.พ.พ.

มาตรา 193/27      ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือ ผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ อันตนได้ยึดถืไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปีขึ้นไปไม่ได้

มาตรา 745          ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้น ขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้

 

               ทีมงาน Thai Law Consult และทนายความของสำนักงานทนายสมปราถน์และเพื่อน ส่วนใหญ่จบเนติบัณฑิต สมัย 64 บางคนจบสมัย 63 ทุกคน มีหนังสือคู่มือการศึกษากฎหมายล้มละลาย โดยอาจารย์เอื้อน ขุนแก้ว หนาประมาณ 545 หน้า พิมพ์ครั้งที่10 แล้ว ราคาขายประมาณ300บาท ไว้เป็นคู่มือติดตัวและที่ทำงาน การปรึกษาคดีล้มละลายและว่าความคดีล้มละลายของพี่ชุมพล ก็ได้ใช้หนังสือนี้เป็นคู่มือของทีมทนายความ จึงขอถือโอกาสนี้แนะนำทนายความรุ่นใหม่ให้รู้จัก และใช้ประโยชน์จากหนังสือนี้ครับ 

               ทีมงาน Thai Law Consult เจตนาเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายสู่ประชาชน จึงได้ค้นหาฎีกาฉบับเต็มเด่นๆ และเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มาลงไว้ท้ายบทความนี้ครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6176/2540

ป.วิ.พ. มาตรา 271
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8, 14

          ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระ หนี้ให้แก่โจทก์วันที่ 14 มิถุนายน 2528 โจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำ พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 271แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 19 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์2529 และวันที่ 27 เมษายน 2532 ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาดก็ตาม ก็เป็นขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดี เมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบ ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดี แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้ม ละลายได้

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดลำปาง คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 255/2528 พิพากษาเมื่อวันที่14 มิถุนายน 2528 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,204,125.88 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 2,197,263.19 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชา ธรรมเนียมแทนโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ จำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้งได้รับเงินจากการขายทอดตลาดนำมาหักชำระหนี้โจทก์ได้บางส่วนคิดถึงวัน ฟ้องจำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน5,707,148.17 บาท จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก และจำเลยทั้งสองย้ายภูมิลำเนาไปจากเคหสถานที่เคยอยู่ ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาลและเคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ ได้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
          จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ จำเลยที่ 1มิได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การและจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดลำปาง คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2555/2528 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,204,125.88 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2528 จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีในวันที่ 19 กุมภาพันธ์2529 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้งครั้งแรกวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ครั้งที่สอง วันที่ 27 เมษายน 2532เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่นำยึดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสองยังค้างชำระหนี้โจทก์นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,707,148.17 บาท โดยโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 20 ธันวาคม2538 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะนำหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเกินกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษามาฟ้อง จำเลยทั้งสองให้ล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลจังหวัดลำปางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์วันที่ 14 มิถุนายน 2528โจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในสิบปีนับแต่วันที่มี คำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2529 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และวันที่ 27 เมษายน 2532 และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาดก็ตามก็เป็น ขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดี เมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวแล้วมาฟ้องจำเลยทั้ง สองให้ล้มละลายได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

( ไพโรจน์ คำอ่อน - เสริม บุญทรงสันติกุล - พิชัย เตโชพิทยากูล )        

หมายเหตุ 
          พระราชบัญญัติล้มละลายฯ หรือกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีผลใน ทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2531) ซึ่งได้มีการบัญญัติเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวไว้โดยเฉพาะในมาตรา 14 ให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาความจริงให้ได้ว่าคดีมีเหตุอันควรให้ ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 9หรือมาตรา 10 แล้วแต่กรณี ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นบุคคลล้มละลายนั้นมิใช่อาศัยแต่ลำพังข้อ เท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยตก อยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 508/2536)
           เหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14 นั้น จึงเป็นข้อที่ศาลพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่ศาลจะมีศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ ทรัพย์เด็ดขาด คือเมื่อมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็ไม่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดโดยพิพากษายกฟ้องเสียได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2526)
           ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติถึงกำหนดเวลาในการบังคับคดีว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติ ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น แต่ในการดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี อันจะมีผลทำให้เจ้าหนี้ที่ตามคำพิพากษามีสิทธิดำเนินการบังคับคดีจนแล้ว เสร็จนั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2518และ 1495/2524) จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน โดยขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว นอกจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำ พิพากษาเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตามขั้นตอนนี้แล้ว ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปยึดทรัพย์เมื่อใดนั้นเป็นขั้นตอนดำเนินงาน ของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปทำการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาก็ถือว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีภาย ใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2528 และ 5709/2537) แต่ถ้าเพียงแต่ขอให้ศาลออกคำบังคับหรือหมายบังคับคดีไว้เฉย ๆ จนพ้นกำหนด 10 ปีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็หมดสิทธิบังคับคดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2534 และ 4748/2536)
           สำหรับคดีที่หมายเหตุนี้ ข้อเท็จจริงมีว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2528ในจำนวนเงิน 2 ล้านบาทเศษ (ยังไม่รวมดอกเบี้ย) โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และวันที่ 27 เมษายน 2532 แต่เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแล้วได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ ยังเหลือหนี้ที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยอยู่อีกถึง 5 ล้านบาทเศษ โจทก์จึงนำหนี้จำนวนดังกล่าวนี้มาฟ้องให้จำเลยล้มละลายในวันที่ 20 ธันวาคม 2538จึงเห็นได้ว่า ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และในวันที่ 27 เมษายน2532 นั้น ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา (วันที่ 14มิถุนายน 2528) ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดเวลาในการบังคับคดีดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้าง ต้น ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลืออีก 5 ล้านบาทเศษที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายเป็นคดีนี้โจทก์มิได้ ดำเนินการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 14มิถุนายน 2528(วันมีคำพิพากษา) จึงหมดสิทธิบังคับคดี เช่นนี้โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่อาจนำหนี้ที่เหลือดังกล่าวซึ่ง เป็นหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีมาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้(คำพิพากษาศาล ฎีกาที่ 482/2536,942/2538(ประชุมใหญ่), 1022/2538 และ 5494/2539) เพราะเมื่อไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินของจำเลยแล้ว หากยังให้นำเอาจำนวนหนี้ที่ค้างชำระอยู่มาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ก็เท่า กับไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความได้เปรียบของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่มีต่อ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่นึกจะฟ้องให้ลูกหนี้ฯ ล้มละลายเมื่อใดก็ได้และยังทำให้ลูกหนี้ฯไม่มีทางพื้นตัวจากการล้มละลายได้ เลย ซึ่งไม่สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายล้มละลาย
           ด้วยเหตุนี้ การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จึงถือได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14
           จิตฤดี วีระเวสส์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5323/2542

ป.พ.พ. มาตรา 193/24
ป.วิ.พ. มาตรา 27

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภาย ใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้บังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดี ดังกล่าว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย กำหนดเวลาบังคับคดีเป็นเรื่องระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับแก่ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ กำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่ใช่อายุความ ไม่อาจนำเรื่องการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 มาใช้บังคับกับหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ทำถึงโจทก์ภายหลังที่ล่วง เลยกำหนดเวลาบังคับคดีแล้วนั้นได้หนังสือขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ การสละประโยชน์แห่งอายุความ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามหนังสือดังกล่าว

________________________________

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 13664/2523 ของศาลแพ่ง ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2534 จำเลยได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความโดยมีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ตามคำ พิพากษากับโจทก์เดือนละ 500 บาท ในวงเงิน 67,500 บาท โจทก์ตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ได้แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ขอผ่อนผัน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน86,099.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 75,612 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีหมายเลขแดงที่ 13664/2523 ซึ่งถึงที่สุดแล้วให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 67,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขอออกคำบังคับและหมายบังคับคดีแล้วแต่ไม่ สามารถสืบหาทรัพย์สินของจำเลยได้ จนล่วงเลยเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2523 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2534 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาในวงเงิน 67,500 บาท เป็นรายเดือน เดือนละ 500 บาท จนกว่าจะครบ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความ และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือนี้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภาย ใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้บังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดี ดังกล่าว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวเป็นเรื่อง ระยะเวลาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เป็น การใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่ใช่อายุความ ไม่อาจนำเรื่องการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 มาใช้บังคับได้หนังสือขอผ่อนชำระหนี้ของจำเลยจึงไม่ใช่การสละประโยชน์แห่งอา ยุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน

( ธวัชชัย จาตุรงคกุล - เหล็ก ไทรวิจิตร - กิติยาภรณ์ อาตมียะนันทน์ )

หมายเหตุ 
          อายุความเป็นระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิที่เรียก ร้องของตนอายุความจึงมีลักษณะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้นกฎหมายจึงห้ามมิให้ทำนิติกรรมตกลงงดใช้หรือเปลี่ยนแปลงอายุความดังที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/11 ที่ว่า "อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นคู่กรณีจะตกลงกันงดใช้ขยายออกหรือย่นเข้าไม่ ได้" ส่วนระยะเวลานั้นหมายถึงส่วนความยาวแห่งเวลาซึ่งผ่านไปหรือจะได้ผ่านไปอาจ เป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือนหรือปีก็ได้ ซึ่งได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/1 ถึง มาตรา 193/8 ฉะนั้น หากกำหนดระยะเวลาใดไม่ใช่เรื่องที่กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้อง ทางศาลภายในกำหนดระยะเวลาแล้ว กำหนดระยะเวลานั้นก็ไม่ใช่อายุความซึ่งระยะเวลานั้นก็สามารถขยายได้ดังที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/7 ตามฎีกาที่หมายเหตุนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กำหนดเวลาบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มิใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่ใช่อายุความซึ่งนอกจากจะขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้ แล้ว ลูกหนี้ไม่อาจสละประโยชน์แห่งอายุความรวมทั้งลูกหนี้ไม่อาจรับสภาพความรับ ผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันดังบัญญัติไว้ในมาตรา 193/24 และมาตรา 193/28 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉะนั้นการที่ลูกหนี้มีหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ มายังเจ้าหนี้ภายหลังล่วงเลยกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้ว หนังสือดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความ ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือดังกล่าว จึงเป็นอุทาหรณ์สำหรับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหลายที่ต้องรีบดำเนินการ บังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยขั้นแรกจะต้องขอออกหมายบังคับคดีขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วนอกจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับ คดีขอให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย การออกคำบังคับและออกหมายบังคับคดีแล้วแต่ไม่สามารถสืบหาทรัพย์สินของจำเลย ได้จนล่วงเลยระยะเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ดังข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงหมดสิทธิ ที่จะบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายอีกด้วย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2493 มาตรา 94 อนุมาตรา 1
           ศนิวันท์เกื้อสุวรรณ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  667/2549

ป.พ.พ. มาตรา 5, 11, 193/27, 193/30, 745, 856, 859

          แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวม ทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชี เดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและ ภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่า มีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว ในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจาก ทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
          (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระ เงิน 47,574,591.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 41,369,210.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์ เจ้าภาณุพันธ์ยุคลออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนกว่าจะครบ
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นฎีกาฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นชายาของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งสิ้นพระชนม์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 ก่อนสิ้นพระชนม์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เปิดบัญชีเดิน สะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ บัญชีเลขที่ 001-3-9703-8 ซึ่งมีวิธีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีโดยการออกเช็คสั่งจ่ายเงิน และวันที่ 25 สิงหาคม 2520 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เพื่อเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินได้ตามประเพณีของธนาคาร โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจาก ทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2521 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกิน บัญชีอีก 1,500,000 บาท รวมเป็น 5,500,000 บาท และจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประกันอีก 1,500,000 บาท เป็น 5,500,000 บาท วันที่ 11 มิถุนายน 2525 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอน จำนวน 5,000,000 บาท และวันที่ 14 มีนาคม 2526 นำเข้าอีก 1,582.18 บาท จากนั้นมิได้มีการนำเงินเข้าบัญชีหรือเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี ระหว่างโจทก์กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งต้องด้วย ลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะโดยสัญญาจะคง สภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลา อันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้า บัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลสิ้นพระชนม์เป็นเวลา นานเกือบ 12 ปี แสดงว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์ โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่า มีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งเป็นลูกค้าของ โจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ภาณุพันธ์ยุคลในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลเดินสะพัดทางบัญชี เป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจาก ทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความตามที่วินิจฉัยข้างต้น แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคลจำนองไว้เท่านั้นตามกฎหมายข้างต้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหาก บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ภาณุพันธ์ยุคลชำระเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้น ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 ถึง 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

( จรัส พวงมณี - นินนาท สาครรัตน์ - สถิตย์ ทาวุฒิ )

ศาลแพ่ง - นายโสภณ โรจน์อนนท์
ศาลอุทธรณ์ - นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3442/2547

ป.พ.พ. มาตรา 745
ป.วิ.พ. มาตรา 271

          จำเลยมิได้ร้องขอให้บังคับคดีตาม คำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยย่อม สิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองที่ดินได้ระงับสิ้นไป การจำนองที่ดิน จึงยังคงมีอยู่ แม้จำเลยสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแต่หนี้จำนองตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมายกับดอกเบี้ยที่ค้าง ชำระในการจำนองเป็นเวลา 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745

________________________________

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๐๕๒๔ พร้อมจดทะเบียนถอนจำนอง ที่ดินคืนโจทก์และรับเงินที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินข้าง ต้นให้โจทก์ด้วย
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๕๒๔ และส่งมอบโฉนดที่ดิน ดังกล่าวแก่โจทก์ โดยรับเงินค่าถอนจำนองจำนวน ๓๙๒,๐๐๐ บาท จากสำนักงานวางทรัพย์กลาง ถ้าจำเลยไม่ถอนจำนองให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมโจทก์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๕๒๔ เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์ให้ชำระเงินกู้และบังคับจำนองต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชนะคดี ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๓๓๖๐/๒๕๒๕ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ คดีถึงที่สุด แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันที่คำ พิพากษาถึงที่สุด
          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องจดทะเบียนถอนจำนองที่ดินพิพาทและส่งมอบโฉนดที่ดิน คืนแก่โจทก์โดยรับเงินค่าถอนจำนองจำนวน ๓๙๒,๐๐๐ บาท ที่โจทก์วางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชนะคดีโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๓๓๖๐/๒๕๒๕ และคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยมิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา ๑๐ ปี ที่จำเลยจะร้องขอให้บังคับคดีแก่โจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗๑ จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวอีกต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อไม่ปรากฏว่า การจำนองที่ดินพิพาทได้ระงับสิ้นไป การจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงมีอยู่ ฉะนั้น แม้จำเลยสิ้นสิทธิ ที่จะบังคับคดีเอาแก่หนี้จำนองตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมาย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา ๗๔๕ บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าไปไม่ได้" ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองจากต้นเงินจำนวน ๒๔๕,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเป็นเวลา ๕ ปี เท่านั้น เมื่อโจทก์เสนอขอชำระหนี้ ดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมชำระหนี้ การที่โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อชำระหนี้จำนองแก่จำเลย จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้จำนองโดยชอบแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนถอนจำนอง ที่ดินพิพาทและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ โดยรับเงินค่าถอนจำนองจำนวน ๓๙๒,๐๐๐ บาท ที่โจทก์วางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ .

( ประชา ประสงค์จรรยา - องอาจ โรจนสุพจน์ - พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ )

ศาลแพ่ง - นางผัสสพร วิจิตรสกุลศักดิ์
ศาลอุทธรณ์ - นายพินิจ สายสอาด

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 3-11-55)