Blog categories

Latest posts

บทความจาก คุณณัฐกร สุดใจใหม่    มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ที่ 3 เนติบัณฑิต สมัย 64)

‘’หลงเนเสียเวลา’’ คำกล่าวนี้หลายคนคนเคยได้ยินและได้ฟังกันมาพอสมควร

การเรียนและสอบไล่ได้ให้เป็นเนติบัณฑิตเป็นความหวังและความฝันของนัก กฎหมายโดยทั่วไป เพื่อปูทางไปสู่การสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา อัยการผู้ช่วย ข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ ในส่วนตัวของข้าพเจ้า มี 3 วิธีการ เพื่อไม่ให้หลงทางไปกับการเรียนเนติ ซึ่งประกอบไปด้วย

1.การเตรียมตัวภายหลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตเพื่อเตรียมตัวไปสู่การเรียนในระดับชั้นเนติบัณฑิต

ในการเรียนและการสอบในระดับเนติบัณฑิตแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ภาคที่ 1 เรียนและสอบในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ กฎหมายอาญา ภาคที่ 2 เรียนและสอบในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงจำเป็นต้องเข้าใจในส่วนของกระบวนวิชาต่างๆที่มีการเรียนการสอน และมีการสอบ เนื่องจากนักกฎหมายซึ่งเข้ามาศึกษาในสำนักฝึกอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มาจากมหาวิทยาลัยหลายๆที่จากทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับการเรียนในระดับเนติบัณฑิตซึ่งใช้เวลาการศึกษา เพียง 1 ปี (จากในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี) พื้นฐาน แนวทางการศึกษาของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตและเนื้อหาที่เปิดเรียนและทำการสอบในแต่ ละภาค เพื่อที่จะวางแผนแนวทางการเรียนและการอ่านหนังสือได้อย่างถูกต้อง  และควรจะทบทวนความรู้อย่างสม่ำเสมอในหลักกฎหมายที่ได้เรียนมาในระดับชั้น ปริญญาตรี เพื่อเตรียมความพร้อม เพราะเมื่อเข้ามาศึกษาในระดับเนติบัณฑิตซึ่งโดยส่วนใหญ่จะศึกษาจากแนวทางคำ พิพากษาฎีกาเป็นหลัก หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมาย ก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าใจคำพิพากษาฎีกา ซึ่งถือเป็นการแปลความและตีความหลักกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ในส่วนของที่พักอาศัย จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ขอแนะนำว่าควรจะหาที่พักอาศัยซึ่งอยู่ใกล้สำนักอบรม ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเรียนและการอ่านหนังสือ และเพื่อตัดจากกิเลส ตัณหาทั้งหลาย(เช่น คอมพิวเตอร์ เพื่อนฝูง) อีกทั้งเป็นการเพิ่มกำลังใจให้กับตัวเอง เพราะเมื่อมาอยู่ มาศึกษาที่สำนักอบรม ก็หมายถึงท่านอยู่ในหมู่คนที่ศึกษาเล่าเรียน อยู่ในหมู่ที่เคร่งครัดเรื่องการอ่านหนังสือ สิ่งเหล่านี้จะนำพาให้ท่าน กลายเป็นคนที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และเอาจริงเอาจังกับการอ่านตำราไปด้วยในตัว    

2.การเรียนและการอ่านหนังสือในช่วงเปิดภาคเรียนเนติบัณฑิต

การเรียน

-ที่สำนักฝึกอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีการเรียนการสอนแบ่งเป็น 3 ภาค คือ

1.ภาคปกติ เรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น.
2.ภาคค่ำ เรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์    ตั้งแต่เวลา 17.00 – 20.00 น.
3.ภาคทบทวน เรียนทุกๆวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.50 น.

การเรียนนั้นควรศึกษาขอบเขตของแต่ละวิชา ตามหนังสือของสำนักอบรมซึ่งจะมอบให้ท่านตอนเข้ามาสมัครเป็นนักศึกษา และควรเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอโดยในส่วนของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าเข้าเรียนทั้ง 3 ภาค แต่ไม่ได้เข้าเรียนในทุกคาบ โดยเลือกเรียนจากความรู้และความเข้าใจในวิชานั้นๆว่ามีมากน้อยเพียงใด การเรียนนั้นมีนักศึกษาบางท่านเรียนทุกภาค และทุกคาบ การเรียนลักษณะดังกล่าว ในส่วนตัวของข้าพเจ้าเห็นว่าหนักเกินไป อีกทั้งจะทำให้ไม่มีเวลาในการอ่านหนังสือเพื่อทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมา สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเรียนคือ ท่านจะต้องมีเลคเชอร์เป็นของตัวเอง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาในแต่ละวัน  และจะต้องทบทวนสิ่งที่ได้เล่าเรียนมาอย่างสม่ำเสมอ

การอ่านหนังสือ

-เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าศึกษาในระดับเนติบัณฑิต ข้าพเจ้าอ่านแต่เฉพาะ "รวมคำบรรยาย" ซึ่ง สำนักอบรมเป็นผู้จัดทำและเป็นผู้จำหน่าย ข้าพเจ้าแนะนำว่าควรจะเป็นคำบรรยายฉบับใหม่ของภาคการศึกษานั้นๆ คำบรรยายเก่าของภาคการศึกษาก่อนๆ ก็สามารถนำมาใช้อ่านได้ แต่หากมีปัญหาเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย หรือ การกลับคำพิพากษา ก็จะทำให้ท่านตามไม่ทัน หนังสือรวมคำบรรยายของเนติ ขึ้นชื่อในเรื่องของความหนา และเนื้อหาที่สลับซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการอ่าน โดยจะต้องวางแผน และ ปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด

เนื่องจาก รวมคำบรรยายนั้น ออกอาทิตย์ละเล่ม  ข้าพเจ้าวางแผนการอ่านโดยใช้วิธีการนำจำนวนหน้า มาหารกับจำนวนวัน เช่น คำบรรยายเล่มที่ 1 มีจำนวน 420 หน้า ก็จะนำ 420(จำนวนหน้า) หาร 7(จำนวนวันใน 1 อาทิตย์) ก็จะตกเฉลี่ย วันละ 60 หน้า โดยเวลาที่ใช้ในการอ่านคือเวลาซึ่งว่างเว้นจากการเข้าเรียนในแต่ละวัน และจะต้องตั้งใจอ่านให้ครบตามที่กำหนดไว้ เพราะหากท่านอ่านได้ไม่ถึงเกณฑ์ตามจำนวนที่เฉลี่ยออกมาในแต่ละวัน(60หน้า) เท่ากับวันต่อๆมาท่านต้องอ่านชดเชย ในส่วนของวันที่ท่านไม่ได้อ่านหรืออ่านไม่ถึง ซึ่งจะกลายเป็นดินพอกหางหมู เพราะอาทิตย์ถัดๆมา คำบรรยายก็ใหม่ก็จะมาเสริมอีก ตรงนี้เป็นปัญหาที่สำคัญของการศึกษาในระดับเนติบัณฑิต จะมีทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง และเพื่อนๆของข้าพเจ้าหลายๆคน ที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘’อ่านไม่ทัน’’ เมื่อข้าพเจ้าอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์แต่ละครั้ง ข้าพเจ้าก็จะทำโน้ตย่อเล็กๆไว้ เพื่อสะดวกและง่ายต่อการทบทวน

3.การเตรียมตัวก่อนสอบ และ การเขียนตอบข้อสอบ

-การเตรียมตัวก่อนสอบ

สิ่งที่สำคัญที่ใช้ในการเตรียมสำหรับข้าพเจ้า คือ การทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมา และ การท่องตัวบทกฎหมาย อาจมีการนำข้อสอบเก่ามาอ่านและหัดทำบ้าง การทบทวนความรู้ก็อาศัยจากเล็คเชอร์ที่ข้าพเจ้าได้จดบันทึกไว้ในช่วงที่เข้าเรียน และ จากโน้ตย่อที่จดไว้ ตอนอ่านคำบรรยาย การท่องตัวบทกฎหมาย เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในความคิดของข้าพเจ้าตั้งแต่ศึกษาในระดับปริญญาตรี  โดยข้าพเจ้ามีเคล็ดลับในการท่องตัวบท คือ ท่องแล้วนอนหลับ เพราะมีทฤษฎีอยู่ว่าการนอนหลับจะทำให้ความจำถูกรบกวนน้อยที่สุด(ห้ามทำสลับกันเป็นอันขาด)

-การเขียนตอบข้อสอบ

การเขียนตอบข้อสอบนั้นมีวิธีการอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าท่านถนัดวิธีไหนมากที่สุด โดยแบ่งเป็น

การอ่านข้อสอบ มี 2 วิธี
1.การอ่านทั้งหมด 10 ข้อ แล้วทำข้อที่คิดว่ามั่นใจ ส่วนข้อที่ไม่มั่นใจ(มึน) ก็ค่อยมาวัดใจเอาทีหลัง
2.อ่านที่ละข้อ แล้วก็ทำไปทีละข้อ
ส่วนตัวข้าพเจ้าใช้วิธีที่ 2 เพื่อรักษาขวัญและกำลังใจเอาไว้ เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าเลือกอ่านทั้ง 10 ข้อ หากไปอ่านเจอข้อที่เกินความสามารถ จะได้ทำให้สมาธิเสีย และอาจเลยไปถึงการตอบข้อสอบได้ไม่ดี ในข้อที่ควรจะได้

การเขียนข้อสอบ มี 2 วิธี
1.การเขียน แบบ 3 part คือ แยกส่วนตัวบท วินิจฉัย สรุป
2.การเขียนแบบฟันธง นำตัวบทมาปนกับวินิจฉัย ไม่ได้แยกส่วน (เขียนเหมือนธงคำตอบ)
เนื่องจากการสอบในระดับเนติบัณฑิตนั้น ข้อสอบ 10 ข้อ ใช้เวลา 4 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย คิด อ่าน เขียน ข้อละ 24 นาที จึงต้องบริหารเวลาให้ดี  การเขียนแบบที่ 1 เหมาะกับคนที่เขียนหนังสือไว ซึ่งมักมาพร้อมกับลายมืออันขยุกขยิก การเขียนแบบที่ 2 เหมาะกับคนที่เขียนหนังสือช้า แต่มีลายมือที่เป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม ในส่วนตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเลือก  วิธีที่ 1 เพราะข้าพเจ้าเป็นคนที่เขียนเร็ว แต่มีปัญหาด้านลายมือ

-เวลาประมาณ 4 เดือน ของการเรียนการสอนเนติบัณฑิตนั้น ไวเหมือนโกหก ท่านจะพร้อมหรือไม่ในการสอบ ก็ขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง  หากท่านมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความอดทน ท่านก็จะประสบความสำเร็จเป็น ‘’เนติบัณฑิตไทย’’ ตามที่มุ่งหวังเอาไว้ ขอให้ทุกท่านโชคดีและประสบความสำเร็จนะครับ

นายณัฐกร สุดใจใหม่
เนติบัณฑิตไทยสมัยที่ 64