Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
เว็บ TLC เผยแพร่บทความเพื่อเป็นความรู้แก่ประชาชน
และพร้อมที่จะให้ท่านแคปหน้าจอไปใช้ได้
แต่กรุณาให้เครดิตว่ามาจากเว็บ Thai Law Consult
มิฉะนั้น ท่านอาจจะมีความผิดฐานละเมิดงาน "วรรณกรรม" อันมีลิขสิทธิ์ได้
|
|
|
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2559
แม้คำพิพากษาจะถึงที่สุดในชั้นฎีกาแล้วก็ตาม แต่ตามคำพิพากษา ดังกล่าวมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ หรือไม่ อย่างไร โดยศาลฎีกาพิพากษายืนในผลแห่งคดีโดยให้เหตุผลว่า จำเลยไม่ได้ยื่นคัดค้านภายใน 8 วัน นับแต่วันทราบข้อเท็จจริงอันเป็นมูลแห่ง ข้ออ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่มีอำนาจ ยื่นคำร้องที่อ้างว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยเห็นว่าการกระทำของโจทก์และ อ. ไม่ถูกต้องเพราะขณะทำสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าวจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และสัญญาประนีประนอม ยอมความดังกล่าวขัดกับประโยชน์ของจำเลย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 และกรณียังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลในประเด็นดังกล่าว แต่จำเลยไม่อาจฟ้องโจทก์และ อ. บิดามารดาได้เนื่องจากเป็นคดีอุทลุม การที่ จำเลยร้องขอให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนจึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 และมาตรา 1575 เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรม ตามอำนาจบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจำเลยก็มิได้ร้องขอให้พนักงานอัยการ ดำเนินการฟ้องแต่โจทก์คนเดียวแต่ให้ฟ้อง อ. ด้วย แสดงว่าจำเลยมิได้มี ความเกลียดชังโจทก์โดยเลือกฟ้องแต่โจทก์เพียงคนเดียวต่ออย่างใด ส่วนที่ จำเลยยื่นคำร้องไม่ประสงค์เข้าสู่การไกล่เกลี่ยและยื่นคำคัดค้านคำร้อง ขอถอนฟ้องของพนักงานอัยการก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลย ย่อมกระทำได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทาง ไม่สุจริตหรือใส่ความเท็จต่อโจทก์เพื่อเจตนาจะประจานการกระทำของโจทก์ แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต ไม่เป็นการประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
คำพิพากษาฎีกาย่อยาว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2559
โจทก์ นายดำรง ลิขิตทรัพย์
จำเลย นายอัศวิน ลิขิตทรัพย์
ป.พ.พ. ถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณ คดีอุทลุม ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง
ขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ มาตรา 531 (2), 1562, 1575
ป.วิ.พ. กระบวนพิจารณาผิดระเบียบ มาตรา 27
โจทก์ฟ้องขอให้ถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8009 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะส่วนที่โจทก์ยกให้แกจำเลยคืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกา รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับนางอัจฉรา จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2521 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ จำเลยกับนางสาวกนกวรรณหรืออลิสา โดยก่อนสมรสกัน โจทก์เคยมีภริยามาก่อน มีบุตรกับภริยาเดิม 4 คน ประกอบอาชีพทำอู่ซ่อมรถ ส่วนนางอัจฉราเคยมีบุตรมาก่อน 3 คน อยู่ในอุปการะ 1 คน ประกอบอาชีพค้าขายพืชไร่และจัดสรรที่ดิน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2531 นางอัจฉราซื้อที่ดินพิพาท และวันที่ 25 มีนาคม 2536 นางอัจฉราจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยและนางกนกวรรณ ขณะที่ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2538 โจทก์และนางอัจฉราเคยยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6946, 6948 และ 18054 ให้แก่จำเลยและนางสาวกนกวรรณ
ขณะที่ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์ และโจทก์ยื่นฟ้องนางอัจฉราและจำเลยกับนางสาวกนกวรรณต่อศาล ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6946, 6948 และ 18054 ทั้งสามแปลงข้างต้นให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และนางอัจฉราเช่นเดิม โจทก์ นางอัจฉรา จำเลย และนางสาวกนกวรรณทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ยอมจดทะเบียนคืนที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์และนางอัจฉรา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์นางอัจฉราจดทะเบียนหย่าขาดกันโดยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินและอำนาจปกครองบุตรว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 11551 ที่ดินโฉนดเลขที่ 7097, 7098 และ 8379 จำนวน 4 แปลง เฉพาะส่วนของนางอัจฉรา
ให้จำเลย ที่ดินโฉนดเลขที่ 6946, 6948 และ 18054 ให้โจทก์และนางอัจฉราได้เท่ากัน บริษัทศรีโสธรการเกษตรให้เป็นของโจทก์ ทรัพย์สินอื่น ๆ นอกนั้นที่เป็นชื่อของนางอัจฉราให้เป็นของจำเลย และให้นางอัจฉราเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรหลังจากนั้นโจทก์กับนางอัจฉรามีคดีพิพาทฟ้องร้องกันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสอีกหลายคดีและมีระยะเวลายาวนาน ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2545 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม อ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เนื่องจากโจทก์และนางอัจฉราไม่สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยและนางสาวกนกวรรณบุตรผู้เยาว์ได้เพราะเป็นการขัดกับประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 ศาลชั้นต้นยกคำร้องเพราะคดีถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ศาลฎีกาพิพากษายืนในผลแห่งคดี โดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ยื่นคัดค้านภายใน 8 วัน นับแต่ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 หลังจากจำเลยบรรลุนิจิภาวะแล้ว จำเลยได้ร้องขอให้พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีข้างต้นแทนเนื่องจากเป็นคดีอุทลุม โจทก์ได้มีหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการข้างต้น
ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องแต่จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางอัจฉรา เห็นว่า โจทก์ฎีกาว่า โจทก์อายุ 76 ปี จำเลยเป็นบุตรที่มีการศึกษาสูงสุดในบรรดาบุตรทุกคน มีอาชีพมั่นคง โจทก์หวังพึ่งพิงจำเลยในยามแก่เฒ่า แต่เท่าที่ผ่านมาจำเลยไม่เคยสนในดูแลโจทก์ ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 ทั้งจำเลยมีทรัพย์สินมากมาย โจทก์ขอคืนการให้ที่ดินพิพาทเพื่อนำมาเป็นทุนใช้ชีวิตบั้นปลายนั้น เป็นเพียงคำกล่าวตัดพ้อต่อว่าจำเลยและแสดงจุดประสงค์ที่โจทก์ต้องการที่ดินพิพาทคืนเท่านั้น ฎีกาของโจทก์มิได้อ้างว่าโจทก์ยากไร้อย่างไร และจำเลยได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยยังสามารถจะให้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (3) จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง ส่วนฎีกาโจทก์ที่อ้างว่าพนักงานอัยการเร่งทำสำนวนและฟ้องคดีแทนจำเลยโดยใช้เวลาเพียง 7 วัน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และที่จำเลยยื่นคำร้องไม่ประสงค์ที่จะไกล่เกลี่ยคดีกับโจทก์เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์นั้น ก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ
ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้องเช่นกัน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวกว่า การที่จำเลยดำเนินการร้องขอให้พนักงานอัยการดำเนินคดีโจทก์ ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริตหรือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง อันเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) หรือไม่ เห็นว่า แม้คำพิพากษาจะถึงที่สุดในชั้นฎีกาแล้วก็ตามแต่ตามคำพิพากษาดังกล่าวมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ
เป็นโมฆะหรือไม่ อย่างไร โดยศาลฎีกาพิพากษายืนในผลแห่งคดีโดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ยื่นคัดค้านภายใน 8 วัน นับแต่ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องที่อ้างว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยเห็นว่าการกระทำของโจทก์และนางอัจฉราไม่ถูกต้องเพราะขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวขัดกับประโยชน์ของจำเลย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 และกรณียังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลในประเด็นดังกล่าว แต่จำเลยไม่อาจฟ้องโจทก์และ อ. บิดามารดาได้เนื่องจากเป็นคดีอุทลุม การที่จำเลยร้องขอให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนจึงเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และมาตรา 1575 เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมตามอำนาจบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจำเลยก็มิได้ร้องขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องแต่โจทก์คนเดียวแต่ให้ฟ้องนางอัจฉราด้วย แสดงว่าจำเลยมิได้มีความเกลียดชังโจทก์โดยเลือกฟ้องแต่โจทก์เพียงคนเดียวต่ออย่างใด ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องไม่ประสงค์เข้าสู่การไกล่เกลี่ยและยื่นคำคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้องของพนักงานอัยการก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยย่อมกระทำได้ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางไม่สุจริตหรือใส่ความเท็จต่อโจทก์เพื่อเจตนาจะประจานการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจริต ไม่เป็นการประพฤติเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
(โสรัตน์ เพียรอนุกุล - ทวีป ตันสวัสดิ์ - ชวลิต ยงพาณิชย์)
ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ - ย่อ
ปรีชา เชิดชู - ตรวจ