Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
เว็บ TLC เผยแพร่บทความเพื่อเป็นความรู้แก่ประชาชน
และพร้อมที่จะให้ท่านแคปหน้าจอไปใช้ได้
แต่กรุณาให้เครดิตว่ามาจากเว็บ Thai Law Consult
มิฉะนั้น ท่านอาจจะมีความผิดฐานละเมิดงาน "วรรณกรรม" อันมีลิขสิทธิ์ได้
|
|
|
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ๓๑/๒๕๖๐
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ แผนกคดีผู้บริโภคตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ยี่ห้อมิตซูบิชิ คันหมายเลขทะเบียน .... เพชรบูรณ์ พร้อมอุปกรณ์ไปจากโจทก์ ในราคาเช่าซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ๖๖๙,๓๑๒.๔๕ บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ ๙,๒๗๗ บาท รวม ๗๒ งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๖ และงวดต่อไปชำระทุกวันที่ ๕ ของทุกเดือนติดต่อกันจนกว่าจะครบสัญญา มีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ หลังจากที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ๔ งวด เป็นเงิน ๓๗,๑๘๘ บาท และจำเลยที่ ๑ เริ่มผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ ๕ กำหนดชำระประจำวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นมา จำเลยที่ ๑ ยังคงเหลือเงินค่าเช่าซื้อค้างชำระรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ๖๓๒,๑๒๔.๔๕ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ โจทก์มีหนังสือให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ ๑ ได้รับเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แต่เพิกเฉยตามเอกสารหมาย จ.๑๑ และ จ.๑๒ และเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิริรัตน์เริ่งรัดหนี้สินตัวแทนของโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ ๑ ยินยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ และหลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๖ โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายให้แก่บุคคลอื่นโดยวิธีประมูลราคาตามสภาพในขณะที่ได้รับกลับคืนมา ได้ราคาสูงสุดเพียง ๒๗๒,๐๐๐ บาท สำหรับค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์และค่าจ้างบุคคลภายนอกให้ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อ ซึ่งศาลได้กำหนดให้ ๑๓,๐๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท ตามลำดับนั้น คู่ความต่างไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดในค่าขาดราคาหรือไม่ เพียงใด โดยศาลชั้นต้นฟังว่า
๑) โจทก์ไม่ได้แจ้งการประมูลรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยทั้งสองทราบ และ
(๒) โจทก์ไม่ได้นำพยานมาสืบให้ได้ความว่า การขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อมีความเหมาะสมถูกต้องตามหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดโดยทั่วไปหรือไม่
จึงรับฟังไม่ได้ว่า การขายทอดตลาดโดยการประมูลราคาดังกล่าวของโจทก์เป็นการกระทำที่เหมาะสม ซึ่งโจทก์จะพึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากสัญญาเช่าซื้อได้อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ.๕ ข้อ ๑๒ วรรคท้าย ระบุว่า "ในกรณีธนาคารบอกเลิกสัญญาและกลับเข้าครอบครองรถ ธนาคารจะแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า ๗ วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ" ส่วนข้อ ๑๔ ระบุว่า "กรณีที่ธนาคารได้รถกลับคืนมา ธนาคารตกลงว่าหากนำรถออกขายได้ราคาเกินกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้ ธนาคารจะคืนเงินส่วนเกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่ธนาคารได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น" และสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.๖ ข้อ ๒ ระบุว่า "หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือผิดสัญญาเช่าซื้อไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนจนเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหาย หรือรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดความเสียหายไม่ว่าด้วยเหตุใด แม้โดยอุบัติเหตุ เหตุสุดวิสัย หรือภัยพิบัติเหตุใดที่ไม่อาจป้องกันได้ ผู้ค้ำประกันยินยอมที่จะชำระหนี้ของผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ธนาคารทันทีจนครบถ้วน ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันตามสัญญานี้เป็นความรับผิดต่อธนาคารร่วมกันกับผู้เช่าซื้อและในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่าธนาคารได้ทวงถามหรือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันแล้วหรือไม่ก็ตาม" ดังนั้น ก่อนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องแจ้งล่วงหน้าให้จำเลยที่ ๑ ทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า ๗ วัน เพื่อให้จำเลยที่ ๑ ได้ใช้สิทธิซื้อรถยนต์กลับคืนตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิซื้อรถกลับคืนดังกล่าว ประกอบกับโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความว่า การขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อมีความเหมาะสมถูกต้องตามหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดโดยทั่วไป คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเหมาะสมตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๑๔. โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกราคารถยนต์ส่วนที่ขาดอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ ภาค ๔ แผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละเท่าใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า หนี้ตามฟ้องถือเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อนั้น เห็นว่า ดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์ขอมาเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัด อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๘ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ ภาค ๔ แผนกคดีผู้บริโภคจึงเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ทั้งนี้ โดยให้เริ่มคิดคำนวณ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตามที่โจทก์มีคำขอมา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.
นายวิรัตน์ รีชัยพิชิตกุล
นายนรินทร์ ตงศิริ
นายรุ่งอรุณ หลินหะตระกูล
พี่ตุ๊กตา ณุมาพร พัฒนพงศธร 098-9150963