Blog categories

Latest posts

กรุณาคลิกที่ หมายเลขมาตรา เพื่อดูเนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

ขับรถจักรยานยนต์ย้อนศร ตายฟรี - วิเคราะห์ฎีกา 226/2557

 

               ช่วงนี้มีความขัดแย้งในวงการพระพุทธศาสนาเรื่องการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ จนมีการปะทะกันรุนแรงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 ที่บริเวณพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม Thai Law Consult ขอให้กำลังใจทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีนะคะ

               วันนี้พี่ตุ๊กตามีฎีกาใหม่เรื่อง การขับรถย้อนศร มานำเสนอพร้อมบทวิเคราะห์ค่ะ

               การขับรถจักรยานยนต์ย้อนศร หรือการขับรถจักรยานยนต์ในช่องทางด้านขวาของถนนหรือขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง หากถูกรถยนต์ชนตายหรือบาดเจ็บสาหัส ตามกฎหมายถือว่าผู้ขับรถจักรยานยนต์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ผลอาจไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ.

 

ศึกษาวิเคราะห์จาก คำพิพากษาฎีกาที่ 226/2557

ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) ผู้เสียหาย , มาตรา 44/1 ค่าสินไหมทดแทน

 

ข้อเท็จจริง

1. พนักงานอัยการจังหวัดนางรองเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโดยขอให้ศาลลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157

1.1 พนักงานอัยการจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยคดีนี้ได้ คดีนี้จะต้องมีการสอบสวนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ก่อน

1.2  ในการนำคำฟ้องมายื่นต่อศาลอัยการต้องนำตัวจำเลยมาพร้อมกับคำฟ้องด้วย เว้นแต่ จำเลยจะได้รับการประกันตัวไปจากศาลในชั้นสอบสวน

1.3 เมื่ออัยการโจทก์นำคำฟ้องมายื่นและศาลตรวจสอบว่าเป็นจำเลยจริงศาลจะสั่งคำฟ้องของอัยการว่า “ประทับฟ้อง หมายขัง”

 

2. จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

2.1 ก่อนที่จำเลยจะให้การ ศาลจะต้องสอบถามจำเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนาย ศาลก็จะตั้งทนายความให้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173

2.2 เมื่อสอบถามเรื่องทนายแล้ว จากนั้นศาลก็จะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบถามจำเลยว่าจะให้การอย่างไร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172

2.3  การที่จำเลยเดิมปฏิเสธ ต่อมาเปลี่ยนเป็นให้การรับสารภาพเช่นนี้ เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง จำเลยจะต้องทำเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ

 

3. ระหว่างพิจารณา เด็กชาย ธ. โดยนาง พ. ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

3.1 ในทางปฏิบัติ ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 อาจเกิดขึ้นได้ 2 ช่วงเวลา คือ

(1) ผู้เสียหายยื่นคำร้องก่อนวันนัด ซึ่งศาลจะสั่งคำร้องประเภทนี้ ทำนองว่า “สำเนาให้โจทก์และจำเลย รอไว้สอบในวันนัด”

(2) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในวันที่ศาลนัด กรณีเช่นนี้ ศาลจะสั่งคำร้องทำนองว่า “สำเนาให้โจทก์และจำเลย สั่งในรายงานกระบวนพิจารณา”

หมายเหตุ

ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาล หากศาลอนุญาตจะสั่งทำนองว่า “นัดสืบพยานโจทก์วันนี้ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการและจำเลยได้รับคำร้องแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ได้ตามคำขอ” หรือในกรณีไม่อนุญาตก็จะสั่งว่า “.......เนื่องจาก........”

 

4. คดีนี้ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และขณะเดียวกันผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เพื่อขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 250,000 บาทด้วย

 

5. ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี และปรับ 6,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปีตาม ป.อ. มาตรา 56 ยกคำร้องของผู้ร้อง

 

6. ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

7. ผู้ร้องฎีกา ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฟ้องของอัยการโจทก์ระบุว่า เด็กชาย ธ. มีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย โดยขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง เด็กชาย ธ. จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของเด็กชาย ธ. โดยนาง พ. ผู้แทนโดยชอบธรรม ......."

 

หมายเหตุ

1. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถ้าทำผิดกฎจราจร ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เช่น ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง ขับย้อยศร ขับในช่องเดินรถด้านขวา เมื่อถูก รถยนต์ชน ในปัจจุบันถือว่า “ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ผลก็คือ

1.1 จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28(2) ไม่ได้ และหากยื่นฟ้องมาศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

1.2 จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ไม่ได้

1.3 จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ไม่ได้

 

2. แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามข้อ 1 แต่ไม่ทำให้ผู้ขับรถยนต์ซึ่งเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวหลุดพ้นจากความผิดฐานกระทำโดยประมาท

 

3. ในการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ศาลฎีกาได้วางหลักกฎหมายไว้ ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 629/2501
ทนายความที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาย่อมมีอำนาจลงลายมือชื่อในคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการแทนตัวความได้

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2531
เจ้าของรถที่เสียหายเพราะถูกรถที่จำเลยขับชนมิใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบกที่โจทก์ฟ้องอันเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

.

คำพิพากษาฎีกาที่ 2926/2544
เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีจำเลยเป็นนายวงแชร์ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 4,6,17 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์

.

คำพิพากษาฎีกาที่ 1167-1168/2530
คดีสองสำนวนซึ่งรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน สำนวนแรกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นรับไว้โดยมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยสำนวนที่สองศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งตรงกันข้ามกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

บิดาเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนบุตรซึ่งถึงแก่ความตายว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ทำให้บุตรโจทก์และบุคคลอื่นถึงแก่ความตายเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุเกิดรถชนกันเพราะผู้ตายซึ่งเป็นบุตรโจทก์มีส่วนกระทำการโดยประมาทผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้บุพการีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา5 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

.

คำพิพากษาฎีกาที่ 3935/2529
การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญานั้นมีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา30และ31เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการหรือพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้นนอกเหนือจากสองกรณีนี้แล้วการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่อาจจะมีได้ดังนั้นเมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแล้วผู้เสียหายอื่นจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่อาจกระทำได้และจะอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(2)ซึ่งบัญญัติให้สิทธิบุคคลภายนอกในกรณีร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยร่วมประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15มาอนุโลมบังคับใช้ในกรณีนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกันเพราะอำนาจฟ้องดังกล่าวถือว่ากฎหมายได้กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะในมาตรา30และ31แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การให้วินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกานั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานศาลฎีกาโดยเฉพาะคู่ความจะร้องขอขึ้นมาหาได้ไม่.