Blog categories

Latest posts

ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

 

จำเลยอ้างว่าป่วย ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา ศาลจะสั่งปรับนายประกันทันที ได้หรือไม่

.

                    เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ทำทีมฟุตบอลไทย จนสามารถเข้ารอบตัดเชือกกับเกาหลีใต้ใน Incheon Asian Games 2014 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 19 กันยายน - 4 ตุลาคม 2557 และข่าว ผบ.ตร. คนที่ 10 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ว่า จับ 3 พม่า ที่ฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 ศพ ที่เกาะเต่าได้แล้ว

                    Thai Law Consult ได้รับ e-mail สอบถามจากทนายหนุ่ม หนองประจักษ์ อุดรธานี ว่า "ลูกความผมป่วย มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ผมจึงเขียนคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา ศาลไม่ให้ อ้างว่ามีพฤติการณ์หลบหนี สั่งปรับนายประกันเต็มสัญญาประกัน ผมจะทำอย่างไรดีครับ"           

 

หลักกฎหมาย : ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.)

          มาตรา 119         ไม่ว่าเวลาใด ๆ ในระหว่างที่พยานเบิกความ หรือภายหลังที่พยานได้เบิกความแล้ว แต่ก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลมีอำนาจที่จะถามพยานด้วยคำถามใด ๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อให้ คำเบิกความของพยานบริบูรณ์หรือชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเพื่อสอบสวนพยานถึงพฤติการณ์ที่ทำให้พยานเบิกความเช่นนั้น
ถ้า พยานสองคนหรือกว่านั้นเบิกความขัดกันในข้อสำคัญแห่งประเด็น เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจเรียกพยานเหล่านั้นมาสอบถามปากคำพร้อมกันได้ 

 

พี่ตุ๊กตา มีความเห็นว่า

กรณีที่ถือว่าผิดสัญญาประกัน คือ นายประกันหรือจำเลย จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามนัด หากปรากฏว่าจำเลยเจ็บป่วย ถือว่ามีเหตุจำเป็น ไม่ถือว่า นายประกันผิดสัญญาประกัน (ฎีกาที่ 2218/2523)

 

ดังนั้น พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ขอฟันธงดังนี้

จำเลยอ้างว่าป่วย ศาลต้องฟังข้อเท็จจริงก่อน จะถือว่าผิดสัญญาทันทีไม่ได้ (ฎีกาที่ 3663/2532)

 

พี่ดำ ทนายสมปราถน์ ฮั่นเจริญ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

เมื่อผิดสัญญาประกันแล้ว แม้ต่อมาศาลจะพิพากษายกฟ้อง และปล่อยตัวจำเลย ก็ไม่ทำให้นายประกันพ้นจากความผิด (ฎีกา 2011/2530)

 

พี่ชายน้อย ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย ให้ความเห็นว่า

แม้ผู้เสียหาย จะถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว นายประกันซึ่งผิดสัญญาประกัน ก็ไม่พ้นจากความรับผิด (ฎีกาที่ 703/2537)

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3663/2532

ป.วิ.พ. มาตรา 21(4), 243(2), 245(1)

ป.วิ.อ. มาตรา 15, 119 

          จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอ้างเหตุว่าป่วย และมีใบรับรองแพทย์มาแสดง หากศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจริง ก็ชอบที่จะไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยประวิงคดี จงใจไม่มาฟังคำพิพากษาและสั่งว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันโดยมิได้มีการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบแม้ผู้ประกันร่วมจะมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลถึงผู้ประกันร่วมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247,243(2),245(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15

________________________________

          กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ศาลชั้นต้นอนุญาตและตีราคาค่าประกัน45,000 บาท ระหว่างการพิจารณา จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ธันวาคม 2529 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัด จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเนื่องจากจำเลยป่วยเพราะกล้ามเนื้อคออักเสบและได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2530 เวลา 9 นาฬิกา ในวันนัดจำเลยขอเลื่อนคดีอีกอ้างเหตุอย่างเดียวกัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 มีนาคม 2530 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดผู้ประกันได้มอบฉันทะให้ทนายจำเลยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ประกันเกี่ยวกับการส่งตัวจำเลยและยื่นคำร้องเกี่ยวกับการส่งตัวจำเลยแทน รายละเอียดปรากฏตามใบมอบฉันทะฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2530 ฝ่ายโจทก์ จำเลย ทนายจำเลยตลอดจนผู้ประกันมาศาลจำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์บางส่วน ศาลสั่งให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 เมษายน 2530 เวลา 9 นาฬิกาเมื่อถึงกำหนดนัด จำเลย ผู้ประกันมาศาลพร้อมกับชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน ศาลสั่งให้เลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 5 มิถุนายน2530 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปอ้างเหตุว่าตัวจำเลยป่วยด้วยโรคหมอนกระดูกหรือกระดูกต้นคอทับประสาทอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่สามารถเดินทางมาจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เพราะเกรงว่าอาการจะกำเริบหากต้องเคลื่อนไหวในการเดินทางโดยแนบใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องโจทก์แถลงคัดค้านว่าจำเลยขอเลื่อนคดีด้วยเหตุป่วยมาหลายครั้งแล้วศาลชั้นต้นเห็นว่า อาการป่วยของจำเลยตามใบรับรองแพทย์ไม่รุนแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้ ตัวจำเลยอยู่ถึงจังหวัดเชียงใหม่ไม่อาจตรวจสอบได้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อไปในทางประวิงคดี ประกอบกับผู้ประกันของจำเลยก็ไม่มาจึงไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันให้ปรับผู้ประกันตามสัญญา ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน นายพงษ์ศักดิ์ แซ่สัวผู้ประกันฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่ผู้ประกันฎีกาว่า ผู้ประกันได้มาศาลตามนัด ศาลชั้นต้นควรไต่สวนคำร้อง ของ จำเลยเสียก่อนว่าจำเลยเจ็บป่วยมาศาลไม่ได้จริงหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นสั่งปรับนายประกันเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามใบมอบฉันทะฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2530ทนายจำเลยมีอำนาจกระทำการแทนผู้ประกันเกี่ยวกับการนำตัวจำเลยส่งศาลตลอดจนยื่นคำร้องต่อศาลเกี่ยวกับการส่งตัวจำเลย ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ยื่นต่อศาลโดยทนายจำเลยยื่นแทนนั้น ทนายจำเลยมีอำนาจกระทำการแทนผู้ประกัน เมื่อทนายจำเลยมาศาลก็ถือได้ว่าผู้ประกันได้มาศาลในวันนัดด้วย การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแม้ไม่ได้ระบุในคำร้องว่าได้กระทำในฐานะตัวแทนของผู้ประกันด้วย ก็พออนุโลมได้ว่า คำร้องดังกล่าวได้ยื่นโดยผู้ประกันด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้างเหตุว่าป่วย และตามใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลย แพทย์มีความเห็นว่าจำเลยป่วยมีอาการของหมอนกระดูกทับเส้นประสาท มีอาการปวดและก้มเงยลำบาก ควรพักวันที่ 4 และ 5 มิถุนายน 2530 หากศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยถึงขนาดมาศาลไม่ได้ก็ชอบที่จะไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเสียก่อน เพราะในวันนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 20 เมษายน 2530 จำเลยก็ได้มาศาลด้วยตนเอง ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยประวิงคดี จงใจไม่มาฟังคำพิพากษาและสั่งว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันด้วยนั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาของผู้ประกันฟังขึ้น และแม้นายวัลลภ อุ่ยวิรัตน์ ผู้ประกันร่วมจะไม่ได้ฎีกา แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้มีผลถึงนายวัลลภผู้ประกันร่วมด้วยทั้งนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247,243(2), 245(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15"

          พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

( เธียร ยูงทอง - ชูเชิด รักตะบุตร์ - สัมฤทธิ์ ไชยศิริ )

.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2011/2530

ป.วิ.อ. มาตรา 116, 118

          ผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะจำเลยหลบหนี ศาลชั้นต้นจึงปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกันแม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ปล่อยตัวจำเลยก็มิใช่เหตุที่ทำให้ผู้ประกันไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันเพราะความรับผิดตามสัญญาประกันเกิดจากการผิดสัญญาประกันเมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันก็หาพ้นความรับผิดไม่ ส่วนผลของคำพิพากษาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ช่วยให้ผู้ประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกัน.

________________________________

          กรณีสืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ครั้นถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้ประกันของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไปธุระต่างจังหวัดยังกลับมาไม่ทัน ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้ออ้างของผู้ประกันจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุอันควร พฤติการณ์มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามวันนัด จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ให้ปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกัน

           ผู้ประกันจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป โดยไม่ถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันและไม่ปรับผู้ประกัน

           ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 1 หลบหนีจริงผู้ประกันจึงผิดสัญญาประกัน พิพากษายืน

           ผู้ประกันจำเลยที่ 1 ฎีกา

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตั้งแต่วันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นัดแรก ผู้ประกันจึงไม่สามารถที่จะนำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาลได้ตลอดมาทุกนัด แม้ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ปล่อยจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม ก็มิใช่เหตุที่ทำให้ผู้ประกันไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกัน เพราะความรับผิดตามสัญญาประกันเกิดจากการผิดสัญญาประกันที่ผู้ประกันไม่นำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาลตามนัดเมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันก็หาพ้นความรับผิดแต่อย่างใดไม่ ส่วนผลของคำพิพากษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ช่วยให้ผู้ประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไปได้แต่ประการใด เห็นว่าการที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันนั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่เป็นการรุนแรงมากไปดังที่ผู้ประกันจำเลยที่ 1 ฎีกา และไม่มีเหตุสมควรที่จะลดหย่อนให้อีก เพราะตั้งแต่ประกันตัวจำเลยที่ 1 ไปแล้วผู้ประกันไม่เคยนำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาลเลย

           พิพากษายืน.

( สหัส สิงหวิริยะ - เสวก จันทร์ผ่อง - สุทิน นนทแก้ว )

.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2537

ป.วิ.อ. มาตรา 113

           จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวน โดยมีว. พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลยเมื่อจำเลยผิดสัญญาประกัน ช. สารวัตรใหญ่ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามสัญญาประกันได้ จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมของโจทก์และสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนั้น แม้ต่อมาผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในคดีนั้นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก็หาเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไม่

________________________________

          โจทก์ฟ้องตามสัญญาประกัน ขอให้บังคับจำเลยชำระจำนวนเงิน280,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวนายอมรผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนอื่นไม่ใช่พันตำรวจโทชาลี เวชรัชต์พิมลพันตำรวจโทชาลีจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยมิได้ผิดนัดส่งตัวผู้ต้องหาคดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวน และไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกัน ค่าปรับตามสัญญาประกันสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 100,000 บาท แก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ พิณเมืองงาม พนักงานสอบสวนมิใช่ในฐานะตัวแทนพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนพันตำรวจโทชาลี เวชรัตน์พิมล แม้จะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็มิได้เกี่ยวข้องกับสัญญาประกัน จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าจำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยมีร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลย เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกัน พันตำรวจโทชาลีสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่จำเลยฎีกาว่า คดีซึ่งจำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวและคดีถึงที่สุดแล้วโดยผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ จำเลยย่อมหมดความผูกพันตามสัญญาประกัน พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องคืนหลักประกันแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 118 นั้น เห็นว่าจำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมของโจทก์และสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนัด แม้ต่อมาผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในคดีนั้นซึ่งเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวก็หาเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายประกันพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( ประยูร มูลศาสตร์ - ก้าน อันนานนท์ - ประสิทธิ์ แสนศิริ )

.

คำพิพากษาศาลฎีกาเหล่านี้ ThaiLawConsult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาฎีกา วันที่ 8 มีนาคม 2559