Blog categories

Latest posts

.

เช็คเด้ง ฟ้องเช็ค พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

                    ทีมทนาย ThaiLawConsult โทร. 098-915-0963 โดย พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท. 64 เห็นเหมือนกันว่า ทนายทุกคนต้องตอบคำถามพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน จะฟ้องคดี และถูกฟ้องคดีเช็คอยู่เสมอ จึงเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นเพื่อเป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชน และทุกคนเห็นเหมือนกันว่า

                   คดีเช็คเป็นความผิด อันยอมความได้และอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง, เมื่อขึ้นศาล จำเลยมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ รับสารภาพ แล้วขอผ่อนชำระ หรือต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลยกฟ้อง แนวทางต่อสู้คดีของทนายจำเลยที่น่าสนใจมีดังนี้

 

หลัก  

พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

                    มาตรา 4     ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

          (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
          (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
          (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
          (4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวน เงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
          (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

                    มาตรา 5     ความผิดตาม มาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้

 

1. ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายต้องเป็นผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (ฎีกาที่ 1620/2546, 5407/2546)

2. คดีขาดอายุความ

  • ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คดีขาดอายุความ (ฎีกาที่ 914/2535)
  • ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คหลายครั้ง อายุความนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คครั้งแรก (ฎีกาที่ 5276/2531)
  • คดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เมื่อได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 แล้ว ย่อมมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95(5) แต่แม้จะฟ้องภายในกำหนดอายุความ ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีก็ขาดอายุความเช่นกัน (ฎีกาที่ 1780/2531)

3. มูลหนี้ตามเช็ค ไม่มีอยู่จริง หรือไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย    

  • สัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ 8703/2543)
  • ออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมก่อนออกเช็ค ถ้าหลักฐานการกู้ยืมเงินทำขึ้นภายหลังที่ออกเช็คแล้ว แม้กระทำในวันเดียวกันก็ตาม ถือว่าขณะที่ออกเช็ค หนี้นั้นเป็นหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง (ฎีกาที่ 3722/2538)
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (ฎีกาที่ 5529/2539)
  • ออกเช็คเพื่อชำระหนี้การพนัน หามีมูลหนี้ไม่ (ฎีกาที่ 2493/2527)
  • ออกเช็คเพื่อเป็นประกันหนี้ มิได้มีเจตนาจะใช้เช็คนั้นชำระหนี้ (ฎีกาที่ 734/2547, 1351/2542, 1213/2545, 20/2544)
  • ออกเช็คแลกเงินสด (ฎีกาที่ 1518/2535) ไม่เป็นความผิด
  • แต่ถ้าออกเช็คแลกเงินสด แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หากมีการออกเช็คฉบับใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนเช็คฉบับเดิมที่เป็นเช็คแลกเงินสดดังกล่าว เช็คที่ออกในภายหลังนี้ ย่อมถือว่าเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย (ฎีกาที่ 2921/2540)
  • ขาดลดเช็ค ถือว่าไม่มีหนี้ (ฎีกาที่ 378/2536)
  • ขอยืมเงินแล้วออกเช็คให้ไว้ ไม่เป็นความผิด (ดูข้อเท็จจริงตามฎีกาที่ 2834/2535)
  • ขณะออกเช็คยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ แม้ภายหลังจะมีการทำสัญญากู้เงิน ก็เป็นการออกเช็คที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย (ฎีกาที่ 462/2552)
  • เช็คไม่ลงวันที่ ถือว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบ มาตรา 989 จะให้สิทธิแก่ผู้ทรง จะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น ก็เพียงแต่ให้เช็คนั้นมีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น หาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ไม่ (ฎีกาที่ 755/2547)
  • ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ซึ่งมูลหนี้ตามเช็คเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว (ฎีกาที่ 4203/2541)
  • นายวงแชร์ หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เรียกร้องหนี้สินการเล่นแชร์จากสมาชิกวงแชร์ (ฎีกาที่ 427/2542)     

4. ขวนขวายชำระหนี้ เป็นพฤติการณ์ที่ศาลฎีการอการลงโทษให้จำเลย (ฎีกาที่ 471/2535, 2525/2534)

ทีมงาน Thai Law Consult นำมาจากหนังสือ คำอธิบาย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ของ อาจารย์ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 โดยสำนักพิมพ์นิติบรรณการ, การฟ้องและการต่อสู้คดีเช็ค โดย อาจารย์ทนงศักดิ์ ดุลยกาญจน์ และ สาระคดีเช็ค สาระสำหรับผู้ต้องการชนะคดี โดย อาจารย์วิชัย ตันติกุลานันท์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3

ข้อเท็จจริง

.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2542/2549

ป.พ.พ. มาตรา 193/30, 659 วรรคสาม

          โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

________________________________ 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 81,194.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 80,647.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,647.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน โจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,647.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน เมื่อรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง คือวันที่ 24 ตุลาคม 2543 ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาแล้วไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาอ้างเหตุเพื่อให้รับฟังว่าโจทก์เป็นผู้ถอนเงิน 75,000 บาท ไปจากจำเลยนั้น เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

          คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

( ประทีป ปิติสันต์ - สมศักดิ์ เนตรมัย - สุภิญโญ ชยารักษ์ ) 
ศาลจังหวัดบึงกาฬ - นายพงษ์ธร เกียรติปฐมชัย
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2205/2542

ป.พ.พ. มาตรา 420, 537, 657
ป.วิ.พ. มาตรา 22

          จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าทรัพย์สินโจทก์ทั้งสามมิได้สูญหายจริง แม้จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่า จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามสัญญาเช่าตู้นิรภัยเป็นการเช่าเพื่อเก็บทรัพย์สินซึ่งตู้นิรภัยอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะไม่รู้เห็นการนำทรัพย์สินเข้าเก็บหรือนำออกจากตู้นิรภัย จำเลยที่ 1 ก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดหากทรัพย์สินที่เก็บในตู้นิรภัยนั้นสูญหายจริง และข้อเท็จจริงยังปรากฏว่ามีลายนิ้วมือแฝงที่ตู้นิรภัยซึ่งมิใช่ของโจทก์ที่ 1และที่ 2 และมิใช่ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ด้วยเป็นข้อที่ชี้ให้เห็นว่า มีคนร้ายเข้าไปเปิดตู้นิรภัยและนำเอา ทรัพย์สินที่เก็บไปจริง จำเลยที่ 1 อ้างว่าอาจเป็นลายนิ้วมือแฝงของคนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นั้นก็เป็นการคาดคะเน โดยปราศจากข้อเท็จจริงสนับสนุน การที่คนร้ายลักเอาทรัพย์สิน ในตู้นิรภัยไปถือเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของจำเลยที่ 1ในการดูแลป้องกันภัยแก่ทรัพย์สิน ความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 จึงไม่พอ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิด ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทรัพย์บางรายการโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับฝากไว้จาก อ.โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดชอบต่ออ. ย่อมถือเป็นความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นกัน

________________________________

          คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาด้วยกันเพื่อความสะดวกให้เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 3ให้เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 สำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 สำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ

          โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องรวมใจความว่า โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาเช่าตู้นิรภัยของจำเลยที่ 1 สาขาบ้านโป่งแล้วนำทรัพย์สินมีค่าจำพวกเครื่องเพชรและเครื่องทองเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยดังกล่าว ต่อมาได้มีคนร้ายลักลอบลักเอาทรัพย์สินมีค่าที่เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัย ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เช่าไปรวม15 รายการ คิดเป็นเงิน 297,000 บาท และตู้นิรภัยที่โจทก์ที่ 3เช่าไปรวม 5 รายการ คิดเป็นเงิน 45,000 บาท โดยความบกพร่องหรือด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งห้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 297,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และจำนวน 45,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันว่าขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินจำนวน 297,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2และจำนวน 45,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยทั้ง 2 รายการในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์ทั้งสามในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5

          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 219,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และจำนวน45,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยทั้งสองรายการในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จยกฟ้องโจทก์ทั้งสามในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งถึงพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการป้องกันดูแลอย่างไรบ้าง เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสามบรรยายชัดเจนอันเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ดูแลตู้นิรภัยและลูกกุญแจธนาคารให้ดี เป็นเหตุให้คนร้ายลักเอาทรัพย์สินที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยที่โจทก์ทั้งสามเช่าจากจำเลยที่ 1 ไปได้ ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย เป็นคำฟ้องที่ได้ความแจ้งชัดถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ว่ามีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลตู้นิรภัยและลูกกุญแจธนาคารให้ดีเพื่อป้องกันภัยแก่ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยที่เช่าจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังใช้ความระมัดระวังนั้นไม่ดีพอเป็นผลให้คนร้ายลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามไปได้ฟ้องโจทก์ทั้งสามดังกล่าวนี้จึงแจ้งชัดทั้งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          และสำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ทรัพย์สินโจทก์ทั้งสามมิได้สูญหายจริงและจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเพราะมิได้กระทำการละเมิดโจทก์นั้น สำหรับสำนวนที่ 2 แม้จำเลยที่ 1จะได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยในข้อนี้ให้เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 2 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกเห็นว่า ตามสัญญาให้เช่าและเช่าตู้นิรภัยระหว่างโจทก์ที่ 1และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 นั้นสรุปได้ความว่าเป็นการเช่าตู้เพื่อเก็บทรัพย์สินที่เรียกว่าตู้นิรภัยที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 โดยตลอด จำเลยที่ 1จึงมีหน้าที่รับผิดชอบในความปลอดภัยของทรัพย์สินที่เก็บในตู้นิรภัยนั้นโดยมีข้อจำกัดความรับผิดเฉพาะที่ต้องด้วยเงื่อนไขที่ปรากฏตามข้อสัญญาข้อที่ 10 เท่านั้น ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีส่วนรู้เห็นในรายละเอียดการนำทรัพย์สินเข้าเก็บหรือนำออกแต่ละครั้งก็ตามจำเลยที่ 1 ก็ยังคงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดหากทรัพย์สินที่เก็บในตู้นิรภัยนั้นสูญหายจริง และจากข้อเท็จจริงมีลายนิ้วมือแฝงปรากฏที่บริเวณตู้นิรภัยซึ่งมิใช่ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แม้จะมิใช่ของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ด้วยก็ตามก็เป็นข้อที่ชี้ให้เห็นในทางว่า มีบุคคลอื่นเป็นคนร้ายเข้าไปเปิดตู้นิรภัยและนำเอาทรัพย์สินที่เก็บนั้นไปจริง ข้อเถียงของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าอาจเป็นลายนิ้วมือแฝงของคนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ติดใจขอพิสูจน์ประการใดทั้ง ๆ ที่ทุกครั้งที่โจทก์ที่ 1และที่ 2 หรือคนของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาขอเปิดตู้นิรภัยนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และต้องมีการลงชื่อไว้ด้วยข้อเถียงของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนี้จึงเลื่อนลอยตลอดจนเหตุอื่นที่จำเลยที่ 1 ยกเป็นข้อสงสัยโจทก์ที่ 1 และที่ 2นั้นก็ล้วนแต่เป็นข้อสรุปที่เป็นการคาดเดา เอาเองโดยปราศจากข้อเท็จจริงสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่นำสืบว่า ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยนั้นได้ถูกคนร้ายลักเอาไปจริงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดูแลป้องกันภัยแก่ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่เก็บในตู้นิรภัยนั้น ความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 จึงไม่พอ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยเต็มภาคภูมิ ส่วนทรัพย์ตามรายการที่ 1 ถึงที่ 4 นั้นแม้จะได้ความว่าเป็นทรัพย์สินของนางอ้อยทิพย์ มิใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับฝากไว้จากนางอ้อยทิพย์ ซึ่งย่อมมีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดชอบต่อนางอ้อยทิพย์ ย่อมถือเป็นความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชดใช้เช่นกันฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ"

          พิพากษายืน 

( วินัย วิมลเศรษฐ - พูนศักดิ์ จงกลนี - วิชา มหาคุณ )

หมายเหตุ 

          การเช่าใช้ตู้นิรภัยนั้น ลูกค้าจะต้องติดต่อขอเช่าจากธนาคารตู้นิรภัยจะเก็บไว้ที่ธนาคาร ลูกค้าจะสามารถใช้สอยตู้นิรภัยได้เฉพาะเวลาเปิดทำการของธนาคารเท่านั้นกุญแจที่ใช้ในการเปิดตู้นิรภัยจะมี 2 ดอก ธนาคารจะเก็บไว้ 1 ดอก ลูกค้าจะเก็บไว้1 ดอก เวลาลูกค้าจะเปิดตู้นิรภัยจะต้องแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่อที่จะนำกุญแจดอกที่ธนาคารเก็บไว้มาร่วมเปิดกับดอกที่ลูกค้าเก็บไว้มีข้อพิจารณาว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้าเป็นสัญญาประเภทใด ตามสัญญาใช้คำว่าสัญญาเช่าตู้นิรภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 บัญญัติว่าอันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

           จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าจะต้องให้ผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินโดยผู้ให้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้วให้แก่ผู้เช่าตามมาตรา 546แสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์โดยอิสระ และเมื่อผู้เช่าได้รับทรัพย์สินไปแล้วหากมีบุคคลภายนอกมาลักทรัพย์สินซึ่งผู้เช่าเก็บไว้ในทรัพย์ที่เช่ามานั้น ผู้ให้เช่าก็ไม่จำเป็นต้องรับผิด

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757/2534 จ. นำรถยนต์เข้าไปจอดในปั๊มน้ำมันของจำเลย เสียค่าจอดรถเป็นรายเดือน ไม่มีการส่งมอบรถยนต์ให้อยู่ในความอารักขาของจำเลย จ. สามารถนำรถเข้าออกในเวลาใดก็ได้ จำเลยไม่สามารถรู้ได้ว่า จ. ได้นำรถยนต์เข้าไปจอดหรือไม่ ในคืนที่รถยนต์หายก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับมอบรถยนต์จาก จ. แต่อย่างใดพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยรับฝากรถยนต์ไว้จาก จ. แต่เป็นการเช่าสถานที่จอดรถยนต์เมื่อรถยนต์หายไปจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่ จ.

           จากหลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงเห็นว่าการเช่าใช้ตู้นิรภัยของธนาคารนั้นน่าจะมิใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ทั้งนี้เพราะตู้นิรภัยยังอยู่ในความครอบครองของธนาคารตลอดมา

           มีข้อพิจารณาต่อไปว่านิติสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้าเป็นสัญญาฝากทรัพย์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 บัญญัติว่า อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้

           จากบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าของทรัพย์สินนำทรัพย์สินของตนไปส่งมอบให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเก็บรักษาไว้ ถ้าหากการฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจะต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือในการสงวนทรัพย์สินที่ฝากนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะในการที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วยยิ่งถ้าผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพในการค้าขาย หรืออาชีพอย่างอื่นจะต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในการค้าขายหรืออาชีพอย่างนั้น เมื่อปรับข้อเท็จจริงการเช่าตู้นิรภัยกับกฎหมายดังกล่าวแล้ว นิติสัมพันธ์ของธนาคารกับผู้เช่าใช้ตู้นิรภัยน่าจะเป็นเรื่องฝากทรัพย์ทั้งนี้เพราะทรัพย์ที่ลูกค้านำไปเก็บไว้ในตู้นิรภัยนั้นอยู่ในความครอบครองของธนาคารตลอดลูกค้าจะใช้บริการได้ก็จะต้องแจ้งให้ธนาคารทราบ และธนาคารจะต้องอนุญาตโดยนำกุญแจดอกที่เก็บไว้ที่ธนาคารร่วมกับกุญแจของลูกค้าเปิดตู้นิรภัย มิฉะนั้นไม่สามารถที่จะเปิดตู้ได้ การใช้ตู้นิรภัยดังกล่าวจะอยู่ในความดูแลของธนาคารตลอด อย่างใดก็ตามมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่านิติสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6704/2537 การที่โจทก์ที่ 1 กับ น.เช่าตู้นิรภัยจากจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่เก็บทรัพย์นั้นทุกครั้งที่โจทก์ที่ 1 กับ น. ภรรยาโจทก์ที่ 1 นำทรัพย์ไปเก็บ โจทก์ที่ 1กับ น. มิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เก็บให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ก็มิได้มีส่วนรู้เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับ น. นำทรัพย์อะไรไปเก็บไว้บ้าง เมื่อโจทก์ที่ 1 กับ น. ต้องการนำทรัพย์ที่เก็บไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลับคืนไปก็ไปนำกลับมาเองโดยโจทก์ที่ 1 กับ น. เพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 นำกุญแจต้นแบบของธนาคารมาร่วมไขเปิดตู้นิรภัยด้วยเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 มิได้ส่งมอบทรัพย์สินคืน สัญญาเช่าตู้นิรภัยจึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์

           ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวผู้หมายเหตุเห็นว่าแม้ธนาคารจะไม่ทราบว่าทรัพย์ที่ลูกค้านำไปเก็บไว้นั้นเป็นทรัพย์อะไร และมิได้รับมอบโดยตรงจากลูกค้าก็ตามแต่ทรัพย์ดังกล่าวก็อยู่ในตู้นิรภัย ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของธนาคารอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงมิใช่ข้อสาระสำคัญในการที่จะวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาฝากทรัพย์หรือไม่และเมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้ได้วินิจฉัยว่า ตามสัญญาเช่าตู้นิรภัยเป็นการเช่าเพื่อเก็บทรัพย์สิน ตู้นิรภัยอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่รู้เห็นการนำทรัพย์สินเข้าเก็บหรือนำออกจากตู้นิรภัย จำเลยที่ 1 ก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด หากทรัพย์สินที่เก็บในตู้นิรภัยนั้นสูญหายจริงการวินิจฉัยดังกล่าววินิจฉัยถึงการรับผิดของธนาคารโดยอาศัยหลักกฎหมายเรื่องสัญญาฝากทรัพย์นั่นเอง ทั้งนี้เพราะทรัพย์สินที่ฝากหายผู้รับฝากจะต้องรับผิด

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2517 โจทก์นำรถยนต์ไปจอดในบริเวณปั๊มน้ำมันของจำเลย และได้มอบกุญแจรถยนต์ให้ลูกจ้างของจำเลยลูกจ้างของจำเลยนำรถยนต์ของโจทก์เข้าไปเก็บไว้ในที่เคยเก็บรถยนต์และโจทก์จ่ายค่ารับฝากให้จำเลยเมื่อมาเอารถคืนโดยปฏิบัติเช่นนี้เป็นเวลานาน ถือว่าจำเลยได้ตกลงรับฝากรถยนต์ของโจทก์ไว้ในอารักขาของตน ตลอดเวลาที่รถยนต์ของโจทก์อยู่ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยอำนาจการครอบครองรถยนต์นั้นตกอยู่กับจำเลยที่จะจัดการเกี่ยวกับรถยนต์นั้นจนกว่าโจทก์จะมารับรถยนต์คืนไปจึงเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2541 โจทก์นำรถยนต์คันพิพาทไปฝากไว้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2535และฝากเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่รถหาย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3เรียกเก็บค่าฝากเป็นรายเดือนมีระเบียบว่าเจ้าของรถจะต้องฝากกุญแจรถไว้กับจำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 3 เลื่อนรถในกรณีที่มีรถอื่นเข้ามาจอด ซึ่งโจทก์ได้มอบกุญแจให้จำเลยที่ 3ทุกครั้งที่นำรถมาจอด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 รับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จหาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ให้เช่าสถานที่จอดรถไม่ เมื่อรถยนต์คันพิพาทของโจทก์หายไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์

           สรุปกฎหมายหลักในการเช่าทรัพย์นั้น เมื่อผู้เช่าได้รับมอบทรัพย์สินจากผู้ให้เช่าแล้วนำทรัพย์ของตนเองมาไว้ในทรัพย์ที่เช่าหากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป ผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องรับผิดทั้งตามสัญญาและทางละเมิด แต่ถ้าเป็นสัญญาฝากทรัพย์เมื่อเจ้าของทรัพย์ส่งมอบทรัพย์ให้อยู่ในความครอบครองของผู้รับฝากแล้วหากทรัพย์สินหายไป ผู้รับฝากจะต้องรับผิด และจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้น่าจะถือได้ว่าสัญญาเช่าตู้นิรภัยนั้นที่แท้จริงแล้วคือสัญญาฝากทรัพย์นั่นเอง

           ศิริชัย วัฒนโยธิน

.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3517/2525

ป.พ.พ. มาตรา 164, 226, 227, 561, 567, 657, 665, 671, 880
ป.วิ.พ. มาตรา 24 

          คดีมีทุนทรัพย์ 42,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดย วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่ขาดอายุความ แต่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคงต้องรับผิดเฉพาะจำเลยที่ 3 จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 40,000 บาทแก่โจทก์ การแก้ไขเช่นนี้เป็นการแก้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ให้รับผลตรงข้ามกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงเป็นการแก้ไขมากจำเลยที่ 3 ฎีกาข้อเท็จจริงได้

          โจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันที่หายไว้และได้ใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกผู้ก่อวินาศภัยด้วยอำนาจกฎหมาย โดยโจทก์และบุคคลภายนอกนั้นไม่จำต้องมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน

          ผู้เอาประกันภัยได้เช่าซื้อรถยนต์มาจากผู้รับประโยชน์แล้วให้จำเลยที่ 2 เช่าไป จำเลยที่ 2 นำรถยนต์นั้นไปฝากไว้แก่จำเลยที่ 3 แล้วหายไปเพราะจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ เพราะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รถยนต์ที่ให้เช่าคืน โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ได้

          ขณะที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 นั้นจำเลยที่ 3 ก็อยู่ที่ปั๊มน้ำมันและได้รับเงิน 5 บาทที่จำเลยที่ 2 มอบให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 3 ไว้แล้วรถที่นำมาจอดรายวันและจะจอดตรงไหนก็ได้ในลานจอดรถ จำเลยที่ 3 ประจำอยู่ที่ปั๊มน้ำมันตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นอันเป็นเวลากลางคืนแสดงว่าจำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของปั๊มคอยดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินภายในบริเวณปั๊มทั้งหมดรวมถึงรถยนต์ที่จอดด้วยพฤติการณ์ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 ปฏิบัติต่อลูกค้าดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับรถยนต์จากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3 ที่ปั๊มน้ำมันแล้วเข้าลักษณะฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 657หาใช่เป็นการให้เช่าที่จอดรถยนต์ไม่ แม้ผู้นำรถยนต์มาจอดไม่ต้องมอบกุญแจรถให้ไว้ก็ดีจะนำรถคืนไปเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกจำเลยที่ 3 ก่อนก็ดีที่บริเวณกำแพงข้างปั๊มน้ำมันมีข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3เขียนไว้ก็ดีก็ไม่ทำให้รถยนต์ที่นำมาจอดไม่อยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3

          เมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไป ผู้รับฝากก็ต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากไว้แทนตัวทรัพย์การฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ตามมาตรา 671 และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

_______________________________ 

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1บ-7763ไว้จากนายพูน โดยมีบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลทรัสท์แอนด์ไฟแนนซ์ จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 2 เช่ารถยนต์คันนี้จากนายพูน จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์คันนี้ไปฝากจำเลยที่ 1 หนึ่งคืน จำเลยที่ 1 รับฝากไว้โดยมีค่าตอบแทนครั้นรุ่งเช้ารถยนต์ได้หายไป โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ที่ 2

          หลังจากจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้นายชาย ศรีสงวนสกุลเช่ากิจการปั๊มน้ำมันและสถานที่จอดรถไปก่อนเกิดเหตุแล้ว โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกนายชายเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต และให้เรียกนายชายว่าจำเลยที่ 3 ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วมเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายการรับช่วงสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความจำเลยร่วมมิได้รับฝากรถยนต์เพียงแต่ให้เช่าสถานที่จอดรถยนต์เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

          จำเลยร่วมฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาท 42,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่ขาดอายุความ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะสงวนรถยนต์ที่เช่าเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จึงพิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ใช้เงิน40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ การแก้ไขเช่นนี้เป็นการแก้ความรับผิดของจำเลยที่ 3ให้รับผลตรงกันข้ามกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว

          ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันที่หายไว้และโจทก์ได้ใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่บริษัทผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกผู้ก่อวินาศภัยด้วยอำนาจกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ด้วยอำนาจกฎหมายโดยไม่จำต้องมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน

          ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ที่โจทก์รับช่วงสิทธิไม่ได้ทำสัญญาฝากทรัพย์กับจำเลยที่ 3 บุคคลเหล่านี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรจากจำเลยที่ 3นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลทรัสท์แอนด์ไฟแนนซ์จำกัด ผู้รับประโยชน์ได้ให้นายพูนผู้เอาประกันภัยเช่าซื้อรถยนต์ แล้วนายพูนได้ให้จำเลยที่ 2เช่ารถยนต์คันนี้ไปและจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์นั้นไปฝากจำเลยที่ 3 ไว้ ดังนั้น ถ้าหากรถยนต์คันดังกล่าวหายไปเพราะจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ เพราะการผิดสัญญาของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รถยนต์ที่ให้เช่าคืนจากจำเลยที่ 2 เมื่อสัญญาเช่ารถระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 และมาตรา 567 และผู้รับประโยชน์ก็ได้รับความเสียหายเนื่องจากสูญเสียกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ไปผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์รับช่วงได้

          ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ให้เช่าสถานที่จอดรถยนต์ ไม่ได้รับฝากรถจากจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความว่าเมื่อคืนวันที่ 6 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์ไปจอดไว้ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 ได้ชำระเงินให้พนักงานของจำเลยที่ 3 เป็นเงิน5 บาท รุ่งเช้าปรากฏว่ารถยนต์หายไป จำเลยที่ 3 ก็เบิกความว่ามีผู้นำรถยนต์คันที่หายมาจอดที่ลานจอดรถในบริเวณปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 มอบเงินให้นายสมหวัง 5 บาทจำเลยที่ 3 ได้รับเงินจำนวนนี้จากนายสมหวังแล้ว รถคันนี้มาจอดเป็นรายวัน รถถ้าจอดไม่เรียบร้อยก็จะเข็นให้พ้นทางเอาเองรถที่นำมาจอดเป็นรายวันให้จอดกลางแจ้งและที่ลานจอดรถนี้จะนำไปจอดตรงไหนก็ได้ ตั้งแต่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของและประจำอยู่ที่ปั๊มน้ำมันตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นอันเป็นเวลากลางคืนแสดงว่าจำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของปั๊มคอยดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินภายในบริเวณปั๊มทั้งหมด รวมถึงรถยนต์ที่จอดด้วย พฤติการณ์ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 3 ปฏิบัติต่อลูกค้าดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับรถยนต์จากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3 ที่ปั๊มเพราะจำเลยที่ 3 ประจำอยู่ที่ปั๊มตลอดคืน แสดงว่าทำการเฝ้ารถยนต์ที่มาจอดและรถอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3 แล้ว เข้าลักษณะรับฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ไม่ใช่ให้เช่าสถานที่จอดรถ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าผู้จอดรถไม่ต้องมอบกุญแจรถให้ไว้ก็ดี จะนำรถคืนไปเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกจำเลยที่ 3 ก่อนก็ดี บริเวณกำแพงข้างปั๊มมีข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ก็ดี ไม่ทำให้รถยนต์ที่นำมาจอดไม่อยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 3

          จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้นเห็นว่า มาตรา 665 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์ซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก ดังนั้นเมื่อทรัพย์ที่รับฝากสูญหายไป ผู้รับฝากจึงต้องใช้ราคาทรัพย์ที่รับฝากไว้แทนตัวทรัพย์ การฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามมาตรา 671 และไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164

          พิพากษายืน

( เสมา รัตนมาลัย - สุนทร วรรณแสง - ประมุข สวัสดิ์มงคล )

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 1-11-55)