Blog categories

Latest posts

ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

  • คำสำคัญ

    ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด มาแต่เวลาที่ทำละเมิด

 

เรื่องที่ 49      ขอคืนอากรขาเข้า ตามมาตรา 19 ทวิ สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออก
ต้องรับผิดชอบ ละเมิด อย่างไร

                    

เดือน พฤศจิกายน 2556 ลมหนาวเริ่มโชยมา แต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 ตอน 1 ทุ่ม ฝนถล่มกรุงเทพฯ รถติดยาวเหยียด และน่าเห็นใจ ประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับม็อบ ประชาธิปัตย์ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่ต้องเปียกปอนกันมอมแมม

วันนี้ พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท. 64 ได้รับอีเมล์สอบถาม ความรับผิดทางละเมิด ของห้างหุ้นส่วนจำกัด แห่งหนึ่ง ที่กำลังจะถูก กรมศุลกากร ฟ้องให้รับผิดทางละเมิด กรณี สำแดงเท็จ ในใบขนสินค้าขาออก เพื่อขอคืนอากรขาเข้า ตามมาตรา 19 ทวิ

 

หลักกฎหมาย ป.พ.พ.

          มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

          มาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด มาแต่เวลาที่ทำละเมิด

          มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียง ไม่ไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกัน ใน บรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง 

 

พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482

มาตรา 19ทวิ ของที่ต้องเสียอากรขาเข้าซึ่งผู้นำของเข้า นำเข้ามาเฉพาะเพื่อใช้ในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมอย่างใด ๆ แล้วจะส่งทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งของที่ผลิตขึ้นหรือผสม หรือประกอบด้วยของดังกล่าวออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศนั้น หากผู้นำของเข้าพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีว่า ของที่ส่งออกไปนั้นผลิตขึ้นหรือผสม หรือประกอบด้วยของที่นำเข้าดังกล่าว ก็ให้อธิบดีคืนเงินอากรขาเข้าให้เจ็ดในแปดส่วนแห่งเงินอากรที่ได้เสียไว้ แล้ว คำนวณตามปริมาณของที่ส่งออกตามเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี แต่การคืนเงินอากรต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 (ค) (ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของ ที่ส่งออกเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน และ (จ)
ความในวรรคสองของ มาตรา 19 นั้น ให้ใช้บังคับแก่การคืนเงินอากรตามมาตรานี้ด้วย

 

ข้อเท็จจริงที่ได้รับมาสอดคล้องกับฎีกาที่่ 4228/2550 ถามว่า

1.   ต้องรับผิดทางละเมิดอย่างไร

2.  ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใครบ้างต้องรับผิดชอบ

3.   คิดดอกเบี้ยละเมิดยังไง

พี่ตุ๊กตา ขอตอบดังนี้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2550

ป.พ.พ. มาตรา 206, 420 

          การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอน สิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

________________________________ 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อม ดอกเบี้ยจำนวน 2,222,403.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,321,605.04 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ

          ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามบัตรภาษีจำนวน 1,321,605.04 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2547 และจำเลยที่ 3 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อ เท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า วันที่ 18 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ของโจทก์ รวมเป็นเงินชดเชยจำนวน 1,321,605.04 บาท และขอโอนบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีจำนวนดังกล่าว และสัญญาว่ากรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความ เสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ จำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงอนุมัติจ่ายเงินชดเชยค่าภาษี และออกบัตรภาษีในนามจำเลยที่ 3 รับไปตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอ จำเลยที่ 3 นำบัตรภาษีดังกล่าวไปใช้แทนเงินสดในการชำระค่าภาษีอากรแล้ว ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 สำแดงชนิดสินค้า จำนวนสินค้า ชื่อผู้ส่งออกเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกที่นำไปยื่นประกอบคำขอรับเงินชดเชย ค่าภาษีอากร กรณีจึงเป็นการสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาออก จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ส่งออก และไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกในรูปบัตรภาษี อีกทั้งไม่มีสิทธิที่จะใช้หรือโอนบัตรภาษีดังกล่าวให้ผู้อื่น จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิได้รับบัตรภาษีจากโจทก์ไว้ในครอบครองและไม่มีสิทธินำ บัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสด ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามให้คืนเงินตามมูลค่าบัตรภาษี 1,321,605.04 บาท แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,321,605.04 บาท นับแต่วันที่รับบัตรภาษีจนถึงวันฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาทโดยไม่มีการส่งออกไปต่าง ประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอน สิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 1,321,605.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากรนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,321,605.04 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์ แต่ไม่เกินจำนวน 900,798.13 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

( เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ - ทองหล่อ โฉมงาม - องอาจ โรจนสุพจน์ )

 

พี่น้อง ประชาชนท่านใดมีปัญหาเรื่องการขอคืนอากรขาเข้า ถูกฟ้องละเมิด อย่าเป็นทุกข์อยู่คนเดียว ทีมทนาย Thai Law Consult ยินดีให้คำปรึกษาค่ะ ติดต่อพี่ตุ๊กตามานะคะ numaphon@gmail.com โทร. 081-759-8181