Blog categories

Latest posts

การเดินทางบนถนนสายกฎหมาย กว่าจะได้เป็นเนติบัณฑิต

นาย สรวิศ สุขเกื้อ

เมื่อกระผมได้เป็นเนติบัณฑิตสมัยที่64 กระผมก็ได้รับการติดต่อจากคุณพงษ์รัตน์ ให้เขียนบทความเกี่ยวกับการศึกษากฎหมายของผม โดยอยากให้ผมเขียนเกี่ยวกับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการศึกษาในระดับเนติบัณฑิต ซึ่งกระผมก็ได้บอกไปว่า ผมไม่ใช่คนเก่งและกว่าจะจบเนติก็ใช้เวลานาน ท่านเลยบอกผมว่าคนเก่งเขียนเยอะแล้ว อยากได้คนอย่างกระผมเขียนบ้าง กระผมก็เลยคิดว่ากระผมจะเขียนบทความนี้เพื่อเสนออีกมุมมองหนึ่งให้เพื่อนๆ โดยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างกำลังใจ สำหรับผู้ที่กำลังท้อแท้ต่อการเรียนเนติบัณฑิตไม่มากก็น้อยนะครับ

คำสำคัญ

....

ซึ่งกระผมขอตั้งชื่อบทความนี้ว่า” การเดินทางบนถนนสายกฎหมายกว่าจะได้เป็นเนติบัณฑิต “ เหตุที่กระผมตั้งชื่อบทความไว้เช่นนี้ นั่นก็เพราะว่าวัตถุประสงค์ของบทความฉบับนี้เพื่อแสดงให้เห็นมุมอีกมุมหนึ่ง ถึงนักศึกษาเนติบัณฑิตอย่างตัวของกระผม ซึ่งเคยเหลวไหลและไม่สนใจการเรียนมาก่อน แต่เมื่อต่อมามีความตั้งใจพยายามและอดทนแล้ว ก็สามารถที่จะเป็นเนติบัณฑิตได้เช่นกัน และที่กระผมจะได้กล่าวต่อไปนี้ ก็คือถนนสายกฎหมายที่กระผมใช้เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางก็คือการได้เป็น เนติบัณฑิตนั่นเ

ถนน คือ เส้นทางที่ใช้ในการสัญจรเพื่อที่จะก้าวเดินไปให้ถึงจุดหมายที่ทุกคนต้องการ จะไปให้ถึง ซึ่งถนนบางสายนั้นอาจจะเป็นถนนลูกรัง ถนนคอนกรีต ซึ่งอาจมีหลุมมีบ่อ ยากต่อการสัญจรเพื่อไปยังที่หมาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้าเราเลือกที่จะเดินทางต่อไปโดยไม่ท้อใจถอยกลับ แม้เราอาจจะต้องตกหลุมตกบ่อเราก็ยังมีสิทธิที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เปรียบได้กับการเรียน หากเรามีจุดหมายปลายทางคือความสำเร็จ แม้จะพลาดพลั้งสอบตกไปบ้างแต่หากเราไม่ท้อ สู้ต่อ เราก็จะสามารถไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน โดยเราสามารถรังสรรค์ ถนนสายการเรียนของเราเองได้ สามารถทำให้เป็นถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือจะทำให้ถนนขาดก็ได้เช่นกัน

ซึ่งสำหรับตัวของกระผม ถนนสายกฎหมายของกระผมนั้นเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งในขณะนั้นกระผมได้จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และได้สอบตรงเข้าไปศึกษาต่อยังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต หาดใหญ่ และเมื่อจบในระดับชั้นปริญญาตรีจากมหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ กระผมก็ได้มาศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิตที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติ บัณฑิตยสภา และได้สอบผ่านเป็นเนติบัณฑิตสมัยที่64 ซึ่งเป็นสิ่งที่กระผมภูมิใจมากและไม่คาดคิดว่ากระผมได้เดินมาถึงจุดนี้ เนื่องจากในอดีตนั้นกระผมเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนเลย อย่าว่าแต่อ่านหนังสือเรียนเลยครับ อ่านการ์ตูนกระผมยังขี้เกียจอ่านเลยครับ เพราะช่วงมัธยมนั้นกระผมติดเพื่อนมากชอบเที่ยวเล่นโดดเรียนกันเป็นประจำ ต่อมาเมื่อกระผมเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทางครอบครัวเห็นกระผมไม่ตั้งใจเรียนเลยจึงได้เรียกกระผมมาพูดคุยและบอกผมว่า อยากให้ผมเรียนนิติศาสตร์ ในตอนนั้นกระผมก็ไม่คิดอะไรมากกระผมก็บอกไปว่าเรียนก็ได้ และทางครอบครัวของกระผมก็บอกว่าถ้าจะเรียนก็ต้องขยันอ่านหนังสือหน่อยไม่ใช่ เอาแต่เล่นไม่อ่านหนังสือ จะได้เอนฯติดมหาวิทยาลัยดีๆ ผมเลยตอบกลับไปว่าเดี๋ยวผมเรียนรามฯก็ได้ ไม่เห็นต้องสอบเอนทรานซ์เลย แล้วก็มีเสียงจากพี่ชายของกระผมพูดมาว่า อย่างแกน่ะเรียนนิติฯไม่จบหรอก เรียนนิติฯได้น่ะต้องเป็นคนขยันแล้วยิ่งเรียนรามฯด้วยต้องขยันมากนะเพราะไม่ มีใครมาควบคุม เหตุนี้ทำให้ทางบ้านของผมอยากที่จะให้ผมเรียนมหาวิทยาลัยปิดเพื่อที่จะได้ รับการควบคุมดูแลไม่ให้เหลวไหล ต่อมาทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เปิดให้มีการส่งคะแนนเพื่อสอบตรงผมจึง ได้ส่งคะแนนสอบไป ปรากฏว่าสอบผ่าน กระผมเลยบอกกับทางครอบครัวว่า” สอบตรงได้นิติศาสตร์ มอ. นะ จะให้เรียนมั้ย “ ซึ่งทางครอบครัวของกระผมก็ได้บอกว่า ให้เรียนไปเลยอย่างน้อยก็เป็นมหาวิยาลัยปิดที่มีอาจารย์คอยดูแลควบคุมเผื่อ จะตั้งใจเรียนขึ้นบ้างและอีกอย่างก็ไม่ไกลหูไกลตามากนัก


ทางหลวงสายกฎหมายหมายเลข 1

เหตุที่กระผมเรียกว่า” ทางหลวงสายกฎหมายหมายเลข 1 “ ก็เพราะคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นถนนสายกฎหมายสายแรกของกระผม บนเส้นทางสู่การเป็นเนติบัณฑิต ซึ่งในตอนแรกนั้นกระผมไม่ได้อยากมาเรียนที่นี่เลย อยากไปเรียนกรุงเทพฯเหมือนเพื่อนๆในกลุ่มมากกว่าเหมือนที่กระผมเคยได้กล่าว มาในตอนต้นว่ากระผมติดเพื่อนมากเลยอยากไปอยู่กับเพื่อนที่กรุงเทพฯ แต่พอกระผมได้มาสัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ในตลอดระยะเวลา 4 ปี กระผมก็รู้สึกผูกพันและรักสถาบันแห่งนี้มาก โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น วิทยาเขต หาดใหญ่ในขณะนั้น มีด้วยกัน13 คณะ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คณะนิติศาสตร์ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยและคณะกรรมการส่งเสริม กิจการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นชอบและสนับสนุนให้มีคณะนิติศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยจึงแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตโดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ  ทฤษฎิคุณ เป็นประธานกรรมการ และในคราวประชุมครั้งที่ 235 (3/2545) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2545 สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรดังกล่าว และเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2545 จำนวน 66 คน

เมื่อหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต เปิดการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารหลักสูตร   นิติศาสตรบัณฑิต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ  ทฤษฎิคุณ เป็นประธานกรรมการดูแลรับผิดชอบไปก่อน และ ที่ประชุมคณบดีในคราวประชุมครั้งที่ 7/2545 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2545 เห็นชอบให้เสนอขอจัดตั้ง  คณะนิติศาสตร์เป็นหน่วยงานภายในต่อสภามหาวิทยาลัย  ต่อมาในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 255 (5/2545) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2545 สภาให้จัดตั้งเป็นโครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์และพัฒนาหลักสูตร นิติศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ

สุดท้ายสภามหาวิทยาลัยเห็นชอบให้ตั้งคณะนิติศาสตร์เป็นหน่วยงานภายใน มหาวิทยาลัยในคราวประชุม      สภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 260 (1/2546) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง 5 ประการ     และสภามหาวิทยาลัยได้ประกาศจัดตั้งคณะนิติศาสตร์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 พร้อมแบ่งส่วนงานออกเป็น
1. ฝ่ายบริหารทั่วไป
2. ฝ่ายสนับสนุนวิชาการ
3. สาขาวิชากฎหมายธุรกิจ
4. สาขาวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์
5. สาขาวิชากฎหมายมหาชน
6. สาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ

โดยทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น จะมีทีมงานคณาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายในด้านต่างๆคอยให้ความ รู้และให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งแม้พวกเราจะจบออกมาแล้ว อาจารย์ทุกท่านก็ยังคอยสอบถามทุกข์สุขอยู่เสมอ เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน นอกจากนี้ทางคณะยังได้เชิญอาจารย์พิเศษผู้มีความรู้ความสามารถในระดับประเทศ ในการให้ความรู้เพิ่มเติมกับนักศึกษาอีกมากมาย และทางคณะก็ยังสนับสนุนให้มีการได้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานจริง โดยมีการจัดทำศาลจำลองให้นักศึกษาแต่ละรุ่นได้ฝึกการปฏิบัติงานในศาลจำลอง นั้น อีกทั้งยังสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกงานกับองค์กรต่างๆมากมาย รวมถึงยังมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการทางด้านกฎหมายกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของ ประเทศมาเลเซีย โดยการจัดส่งนักศึกษาไปศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ยังประเทศมาเลเซียอีกด้วย

ส่วนจำนวนนักศึกษานั้นทางคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะรับนักศึกษาต่อปีการศึกษาประมาณ 120 ถึง 150 คนโดยประมาณ เนื่องจากนโยบายของทางคณะต้องการได้นักศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งนับจากวันนั้นจนถึงบัดนี้คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ได้ ก่อตั้งมาเป็นเวลาถึง 11 ปี มีนักศึกษาจบมาถึง 7 รุ่นด้วยกัน โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็จะมาศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิตและได้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตกันมากมายหลายคน และในสมัย 62 มีนักศึกษาสอบได้คะแนนอันดับ 1 ในสาขากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ ในสาขาวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งทำให้ชื่อของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นคือข้อมูลอย่างคร่าวๆของคณะนิติสาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นดั่งผู้ให้กำเนิดวิชาการ ทางด้านกฎหมายแก่กระผม ถือว่าเป็นถนนสายกฎหมายสายแรกของกระผม แต่ก็นั่นแหละครับอย่างที่กระผมได้กล่าวในข้างต้นว่ากระผมเป็นคนเหลวไหลไม่ ตั้งใจเรียน แม้จะมีอาจารย์หลายๆท่านคอยตักเตือนให้กระผมตั้งใจเรียน แต่กระผมก็ยังคงดื้อรั้นไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเสียดายเวลา และเสียดายโอกาสในการศึกษาหาความรู้ในขณะนั้น โดยในขณะนั้นผมเรียนเพื่อสอบจริงๆครับ เวลาจะสอบทีก็อาศัยเอกสารของเพื่อนที่เข้าเรียนที่เขาได้สรุปไว้แล้วมาอ่าน ไปสอบ ซึ่งแม้จะสอบผ่านก็จริง แต่กระผมบอกได้เลยครับว่าสิ่งที่กระผมทำนี้เป็นการทำลายถนนสายกฎหมาย ของกระผมเองเป็นการสร้างถนนที่มีแต่หลุมมีแต่บ่อ ซึ่ง ณ ขณะนั้นกระผมยังไม่ได้คิดถึงเส้นทางในอนาคตว่าจะมีจุดมุ่งหมายไปแห่งใดหรอก ครับ คิดแต่เอาตัวรอดไปวันๆ จึงอยากจะเตือนน้องๆที่กำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีนะครับว่า การศึกษาในระดับปริญญาตรีในสายกฎหมายน้องๆควรเก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้มากที่ สุดเพราะมันจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาต่อในอนาคตประกอบ กับเวลาในการศึกษาก็เป็นเวลาที่นานพอที่จะศึกษาพื้นฐานต่างๆทางกฎหมายได้ อย่างแจ่มแจ้ง เปรียบดั่งเป็นการสร้างถนนที่มีคุณภาพเพื่อก้าวไปยังจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ได้อย่างรวดเร็วขึ้นนั่นเอง

ทางหลวงสายกฎหมายหมายเลข 2

สำหรับทางหลวงสายกฎหมายหมายเลข 2 ของกระผม ก็คือ สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นสถาบันที่นักกฎหมายของประเทศไทยทุกคนต่างรู้จักเป็นอย่างดี และ ทุกคนต่างก็รู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นเส้นทางที่สัญจรไปมาได้ยากลำบากนัก สำหรับตัวของกระผมเองก็เดินทางบนทางหลวงเส้นนี้เป็นเวลาที่นานเลยทีเดียว กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือการเป็นเนติบัณฑิต เพราะกว่าจะถึงที่หมายได้กระผมก็ได้ลองผิดลองถูกมาหลายครั้งตกหลุมตกบ่อมาก็ มากมาย แต่เมื่อกลับมาย้อนดูก็ได้รู้ว่าเหตุที่ทำให้กระผมตกหลุมตกบ่อ หรือ เรียกง่ายๆว่าสอบตกนั่นก็คือ 3 อย่างนั่นเอง กล่าวคือผมไม่มี 1. ความตั้งใจ 2.พยายาม 3.ความอดทน แต่เมื่อต่อมากระผมเริ่มมี 3 สิ่งนี้กระผมก็สามารถทำได้ ซึ่ง 3 สิ่งนี้อาจจะอธิบายสั้นๆได้ก็คือ อันดับแรก “ตั้งใจ” ก็คือ มีความตั้งใจในการเรียน ขณะเรียนหรืออ่านหนังสือก็ควรมีสมาธิ ขณะอ่านควรคิดว่าเราอยากที่จะรู้ในเรื่องนี้นะ และพยายามตั้งข้อสงสัยเพื่อจะได้อ่านเพื่อหาคำตอบ จะได้ทำให้เราสามารถอ่านหนังสือได้อย่างตั้งใจขึ้นเพราะเราอ่านอย่างมีเป้า หมาย คือความรู้ในแต่ละเรื่องนั่นเองครับ  ต่อมาก็คือ “พยายาม” กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งใดที่ไม่เข้าใจอย่าปล่อยไว้ ต้องพยายามหาความรู้ในเรื่องนั้นๆให้กระจ่าง โดยอาจจะหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ หาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่หรืออาจารย์ผู้สอน เดินเข้าไปถามเลยครับถ้าท่านอาจารย์ไม่รีบไปธุระที่ไหน ท่านก็จะตอบคำถามที่เราไม่เข้าใจนั้นให้ ทำเราสามารถเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นครับ และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือ “อดทน” ผมเชื่อเหลือเกินว่าในสังคมปัจจุบันจะมีสิ่งยั่วยุมากมาย ความอดทนต่อสิ่งยั่วยุเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่สำหรับการเดินทางสู่ การเป็นเนติบัณฑิตในครั้งนี้พวกเราต้องทำให้ได้ และนอกจากจะต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยุแล้ว เราก็อาจจะต้องอดทนต่อวินัยในการศึกษา และผลที่ตามมาในการสอบซึ่งถ้าตก ก็ต้องเริ่มใหม่หาจุดบกพร่องของเราให้ได้ แล้วพยายามแก้ไขให้ดีที่สุด ซึ่งทั้ง 3 อย่างที่กระผมได้กล่าวมาเป็นสิ่งที่พวกเรานักศึกษาเนติบัณฑิตสมควรต้องทำใว้ ก่อน เมื่อทำได้แล้วต่อมาพวกเราก็จะได้วางแผนวิธีการศึกษาว่าสมควรจะศึกษาอย่างไร ในแต่ละสาขาวิชา และจะสามารถทำตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับวิธีการศึกษาเนติบัณฑิตของกระผมนั้น

อย่างที่บอกล่ะครับว่ากระผมก็มิได้เป็นคนขยันอะไรดังนั้นวิธีการศึกษา ของกระผมนั้นก็จะเป็นเหมือนทั่วๆไปหรืออาจจะน้อยกว่าทั่วๆไปเสียด้วยซ้ำ แต่กระผมเชื่อว่าได้ผลนะครับหากผู้ปฏิบัติปฏิบัติอย่างมีวินัย โดยไม่ต้องอ่านหามรุ่งหามค่ำและก็ไม่ต้องหามส่งโรงพยาบาลครับ โดย กระผมตั้งใจที่จะสอบเทอมละสาขา โดยตั้งเวลาศึกษาไว้ 2 ปี โดยเริ่มจากสาขากฎหมายอาญา สาขากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สาขากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ สาขากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสำหรับวิธีการเรียนนั้น กระผมจะอ่านหนังสือด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่โดยกำหนดไว้ว่าจะต้องอ่านให้ได้ อย่างน้อยวันละ 50 หน้า โดยจะพยายามอ่านให้ได้ทุกวัน หากวันใดอ่านไม่ถึง 50 หน้าก็ต้องยกยอดไปอีกวันเพื่อจะได้อ่านได้ทันเวลา แต่ส่วนใหญ่ก็ยกยอดบ่อยล่ะครับบางวันอ่านได้ 20 หน้าเลยยกยอดไปอีกวัน แต่ปรากฏว่าอีกวันก็อ่านได้50หน้าส่วนที่ยกยอดมาอ่านไม่ทัน ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยก็จะผิดแผนครับดังนั้นจึงต้องมีวินัยกล่าวคืออ่านเวลาไหน ก็ได้ที่ว่าง รวมกันต่อ1วันให้ได้ซัก50หน้า เพราะส่วนใหญ่หนังสือจะมีประมาณ 350 – 500 หน้า ( ถ้ามากกว่านี้ค่อยไว้อ่านตอนสอบผู้ช่วยนะครับ มันเยอะเกิน )ก็จะทำให้พวกเราสามารถอ่านได้โดยประมาณวิชาละ7-10วัน เดือนหนึ่งจะได้ 3-4 วิชา ส่วนสำหรับการเข้าเรียนนั้นกระผมจะเลือกเข้าในบางวิชา ที่กระผมคิดว่าถ้าเข้าเรียนวิชานั้นแล้วสามารถทำให้ผมเข้าใจได้แจ่มแจ้งยิ่ง ขึ้น โดยเราต้องอาศัยการทดลองของเราเองนะครับ จะถามจากเพื่อนไม่ได้เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันครับ เขาอาจเข้าใจในการเข้าเรียนวิชานี้ แต่เราอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ แต่สำหรับอาจารย์ที่เป็นที่นิยมก็ควรเข้าไปนะครับเพราะทุกท่านสอนเข้าใจดี ครับ สำหรับตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญอันจะมองข้ามไปไม่ได้เลย ซึ่งสำหรับตัวของกระผมนั้น จะอาศัยการอ่านตัวบทโดยจะอ่านเป็นประจำจนติดตา เนื่องจากไม่ถนัดกับการท่องตัวบท แต่จะอาศัยการอ่านทำความเข้าใจมากกว่า และเมื่ออ่านเป็นประจำเวลาทำข้อสอบ ก็จะสามารถนึกคำในตัวบทมาปรับกับข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างดี ส่วนในเรื่องของข้อสอบเก่านั้น เดิมทีผมก็ไม่ค่อยได้ฝึกเขียน แต่เมื่อต่อมาผมได้ลองฝึกเขียนกระผมก็ได้รู้ว่าการฝึกทำข้อสอบเก่าเป็นสิ่ง ที่จำเป็น และจะทำให้เราสามารถ รู้ข้อดีข้อด้อยของเราได้เป็นอย่างดี ว่าข้อสอบนั้นมีประเด็นใดบ้างที่เรายังไม่รู้ ประเด็นใดบ้างที่เราคิดไม่ถึง และในเวลาสอบจริงเราจะได้สำนวนการเขียน เพื่อใช้ในการตอบ รวมถึงยังรู้ถึงแนวทางวิธีการตอบข้อสอบที่ดีอีกด้วย

สำหรับในวันสอบก่อนที่จะเดินทางไปสอบ กระผมก็จะนั่งสมาธิเพื่อทำจิตใจให้สงบไม่วอกแวก ในการทำข้อสอบนั้นเราควรที่จะพิจารณาว่าเราเป็นคนเขียนข้อสอบช้าหรือไม่หาก เขียนได้ช้าก็ควรที่จะนำข้อเท็จจริงมาปรับกับตัวบทกฎหมายเพื่อจะได้ทำข้อสอบ ได้ทันเวลาแต่หากเราเป็นคนที่เขียนไม่ช้ามาก การทำข้อสอบแต่ละข้อก็ควรพิจารณาว่า ข้อที่ทำได้ก็ตอบโดยวางหลักกฎหมาย วินิจฉัยและก็สรุป แต่ถ้าข้อไหนไม่ค่อยแน่ใจก็วางหลักเกี่ยวกับเรื่องนั้นไว้ให้ครอบคลุมไว้ ก่อนครับ ส่วนหากข้อใดมีประเด็นเยอะคือตั้งแต่ 3 ประเด็นก็ควรจะนำหลักกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริง และในวิชาต่างๆของเนติบัณฑิต ก็จะมีวิชาจำพวกหนึ่งที่เราควรที่จะตอบแบบไล่สาย กล่าวคือ ตอบโดยอาศัยหลักกฎหมายต่างๆมาปรับเพื่อทำให้อาจารย์เห็นว่าเราสามารถข้าใจใน เรื่องที่ถามและเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาที่สอบเป็นอย่างดี เช่น วิชาฟื้นฟูกิจการ เราควรที่จะไล่สาย โดยเริ่มตั้งแต่ใครมีสิทธิร้องขอฟื้นฟูกิจการ คุณสมบัติของผู้ร้องว่าร้องขอฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ ต่อมา ดูว่าที่ข้อสอบถามอยู่ในช่วงใดของการฟื้นฟูกิจการ หากเราตอบได้เช่นนั้นก็จะทำให้พวกเราได้คะแนนที่ดีขึ้น และนอกจากนี้ในระหว่างทำข้อสอบเมื่อทำไปได้ 2 ชั่วโมงกระผมก็จะออกไปเข้าห้องน้ำเพื่อเป็นการผ่อนคลายสมองและไม่ทำให้สมอง ล้าจนเกินไป อันจะช่วยทำให้การทำข้อสอบลุล่วงไปได้ด้วยดี

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่กระผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็ น้อยสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาทั้งในระดับชั้นเนติบัณฑิตและเป็นสิ่งที่กระผม เคยได้ปฏิบัติมาจนถึงจุดหมายปลายทางของเนติบัณฑิต แต่การเดินทางในถนนสายกฎหมายของกระผมนั้นยังมิได้จบสิ้นอยู่แคนี้ แต่ถือเป็นการเปิดทางเดินใหม่ในถนนสายกฎหมายของกระผม ซึ่งในขณะนี้กระผมก็กำลังเดินทางต่อไปบนทางหลวงสายกฎหมายหมายเลข 3 ของกระผม ซึ่งก็คือถนนสายนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศึกษาในสาขากฎหมายภาษีอากร เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไว้ใช้ในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายต่อไปใน อนาคต

บทส่งท้าย

สุดท้ายนี้กระผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่กำลังศึกษาใน ระดับเนติบัณฑิตและขอให้ทุกคนมีความตั้งใจ พยายาม และ อดทน ผมเชื่อว่าทุกท่านก็สามารถที่จะสร้างเส้นทางสายกฎหมายสู่การเป็นเนติบัณฑิต ได้ ขนาดคนอย่างกระผมยังสามารถทำได้  พวกคุณทุกคนก็มีสิทธิทำได้เช่นกัน แม้จะยาวนานและแสนไกลแต่ก็ขอให้ทุกคนมีความตั้งใจ พยายามและอดทน เพื่อที่จะไปให้ถึงฝั่งฝัน และที่สำคัญที่ผมคอยเตือนใจตัวเองเสมอมา คือ  “ความสามารถมิได้วัดกันที่เวลา แต่วัดกันที่ขณะนั้นเราได้ตั้งใจและพยายามที่จะทำสิ่งที่เราต้องการแค่ไหน”