Blog categories

Latest posts

ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

.

คดีครอบครองปรปักษ์ที่ดิน นายายอาม จังหวัดจันทบุรี

.

                    จังหวัดจันทบุรี ได้ชื่อว่าเป็นเมืองผลไม้ ตลาดค้าพลอย และแหล่งสินค้าประมงทะเล ที่ดินแปลงหนึ่ง ที่นายายอาม จ.จันทบุรี เดิมเป็นสวนผลไม้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของปั๊มน้ำมัน ซึ่งขายกาแฟมีกำไรมากกว่าขายน้ำมัน ที่ดินแปลงนี้ เนื้อที่ 24 ไร่ เดิมเป็นของคุณป้าแมว ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อคุณป้าแมวเสียชีวิต ที่ดินตกเป็นของผู้กองพร ลูกชาย

                    หนูเป็นลูกของ คุณพ่ออัฐ ตอนคุณพ่ออัฐยังมีชีวิตอยู่ ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ จำนวน 12 ไร่ โดยเข้าใจว่า เป็นที่ดินที่คุณปู่ยกให้ คุณพ่อครอบครองที่ดินแปลงนี้ มา 25 ปี ตั้งแต่หนูเกิดจนคุณพ่ออัฐเสียชีวิต หนูครอบครองที่ดินแปลงนี้ต่อจากคุณพ่อ อีก 8 ปี ปัจจุบันหนูอายุ 33 ปี หนูเพิ่งรู้ว่า ผู้กองพร จะขายที่ดิน ทั้ง 24 ไร่ให้บริษัทน้ำมันด้วยมูลค่าราว 300 ล้านบาท ผู้กองพร ให้คนมาแจ้งให้หนูและครอบครัวย้ายออกจากที่ดินแปลงนี้ โดยจะให้ค่าตอบแทนเป็นค่ารื้อถอน ประมาณ 4 ล้านบาท อยากถามว่า หนูมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้แค่ไหน และหนูควรทำอย่างไร

พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 ขอตอบเบื้องต้นดังนี้

1.  แม้คุณพ่อของหนู จะครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ (มีโฉนด) โดยเข้าใจว่า เป็นที่ดินที่คุณปู่ยกให้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ที่ดินแปลงนี้เป็นของคุณป้าแมวก็ตาม แต่เมื่อคุณพ่ออัฐได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยสงบ โดยเปิดเผยแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 (ที่ดินจำนวน 12 ไร่ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณพ่ออัฐแล้ว แม้ทางทะเบียนจะเป็นของคุณป้าแมวก็ตาม)

2.  เว้นแต่ คุณป้าแมวให้คุณพ่ออัฐทำกินในรูปของ "การเช่า" โดยคุณพ่ออัฐเองก็ยอมรับว่า ที่ทำมาหากินอยู่ได้ในที่แปลงนี้ เพราะคุณป้าแมวให้อยู่อาศัย หรือทำกิน (จึงเป็นการครอบครองแทนคุณป้าแมว) แม้ครอบครองที่ดินนานเพียงใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะครอบครองแทน

3.  ตามข้อ 1. เมื่อหนูสืบสิทธิ์จากคุณพ่ออัฐ ที่ดินแปลงนี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของหนู

4.  เมื่อผู้กองพร สืบสิทธิ์ที่ดินมาจากคุณป้าแมว ผู้กองพรจึงไม่มีสิทธิในที่ดิน 12 ไร่แล้ว (พูดง่าย ๆ ตามกฎหมายหนูมีสิทธิดีกว่า)

5.  ถ้าผู้กองพร จะหาทางออกแบบ win-win พี่ตุ๊กตาเห็นว่า หนูควรเจรจา แย่ที่สุดสำหรับหนูคือ ที่ดิน 12 ไร่ ราคา 150 ล้านบาท หนูขอแบ่งจากผู้กองพรสัก 75 ล้านบาท

6.  พี่ตุ๊กตา อยากบอกหนูว่า ทางออกของปัญหา คือการเจรจา ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แบบ win-win ดีที่สุด

7.  พี่ตุ๊กตาขอให้หนูดูหัวข้อ "แนะนำทนายความรุ่นใหม่" เรื่อง : ครอบครองปรปักษ์ หลักกฎหมาย และตัวอย่างคดี (คลิกอ่าน)

8.  เพื่อตอบคำถามนี้ พี่ตุ๊กตา และทีมงานไทยลอว์คอนซัลต์ (Thai Law Consult โทร. 081-759-8181) ขอนำข้อสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 64 ปีการศึกษา 2554 ฎีกาที่ 5596/2552 และ 1886/2536 มานำเสนอ เพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมายของประชาชนค่ะ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2552

ป.พ.พ. มาตรา 1382

          การที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครอง ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตน เองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่ง การครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามโดยเข้าใจผิด ว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเองก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สิน ของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย

________________________________

          ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องขอว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัศ (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 77 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา มีชื่อนายเอนกและนางสว่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทางด้านทิศเหนือมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 เมื่อปี 2470 นายนุ่ม ปู่ของผู้ร้องทั้งห้าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 จากนางฮวนแล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวและเข้าครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 เป็นเนื้อที่ประมาณ ไร่ 2งาน ด้วย ต่อมาปี 2481 นายนุ่มยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ให้ นายต่วนบิดาของผู้ร้องทั้งห้า เมื่อนายต่วนถึงแก่ความตาย นางผม มารดาของผู้ร้องทั้งห้ารับโอนมรดกที่ดินมาจนกระทั่งนางผมถึงแก่ความตายผู้ ร้องทั้งห้าจึงรับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ต่อมา รวมระยะเวลาที่นายนุ่ม นายต่วน นางผม และผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 โดย ความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี แล้ว ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัศ (พนัสนิคมจังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ ไร่ 2 งาน โดยการครอบครองปรปักษ์

          ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทของนางสว่าง ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นทายาทของนายเอนก นางสว่างและนายเอนกเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 เดิมนายต่วนเข้าทำนาในที่ดินโฉนดเลขที่9333 ที่ นายนุ่มบิดายกให้และเข้ามาทำนาในที่ดินพิพาท โดยขออนุญาตนายองุ่นเจ้าของที่ดินในขณะนั้น เมื่อนายต่วนถึงแก่ความตาย นางผมได้รับมรดกที่ดินแต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อ สำหรับผู้ร้องทั้งห้านั้นเมื่อรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 จาก นางผมแล้วก็ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้าเคลือบคลุมและไม่บรรยายว่าได้เข้าทำ ประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างไร ขอให้ยกคำร้องขอ

          ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตาย นายประเทืองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้ร้องที่ 2 และนางสมพรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้ร้องที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เฉพาะส่วนพื้นที่ภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ร.2 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งห้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาจำนวน 200 บาท แก่ผู้ร้องทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

          ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีชื่อนายเอนก และนางสว่างเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.1ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 เนื้อที่ประมาณ ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ในกรอบเส้นสีแดง ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ร.2 ที่ดินพิพาทอยู่ติดกับที่ดินด้านใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งผู้ร้องทั้งห้าได้รับมรดกมาจากนางผม ผู้เป็นมารดา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 คดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่าผู้ร้องทั้งห้าได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ผู้ร้องทั้งห้ามีผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 นายประเทือง บุตรของผู้ร้องที่ 2 และนางสมพร ภริยาของผู้ร้องที่ 3 เป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันว่าเมื่อปี 2470 นายนุ่มปู่ของผู้ร้องทั้งห้าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 มาจากนางฮวนและเนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 เมื่อนายนุ่มซื้อมาจากนางฮวนแล้วได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ ทำนา ทำไร่ ทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของติดต่อกันโดยตลอดมา เมื่อปี 2481 นายนุ่มยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ให้แก่นายต่วนบิดาของผู้ร้องทั้งห้า นายต่วนได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และที่ดินพิพาทต่อมาจนถึงปี 2500 นาย ต่วนถึงแก่ความตาย นางผมมารดาของผู้ร้องทั้งหาได้รับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวต่อมา โดยนางผมและผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และที่ดินพิพาทนับแต่นายต่วนถึงแก่ความตายด้วยเช่นกัน ต่อมานางผมถึงแก่ความตาย ผู้ร้องทั้งห้าจึงเข้ารับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ต่อจากนางผมและผู้ร้องทั้งห้ายังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 และ ที่ดินพิพาทสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่นายนุ่มปู่ของผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อมาจนกระทั่ง ถึงผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลา 70 ปีแล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ร้องทั้งห้ายังมีนางทองย้อย นายทองหล่อ และนายเที่ยง เป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันด้วยว่าพยานทั้งสามมีที่ดินอยู่ข้างเคียง ที่ดินพิพาทรู้จักผู้ร้องทั้งห้าและบิดามารดาของผู้ร้องทั้งห้าเป็นอย่างดี เห็นบิดามารดาของผู้ร้องทั้งห้าและผู้ร้องทั้งห้าร่วมกันครอบครองที่ดิน พิพาทโดยเข้าทำนาและปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว ฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสามมีผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอนกผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นายเอนกถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อปี 2539 ขณะที่นายเอนกยังมีชีวิตอยู่นั้น นายเอนกได้เคยชี้ให้ผู้คัดค้านที่ 3 ดูที่ดินพิพาทซึ่งอยู่เขตติดต่อกับที่ดินของนายต่วน ผู้คัดค้านที่ 3 เห็น นายต่วนครอบครองทำประโยชน์เฉพาะในที่ดินของนายต่วน ซึ่งต่อมาตกเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเท่านั้น ส่วนที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นป่ารกร้างไม่มีผู้ใดเข้าครอบครองทำประโยชน์ เมื่อปี 2535 มีการรังวัดที่ดินข้างเคียงที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไประวังแนวเขตที่ดิน ผู้ร้องที่ 1 ก็ไประวังแนวเขตของตนเองด้วยเช่นกัน ผู้คัดค้านที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 ได้ลงชื่อรับรองแนวเขตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ตามเอกสารหมาย ค.1 และ ค.3 เห็นว่า นอกจากผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และ นางสมพรเบิกความเป็นพยานผู้ร้องทั้งห้าแล้ว ยังมีนางทองย้อย นายหล่อ และนายเที่ยง เจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในคดีอย่างใด เป็นพยานเบิกความอย่างสอดคล้องต้องกัน ส่วนผู้คัดค้านทั้งสามคงมีผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพยาน เบิกความลอยๆ เป็นพยานปากเดียว พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งห้าจึงมีน้ำหนักให้รับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของผู้ คัดค้านทั้งสาม ที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาในทำนองว่า ตั้งแต่นายนุ่มเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบ ครองเป็นการครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงนั้น ข้อนี้เห็นว่าการที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สิน ของผู้อื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากแต่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องรู้มาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของผู้อื่นแล้วแย่ง การครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้กรรมสิทธิ์ แม้จะฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสาม โดยเข้าใจผิดว่าเป็นของผู้ร้องทั้งห้าเอง ก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้า ของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382แล้ว หากผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี ผู้ร้องทั้งห้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้นส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ครบระยะเวลา 10 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่า เมื่อปี 2535 ได้มีเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาท ผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านที่ ได้ไประวังแนวเขตด้วย การระวังแนวเขตดังกล่าวผู้ร้องที่ 1 ไม่ ได้ชี้แสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ร้องทั้งห้าแต่อย่างใด หากผู้ร้องทั้งห้ามีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเองหลังจากปี 2535 จนถึงวันฟ้อง ก็ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งห้ายังยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลาไม่ครบ 10 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้น ข้อนี้เห็นว่าจากพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสามตามที่ผู้คัดค้านที่ เบิกความอ้างว่าผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไประวังแนวเขตพร้อมทั้งลงชื่อรับรองแนวเขตการรังวัดที่ดินไว้ตามเอกสารหมาย ค.1 และ ค.3 นั้น การระวังแนวเขตของผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 เป็นการระวังแนวเขตในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10615 ของนายสุรเดชซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9333 ของผู้ร้องทั้งห้าและที่ดินโฉนดเลขที่ 9309 ของผู้คัดค้านที่ 3 ดังนั้น การที่ผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้พูดคุยกับผู้คัดค้านที่ 3 เกี่ยว กับที่ดินพิพาทหรือไม่ได้ระวังแนวเขตโดยชี้แสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็น ที่ดินส่วนที่ผู้ร้องทั้งห้าได้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์ด้วยก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ร้องที่ 1 ดังกล่าวก็ยังมิอาจจะถือ ได้ว่าผู้ร้องทั้งห้าไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ หรือเป็นการสละการยึดถือครอบครองที่ได้ครอบครองมาตั้งแต่ปู่ของผู้ร้องแต่ อย่างใด ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งห้าครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้าน ทั้งสามโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องทั้งห้าจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ - ศุภชัย สมเจริญ - สนอง เล่าศรีวรกต )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536

ป.พ.พ. มาตรา 1300

          จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอัน เป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอด จนความรับผิดต่าง ๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300

________________________________ 

          โจทก์ฟ้องว่า นายคำ นางเผือก มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนายพิม นางหล่อ และนายห้อง โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสวัสดิ์ ซึ่งเป็นบุตรของนายพิม จำเลยทั้งสามเป็นบุตรของนางหล่อ นายคำ นางเผือกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1029 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เนื้อที่55 ไร่ 60 ตารางวา เมื่อนายคำถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของนายคำเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทคือนาง เผือก นายพิม นางหล่อ และนายห้องซึ่งได้โอนชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมานางเผือกถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของนางเผือกตกทอดไปยังทายาท คือ นายพิม นางหล่อและนายห้อง แต่มิได้จดทะเบียนโอนมรดก คงแบ่งการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด ต่อมาเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้นายพิมถึงแก่ความตายที่ดินส่วนนายพิมตกทอดแก่นายสวัสดิ์ ต่อมาปี พ.ศ. 2513นางหล่อได้ขายที่ดินส่วนของตนให้นายสวัสดิ์ โดยการผ่อนชำระค่าที่ดินและมอบที่ดินให้ครอบครองทำกิน เมื่อผ่อนชำระค่าที่ดินหมดสิ้นแล้วจึงทำสัญญาซื้อขายในปี พ.ศ. 2516 นายสวัสดิ์และโจทก์เข้าครอบครองทำกินโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527 นายสวัสดิ์ถึงแก่ความตายโจทก์ครอบครองทำกินสืบต่อมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเกิน 10 ปีแล้วจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของนางหล่อโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อ วันที่ 6 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินส่วนของนางหล่อและนางเผือกใส่ ชื่อของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1029ส่วนที่มีชื่อนางเผือก และนางหล่อถือกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1382 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินของจำเลยทั้งสาม และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในโฉนดแทนจำเลยทั้งสาม

          จำเลยทั้งสามให้การว่า นายสวัสดิ์หรือโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินส่วนของนางหล่อในฐานะเจ้าของ เป็นแต่เพียงครอบครองแทนโดยการเช่าจากนางหล่อ เมื่อนางหล่อถึงแก่ความตายก็เช่าจากจำเลยทั้งสามนางหล่อไม่เคยขายที่ดิน เฉพาะส่วนของนางหล่อให้แก่นายสวัสดิ์จำเลยทั้งสามรับมรดกที่ดินส่วนของนาง เผือกและนางหล่อตามส่วนที่จำเลยทั้งสามมีส่วนได้ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียน ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทตามแผนที่เอกสารหมาย จ.9 ภายในเส้นสีดำหมายสีแดงประ เนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 1029 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ส่วนของนางเผือกและนางหล่อ เอมะวันธนะ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินของจำเลยทั้งสามออกจากโฉนดดัง กล่าว

          จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสามฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาประเด็นแรกว่าโจทก์ได้ครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทจนได้ กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์นอกจากจะมีพยานบุคคลมานำสืบว่า นายสวัสดิ์และโจทก์ได้ซื้อที่พิพาทมาจากนางหล่อและนางหล่อ ได้มอบการครอบครองที่พิพาทให้แล้ว โจทก์ยังมีพยานเอกสารคือสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.5 และแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7มาแสดงว่า นายสวัสดิ์และโจทก์เป็นผู้ซื้อที่พิพาทและเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่พิพาทตลอด มา ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสวัสดิ์และโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาท ตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516จนถึงปัจจุบัน พยานหลักฐานของโจทก์จึงสอดคล้องเชื่อมโยงในเหตุผลส่วนพยานหลักฐานของจำเลย ทั้งสามที่นำสืบว่า นายสวัสดิ์และโจทก์เช่าที่พิพาททำนาเป็นการครอบครองแทนนางหล่อนั้น ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานสัญญาเช่ามาแสดงต่อศาลแต่อย่างใด คงมีแต่พยานบุคคลมาเบิกความลอย ๆ เมื่อเทียบพยานหลักฐานของโจทก์กับของจำเลยทั้งสามแล้วพยานหลักฐานของโจทก์มี น้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าของจำเลยข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายสวัสดิ์ได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ตั้งแต่ พ.ศ. 2516และเมื่อนายสวัสดิ์ถึงแก่ความตายโจทก์ได้ครอบครองสืบต่อมาด้วยเจตนาเป็น เจ้าของจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

          ปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกาประเด็นต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทของจำเลยทั้งสามได้ หรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2529 จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วจำเลยทั้งสามได้ กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการรับมรดก ต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่าง ๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ใน ฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300..."

          พิพากษายืน

( ปรีชา ธนานันท์ - สมาน เวทวินิจ - จิระ บุญพจนสุนทร )