Blog categories

Latest posts

ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

.

เช็คไม่ลงวันที่ ถือว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบ มาตรา 989 จะให้สิทธิแก่ผู้ทรงจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น ก็เพียงแต่ให้เช็คนั้นมีรายการที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น หาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ไม่ (ฎีกาที่ 755/2547)

.

เช็คเด้ง - 5 ข้อต่อสู้ของจำเลย ที่ศาลยกฟ้อง

.

               เมื่อ 7 มีนาคม 2556 ทีมทนาย Thai Law Consult 8 คน ไปศาลล้มละลายกลาง เพื่อเป็นทนายจำเลย ในคดีล้มละลาย 1,500 ล้านบาท ได้พบคุณน้ำค้าง, คุณวรรณ, คุณหมอเจตน์ ปรึกษากันเรื่องเช็ค พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท.64 แห่ง TLC จึงนำเรื่องเช็คเหล่านี้ มาลงไว้เพื่อตอบคำถาม และเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายสู่ประชาชนค่ะ

 

มูลหนี้ตามเช็ค ไม่มีอยู่จริง หรือไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย หลักกฎหมาย โปรดดูในเรื่องที่ 1 เช็คเด้ง ฟ้องเช็ค พรบ.เช็ค

 

               1.    ออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมก่อนออกเช็ค ถ้าหลักฐานการกู้ยืมเงินทำขึ้นภายหลังที่ออกเช็คแล้ว แม้กระทำในวันเดียวกันก็ตาม ถือว่าขณะที่ออกเช็ค หนี้นั้นเป็นหนี้ไม่มีอยู่จริง (ฎีกาที่ 3722/2538)

               2.    ออกเช็คเพื่อชำระหนี้การพนัน หามีมูลหนี้ไม่ (ฎีกาที่ 2493/2527)

               3.    ออกเช็คเพื่อประกันหนี้ มิได้มีเจตนาจะใช้เช็คนั้นชำระหนี้ (ฎีกาที่ 734/2547, 1213/2545)

               4.    ขณะออกเช็ค ยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ แม้ภายหลังจะมีการทำสัญญากู้ยืมเงิน ก็เป็นการออกเช็คที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย (ฎีกาที่ 462/2552)

               5.    เช็คไม่ลงวันที่ ถือว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบ มาตรา 989 จะให้สิทธิแก่ผู้ทรงจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น ก็เพียงแต่ให้เช็คนั้นมีรายการที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น หาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คฯ ไม่ (ฎีกาที่ 755/2547)

 

TLC ได้นำฎีกาที่ 3722/2538, 2493/2527, 734/2547, 1213/2545, 462/2552, 755/2547 มาลงไว้แล้วนะคะ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3722/2538

ป.พ.พ. มาตรา 653
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 

          การกระทำใดจะมีมูลความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534จะต้องพิจารณา ได้ความว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระก่อนและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา653และได้มีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดัง กล่าวนั้นการที่จำเลยได้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน100,000บาทโดยไม่มีหลักฐานแห่ง การกู้ยืมเป็นหนังสือแต่อย่างใดต่อมาจำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน100,000บาท เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยในวันออกเช็คจำเลยได้บันทึกไว้ด้วยว่าจำเลยได้ ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยได้กู้ยืมจากโจทก์ไว้แล้วโจทก์มีเฉพาะเอกสาร ดังกล่าวฉบับเดียวที่อ้างเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ซึ่งได้กระทำ ขึ้นภายหลังที่ออกเช็คแล้วแม้จะได้กระทำในวันเดียวกันก็ถือได้ว่าขณะที่ จำเลยออกเช็คให้โจทก์นั้นแม้จะฟังว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริงแต่หนี้นั้น ก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระ ราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

          ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระ ราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 หรือไม่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คที่ชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะ หรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฯลฯ" เห็นว่าการกระทำใดจะมีมูลความผิดตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องพิจารณาได้ความว่า มีหนี้ที่จะต้องชำระก่อนและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายเช่นกู้เงินกัน เกินกว่า 50 บาท ขึ้นไปถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือ ชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และได้มีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวนั้น สำหรับกรณีของโจทก์ได้ความว่า จำเลยได้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาท โดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 100,000 บาท ลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ 27 มกราคม 2536 เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยในวันออกเช็คจำเลยได้บันทึกไว้ด้วยว่าจำเลยได้ ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยได้กู้ยืมจากโจทก์ไว้แล้วปรากฎตามเอกสารหมาย จ. 2 ซึ่งโจทก์มีเฉพาะเอกสารหมาย จ.2 ฉบับเดียวที่อ้างเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาทเห็นได้ว่าเอกสารหมาย จ.2 ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ออกเช็คแล้วแม้จะได้กระทำในวันเดียวกันก็ตามถือได้ ว่าขณะที่จำเลยออกเช็คให้โจทก์นั้น แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริง แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน 

( นิวัตน์ แก้วเกิดเคน - ยงยุทธ ธารีสาร - ยรรยง ปานุราช )        

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2493/2527

ป.พ.พ. มาตรา 853
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 

          จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ผู้มี ชื่อเพื่อชำระหนี้อันเกิดจากการพนันซึ่งตามกฎหมายหาเป็นมูลหนี้ไม่ ดังนั้นแม้โจทก์จะรับโอนเช็คพิพาทไว้ด้วยประการใดก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิด 

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเช่นเดียวกับในชั้นอุทธรณ์

          ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาล ชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่นางอังคณาในการเล่นการพนันสลากกินรวบ แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้อันเกิดจากการพนัน ซึ่งตามกฎหมายหาเป็นมูลหนี้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะรับโอนเช็คพิพาทไว้ด้วยประการใดก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิด

          พิพากษายืน 

( ดำริ ศุภพิโรจน์ - สุทิน เลิศวิรุฬห์ - อำนวย อินทุภูติ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  734/2547

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 

          โจทก์เป็นผู้จัดหาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาด้วยตนเอง และเป็นผู้กรอกข้อความเอง ซึ่งปรากฏว่าโจทก์มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี หากเห็นว่าข้อความในหนังสือสัญญาไม่สัมพันธ์หรือใช้ไม่ได้กับการออกเช็ค พิพาทในข้อสาระสำคัญ โจทก์ย่อมทราบดีและน่าจะทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่แท้ จริง เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับมีข้อความตรงกันในข้อ 4 ว่า เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน จำเลยผู้กู้นำเช็คพิพาทแต่ละฉบับมอบให้ไว้แก่โจทก์ผู้ให้กู้เพื่อยึดไว้เป็น ประกันเงินกู้ ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลย ออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์มิใช่เช็คที่ จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

________________________________ 

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (3) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อ เท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างโจทก์ 502,526 บาท จึงทำสัญญากู้ยืมเงิน 2 ฉบับ รวมจำนวนเงินเท่าที่ค้างชำระให้ไว้แก่โจทก์ ฉบับแรก 288,204 บาท กำหนดชำระต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 28 มกราคม 2541 ฉบับที่สอง 214,322 บาท กำหนดชำระต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 จ.6 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 สั่งจ่ายเงินจำนวนเดียวกันกับที่กู้ยืมตามสัญญากู้แต่ละฉบับและลงวันที่ออก เช็คล่วงหน้าไว้ตรงกับกำหนดที่จะต้องชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมนั้น แต่เมื่อเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับถึงกำหนดชำระ ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2541 และวันที่ 3 มีนาคม 2541 ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ตามลำดับ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มิใช่เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องมีความผิดนั้น เห็นว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ข้อ 4 มีข้อความตรงกันว่าเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน จำเลยผู้กู้ได้นำเช็คพิพาทแต่ละฉบับมอบให้ไว้แก่โจทก์ผู้ให้กู้เพื่อยึดไว้ เป็นประกันเงินกู้ ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ทั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลย กู้ยืมเงินโจทก์ไปมิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เป็นสัญญาแบบเก่า ข้อความในข้อ 4 มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ผู้กู้ให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ เป็นประกัน จึงนำมาใช้กับเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่ได้นั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์เป็นผู้จัดหาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โจทก์เข้าใจข้อความในสัญญาทั้งหมดและเป็นผู้กรอกข้อความเอง ดังนั้น หากข้อความในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับ ไม่สัมพันธ์หรือใช้ไม่ได้กับการออกเช็คพิพาท 2 ฉบับ ในข้อสาระสำคัญเพราะจำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้ โจทก์ซึ่งมีการศึกษาระดับปริญญาตรีและเป็นผู้จัดทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ทั้ง 2 ฉบับ ก็น่าจะทราบดีและทำการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงแต่ ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการอย่างใด ที่โจทก์อ้างว่าหากจำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เพื่อเป็นประกันจริง จำเลยก็น่าจะเพิ่มเติมข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ว่า ห้ามนำไปเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยก็มิได้เพิ่มเติมข้อความอย่างใดนั้น เห็นว่า เมื่อข้อความในข้อ 4 มีความหมายชัดแจ้งว่าเป็นการออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องไปเพิ่มเติมข้อความดังที่โจทก์อ้างอีก พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลย จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

( ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ - ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช - รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1213/2545

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 

          จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมมานาน หลายปี แต่ไม่สามารถชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมได้ต้องออกเช็คใหม่มอบให้โจทก์ร่วมโดย บวกดอกเบี้ยเพิ่มและรับเช็คเดิมคืนมาหลายครั้งครั้งหลังสุดธนาคารปฏิเสธการ จ่ายเงิน โจทก์ร่วมและจำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมหนี้กันที่สถานีตำรวจ และจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดัง กล่าว อันเป็นการบ่งชัดว่าจำเลยอยู่ในภาวะที่ถูกโจทก์ร่วมบีบบังคับให้ต้องออกเช็ค พิพาท ซึ่งโจทก์ร่วมย่อมทราบดีว่าขณะออกเช็คจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คดัง กล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิด จากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 

________________________________

           โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนวิภาวดีรังสิต (ดอนเมือง) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 2,323,581บาท ให้แก่นางกัลยกร กอจรัญจิตต์ ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการ จ่ายเงินให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคารจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ ให้มีการใช้เงินตามเช็คและในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึง ให้ใช้ได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2)

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ระหว่างพิจารณา นางกัลยกร กอจรัญจิตต์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2) จำคุก 10 เดือน

           จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

          โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืม แต่ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้โจทก์ร่วมไว้เมื่อเช็คถึงกำหนด จำเลยก็ขอผัดชำระหนี้โดยออกเช็คฉบับใหม่ให้โจทก์ร่วมเปลี่ยนกับเช็คฉบับเดิม หลายครั้งจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2540 โจทก์ร่วมและจำเลยไปพบเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำ จุฬาลงกรณ์เนื่องจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายมอบให้โจทก์ร่วมไว้ 2 ฉบับตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงมีการทำบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเอกสารหมาย จ.2 ชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมคืนเช็คเอกสารหมาย ล.1 และล.3 ให้จำเลยตามบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้เอกสารหมาย จ.1 เมื่อเช็คตามฟ้องถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมมาเบิกความว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2537 จำเลยมาขอกู้ยืมเงินโจทก์ร่วม 1,000,000 บาท ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมแต่สั่งจ่ายเช็คไว้เป็นประกัน สัญญาว่าจะใช้คืนต้นปี 2538 แต่ไม่ได้ใช้นับถึงปัจจุบันจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเช็ค 2 ฉบับ เป็นเงินฉบับละ 1,000,000 บาทเศษ ต่อมาเช็ค 2 ฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ร่วมและจำเลยจึงทำบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้กันตามเอกสารหมาย จ.1 ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ในวันดังกล่าว จำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเอกสารหมาย จ.2ให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกตกลง เห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมข้างต้นบ่งชัดว่า โจทก์ร่วมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีเงินในบัญชีที่จะจ่ายตามเช็คในขณะออก เช็คเอกสารหมาย จ.2 เพราะโจทก์ร่วมได้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายตามเอกสารหมายล.1 และ ล.3 ไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2540 ก่อนวันที่จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 ให้โจทก์ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น และเช็คตามเอกสารหมาย ล.3 กับเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 ก็เป็นเช็คในบัญชีเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้ความจากนางสาวเพ็ญศรี เตชะเกิดกมล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่าย อีกว่าในวันที่ 26 มีนาคม2540 จำเลยเป็นหนี้ธนาคารอยู่จำนวน 2,000,000 บาทเศษ ตามเอกสารบัญชีกระแสรายวันหมาย จ.7 เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมมาตั้งแต่ปี 2537 แต่ไม่สามารถชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมได้ ต้องออกเช็คใหม่มอบให้โจทก์ร่วมโดยบวกดอกเบี้ยเพิ่มและรับเช็คเดิมคืนมาหลาย ครั้ง ตลอดจนการที่โจทก์ร่วมและจำเลยต้องไปทำบันทึกตกลงประนีประนอมหนี้กันตาม เอกสารหมาย จ.1 ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้บันทึกให้ดังกล่าวประกอบกันแล้ว เชื่อว่าจำเลยอยู่ในภาวะที่ถูกโจทก์ร่วมบีบบังคับให้ต้องออกเช็คเอกสารหมาย จ.2 ตามฟ้อง โดยโจทก์ร่วมทราบดีแล้วว่าขณะออกเช็คจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาจากพยานหลักฐาน ที่ปรากฏในสำนวนทั้งสิ้นจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน 

( ศุภชัย ภู่งาม - วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - วิบูลย์ มีอาสา )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  462/2552

ป.พ.พ. มาตรา

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  755/2547

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 

          การที่จำเลยออกเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย ถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คคือจำเลยกระทำความผิด การที่ พ. และโจทก์ตกลงกันลงวันที่สั่งจ่ายเช็คพิพาท ก็เป็นเพียงแต่ให้เช็คมีรายการต่าง ๆ สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ที่ให้สิทธิผู้ทรงลงวันที่สั่งจ่ายที่แท้จริงได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ

________________________________

          คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดง ที่ 4081/2537 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้ว ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...พิเคราะห์ แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยและนายพิทักษ์ ชุติโกมล สามีของจำเลยซื้อหุ้นของโจทก์จากบริษัทบ้านพรพิทักษ์ จำกัด จำนวน 3,500 หุ้น รวมราคา 5,000,000 บาท จำเลยเป็นผู้ออกเช็คชำระค่าหุ้นให้โจทก์รวม 7 ฉบับ การเจรจาเพื่อตกลงซื้อหุ้นกระทำที่ที่ทำการของบริษัทบ้านพรพิทักษ์ จำกัด มีโจทก์และนายพิทักษ์เป็นคู่สัญญาซื้อขาย ขณะมีการเจรจาตกลงกันมีคนอื่นอยู่ด้วย แต่ไม่มีจำเลยร่วมในการเจรจาตกลงแต่อย่างใด นายพิทักษ์เป็นผู้มอบเช็คพิพาทให้โจทก์โดยตรงเพื่อชำระค่าหุ้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ก่อนทำสัญญาซื้อขายหุ้นเอกสารหมาย จ.12 โจทก์และนายพิทักษ์จะใช้เวลานานก็น่าเชื่อว่าเป็นการตกลงกันระหว่างโจทก์และ นายพิทักษ์ โดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นในการกำหนดวันที่สั่งจ่ายเช็ค ศาลตรวจดูเช็คเอกสารหมาย จ.7 แล้ว ปรากฏว่ารายละเอียดข้อความในเช็คเป็นตัวพิมพ์รวมทั้งวันที่สั่งจ่ายในเช็ค ด้วย ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.7 จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไว้โดยไม่ได้ลงรายการอื่น ในวันที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับนายพิทักษ์ มีพนักงานของบริษัทบ้านพรพิทักษ์ จำกัด เป็นผู้พิมพ์ข้อความทั้งหมดรวมทั้งวันที่สั่งจ่ายเช็คด้วย แสดงว่ากำหนดวันสั่งจ่ายเป็นการตกลงกันระหว่างโจทก์กับนายพิทักษ์เท่านั้น จำเลยหาได้รู้เห็นด้วยไม่ ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายเช่นนี้ถือได้ว่าไม่มีวันที่ ผู้ออกเช็คคือจำเลยกระทำความผิด การที่นายพิทักษ์และโจทก์ตกลงกันลงวันที่สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.7 ก็เป็นเพียงแต่ให้เช็คมีรายการต่าง ๆ สมบูรณ์ตามกฎหมายเพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ที่ให้สิทธิผู้ทรงลงวันที่สั่งจ่ายที่แท้จริงได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

( ประดิษฐ์ ทรงฤกษ์ - วัฒนชัย โชติชูตระกูล - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ )

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 24-04-56)