Blog categories

Latest posts

คุณนัชชา เวทย์วิไล

บทความจาก คุณนัชชา เวทย์วิไล   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่ 4 เนติบัณฑิต สมัย 64)

คำสำคัญ

....

......

เส้นทางสู่เนติบัณฑิตไทย อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมถึง

ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากทีมงานผู้จัดทำเว็บไซต์ให้ช่วยเล่าประสบการณ์การ เรียนเนติฯ  เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นๆ ที่ต้องการศึกษาและสอบเป็นเนติบัณฑิตต่อไป  ณ วินาทีนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจมาก ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร อย่างไรดี ความจริงก่อนหน้านี้ก็มีหลายคนมาถามข้าพเจ้าว่ามีวิธีเรียนอย่างไรให้จบ เนติฯ ภายใน 1 ปี   ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตอบไปว่า ข้าพเจ้าก็เรียนไปตามปกติ ไม่ได้มีเทคนิคพิเศษ หรือเคล็บลับพิเศษแต่อย่างใด จนมาวันนี้ ข้าพเจ้าได้กลับมานั่งคิดทบทวนว่าที่ผ่านมาในช่วงเวลาเรียนเนติฯนั้น ข้าพเจ้าได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งก็ค้นพบว่า จริงๆแล้วข้าพเจ้าก็เรียนไปตามปกติ ใช้ชีวิตตามปกติ แต่การเรียนและการใช้ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นไปอย่าง “มีระเบียบแบบแผน” ในการอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบ ซึ่งมีรายละเอียดพอที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังได้ดังต่อไปนี้

ก่อนการเรียนเนติฯ : แผนปฏิบัติการการฉีกเอกสารคำบรรยาย
ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ข้าพเจ้าได้สั่งซื้อเอกสารคำบรรยายเนติฯ สมัยที่ 63 ภาค1 ซึ่งตอนแรกที่สั่งก็เพราะอยากรู้ว่าคำบรรยายหน้าตาเป็นอย่างไร มีเนื้อหาอะไรบ้าง มีการจัดเรียงเนื้อหาอย่างไร โดยคำบรรยายจะถูกส่งมาที่บ้านของข้าพเจ้า อาทิตย์ละ1 เล่ม เมื่อได้คำบรรยายครบทั้ง16 เล่มแล้ว ข้าพเจ้าจึงเพิ่งสังเกตเห็นว่าในคำบรรยายเล่มหนึ่งๆประกอบไปด้วยหลายวิชาปน กัน เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือให้จบเป็นรายวิชาๆไป จึงทำให้รู้สึกว่ารูปแบบของคำบรรยายในลักษณะนี้ไม่เหมาะกับวิธีการอ่าน หนังสือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงนึกถึงรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยที่เคยพูดถึงการฉีกเอกสารคำบรรยาย แยกออกมาเป็นรายวิชา แล้วเอามารวมเล่มเป็นรายวิชาเอาไว้เพื่อความสะดวกในการอ่านแต่ละวิชา ทันใดนั้น ข้าพเจ้าจึงปฏิบัติการบรรจงฉีกๆๆแยกเอกสารคำบรรยายออกมาเป็นรายวิชา นำไปเย็บเล่มใหม่อย่างสวยงาม แล้วก็เก็บเข้าชั้นหนังสือไว้เหมือนเดิม ไม่ได้อ่านต่อ แต่ใครจะรู้ว่าการฉีกคำบรรยายในครั้งนั้น จะมีประโยชน์กับข้าพเจ้าในเวลาต่อมา เพราะข้าพเจ้าก็ใช้คำบรรยายสมัยที่ 63 เป็นหนังสือหลักในการเรียนเนติ ไม่ได้อ่านคำบรรยายสมัยที่ 64 เลย เนื่องจากคำบรรยายออกมาเป็นอาทิตย์ๆ ซึ่งในแต่ละเล่มก็มีหลายวิชาปนกัน แตกต่างจากวิธีการอ่านหนังสือของข้าพเจ้าดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการอ่านคำบรรยายสมัยที่ 63  ซึ่งได้ฉีกแยกออกมาเป็นรายวิชาแล้ว เป็นวิธีที่เหมาะสมกับข้าพเจ้า (แต่ละคนก็อาจจะถนัดหรือมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญคือ เราควรรู้ว่าเราถนัดแบบไหน แล้วก็ทำอย่างที่ตัวเองถนัด ไม่จำเป็นว่าจะต้องมานั่งฉีกคำบรรยายเสมอไป) หลายคนถามว่า เราเรียนเนติ ฯ สมัย64 แล้วไปอ่านคำบรรยายสมัย 63 ได้หรือ? สำหรับข้าพเจ้า คิดว่าได้ ไม่เป็นปัญหา เพราะเมื่อนำคำบรรยายของสองปีมาเทียบดูแล้ว พบว่าเหมือนกันเกือบทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ตอนเรียนเนติฯ ภาค2 (วิแพ่ง วิอาญา) ข้าพเจ้ายังอ่านคำบรรยายสมัยที่62 (เก่ากว่าอีก) เนื่องจากสมัยที่ 63  ขาดตลาด หาซื้อไม่ได้ในตอนนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันก็พบว่า สมัยที่62 กับ 64 ก็เหมือนกันเกือบทั้งหมดเช่นกัน

เมื่อเริ่มเปิดภาคเรียนเนติฯ
เมื่อข้าพเจ้าจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี ก็สมัครเรียนเนติฯต่อทันที  โดยข้าพเจ้าเรียนอย่างเดียว ไม่ได้ทำงานไปด้วย ข้าพเจ้าเริ่มอ่านคำบรรยายเนติฯ อย่างจริงจังก็เมื่อตอนเปิดภาคเรียนเนติฯแล้ว  เนื่องจากการเรียนเนติฯ ในแต่ละภาค มีเวลาเพียง 4 เดือน แต่เนื้อหานั้นเยอะเหมือนเอา 4 ปีตอนเรียนปริญญาตรีมารวมกัน แม้ว่าพวกเราทุกคนจะเคยเรียนกฎหมายจนจบปริญญาตรีมาแล้วก็ตาม แต่บางวิชาก็เรียนมาหลายปีแล้ว คงไม่มีใครจดจำสิ่งที่ตนเองเรียนมาแล้วได้ทั้งหมด     เป็นธรรมดาที่อาจจะเลือนๆลางๆ ลืมๆกันไปบ้าง ฉะนั้นสำหรับข้าพเจ้าซึ่งมีความตั้งใจจะจบเป็นเนติบัณฑิตไทยให้ได้ภายใน 1 ปี จึงคิดว่าแล้วเราต้องทำอย่างไรล่ะ อยากจบเร็วอย่างเดียว แต่หากไม่ทำอะไรเลย ก็คงเป็นแค่ความฝันต่อไป ข้าพเจ้าจึงเริ่มทำตามวิถีทางของข้าพเจ้า โดยมีการประเมินตนเอง  การวางแผนอ่านหนังสือ และการดูแลสุขภาพร่างกาย

สำหรับการประเมินตนเอง เนื่องจากหลักสูตรการเรียนเนติฯ ภาค1 โดยเฉพาะกฎหมายแพ่ง เนื้อหาค่อนข้างจะเยอะ เวลาเรียน 4 เดือน สำหรับข้าพเจ้าคงจะอ่านไม่ทัน เพราะข้าพเจ้าเป็นคนอ่านหนังสือช้า นอกจากนี้ยังมีอีกหลายวิชาที่ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนที่ธรรมศาสตร์มาก่อน เนื่องจากเป็นวิชาเลือก และข้าพเจ้าก็ไม่ได้เลือกเรียน ทำให้ข้าพเจ้าต้องมานับ 1 ใหม่ในวิชาเหล่านั้น ดังนั้นในเบื้องต้นข้าพเจ้าจึงนำตารางสอนมาตรวตจสอบดูว่าในแต่ละภาคเรียน สอนวิชาอะไรบ้าง มีขอบเขตแค่ไหน ส่วนไหนออกข้อสอบกี่ข้อ การที่ข้าพเจ้ามานั่งวิเคราะห์ข้อสอบ ไม่ใช่เพื่อจะตัดวิชาใดวิชาหนึ่งทิ้งไปโดยไม่อ่าน ข้าพเจ้าเลือกที่จะไม่ตัดวิชาใดทิ้งเลย แม้ว่าบางวิชาข้าพเจ้าจะไม่เคยเรียนมาก่อนก็ตาม เพราะข้าพเจ้าถือว่า ทุกข้อมีคะแนนเท่ากัน ข้าพเจ้าจะไม่ตัดโอกาสตัวเองในการที่จะคว้าคะแนนในแต่ละข้อ   ต่อมาข้าพเจ้าก็จะประเมินตนเองโดย ดูว่าตนเองถนัดวิชาไหนมากที่สุด ถนัดวิชาไหนรองลงมา      และวิชาไหนไม่ถนัดหรือไม่รู้เรื่องหรือไม่เคยเรียนมาก่อนเลย  เมื่อประเมินตนเองแล้ว  ก็จะกำหนดหลักการในการอ่านหนังสือของตนเองว่าวิชาไหนค่อนข้างถนัดแล้วก็อ่าน คำบรรยายเนติฯ เฉพาะในส่วนที่สำคัญหรือในประเด็นที่ยังคงสงสัยอยู่เท่านั้น  วิชาที่ถนัดรองลงมาก็จะอ่านพอเป็นการทบทวนความจำไม่ให้หลงลืม  ส่วนวิชาที่ไม่ถนัดหรือไม่รู้เรื่องหรือไม่เคยเรียนมาก่อน  ก็จะอ่านคำบรรยายของเนติฯ ที่ได้แยกเป็นวิชาๆ ไว้อย่างละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีบางวิชาที่ข้าพเจ้าไม่ถนัดจริงๆ แต่อ่านคำบรรยายแล้วข้าพเจ้าก็ยังคงไม่เข้าใจอยู่ รู้สึกว่าต่อให้อ่านต่อไป ก็อาจจะเสียเวลา ข้าพเจ้าก็จะหยุดอ่านคำบรรยายวิชานั้นๆ แล้วหาหนังสือสรุปที่อ่านเข้าใจง่ายๆมาอ่านแทน

เมื่อประเมินตนเองเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการวางแผนอ่านหนังสือ โดยข้าพเจ้าจะเอาหนังสือที่จะอ่านทั้งหมดมากองรวมกัน ซึ่งก็เยอะอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มาก เพราะข้าพเจ้าเลือกแล้วว่าจะอ่านวิชาไหนทั้งหมด บางส่วน หรือไม่อ่านเลย(ท่องแต่ตัวบท เพราะพอจะมีพื้นฐานบ้างแล้ว)  หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็จะทำตารางกำหนดเลยว่า วันไหนจะอ่านวิชาอะไร กี่หน้า และก็ตั้งใจว่าจะต้องทำตามแผนที่วางไว้ให้ได้  ในตารางของข้าพเจ้านั้น ไม่ใช่มีแต่เวลาอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องมีเวลานอนและพักผ่อนอย่างเพียงพอด้วย แม้ว่าช่วงเวลาเรียนเนติฯ    จะเป็นช่วงเวลาที่หนักและทรหดอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่มีวันไหนที่ข้าพเจ้าอดนอนเลย เพราะข้าพเจ้าถือว่าการพักผ่อนอย่างเพียงพอก็เป็นเรื่องสำคัญ หากว่านอนน้อยเกินไป ง่วงงัวเงีย สมองไม่ปลอดโปร่ง ก็ทำให้อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง อ่านไปก็ไม่เข้าใจ และจำไม่ได้    นอกจากนี้ การวางตารางอ่านหนังสือ แม้จะเป็นการสร้างวินัยให้กับตนเอง แต่เราก็อย่าให้ตารางที่เราตั้งไว้มากดดันตัวเรามากเกินไป ทุกอย่างมีการยืดหยุ่นกันได้ ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่าตารางที่ข้าพเจ้าทำไปนั้นล่มแล้วล่มอีก ไม่เคยจะเป็นไปตามตารางที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก เนื่องจากข้าพเจ้าชอบดูซีรี่เกาหลีเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้เสียเวลามาก ทั้งทำให้การอ่านหนังสือไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่พอรู้ว่าตารางล่มแล้ว ข้าพเจ้าก็จะไม่ได้ปล่อยเลยไป แต่จะทำตารางใหม่ขึ้นมา ไม่ล้มเลิกความตั้งใจเดิม ทำตารางใหม่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า ในเวลาที่เหลืออยู่เราจะอ่านทันมั้ย ควรอ่านอะไรก่อน ถ้ามีวี่แววว่าจะไม่ทันแล้วควรทำอย่างไร ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ วิธีการอ่านหนังสือไปเรื่อยๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์          

นอกจากการประเมินตนเอง และ การวางแผนอ่านหนังสือแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพก็ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน     เพราะไม่ว่าเราจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน พร้อมแค่ไหน แต่หากวันสอบป่วย มาสอบไม่ได้ ที่เตรียมๆมาก็จบกัน   ข้าพเจ้ารู้ว่าตัวเองเป็นคนป่วยง่าย จึงต้องมีการวางแผนอ่านหนังสือที่ดี เพื่อไม่ให้ในแต่ละวันต้องหักโหมอ่านหนังสือมากเกินไป และเพื่อให้มีเวลาพักผ่อน ทำอย่างอื่นบ้าง ชีวิตจะได้ไม่เครียด นอกจากนี้จะได้ไม่ต้องเจอกับสภาวะไฟลนก้น อ่านหนังสือไม่ทัน  มาอ่านทั้งหมดใกล้สอบทีเดียว ซึ่งอาจจะต้องอดหลับอดนอนทำให้ป่วยได้ โดยเฉพาะวันก่อนสอบ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่สมองจะได้ปลอดโปร่งตอนทำข้อสอบ

                ประโยชน์ของการทำข้อสอบเก่า
การทำข้อสอบเก่าเป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้แนวข้อสอบและรู้แนวทาง วิธีการเขียนตอบ  ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอแนะนำว่าผู้ที่ต้องการสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไทย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นฝึกฝนทำข้อสอบเก่า (ความจริงไม่ใช่เฉพาะเนติบัณฑิตเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะสนามสอบใดๆ ก็ควรจะทำข้อสอบเก่าของสนามนั้นๆ เพื่อที่จะได้รู้แนวทางการออกข้อสอบว่าเป็นเช่นไร) สำหรับตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำข้อสอบเก่าเฉพาะตอนใกล้สอบเท่านั้น  แต่จะนำข้อสอบเก่ามาอ่านเวลาที่รู้สึกว่าตนเองเริ่มออกนอกลู่นอกทาง เช่น ตอนที่สติหลุดไปหมกมุ่นกับซีรี่เกาหลีมากเกินไป ข้าพเจ้าก็จะเอาข้อสอบเก่ามาอ่าน พอทำไม่ได้ ก็จะเกิดความสำนึกว่าควรกลับไปอ่านหนังสือได้แล้วนะ  ซึ่งข้อสอบเก่าก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นเตือนข้าพเจ้าว่าจงอ่านหนังสือต่อ ไป  ข้าพเจ้าไม่ได้นำข้อสอบเก่ามาฝึกเขียนทุกข้อ แต่จะเลือกนำมาฝึกเขียนเพียงบางข้อเท่านั้น เนื่องจากเวลามีจำกัด ส่วนข้ออื่นๆ ข้าพเจ้าจะอ่านและฝึกคิดในใจว่าควรจะตอบว่าอย่างไร

                วิธีการท่องตัวบทของข้าพเจ้า
วิธีการนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน สำหรับข้าพเจ้านั้น ไม่ได้ท่องตัวบททุกวัน แต่จะท่องตอนใกล้สอบ เพราะข้าพเจ้าเป็นคนความจำสั้น ท่องวันนี้ ลืมของเมื่อวาน  การท่องตัวบท ข้าพเจ้าไม่ได้ท่องเป๊ะๆ แต่จำเฉพาะใจความสำคัญ ซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าไม่เหนื่อยมาก เพราะใจความสำคัญของตัวบทก็เป็นสิ่งที่เราเข้าใจมาแล้วตอนอ่านคำบรรยาย สิ่งที่จะต้องท่องจำเพิ่มเติมก็มีเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น  ส่วนเรื่องเลขมาตรานั้น ข้าพเจ้าไม่ได้ท่อง แต่บางมาตราจำได้เองเนื่องจากอ่านเจอบ่อย   ตอนเขียนข้อสอบ ข้าพเจ้าก็เขียนเลขมาตราเฉพาะที่จำได้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่กฎหมายแพ่งจะไม่ได้เขียนเลขมาตรา เพราะไม่ได้ท่องเลขมาตราไป จำไม่ได้

                การแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ
การที่เราอ่านหนังสืออยู่คนเดียว บางทีอาจจะเกิดความเข้าใจผิด โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เราเข้าใจมานั้นมันผิด  การคุย ปรึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น ถกเถียงปัญหากฎหมายกับเพื่อน ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้เข้าใจได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น และทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย อันนี้เป็นประสบการณ์ตรง เนื่องจากข้าพเจ้าอ่านหนังสือเอง ไม่ค่อยได้เข้าเรียน บางครั้งข้าพเจ้าอ่านแล้วเข้าใจผิด การคุยกับเพื่อน ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจอะไรมากขึ้น นอกจากนี้การที่เราถามเพื่อนที่เข้าเรียนยังทำให้รู้ด้วยว่าอาจารย์เน้น เรื่องอะไรเป็นพิเศษ เราก็จะได้ไปเน้นอ่านเรื่องนั้นๆเพิ่มขึ้น  ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆจะมีการตั้งกลุ่มใน WhatsApp ช่วงใกล้สอบ เอาไว้ถามในสิ่งที่แต่ละคนสงสัยกัน หรืออาจารย์เน้นอะไรก็จะบอกกัน ซึ่งก็ขอขอบคุณเพื่อนๆ มากๆที่ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ควรมีวิจารณญาณในการฟังคำตอบจากเพื่อน เพราะบางทีเพื่อนก็อาจจะเข้าใจผิดไม่ต่างจากเรา (อันนี้ก็ประสบการณ์ตรง) ทางที่ดีก็ควรจะช่วยกันหาคำตอบจากหนังสือ หรือ แนวคำพิพากษาเพื่อจะได้ยืนยันในสิ่งที่แต่ละคนสงสัยได้อย่างถูกต้องตรงจุด

                อย่าเก็งข้อสอบ
ข้าพเจ้าเห็นว่า การเก็งข้อสอบ ตัดตรงนั้น ไม่อ่านตรงนี้ เพราะคิดว่าจะไม่ออกสอบ เป็นวิธีของคนที่ไม่ได้เตรียมตัวในการสอบ และเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง การเก็งข้อสอบควรจะเป็นไปเพื่อให้เราเน้นอ่านตรงจุดนั้นมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่ทิ้งส่วนอื่นๆไปเลย  เราไม่ควรจะไว้ใจใคร หรือฝากชีวิตเอาไว้กับสำนักไหนทั้งนั้น เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ใช่คนออกข้อสอบ  ตอนเรียนเนติฯ ข้าพเจ้าไม่ได้เรียนพิเศษอะไรที่ไหนเลย แต่ข้าพเจ้าก็ได้รับเก็งข้อสอบของหลายๆสำนัก และก็ดีใจมากที่อ่านไปเฉยๆ ไม่ได้เก็งตาม สิ่งที่อ่านๆ มาก็ไม่ได้ทิ้ง ปรากฏว่าในห้องสอบ ก็ไม่ได้มีข้อไหนตรงกับที่มีการเก็งกันมาเลย แต่สิ่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้าสอบผ่านมาได้ ก็คือ สิ่งที่ข้าพเจ้าอ่านมาเองล้วนๆ

               การปฏิบัติตนในวันสอบ
คงไม่มีใครที่ไม่ตื่นเต้นในวันสอบ เราทุกคนล้วนเป็นกังวลว่าจะทำข้อสอบได้มั้ย จะผ่านมั้ย แต่แม้ว่าจะกังวลไป ก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะจะทำได้หรือไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเตรียมตัวมาพร้อมแค่ไหน เพราะฉะนั้น วันสอบ ก็ควรทำใจให้สบายๆ อย่าไปเครียด  10 นาทีก่อนสอบ ข้าพเจ้าจะเลิกอ่านทุกสิ่ง กลับมาตั้งสติ เตรียมปากกา บัตรสอบให้พร้อม ทำสมองให้ปลอดโปร่งเข้าไว้  เมื่อเข้าไปนั่งในห้องสอบ  ก็มุ่งแต่ทำข้อสอบ ไม่ต้องคิดอะไรฟุ้งซ่าน สำหรับเทคนิคการทำข้อสอบ ก็แล้วแต่คนถนัด หลายๆคนจะแนะนำให้อ่านข้อสอบทุกข้อตั้งแต่1-10 แล้วค่อยเลือกทำข้อที่เราทำได้ก่อน  แต่สำหรับข้าพเจ้า ไม่ได้ทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าทำไปทีละข้อเลย โดยอ่านโจทย์ข้อ 1 ก่อน ทำได้ก็ทำเลย ทำไม่ได้ก็วงไว้ว่าทำไม่ได้ แล้วข้ามไปทำข้อต่อไป ทำไปเรื่อยๆจนครบ10ข้อ แล้ววนกลับมาทำข้อที่ทำไม่ได้อีกรอบ โดยการทำข้อสอบ ข้าพเจ้าจะบริหารเวลา กำหนดว่าในข้อหนึ่งๆ จะต้องทำให้เสร็จภายใน 24 นาที  (มีเวลาทำข้อสอบทั้งหมด 4 ชั่วโมง เท่ากับ 240 นาที ข้อสอบมี 10 ข้อ เฉลี่ยแล้วมีเวลาทำข้อสอบข้อละ 24 นาที) สำหรับในข้อที่ข้าพเจ้าไม่รู้ธงคำตอบ ก็จะวางหลักกฎหมาย แล้วอธิบายหลัก ปรับเข้ากับข้อเท็จจริงไป ถึงแม้ธงคำตอบผิดก็ยังได้คะแนน ถ้าเราวางหลักกฎหมายถูก ยังไงก็มีคะแนน ส่วนข้อไหนที่ข้าพเจ้างงๆ ไม่รู้ว่าถามอะไร ก็จะข้ามไปทำข้ออื่นก่อน พอวกกลับมาใหม่ เริ่มตั้งสติอีกรอบ นำสิ่งที่อ่านมาทั้งหมดมานั่งวิเคราะห์ดีๆว่ าโจทย์ต้องการอะไร อย่างน้อยเราก็รู้ชัดเจนอยู่แล้วว่าโจทย์ถามเรื่องอะไร เช่น แพ่ง ข้อ 1 เป็นเรื่องทรัพย์  ก็กลับมาคิดว่า ทรัพย์มีหัวข้ออะไรบ้าง สิ่งที่โจทย์ถามใช่เรื่องนี้มั้ย ค่อยๆไล่ไปทีละเรื่อง ยังไงขอบเขตก็ต้องอยู่ในเรื่องทรัพย์ ไม่หนีไปไหน

สอบเสร็จวันแรก เดินออกจากห้องสอบ มักมีคนเดินแจกธงคำตอบ พอได้ธงมาก็อดไม่ได้ที่จะอ่าน อยากรู้ว่าเราทำถูกกี่ข้อ ข้อไหนตรงกับที่เค้าแจกก็ดีอกดีใจ ข้อไหนไม่ตรงก็เศร้า หมดกำลังใจ หมดเรี่ยวหมดแรงจะอ่านวิชาที่ต้องสอบอาทิตย์หน้าต่อไป เพราะฉะนั้นใครที่ไม่เข้มแข็งพอ ก็ไม่ควรอ่านธงคำตอบจนกว่าจะสอบเสร็จทุกวิชา ถ้าเค้าแจกก็เดินหนีไปเลย ไม่ต้องไปรับมา เดี๋ยวอดใจไม่ได้หยิบขึ้นมาดู ยุ่งเลยทีนี้  อีกอย่าง ธงที่แจกก็ไม่ใช่ของเนติฯ  อาจจะไม่ได้ถูกต้อง100% บางทีอ่านไปก็เฟลเปล่าๆ รอไปอ่านธงของเนติฯ เลยชัวร์กว่า  เอาเวลาที่เหลือไปเตรียมพร้อมสอบอาทิตย์ต่อไป มีประโยชน์กว่าเป็นไหนๆ

               ฝากถึงทุกท่าน
อ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะเห็นได้ว่าการเรียนเนติฯของข้าพเจ้าไม่ได้มีเคล็ดลับ เทคนิคอะไรเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าเพียงแต่ทำตามหลักการสามอย่างตามที่กล่าวมา คือ ประเมินตนเอง วางแผนการอ่านหนังสือ และดูแลรักษาสุขภาพ นอกจากหลักการดังกล่าวแล้วข้าพเจ้ายังใช้เทคนิคในการฉีกคำบรรยาย การทำข้อสอบเก่า การท่องตัวบท การไม่เก็งข้อสอบ การปฏิบัติตนในวันสอบมาเป็นตัวช่วยในการสอบเนติฯ  ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีง่ายๆที่ทุกคนสามารถทำได้ การเรียนเนติฯเป็นสิ่งที่ยากก็จริง แต่ถ้าเรายึดมั่นในเป้าหมายมีการวางแผนที่ดีและตั้งใจทำตามแผนอย่างจริงจัง แต่ไม่กดดันจนเกินไป   เราก็ประสบความสำเร็จได้  ในขณะเรียนเนติฯ ข้าพเจ้ายังคงใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป ยังทานข้าววันละ 3 มื้อ นอนวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ออกไปเจอเพื่อนๆ  ดูหนังฟังเพลง แต่ทุกอย่างต้องมีขีดจำกัด ไม่ใช่ตามอำเภอใจจนไม่ได้อ่านหนังสือ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือต้องมีวิธีการจัดการกับความเครียด คนเรียนเนติฯมักจะเครียด ความเครียดมีแต่จะบั่นทอนจิตใจและสุขภาพ  ฉะนั้น เราต้องไม่กดดันตัวเองมากเกินไป    การเรียนเนติฯ ยังไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าการเรียนเนติฯ   เมื่อรู้สึกเครียด ก็พักผ่อนบ้าง หากิจกรรมที่เราชอบทำเพื่อคลายเครียด หายเครียดแล้วก็กลับมาอ่านต่อไป

ข้าพเจ้าหวังว่าเทคนิควิธีการธรรมดาๆเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่ต้องการประสบความสำเร็จในการเป็นเนติบัณฑิตไทย ประสบการณ์ทั้งหมดทั้งปวงที่ข้าพเจ้าบอกเล่ามานี้เป็นเพียงสิ่งที่ข้าพเจ้า ได้ปฏิบัติมา ซึ่งแต่ละคนล้วนมีวิธี ความชอบ ความถนัดที่แตกต่างกันไป เราควรจะหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเรา แล้วปฏิบัติตามวิธีนั้นๆอย่างตั้งใจจริงเพราะความตั้งใจจริงที่จะทำอะไรซัก อย่างเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราทำได้เช่นนี้แล้วความฝันที่จะเป็นเนติบัณฑิตไทย ก็อยู่ไม่ไกลเกินจะเอื้อมถึง ท้ายนี้ ขอให้ฝันของทุกท่านเป็นจริงนะคะ^^

นัชชา  เวทย์วิไล