Blog categories

Latest posts

ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

.

ความรับผิดทางอาญา และทางออกของคดี "น้องเอย"

                    

                   วันนี้ (17 เมษายน 2556) น้องเอย นักเรียนอนุบาลวัย 3 ขวบ ที่คุณครูลืมไว้ในรถตู้ เป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด จนเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจ และถูกส่งเข้ารักษาตัวเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ที่ห้อง ICU ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบแล้ว ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ตลอดจนคนไทยทั่วประเทศที่ติดตามข่าวเอาใจช่วยน้องเอยให้มีปาฏิหาริย์เกิด ขึ้น

                    ถ้าเป็นสมัยก่อน คนไทยไม่น้อยจะนึกโทษเวรโทษกรรม หรือคิดปลงว่า ถึงคราวตาย หรือคราวเคราะห์ของผู้ตายหรือญาติมิตรผู้สูญเสีย ความเชื่อเช่นนี้ก็มีข้อดีคือ ทำให้คนไทยยอมให้อภัยและอโหสิกรรมให้แก่กัน เพราะคนตายไปแล้วก็ไม่อาจฟื้นกลับคืนมาได้ จะผูกใจเจ็บกันไปทำไม

                    แต่เมื่อคนไทยได้รับการศึกษาสูงขึ้น ก็เริ่มรู้จักปกป้องสิทธิของตนเอง จะสังเกตได้จากการฟ้องร้อง นำคดีขึ้นสู่ศาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มานั่งโทษเวรโทษกรรมกันอีกต่อไป

                    Thai Law Consult ได้นำเรื่องความรับผิดทางแพ่ง (ละเมิด) ที่แตกต่างกันระหว่าง โรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน มาลงไว้ในเรื่องที่ 18 แล้ว

                    วันนี้พี่ตุ๊กตา ทนายณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท. 64 จะขอนำเสนอเรื่องความรับผิดในทางอาญา ซึ่งจะใช้หลักกฎหมายเดียวกันทั้งโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน และแนะนำทางออกของคดีนี้ค่ะ

                   คดีนี้ ผู้กระทำความผิดทางอาญา คือ คุณครูพี่เลี้ยง และ คนขับรถตู้ ซึ่งจะต้องดูแลนักเรียนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน แต่คุณครูพี่เลี้ยงและคนขับรถ ปราศจากความระมัดระวัง ไม่มีความรอบคอบตรวจตราให้ละเอียด ตามหน้าที่ของคุณครูที่จะต้องคอยตรวจนับเด็กให้ครบถ้วน ก่อนจะปิดประตูรถ เบื้องต้นคาดว่าคุณครูและคนขับรถคงไม่มีเจตนาที่จะลืมน้องเอยไว้ในรถตู้ จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 4

                    ในกรณีของคนขับรถ ก็ต้องดูว่า ตามหน้าที่แล้ว เขามีหน้าที่ตรวจตราให้เด็กทุกคนลงจากรถ ก่อนจะล็อครถหรือไม่ ถ้าคนขับรถไม่มีหน้าที่นี้ ก็อาจจะไม่มีความผิดทางอาญาก็ได้

                   ส่วนโรงเรียน หรือเจ้าของโรงเรียน ไม่มีความผิดทางอาญา เพราะไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้คุณครูพี่เลี้ยงหรือคนขับรถ ลืมเด็กไว้ในรถตู้ ทางโรงเรียนเพียงแต่ต้องร่วมรับผิดทางแพ่งกับคุณครูและคนขับรถเท่านั้น

                   ทีนี้มาดูว่า คุณครูพี่เลี้ยงต้องรับผิดอะไรบ้าง ...

                   ตอนแรกที่น้องเอยยังไม่ตาย คุณครูมีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

                   แต่ต่อมา น้องเอยตาย เพราะแพทย์ไม่อาจจะยื้อชีวิตไว้ได้ เนื่องจากร่างกายขาดอ๊อกซิเจนเป็นเวลานาน จนอวัยวะสำคัญสูญเสียการทำงานตามหน้าที่ปกติไปแล้ว สาเหตุการตายของน้องเอย ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากสาเหตุอื่น ดังนั้น จึงถือว่า น้องเอยตายเพราะติดอยู่ในรถนาน จึงต้องปรับเปลี่ยนฐานความผิดของคุณครูใหม่เป็น ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

 

ทางออกของคดี

                   เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงเชื่อว่าอัยการคงจะสั่งฟ้องแน่นอน และหากศาลท่านจะลงโทษก็จะลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291

                   แต่คุณครูมีทางออกที่ทำให้ไม่ต้องถูกลงโทษ จำคุก คือ คุณครูจะต้อง "บรรเทาผลร้าย" ให้แก่ผู้เสียหาย คือ พ่อแม่ของน้องเอย ตามหลักมนุษยธรรม และหลักกฎหมาย โดยการชดใช้ค่าเสียหายตามสมควรแก่ฐานานุรูปของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพ่อแม่น้องเอย และ ฝ่ายคุณครูพี่เลี้ยง

                  ถ้าคุณครู สามารถ "บรรเทาผลร้าย" โดยการชดใช้ค่าเสียหายให้กับพ่อแม่น้องเอยจนเป็นที่พอใจ และคุณครูมีกำลังพอที่จะจ่ายให้ได้แล้ว ศาลท่านก็จะเมตตา "รอลงอาญา" เท่านั้น

 

                   เหตุการณ์นี้ ถือเป็นอุทธาหรณ์ให้กับคุณครูทุกท่าน ซึ่งพื้นฐานจิตใจมีเมตตาและผูกพันต่อเด็กนักเรียนในความดูแล ขอให้มีกำลังใจปฏิบัติหน้าที่อันทรงคุณค่านี้ต่อไปด้วยความระมัดระวังรอบคอบ โดยไม่ย่อท้อ ให้สมกับที่ผู้ปกครองได้ไว้วางใจมอบบุตรหลานอันเป็นที่รักยิ่งให้อยู่ในความ ดูแลของท่าน

 

หมายเหตุ : พี่ตุ๊กตา ปรับหลักกฎหมาย จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ได้รับจากสื่อสารมวลชน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หากมีข้อเท็จจริงที่ละเอียดมากกว่านี้

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 4

"กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

"ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท"

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

"ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78

"เมื่อปรากฎว่ามีเหตุบรรเทาโทษ...ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่ง ของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้...เหตุบรรเทาโทษนั้นได้แก่ ผู้กระทำผิดรู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น..."

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

"ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาล จะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมา ก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความ ผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึง ถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัยอาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว เห็นเป็นการสมควรศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการ ลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลา ที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดย จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้"