Blog categories

Latest posts

ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

ถ้าลูกจ้างได้ทำละเมิด เป็นผลจากการปฏิบัติงานในหน้าที่แล้ว

วิธีปฏิบัติงานของลูกจ้างจะเป็นวิธีที่ทำการ โดยจงใจละเมิดก็ดี โดยประมาทเลินเล่อก็ดี โดยไม่สุจริตเพื่อผลส่วนตัวของลูกจ้างก็ดี หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างก็ดี

ก็เป็นแค่วิธีปฏิบัติงานนั้นไม่ชอบ แต่ก็ยังเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ ยังถือเป็นการกระทำในทางการที่จ้างอยู่นั่นเอง

.

กรณีศึกษา "นักเรียน" กับความรับผิดทางละเมิดของ ครู อาจารย์ โรงเรียน

                    เมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมา หลาย ๆ ท่านคงได้ทราบข่าวเด็กอนุบาลคนหนึ่ง ซึ่งคุณครูลืมไว้ในรถตู้ของโรงเรียน และติดอยู่ในรถนานหลายชั่วโมง จนขาดอากาศหายใจ สมองบวม อาการสาหัสจนต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU ของโรงพยาบาล จนถึงวันนี้ (15 เมษายน 2556) อาการก็ยังน่าเป็นห่วงยิ่งนัก

                    ไม่มีใครอยากให้ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีคำถามตามมาว่า ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

 

                    ทีมทนาย Thai Law Consult เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นที่แน่นอนว่าทุกท่านจะต้องมีลูกหรือหลานที่กำลังศึกษาอยู่ทั้งใน โรงเรียนรัฐบาล หรือ โรงเรียนเอกชน เมื่อส่งเด็กไปโรงเรียนแล้ว ความรับผิดชอบย่อมตกอยู่ที่ ครู อาจารย์ หรือ โรงเรียน ที่จะต้องดูแลเด็กในความรับผิดชอบของตนเอง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นกับเด็กที่ตนรับผิดชอบดูแลอยู่ ครู อาจารย์ หรือ โรงเรียน อาจต้องรับผิดกับเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย

                    พี่ตุ๊กตา ณุมาพร พัฒนพงศธร น.บ.ท. 64 ได้ทบทวนหลักกฎหมายและความรับผิดทางละเมิดของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอแยกความรับผิดของ ครู อาจารย์ หรือ โรงเรียน เป็น 2 กรณี คือ โรงเรียนรัฐบาล และ โรงเรียนเอกชน

กรณี โรงเรียนรัฐบาล

                    ถ้าเป็นโรงเรียน รัฐบาล ความรับผิดของ ครู อาจารย์ หรือ โรงเรียน จะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) และ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

                    พระราชบัญญัติความ รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งของฝ่ายปกครอง ในกรณีที่ข้าราชการครูซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปกระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถานศึกษาเอง ทั้งกรณีได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และการกระทำที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ ข้าราชการครูและสถานศึกษาจะต้องมีความรับผิดหรือไม่ เพียงใด ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

 

                    ขอยกตัวอย่าง ซึ่งปรับจากข้อสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 60

                    นางแอนรับราชการครู เป็นครูชั้นประถมโรงเรียนวังทอง สังกัดกรุงเทพมหานคร วันหนึ่ง นางแอนทำหน้าที่เป็นครูเวรที่ต้องนำเด็กนักเรียนขึ้นรถยนต์ของโรงเรียนไปส่ง ตามบ้านหลังเลิกเรียน ขณะรถจะออกจากโรงเรียน
นางสาวดรุณซึ่งเป็นญาติของนางแอนมาตามบอกว่าบุตรสาวอายุ 3 ขวบ ของนางแอนตัวร้อนเป็นไข้ อยู่ที่บ้าน
ให้รีบกลับไปรับบุตรพาไปหาแพทย์ นางแอนจึงให้นางสาวดรุณไปกับรถช่วยนําเด็กนักเรียนไปส่งตามบ้านแทน และได้กําชับนางสาวดรุณใหคอยระวังเด็กชายเบิ้มนักเรียนที่อยู่บนรถโดยบอกว่า ให้นั่งอยู่ใกล้ ๆ เพราะเด็กชายเบิ้ม
เป็นเด็กที่มีนิสัยเกเรชอบทําร้ายเด็กนักเรยนที่เล็กกว่า ระหว่างทางเด็กชายเบิ้มซึ่งนั่งอยู่ท้ายรถติดกับนางสาวดรุณ ได้เดินไปด้านหน้าเล่นกับเด็กนักเรียนคนอื่น นางสาวดรุณก็ไม่ว่าอะไร เด็กชายเบิ้มเล่นกับเด็กอื่นได้พักหนึ่งก็ชกถูก
ตาขวาของเดกชายน้อยนักเรียนอีกคนหนึ่งจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

                   ให้วินิจฉัยว่า เด็กชายน้อยมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเด็กชายเบิ้ม นางแอน นางสาวดรุณและ
กรุงเทพมหานครได้หรือไม

ธงคำตอบ     เด็กชายเบิ้มได้ชก เด็กชายน้อยจนได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ตาขวา เป็นการกระทำละเมิดต่อเด็กชายน้อยโดยจงใจ เด็กชายเบิ้มต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แม้เด็กชายเบิ้มจะเป็นผู้เยาว์ ก็ต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดตามมาตรา 429

                    ความเสียหายที่เด็ก ชายเบิ้มก่อขึ้นขณะอยู่ในความดูแลของนางสาวดรุณ ซึ่งนางแอนได้กำชับแล้วว่าให้คอยระวังเด็กชายเบิ้มซึ่งมีนิสัยเกเร ชอบทำร้ายเด็กนักเรียนที่เล็กกว่า แต่นางสาวดรุณก็ปล่อยให้เด็กชายเบิ้มไปเล่นกับเด็กนักเรียนอื่นที่ด้านหน้า รถโดยมิได้ห้ามปรามจนเกิดเหตุขึ้น แสดงว่านางสาวดรุณมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลเด็กชายเบิ้ม ทั้งที่นางแอนได้กำชับแล้ว นางสาวดรุณในฐานะผู้รับดูแลผู้เยาว์จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 430

                    ส่วนนางแอนตัวการได้ มอบให้นางสาวดรุณไปดูแลนักเรียนแทน จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่นางสาวดรุณตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่ได้ รับมอบหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 430

                    สำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่โรงเรียนวังทองอยู่ในสังกัด เมื่อนางแอนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนมีหน้าที่นำนักเรียนไปส่งตามบ้านได้มอบ หมายให้นางสาวดรุณเป็นผู้ดูแลนำไปส่งแทน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ กรุงเทพมหานครจึงต้องรับผิดต่อเด็กชายน้อยในผลแห่งละเมิดนั้น

                    ดังนั้น เด็กชายน้อยอาจฟ้องเด็กชายเบิ้ม นางสาวดรุณ และ กรุงเทพมหานคร ให้รับผิดได้ แต่จะฟ้องนางแอน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครไม่ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

 

กรณี โรงเรียนเอกชน

                    สำหรับโรงเรียนเอกชน ครู อาจารย์ หรือ ผู้ดูแล เด็กนักเรียน จะอยู่ในฐานะ ลูกจ้าง เมื่อครูมีหน้าที่ในการจัดการดูแลเด็กนักเรียน จะต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและป้องกันเหตุการณ์ที่อาจไม่คาดคิดว่าจะเกิด ขึ้นได้ทุกเมื่อ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าครูกระทำการหรือไม่กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ครูก็จะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดนั้น ก็จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งผลที่เกิดขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438

                    เนื่องจากเป็นการทำ ละเมิดที่เกิดขึ้นจากครูที่ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง โรงเรียนในฐานะ นายจ้าง จะต้องรับผิดร่วมกับครูที่เป็นลูกจ้างด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

 

 

หลักกฎหมาย ความรับผิดของนายจ้าง ป.พ.พ. มาตรา 425    

"นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"  

 

นายจ้างกับลูกจ้างนั้น มีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน (ป.พ.พ. มาตรา 575) นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างก็แต่เฉพาะในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น ไม่ใช่ต่อนายจ้าง
  2. ลูกจ้างกระทำละเมิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง
  3. ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง

การกระทำอย่างไรเป็นละเมิด โปรดดูในละเมิดที่ Thai Law Consult นำมาลงไว้ก่อนนี้แล้ว

  • เมื่อการกระทำของลูกจ้างเป็นละเมิด ผู้เสียหายจะฟ้องทั้งนายจ้างและลูกจ้างให้ร่วมกันรับผิด หรือฟ้องคนใดคนหนึ่งให้รับผิดก็ได้ แล้วแต่จะเลือก อันเป็นสิทธิของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ในการเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291

1).   ลักษณะของลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน มีดังนี้

          (1) รับสินจ้างจากนายจ้าง     (2) ทำงานให้นายจ้างและอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง

  • นายจ้างโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภาย นอก โดยลูกจ้างยินยอม ตามมาตรา 577 วรรคแรก ถือว่า สัญญาจ้างสิ้นสุด นายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างต่อไป แม้เป็นการโอนสิทธิชั่วคราว นายจ้างก็ไม่ต้องร่วมรับผิด เช่น เจ้าของเรือยนต์ให้บุคคลอื่นเช่าเรือไปพร้อมกับให้ลูกเรือรับเงินเดือนจาก ผู้เช่า เจ้าของเรือไม่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกเรือระหว่างที่โอนสิทธิไป นั้น (ฎีกาที่ 316 - 318/2500)
  • ลูกจ้างให้บุคคลภายนอกทำงานแทน โดยนายจ้างยินยอม ตามมาตรา 577 วรรค 2 ถือว่า บุคคลภายนอกนั้นเป็นลูกจ้าง แม้ลูกจ้างให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนโดยนายจ้างไม่ยินยอม หรือฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด เพราะถือว่า ลูกจ้างประมาทเลินเล่อในการให้บุคคลอื่นทำงานแทนตน (ฎีกาที่ 472/2524)
  • เมื่อนายจ้างเข้าร่วมกิจกรรมกับบุคคล อื่น ถือว่า บุคคลนั้นเป็นนายจ้างเพิ่มขึ้นด้วย ต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างเช่นเดียวกับนายจ้างเดิม เช่น นายจ้างนำรถยนต์พร้อมด้วยลูกจ้างคนขับรถเข้าร่วมรับส่งคนโดยสารในเส้นทางของ ผู้รับสัมปทาน ถือว่า ผู้รับสัมปทานเป็นนายจ้างด้วย (ฎีกาที่ 1895/2521, 1848/2524)

2).   ลูกจ้างละเมิดในทางการที่จ้าง

               การที่ลูกจ้างกระทำไปนั้น ต้องเป็นการปฏิบัติให้งานที่จ้างลุล่วงไป และเหตุเกิดขึ้น เป็นผลจากการปฏิบัติงานนั้น มิใช่แต่เพียงเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ลูกจ้างกำลังปฏิบัติงาน ที่จ้างอยู่เท่านั้น ดังนั้น แม้จะอยู่ในระหว่างเวลาที่ลูกจ้างกำลังปฏิบัติงาน ถ้าเกิดเหตุขึ้น มิใช่ผลจากการปฏิบัติงาน ย่อมมิใช่กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง แต่ถ้าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการปฏิบัติงาน แม้จะไม่อยู่ในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ก็เป็นการละเมิดในทางการที่จ้าง

  • ลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุก โดยผู้จ้างบรรทุกจะจ้างกับเจ้าของรถหรือคนขับก็ได้ ถ้าลูกจ้างรับจ้างบรรทุกของไปแล้วขับรถชนคนตาย ถือว่าเป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้าง ซึ่งเจ้าของรถผู้เป็นนายจ้างต้องรับผิดชอบร่วมด้วย การที่ลูกจ้างรับจ้างแล้วไม่บอกนายจ้าง หรือคิดจะเอาค่าจ้างเสียเอง ก็ไม่เป็นการนอกหน้าที่ อันจะเป็นเหตุให้พ้นความรับผิด

               ฎีกาที่ 2060/2524 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างด้วยความประมาทชน ส. บุตรโจทก์ ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสแล้วนำไปทิ้งหมกน้ำในคูริมถนน เป็นเหตุให้ ส. ตาย เป็นคนละเรื่อง คนละตอนกับเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับรถชน ส. และเห็นได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ คือ เพื่อปกป้องและเพื่อให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำขึ้น หาเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 ได้จ้างจำเลยที่ 1 กระทำไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ เพราะการตายของ ส.

 

แนววินิจฉัยของศาลฎีกากว้างมากเกี่ยวกับการที่ลูกจ้างขับรถยนต์ของนายจ้างไปแล้วเกิดกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น

A).   เริ่มต้น ลูกจ้างขับรถไปปฏิบัติงานในหน้าที่ หรืองานที่นายจ้างมอบหมาย ถือว่าอยู่ในทางการที่จ้างตลอดไปจนกว่าจะปฏิบัติงานเสร็จนั้น แม้จะล่วงเลยเวลาปฏิบัติงานแล้วก็ตาม (ฎีกาที่ 2115/2517, 501/2522)

B).   เริ่มต้น ลูกจ้างมิได้ขับรถไปเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ หรืองานที่ได้รับมอบหมาย แต่ขับรถไปเพื่อกิจธุระของตน หรือของบุคคลอื่น ถือว่าอยู่นอกทางการที่จ้าง (ฎีกาที่ 1772/2512)

C).   ในการที่ลูกจ้างขับรถไปปฏิบัติงาน ในหน้าที่ หรืองานที่มอบหมายนั้น ความประพฤติของลูกจ้างในการปฏิบัติงาน แม้จะฝ่าฝืนคำสั่งหรือเกินคำสั่งของนายจ้าง ก็ถือว่าอยู่ในทางการที่จ้าง นายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในมาแก้ตัวต่อบุคคลภายนอกไม่ได้ (ฎีกาที่ 1631-1634/2515, 275/2532)

D).   การกระทำต่อเนื่องในหน้าที่ หรืองานที่มอบหมาย ถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างด้วย (ฎีกาที่ 897/2519, 2105/2540)

E).   ระหว่างปฏิบัติงานในหน้าที่ หรืองานที่มอบหมาย ลูกจ้างขับรถหันเหเถลไถล ไปทำธุระส่วนตัว ก็ถือว่าอยู่ในทางการที่จ้าง ถ้าปรากฏว่า

          E-1     เหตุละเมิด เกิดระหว่างที่ลูกจ้าง วกกลับมาสู่การปฏิบัติหน้าที่ หรืองานที่มอบหมาย (ฎีกาที่ 630/2537, 6395/2537)

          E-2     เหตุละเมิด เกิดระหว่างที่ลูกจ้าง หันเหเถลไถลไป ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละทิ้งการงาน หรือผิดร้ายแรง (ฎีกาที่ 1653/2523, 677/2540)

.

จำ    -     นายจ้างรับผิดเฉพาะมูลหนี้ละเมิด และรับผิดโดยจำกัด, นายจ้างไม่ต้องรับผิดทางอาญา

 

  • ถ้ามูลหนี้ละเมิดระงับ เช่น ผู้เสียหายปลดหนี้ให้แก่ลูกจ้าง หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับลูกจ้าง อันเป็นเหตุให้มูลหนี้ละเมิดระงับ ความรับผิดของนายจ้างย่อมระงับไปสิ้น (ฎีกาที่ 1399/2526, 2478/2526)
    • แต่ถ้าลูกจ้างเพียงแต่ทำหนังสือรับสารภาพหนี้ หรือสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำนั้นใช้ไม่ได้ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง มูลหนี้ละเมิดไม่ระงับ นายจ้างต้องรับผิด (ฎีกาที่ 2569/2540, 7026/2538, 1399/2526, 127/2538
  • ความรับผิดของนายจ้างจำกัดไม่เกินกว่าลูกจ้าง

 

นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 426     นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น

  • สิทธิของนายจ้างที่จะไล่เบี้ย จากลูกจ้าง ตามมาตรา 426 ได้นั้น นายจ้างต้องได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว หากยังไม่ได้ใช้ ก็ยังไม่มีสิทธิไล่เบี้ย (ฎีกาที่ 3373/2545)
  • สิทธิไล่เบี้ยของนายจ้าง ไม่มีอายุความบัญญัติเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎีกาที่ 737/2537)

 

(ทีมงาน Thai Law Consult นำมาจากหนังสือ ละเมิด ของ อาจารย์ ศักดิ์ สนองชาติ พิมพ์โดย นิติบรรณาการ 2551 และ แพ่งพิสดาร เล่ม 1 ปี 2548 ของ อาจารย์ วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์)

 

คดีลูกจ้างให้คนอื่นขับรถแทน คนขับรถแทนละเมิดมีคนตาย นายจ้างต้องรับผิด (ฎีกาที่ 2739/2532)

คดีรถร่วม ขสมก. รถร่วม บขส. ละเมิด - ขสมก. ต้องร่วมรับผิดด้วย (ฎีกาที่ 2905/2532) ปัจจุบัน ต้องดู พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบด้วย

 

ข้อเท็จจริง

ในปี 2555 ทีมทนาย Thai Law Consult ได้ให้คำปรึกษาคดีลูกจ้างขับรถชนคนตาย นายจ้างต้องรับผิดชอบอย่างไร หรือคดีฟ้องนายจ้าง ลูกจ้างหลายคดี ขอกล่าวถึงเฉพาะคดีสำคัญและมีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกับคดีเหล่านี้ คือ          

          ฎีกาที่ 2739/2532     คดีลูกจ้างให้คนอื่นขับรถแทน

          ฎีกาที่ 1653/2523     คดีลูกจ้างเสร็จงานรับเหมาเดินสายไฟ เอารถยนต์ไปดื่มสุรากับเพื่อนนอกเส้นทาง

          ฎีกาที่ 127/2538, 1399/2526     คดีลูกจ้างขับรถชน แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

          ฎีกาที่ 2905/2532     คดีรถร่วม ขสมก. (วินิจฉัยก่อนมี พ.ร.บ.ละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539)

          ฎีกาที่ 2060/2524     คดีขับรถชนและนำไปฆ่า

จึงได้นำฎีกาทั้ง 6 เรื่อง มาลงไว้ให้ประชาชนผู้สนใจได้ศึกษาครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2739/2532

ป.พ.พ. มาตรา 420, 425

          ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ลูกจ้างและผู้ขับรถของจำเลยที่ 3ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 3 ด้วยตนเองแต่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่รถเพื่อนำไปเก็บ แม้จำเลยที่ 2 จะขับขี่ออกนอกเส้นทางหลังจากชนท้ายรถ ท. ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ขับรถแทนตนและอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 และถือว่าขณะเกิดเหตุเป็นการกระทำของลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถเฉี่ยวชนท้ายรถของ ท. โดยประมาทเลินเล่อแล้วหลบหนีไป ท. ได้ขับรถติดตามจำเลยที่ 2 ไปในทันทีทันใดเพื่อเจรจาทำความตกลงในเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้น แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถหนีไปติดสัญญาณไฟแดงไม่ยอมลงจากรถมาเจรจาด้วย และขับรถจะหลบหนีต่อไป ท. จึงกระโดดขึ้นไปเกาะรถที่จำเลยที่ 2 ขับทางด้านขวาของคนขับ จำเลยที่ 2 จึงขับรถโดยกระชากอย่างแรงเป็นเหตุให้ ท. ตกลงมาสู่พื้นถนนแล้วถูกรถที่จำเลยที่ 2 ขับทับถึงแก่ความตายนั้น เป็น เหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากเหตุรถเฉี่ยวชนในตอนแรก ไม่อาจที่จะแยกการกระทำของจำเลยที่ 2 ออกจากกันได้ กรณีถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเกี่ยวเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้จำเลยที่ 2 ขับรถไปเก็บและอยู่ในทางการจ้าง ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น.

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ ภู่ภักดี มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ โจทก์ที่ 2และที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถเก็บขยะ จำเลยที่ 2 เป็นเพื่อนของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 2ขับรถขนขยะหมายเลขทะเบียน 7น-2523 ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถขนขยะชนท้ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 6ข-3103 ของร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ที่ขับขี่มาได้รับความเสียหายแล้วจำเลยที่ 2 ได้ขับรถขนขยหลบหนี ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ขับรถติดตามไปทันขณะรถขนขยะที่จำเลยที่ 2 ขับจอดติดสัญญาณไฟแดงอยู่ ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์จึงจอดรถและลงไปยังรถขนขยะบอกให้จำเลยที่ 2 มาตกลงเรื่องค่าเสียหาย แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงจากรถมาตกลงด้วย กลับจะขับรถหลบหนีไปอีก ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์จึงกระโดดเกาะรถขนขยะที่บริเวณประตูด้านขวา จำเลยที่ 2 ได้ขับรถขนขยะกระชากเพื่อให้ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์หลุดพ้นจากการที่เกาะรถขน ขยะที่จำเลยที่ 2 ขับอยู่ เป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์หลุดตกจากรถขนขยะลงมายังพื้นถนน และถูกล้อหลังของรถขนขยะทับถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยที่ 2 ได้ขับรถหนีไปอีก แต่เจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ไว้ได้ โจทก์ได้รับความเสียหาย ค่าซ่อมรถของผู้ตายและค่าเสื่อมราคารวมเป็นเงิน 15,000 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3ขาดค่าอุปการะเลี้ยงดูรวม 2 คน เป็นเงิน 320,000 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องขาดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเงิน 200,000 บาท ค่าปลงศพเป็นเงิน 15,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 550,000 บาทเหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้หรือวานให้จำเลยที่ 2ขับรถขนขยะคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่พนักงานขับรถเก็บขยะ และไม่ได้เป็นเพื่อนหรือเคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ได้ใช้ให้จำเลยที่ 2ขับรถขนขยะคันหมายเลขทะเบียน 7น-2523 แทนจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถคันหมายเลขทะเบียน 7น-2523 ไปโดยพลการไม่ได้ทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และเหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ที่หยุดรถซึ่งขับ อยู่ข้างหน้าโดยกะทันหันร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์กระโดดเกาะรถขนขยะบริเวณประตู ด้านขวาเป็นความประมาทและเป็นการเสี่ยงภัยของร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์เองเพราะ ย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากพลาดพลั้งตกลงมา อาจถูกรถขนขยะหรือรถอื่นที่ตามหลังมาทับเอาถึงแก่ชีวิตได้ และเป็นความสูงอายุของร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ ทำให้ไม่สามารถเกาะรถขนขยะได้ จนพลัดตกลงมาเอง จำเลยที่ 2 เพียงแต่ออกรถเมื่อมีไฟสัญญาณเขียวธรรมดาเท่านั้น มิได้ออกรถกระชากดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และการพลัดตกลงมาเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ถูกรถขนขยะทับถึงแก่ความ ตาย เป็นเรื่องเฉพาะตัวระหว่างร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์กับจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อยู่ในลักษณะการใช้ของจำเลยที่ 1 และไม่อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 2ได้ลักรถขนขยะออกไปขับเล่น ได้มีการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งค่าเสียหายที่เรียกสูงมากเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง สามร่วมกันชำระเงิน 217,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวคิดตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่และที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดกับจำเลยที่ 2 นั้น ข้อนีได้ความจากโจทก์ทั้งสามว่า หลังจากเกิดเหตุแล้วโจทก์ทั้งสามได้ไปที่สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน พบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกควบคุมตัไว้ดำเนินคดีอยู่ที่นั่น โจทก์ที่ 1 ได้สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่บอกว่าเป็นญาติกับจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มอบกุญแจรถให้วันนั้นโจทก์ที่ 1 เห็นจำเลยที่ 2 แต่งตัวใส่เสื้อสีน้ำเงินเข้มซึ่งเป็นเครื่องแบบของจำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยังได้ยินจำเลยที่ 2 ตอบคำถามของพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยผลัดเปลี่ยนกันขับรถขนขยะอยู่เสมอ นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.3/2 จำเลยที่ 2 ได้เคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่าตนเป็นญาติกับจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่จอดรถของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 3ที่แขวงประเวศ จำเลยที่ 2 เคยช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ขนขยะ เก็บขยะและบางครั้งจำเลยที่ 2 ก็เข้าช่วยขับรถให้จำเลยที่ 1 ด้วย จากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นญาติสนิทกัน อยู่บ้านเดียวกัน จำเลยที่ 1 เคยใช้จำเลยที่ 2ขับรถขนขยะอยู่เป็นครั้งคราวทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็แต่งกายโดยสวมเสื้อสีน้ำเงินเข้มซึ่งเป็นเครื่องแบบของจำเลยที่ 3ด้วย ประกอบทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็นำสืบรับเข้ามาว่า ในวันนั้นหลังจากที่จำเลยที่ 1 ขนขยะในเขตพระโขนงเสร็จเรียบร้อยแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขับรถขนขยะคันดังกล่าวมาจอดไว้ที่คลองหนองสองห้องเพื่อล้างทำความสะอาดรถ แล้วจะนำรถไปเก็บที่แขวงประเวศ จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบกุญแจรถให้จำเลยที่ 2 ขับรถขนขยะไปเก็บยังที่เก็บรถของจำเลยที่ 3 ที่แขวงประเวศมากกว่า หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ล้างรถเสร็จแล้วได้เข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายอุจจาระโดยจอดรถทิ้งไว้ และเอากุญแจรถใส่กระเป๋าเสื้อแขวนไว้ในรถเมื่อถ่ายอุจจาระเสร็จออกมาจากห้อง น้ำแล้วรถหายไปดังที่จำเลยที่ 1และที่ 3 นำสืบต่อสู้ไม่ ดังนั้นแม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 3 จะไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ขนขยะของจำเลยที่ 3 ด้วยตนเอง แต่การขับขี่รถไปเก็บของจำเลยที่ 2 ด้วยการมอบหมายของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถของจำเลยที่ 3 และแม้จำเลยที่ 2 จะขับขี่ออกนอกเส้นทางหลังชนท้ายรถโจทก์ก็ตามก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 2 ขับรถขนขยะแทนตนและอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 อยู่นั่นเอง จึงถือได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นการกระทำของลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า การพลัดตกลงมาจากรถขนขยะจนเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ถูกรถขนขยะทับ ถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1และที่ 3 แต่เป็นเรื่องระหว่างร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์กับจำเลยที่ 2เป็นการเฉพาะตัว เพราะเหตุดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2ตั้งใจจะขับรถหลบหนีหลังจากที่เกิดเหตุชนท้ายรถของร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ แล้ว จึงไม่อยู่ในลักษณะของการใช้ของจำเลยที่ 1ตามที่โจทก์อ้าง และไม่อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากเหตุการณ์ในช่วงแรกแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถขนขยะเฉี่ยวชนท้ายรถของร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์โดยประมาทเลินเล่อแล้วหลบ หนีไปร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์จึงได้ขับรถติดตามจำเลยที่ 2 ไปในทันทีทันใดเพื่อเจรจาทำความตกลงในเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2ได้ก่อให้เกิดขึ้นดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ยอมลงมาเจรจาด้วยและขับรถขนขยะจะหลบหนีต่อไป ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์จึงกระโดดขึ้นไปเกาะรถขนขยะทางด้านขวาของคนขับ จำเลยที่ 2 จึงขับรถขนขยะโดยกระชากอย่างแรงจนเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ตกลงมา สู่พื้นถนนแล้วถูกรถขนขยะดังกล่าวทับถึงแก่ความตายนั้นย่อมเป็นได้ว่าเป็น เหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในตอนแรก โดยไม่อาจที่จะแยกการกระทำดังกล่าวออกจากกันได้กรณียังถือได้ว่าเป็นการ กระทำอันเกี่ยวเนื่องมาจากการใช้ของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 ขับรถขนขยะไปเก็บตามที่ได้วินิจฉัยแล้วในตอนต้นและอยู่ในทางการที่จ้างของ จำเลยที่ 3 นั่นเอง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน.

 ( นำชัย สุนทรพินิจกิจ - บุญส่ง คล้ายแก้ว - ไมตรี กลั่นนุรักษ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1653/2523

ป.พ.พ. มาตรา 420, 425

          จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปเดินสายไฟฟ้าในวัดแห่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 เดินสายไฟฟ้าเสร็จแล้วไม่กลับทันที ได้ขับรถออกนอกเส้นทางไปดื่มสุรากับเพื่อนจนเมา แล้วจึงขับรถกลับระหว่างทางขับรถประมาทชนร้านค้าของ บ. ทำให้เครื่องเล่นตู้เพลงของโจทก์เสียหายด้วยดังนี้ยังถือได้ว่าเป็นการ ปฏิบัติที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จำเลยที่ 2 จ้าง จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้กระทำการในทางการที่จ้างขับรถยนต์โดยประมาทชนร้านนายบรรจงซึ่งโจทก์ตั้ง เครื่องเล่นตู้เพลงไว้ทำให้เครื่องเล่นตู้เพลงและแผ่นเสียงของโจทก์เสียหาย ด้วย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 40,000 บาท

          จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของตนและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้าง ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต

          ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาททำให้โจทก์เสียหาย พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย 32,400 บาท แก่โจทก์

          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาท

          จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือไม่

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปเดินสายไฟฟ้าในวัดนกออกก็เนื่องจากได้รับคำสั่งของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เอารถไป อันเป็นการแสดงอยู่ว่าจำเลยที่ 2 ไว้ใจในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะได้เปลี่ยนเส้นทางขากลับไปแวะดื่มสุรากับเพื่อนจนเมา ต่อมาเกิดเหตุขับรถไปชนร้านค้านายบรรจง ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายไปด้วย ก็ถือได้ว่ายังเป็นการปฏิบัติที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จำเลยที่ 2 จ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425

          พิพากษายืน

( สุนทร วรรณแสง - วิทูร เทพพิทักษ์ - ไพบูลย์ ไวกาสี )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  127/2538

ป.พ.พ. มาตรา 425, 850, 852, 86

          หลังเกิดเหตุรถยนต์ชนกันโจทก์ ที่2เจ้าของรถยนต์ฝ่ายหนึ่งได้เจรจากับ พ. คนขับรถยนต์คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายประมาท พ. ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดโดยการซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีใช้การได้ดี เหมือนเดิมและยินดีชดใช้ค่าสินค้าที่บรรทุกมาซึ่งได้รับความเสียหายด้วยและ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันอีกว่าจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง อีกต่อไปเอกสารข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือที่ พ. ยอมรับสภาพต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยไม่มีรายละเอียดหรือ ข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระวิธีการชำระอันจะทำให้ ปราศจากการโต้แย้งกันอีกจึงมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดกรณีมิใช่ สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นนายจ้างของพ. และจำเลยที่2ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่1หลุดพ้นความรับผิดในมูล ละเมิดนั้น

________________________________

          โจทก์ ฟ้อง ว่า โจทก์ ที่ 1 ได้รับ ประกันภัย รถยนต์ คัน หมายเลขทะเบียน 80-5430 นครสวรรค์ ไว้ จาก โจทก์ ที่ 2 จำเลย ที่ 2 ได้รับประกันภัย รถยนต์ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-6069 เชียงใหม่ ไว้ จากจำเลย ที่ 1 เมื่อ วันที่ 27 เมษายน 2528 เวลา กลางคืน นาย พิชัย ชื่นเชาว์กิจ ลูกจ้าง ของ จำเลย ที่ 1 และ ใน ทางการที่จ้าง ได้ ขับ รถยนต์ คัน ที่ จำเลย ที่ 2 รับประกัน ภัย ไว้ ไป ตาม ถนน สาย เอเซีย จากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้า ไป จังหวัด นครสวรรค์ แต่ นาย พิชัย ขับ รถ ด้วย ความประมาท ด้วย ความ เร็ว สูง เกินกว่า ที่ กฎหมาย กำหนด ครั้น มา ถึงระหว่าง หลัก กิโลเมตร ที่ 193-194 รถ เสีย หลัก แฉลบ เข้า ไป ใน ช่องทางของ รถ ที่ สวน มา ซึ่ง ขณะ นั้น นาย ไพฑูรย์ เอี่ยมอุบล ได้ ขับ รถยนต์ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-5430 นครสวรรค์ แล่น สวนทาง มา จึง เกิด เฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุ ให้ รถยนต์ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-5430 นครสวรรค์เสียหาย โจทก์ ที่ 1 ได้ นำ ไป ซ่อม คิด เป็น เงิน ค่าซ่อม จำนวน 84,072 บาทและ เสีย ค่า รถยก ลาก ไป อู่ ซ่อม อีก 1,500 บาท โจทก์ ที่ 1 จ่ายเงินค่าซ่อม และ ค่า ยก ลาก รถยนต์ ไป แล้ว จึง รับช่วงสิทธิ ของ โจทก์ ที่ 2เรียก ค่าเสียหาย ดังกล่าว รวมเป็น เงิน ค่าเสียหาย ของ โจทก์ ที่ 1ทั้งสิ้น 85,572 บาท เมื่อ ซ่อม เสร็จ แล้ว ทำให้ รถยนต์ ของ โจทก์ ที่ 2เสื่อมราคา เป็น เงิน 10,000 บาท และ ใช้ เวลา ซ่อม 60 วัน โจทก์ ที่ 2ประกอบการค้า ไม่ได้ คิด เป็น ค่าเสียหาย วัน ละ 500 บาท เป็น เงิน30,000 บาท ถั่วเขียว ของ โจทก์ ที่ 2 บรรทุก รถยนต์ มา จำนวน 27 กระสอบเสียหาย เป็น เงิน 40,000 บาท ผ้าใบ คลุม รถยนต์ เสียหาย ใช้ การ ไม่ได้คิด เป็น เงิน 5,000 บาท รวมเป็น ค่าเสียหาย ของ โจทก์ ที่ 2 เป็น เงิน85,000 บาท ขอให้ บังคับ จำเลย ทั้ง สอง ชำระ ค่าเสียหาย แก่ โจทก์ ที่ 1จำนวน 90,920 บาท แก่ โจทก์ ที่ 2 จำนวน 91,375 บาท พร้อม ด้วยดอกเบี้ย อัตรา ร้อยละ เจ็ด ครึ่ง ต่อ ปี ของ โจทก์ ที่ 1 จาก ต้นเงิน85,572 บาท และ ของ โจทก์ ที่ 2 จาก ต้นเงิน 85,000 บาท นับแต่ วันฟ้องไป จนกว่า จะ ชำระหนี้ แก่ โจทก์ ทั้ง สอง เสร็จ

          จำเลย ทั้ง สอง ให้การ ใน ทำนอง เดียว กัน ว่า โจทก์ ที่ 1 ไม่ได้ รับประกันภัย รถยนต์ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-5430 นครสวรรค์ และ โจทก์ ที่ 2มิใช่ เจ้าของ หรือ ผู้ครอบครอง รถยนต์ คัน ดังกล่าว นี้ ด้วย จำเลย ที่ 1มิใช่ เจ้าของ ผู้ครอบครอง รถยนต์ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-6069 เชียงใหม่และ มิใช่ นายจ้าง ของ นาย พิชัย ชื่นเชาว์กิจ ทั้ง ความเสียหาย ได้ เกิดขึ้น เพราะ ความประมาท ของ นาย ไพฑูรย์ เอี่ยมอุบล เป็น ฝ่าย ขับ รถ ด้วย ความประมาท ด้วย ความ เร็ว สูง เกินกว่า ที่ กฎหมาย กำหนดไม่สามารถ บังคับ รถ ได้ เป็นเหตุ ให้ รถยนต์ ล้ำ กิน เส้น แบ่ง กึ่งกลาง ถนนเข้า มา ชน รถยนต์ ที่นาย พิชัย ขับ ค่าเสียหาย ของ โจทก์ ทั้ง สอง มี ไม่ถึง ตาม ฟ้อง จำเลย ทั้ง สอง ไม่ต้อง รับผิด เพราะ โจทก์ ที่ 2 ได้ ตกลงประนีประนอม ยอมความ กับ นาย พิชัย ชื่นเชาว์กิจ แล้ว ซึ่ง นาย พิชัย รับ ว่า จะ ชดใช้ ค่าเสียหาย แก่ โจทก์ ที่ 2 จึง ควร ใช้ สิทธิเรียกร้อง จากนาย พิชัย โจทก์ ทั้ง สอง จะ ฟ้อง จำเลย ที่ 1 ที่ 2 มิได้ ขอให้ ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง

          โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

          โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา

          ศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า ข้อเท็จจริง ฟัง ยุติ ตาม คำพิพากษา ศาลล่างทั้ง สอง ว่า โจทก์ ที่ 2 ครอบครอง รถยนต์ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-5430นครสวรรค์ และ เอา ประกันภัย รถยนต์ คัน ดังกล่าว ไว้ แก่ โจทก์ ที่ 1จำเลย ที่ 1 เป็น เจ้าของ รถยนต์ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-6069 เชียงใหม่และ เอา ประกันภัย รถยนต์ คัน ดังกล่าว ไว้ แก่ จำเลย ที่ 2 วันเกิดเหตุนาย ไพฑูรย์ เอี่ยมอุบล ขับ รถยนต์ ของ โจทก์ ที่ 2 นาย พิชัย ชื่นเชาว์กิจ ขับ รถยนต์ ของ จำเลย ที่ 1 และ ใน ทางการที่จ้าง ของ จำเลย ที่ 1 ชนกัน เสียหาย ต่อมา โจทก์ ที่ 2 และ นาย ไพฑูรย์ กับ นาย พิชัย แจ้ง ให้ พนักงานสอบสวน บันทึก ข้อตกลง ตาม ใบ รายงาน ประจำวัน เกี่ยวกับ คดีไว้ ตาม เอกสาร หมาย ปล. 1 ของ ศาลจังหวัด ชัยนาท และ นาย พิชัย คนขับ รถ ของ จำเลย ที่ 1 เป็น ฝ่าย ประมาท

          พิเคราะห์ แล้ว มี ปัญหา วินิจฉัย ว่า ข้อความ ใน สำเนา รายงานประจำวัน เกี่ยวกับ คดี เอกสาร หมาย ปล. 1 ของ ศาลจังหวัด ชัยนาทเป็น สัญญา ประนีประนอม ยอมความ ระงับ ข้อพิพาท ใน มูลละเมิด อันเป็น ผลให้ จำเลย ทั้ง สอง พ้น ความรับผิด หรือไม่ ตาม สำเนา รายงาน ประจำวันเกี่ยวกับ คดี เอกสาร หมาย ปล. 1 ของ ศาลจังหวัด ชัยนาท มี ข้อความ ว่านาย พิชัย ชื่นเชาว์กิจ ผู้ขับ รถยนต์บรรทุก หก ล้อ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-6069 เชียงใหม่ ฝ่ายหนึ่ง และ นาย ไพฑูรย์ เอี่ยมอุบล ผู้ขับ รถยนต์บรรทุก สิบล้อ คัน หมายเลข ทะเบียน 80-5430 นครสวรรค์ พร้อม ด้วยนาย ฮอมุ้ย แซ่ลิ้ม ผู้ครอบครอง รถยนต์ คัน ดังกล่าว อีกฝ่าย หนึ่ง ได้ ตกลง กัน โดย ทาง ฝ่าย นาย โอมุ้ย เรียกร้อง ค่าเสียหาย รถยนต์ และ สินค้า ที่ บรรทุก มา ใน รถ จาก นาย พิชัย นาย พิชัย ยินดี ชดใช้ ค่าเสียหาย ทั้งหมด โดย การ ที่ จะ ซ่อม รถยนต์ ให้ อยู่ ใน สภาพ ดี และ ใช้ การ ได้ ดีเหมือนเดิม และ ยินดี ชดใช้ ค่าสินค้า ที่ บรรทุก มา ซึ่ง ได้รับ ความเสียหายด้วย และ ทั้ง สอง ฝ่าย ตกลง กัน อีก ว่า จะ ไม่เรียกร้อง หรือ ฟ้อง เรียกค่าเสียหาย ใน ทางแพ่ง อีก ต่อไป เห็นว่า ข้อความ ที่ พนักงานสอบสวน บันทึกไว้ ดังกล่าว เป็น เรื่อง ที่ โจทก์ ที่ 2 เรียกร้อง มูลหนี้ จาก การ ทำละเมิด โดย โจทก์ ที่ 2 ผู้เป็น เจ้าหนี้ มีสิทธิ เรียกร้อง ให้ ผู้ทำละเมิด ชดใช้ ค่าเสียหาย ใน การ ซ่อม รถยนต์ ให้ อยู่ ใน สภาพ ใช้ การ ได้ ดีและ ชดใช้ ค่าสินค้า ที่ บรรทุก มา ได้รับ ความเสียหาย ด้วย นาย พิชัย ผู้ทำละเมิด ทำ บันทึก ยอม จะ ชดใช้ ค่าเสียหาย ที่ เสียหาย ให้ เอกสารฉบับนี้ เป็น เพียง หนังสือ ที่นาย พิชัย ยอมรับ สภาพ ต่อ โจทก์ ผู้เป็น เจ้าหนี้ ตาม สิทธิเรียกร้อง โดย ไม่มี รายละเอียด หรือ ข้อตกลง ที่ แน่นอนเกี่ยวกับ จำนวนเงิน ที่ จะ ต้อง ชำระ วิธีการ ชำระ อัน จะ ทำให้ ปราศจากการ โต้แย้ง กัน อีก ข้อความ ใน สำเนา รายงาน ประจำวัน เกี่ยวกับ คดีดังกล่าว มิใช่ เป็น การ ระงับ ข้อพิพาท ใน มูลละเมิด แต่อย่างใด กรณีจึง มิใช่ สัญญา ประนีประนอม ยอมความ อัน จะ ทำให้ จำเลย ที่ 1 ซึ่ง เป็นนายจ้าง นาย พิชัย และ จำเลย ที่ 2 ผู้รับประกันภัย รถยนต์ ของ จำเลย ที่ 1หลุดพ้น ความรับผิด ใน มูลละเมิด นั้น ที่ ศาลล่าง ทั้ง สอง วินิจฉัย ว่าสำเนา บันทึก รายงาน ประจำวัน เกี่ยวกับ คดี เป็น สัญญา ประนีประนอม ยอมความศาลฎีกา ไม่เห็น พ้อง ด้วย ฎีกา ของ โจทก์ ทั้ง สอง ฟังขึ้น คง มี ปัญหาวินิจฉัย เฉพาะ เรื่อง ค่าเสียหาย ซึ่ง ศาลล่าง ทั้ง สอง ยัง มิได้ วินิจฉัย มาศาลฎีกา เห็นว่า เพื่อ ให้ คดี เป็น ไป ตามลำดับ ชั้น ศาล เห็นสมควรย้อนสำนวน ให้ ศาลชั้นต้น พิจารณา พิพากษา เรื่อง ค่าเสียหาย เพราะ ผลแห่ง การ วินิจฉัย ของ ศาลล่าง อาจ นำ ไป สู่ การ จำกัดสิทธิ การ ฎีกา ของคู่ความ ได้

          พิพากษายก คำพิพากษา ศาลล่าง ทั้ง สอง ให้ ศาลชั้นต้น พิจารณาพิพากษา เกี่ยวกับ เรื่อง ค่าเสียหาย ของ โจทก์ ต่อไป ตาม รูปคดีค่าฤชาธรรมเนียม ทั้ง สาม ศาล ให้ ศาลชั้นต้น รวม สั่ง เมื่อ มี คำพิพากษา ใหม่

( สวรรค์ ศักดารักษ์ - นิเวศน์ คำผอง - ปรีชา เฉลิมวณิชย์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2526

ป.พ.พ. มาตรา 420, 425, 850, 852
          

จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถของ ป. เสียหายจึงทำข้อตกลงค่าเสียหายในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีความว่า ป. เรียกร้องให้ จำเลยที่ 1 นำรถของ ป. ไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี จำเลยที่ 1 ตกลงตามที่ ป. เรียกร้องคู่กรณีตกลงกันได้ ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องกัน ในทางแพ่งและทางอาญาต่อกันอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลให้มูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำระงับสิ้นไป ดังนั้น จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถของจำเลยที่ 2 จึงพลอยหลุดพ้น ความรับผิดไปด้วย

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ป. จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนรถยนต์ของ ป. เสียหาย โจทก์ได้ซ่อมรถยนต์ของ ป. แล้วคิดเป็นเงิน 9,000 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

          โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1

          จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า มูลหนี้ละเมิดคดีนี้ระงับแล้วเพราะ ป. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงกันว่าไม่ประสงค์ที่จะฟ้องร้องในทางแพ่งและทางอาญาต่อกัน ป. จึงชอบที่จะฟ้องร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,000บาทและดอกเบี้ยแก่โจทก์

          จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าข้อตกลงค่าเสียหายระหว่างนายปรีชาผู้เอาประกันภัยของโจทก์กับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ปรากฏข้อตกลงค่าเสียหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า (1) นายปรีชาเรียกร้องให้นายทอง (จำเลยที่ 1) นำรถยนต์ น.ฐ.23699 (ที่ถูกเป็น 26399) ไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเหมือนเดิม (2) นายทองยินดีตกลงตามที่นายปรีชาเรียกร้องในข้อ 1 ทุกประการ คู่กรณีตกลงกันได้ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องกันในทางแพ่งและทางอาญาต่อกันอีกต่อ ไป เห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งนายปรีชาผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้นายปรีชาเสียหายระงับข้อพิพาทที่นายปรีชาจะเรียกค่าเสียหายใน การซ่อมรถหมายเลขทะเบียน น.ฐ.26399 และค่าเสียหายอื่นอันเกิดจากการกระทำละเมิดซึ่งมีอยู่ในขณะนั้นจากจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไปด้วยผ่อนผันให้แก่กัน โดยนายปรีชาให้จำเลยที่ 1 นำรถคันดังกล่าวไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมแทนการเรียกค่าเสียหายในการซ่อม เป็นตัวเงิน และจำเลยที่ 1 ตกลงซ่อมแซมให้ ข้อตกลงค่าเสียหายจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 850 อันเป็นผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยของโจทก์จาก จำเลยที่ 1 ในมูลละเมิดเป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 เมื่อมูลหนี้ละเมิดระงับไปแล้ว ย่อมทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 นายจ้างจำเลยที่ 1 ที่จะร่วมรับผิดระงับด้วย และเมื่อจำเลยที่ 2ผู้เอาประกันภัยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจะต้องรับผิดแทนก็พลอยหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์ที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย

          พิพากษายืน

( ธรรมสถิตย์ ธีรกุล - ประสม ศรีเจริญ - กิติ บูรพรรณ์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2905/2532

ป.พ.พ. มาตรา 425

          จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกิจการเดินรถกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 นำรถยนต์โดยสารเล็กของตนมารับคนโดยสารโดยใช้ตราของจำเลยที่ 4 ติดไว้ข้างรถ ถือได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 4ด้วย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในขณะเกิดเหตุย่อมถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 ในขณะเกิดเหตุด้วย จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่อโจทก์

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด

          จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ให้การสู้คดี

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ด้วย

          จำเลยที่ 4 ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารเล็กคันหมายเลขทะเบียน 10-6287 กรุงเทพมหานคร รถยนต์คันนี้มีตราองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำเลยที่ 4 ติดอยู่ข้างรถ ปรากฏตามรูปถ่ายหมาย จ.5 และ จ.6 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวขณะเกิดเหตุด้วยความประมาทชนรถยนต์เก๋งคันหมาย เลขทะเบียน 4 ก-1166 กรุงเทพมหานคร และโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันนี้ไว้ เมื่อเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวให้แก่อู่ซ่อมรถ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 110,200 บาท คดีฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาในชั้นนี้มีว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ต่อโจทก์หรือไม่

          นายสมเกียรติ วัชเรศโยธิน นายนันทวิทย์ วัฒนา พยานโจทก์เบิกความว่า รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับนั้นมีจำเลยที่ 4 ประกอบการขนส่งโดยรับรถยนต์คันนี้ไว้รับส่งคนโดยสารและให้ใช้ตราของจำเลยที่ 4 ติดไว้ข้างรถ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์รูปถ่ายหมายเลข จ.5 แล้ว เห็นได้ชัดว่ารถยนต์โดยสารคันดังกล่าวมีตราองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำเลย ที่ 4 ติดไว้ด้านข้างของรถจริงแม้จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ จำเลยที่ 4 มิได้นำสืบโต้แย้งแต่ประการใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3นำรถยนต์โดยสารประจำทางมารับคนโดยสารในลักษณะเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 4 ด้วย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3ในขณะเกิดเหตุ ย่อมถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ในขณะเกิดเหตุด้วย จำเลยที่ 4จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่อโจทก์ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

          อนึ่งที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ค่าซ่อมรถยนต์เก๋งไม่เกิน 20,000บาท นั้น จำเลยที่ 4 มิได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้นแต่ประการใดในทางตรงกันข้ามโจทก์มีทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมรถยนต์เก๋งมาสืบประกอบกันว่า โจทก์ได้จ่ายเงินไปจริง110,200 บาท และค่าซ่อมรถก็เป็นจำนวนเงินดังกล่าวจริง ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน"

          พิพากษายืน

( ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล - สง่า ศิลปประสิทธิ์ - ศักดา โมกขมรรคกุล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2524

ป.พ.พ. มาตรา 425

          บุตรโจทก์มิได้ถึงแก่ความตาย เพราะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนในขณะกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แต่ถึงแก่ความตายเพราะเมื่อชนแล้วจำเลยที่ 1 โดยเจตนาฆ่าบุตรโจทก์เพื่อปกปิดความผิด ได้นำบุตรโจทก์ไปทิ้งในคูน้ำริมถนนเพื่อให้จมน้ำตายการกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นคนละเรื่องคนละตอนกับที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนบุตรโจทก์และเห็นได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของ จำเลยที่ 1 โดยเฉพาะเจาะจงหาเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 ได้จ้างให้จำเลยที่ 1 กระทำไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในการฆ่าบุตรโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนบุตรโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส แล้วนำขึ้นรถยนต์ไปทิ้งในคูน้ำโดยมีเจตนาฆ่าเพื่อปกปิดความผิด บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนคือค่าปลงศพและค่าขาดไร้ อุปการะแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสามให้การ ปฏิเสธความรับผิดหลายประการโดยจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีด้วยว่า การที่จำเลยที่ 1 นำบุตรโจทก์ไปทิ้งน้ำเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น เป็นการนอกเหนือขอบเขตการจ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลของการกระทำส่วนนี้ และค่าเสียหายที่เรียกร้องมาก็สูงเกินความจริงขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 189,300 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3

          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย แม้จากผลแห่งการกระทำละเมิดตอนแรกของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาลนายสมพงษ์ผู้บาดเจ็บ ค่าขาดรายได้ที่ต้องหยุดงาน แต่โจทก์ไม่ได้มุ่งประสงค์จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเหล่านี้ จึงคิดคำนวณให้ไม่ได้ เป็นเรื่องนอกฟ้องเกินคำขอ จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย

          โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่าเพราะจำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นเหตุให้นายสมพงษ์บุตรโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายโดยต้องใช้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าทำศพ และต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ โจทก์ เห็นได้ชัดว่าโจทก์ฟ้องมุ่งให้จำเลยรับผิดชอบต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิด ขึ้นเนื่องจากการตายของนายสมพงษ์แต่ประการเดียวเท่านั้นหาได้เรียกเอาค่า เสียหายเพราะเหตุประการอื่นไม่ เกี่ยวกับการตายของนายสมพงษ์นั้นปรากฏว่า นายสมพงษ์ไม่ได้ถึงแก่ความตายเพราะจำเลยที่ 1ขับรถยนต์อันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างชนเอา หากแต่ถึงแก่ความตายเพราะเมื่อชนแล้วจำเลยที่ 1 โดยเจตนาฆ่านายสมพงษ์เพื่อปกปิดความผิดและหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาฐานขับรถยนต์ ชนนายสมพงษ์โดยประมาทได้นำนายสมพงษ์ไปทิ้งหมกน้ำในคูริมถนนเพื่อให้จมน้ำตาย ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่นำนายสมพงษ์ไปฆ่าเป็นคนละเรื่องคนละตอนกับเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนนายสมพงษ์ และเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 นำนายสมพงษ์ไปฆ่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษคือ เพื่อปกปิดและเพื่อให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำขึ้น หาเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 ได้จ้างให้จำเลยที่ 1 กระทำไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1ในการฆ่านายสมพงษ์จึงไม่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ทั้งสองเพราะการตายของนายสมพงษ์ตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกมา

          พิพากษายืน

( สุไพศาล วิบุลศิลป์ - สุวัฒน์ รัตรสาร - ดุสิต วราโห )

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 8-1-56)