Blog categories

Latest posts

ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง

.

เช่าซื้อรถยนต์  แล้วรถหาย  ต้องรับผิดชอบหรือไม่

เช่าซื้อรถยนต์  แล้วเอาไปจำนำ  จะติดคุกไหม

.

               รถกระบะ Toyota VIGO และ Isuzu D-MAX เป็นรถยอดนิยมของคนไทย แม้เอเยนต์รถหรือดีลเลอร์รถของ 2 ยี่ห้อนี้จะกำหนดเงินดาวน์ไว้สูงกว่ายี่ห้องอื่นๆ ในท้องตลาด, คนไทยก็ยังนิยมเช่าซื้อรถกระบะ 2 ยี่ห้อนี้ เมื่อเช่าซื้อก็ต้องผ่อนชำระค่างวด แต่ผู้เช่าซื้อบางราย ขณะต้องผ่อนชำระค่างวด เกิดมีปัญหาทางการเงิน ต้องนำรถกระบะที่เช่าซื้อไปจำนำ แก้ปัญหาการเงินก่อน ... แล้วก็เกิดเรื่องราวเป็นคดี ต้องฟ้องร้องกัน ... ภายในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2555 ทีมทนาย Thai Law Consult ได้ให้คำแนะนำจำเลยในคดีเช่าซื้อรถยนต์ถึง 3 ราย จึงต้องนำเรื่องนี้มาลงไว้ เพื่อให้ท่านผู้สนใจได้ศึกษากฎหมายครับ

 

หลัก  

ป.พ.พ. มาตรา 572     
              อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สิน ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สิน นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวน เท่านั้นเท่านี้คราว

              สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ

ป.พ.พ. มาตรา 573     
              ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง 

ป.พ.พ. มาตรา 574     
              ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือ กระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิก สัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบ เป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้า ครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

              อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราว ที่สุดนั้นท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มา แล้วแต่ก่อน และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงิน ได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

ป.พ.พ.มาตรา 391     
              เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่าย จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็น อยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

              ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้นท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

              ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ นั้นการที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการ นั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

ป.พ.พ. มาตรา 747     
              อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

 

ทบทวน    เช่าซื้อ (ป.พ.พ. มาตรา 572)

  • สาระสำคัญของสัญญาเช่าซื้อ คือ การเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายหรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้เช่า เมื่อมีการใช้เงินเท่านั้นเท่านี้คราว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าทันทีเมื่อชำระ ค่าเช่าซื้อครบถ้วน (ฎีกาที่ 4809/2548)
    • สัญญาเช่าที่ไม่มีข้อความแสดงว่า คู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ แต่เป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์
  • ผู้ให้เช่าซื้อ อาจเป็นเจ้าของในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เจ้าของทรัพย์สินที่จะมีอำนาจให้เช่าซื้อทรัพย์สินได้ อาจเป็นเจ้าของในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ หรือเจ้าของในอนาคตก็ได้ (ฎีกาที่ 6862/2550, 2805/2540)
  • สัญญาเช่าซื้อ ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้น ตกเป็นโมฆะ ที่ว่าต้องทำเป็นหนังสือ คือ ต้องลงลายมือชื่อทั้งของผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อทั้งสองฝ่าย แต่ไม่จำต้องลงชื่อในวันทำสัญญาก็ได้
  • การที่ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อไม่จัดหาป้ายทะเบียนหรือป้ายวงกลม (ฎีกาที่ 4974/2545) หรือเพราะผู้ให้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ทำให้ผู้เช่าซื้อไม่แน่ใจว่าเมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จะได้รับโอนกรรมสิทธิหรือไม่ ไม่ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญา (ฎีกาที่ 3941/2540)
  • สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อ (มาตรา 573)
         ให้สิทธิผู้เช่าซื้อ จะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ โดยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่เจ้าของโดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสีย ค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือ ผู้เช่าซื้อต้องบอกเลิกสัญญาและส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่เจ้าของ หากผู้เช่าซื้อเพียงแค่บอกเลิกสัญญา แต่ยังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่ การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกาที่ 3149/2530)
  • การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ตามมาตรา 573 เป็นกรณีที่กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อที่จะบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีการผิด สัญญา อย่างไรก็ดี กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา ผู้เช่าซื้ออาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ตามมาตรา 387 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปได้อีก โดยผู้เช่าซื้อไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ ก่อน (ฎีกาที่ 4974/2545)
  • สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้ให้เช่าซื้อ (มาตรา 574)
    • (1)  ผู้เช่าซื้อไม่ใช้เงิน 2 คราวติดๆ กัน หรือ
    • (2)  ผู้เช่าซื้อทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ
  • ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เช่น เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามงวด ผู้ให้เช่าซื้อก็มิได้บอกเลิกสัญญา คงยอมรับค่าเช่าซื้อที่ชำระเกินเวลากำหนด ดังนี้ ผู้ให้เช่าซื้อจะมาบอกเลิกสัญญาในภายหลังโดยอ้างว่าผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่า เช่าซื้อ 2 คราวติดต่อกันอีกไม่ได้ กรณีเช่นนี้ หากผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญา จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 387 โดยต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาอันสมควรก่อน ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ (ฎีกาที่ 7406/2547)

ผลของการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ตามมาตรา 574

  1. ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้ว
  2. ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อ
  3. ผู้ให้เช่าซื้อจะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ได้
  • ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ ผู้เช่าซื้อชำระมาแล้วเท่านั้น แต่จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ได้ อาจเรียกได้แค่ค่าใช้ทรัพย์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรค 3 และค่าเสียหายอื่นที่ไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ (ฎีกาที่ 5861/2545, 4819/2549)
  • แต่คู่กรณีอาจตกลงกันให้เรียกค่าเช่าซื้อที่ ค้างอยู่ทั้งหมดได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลลดลงได้ (ฎีกาที่ 356/2548, 1496/2548)
  • บทบัญญัติคุ้มครองผู้ที่ซื้อทรัพย์จากท้องตลาด หรือพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 1332 ย่อมคุ้มครองผู้เช่าซื้อที่ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว (ฎีกาที่ 1130/2507)

 

ทบทวน    จำนำ ป.พ.พ. มาตรา 747

หลัก      "อันว่าจำนำ นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้"

  • ทรัพย์สินที่จะจำนำได้ มีเฉพาะสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
  • ต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำยึดถือไว้ด้วย ถ้าทำสัญญาโดยระบุว่าเป็นการจำนำ แต่ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ผู้รับจำนำ ก็ไม่เป็นการจำนำ (ฎีกาที่ 2448/2551)
  • การจำนำ สังหาริมทรัพย์ เพื่อประกันหนี้ อาจจะประกันหนี้ของตนเอง หรือของบุคคลอื่นก็ได้ แต่ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของนำเอาไปจำนำ ผู้ที่เป็นเจ้าของติดตามเอาคืนได้ (ฎีกาที่ 449/2519)
  • ผู้จำนำมีสิทธิยึดของที่จำนำไว้ได้ทั้งหมด จนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วน (มาตรา 758) เช่น โจทก์เอาปืนไปจำนำไว้กับจำเลย โจทก์จะขอไถ่จำนำโดยชำระหนี้ให้เฉพาะต้นเงินไม่ได้ ต้องชำระดอกเบี้ยด้วย จึงจะมีสิทธิได้รับปืนที่จำนำคืน (ฎีกาที่ 2405/2516)
  • การบังคับจำนำ ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อน ว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันสมควร ถ้าลูกหนี้ละเลย ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินออกขาย แต่ต้องขายทอดตลาด (มาตรา 764)
    • การขายทอดตลาด ผู้รับจำนำมีสิทธิ ตามมาตรา 764 ที่จะขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนำได้ โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล (ฎีกาที่ 875/2523)
  • เมื่อผู้รับจำนำยังไม่บังคับจำนำ ผู้จำนำย่อมมีสิทธิไถ่ถอนทรัพย์ได้เสมอ แม้จะพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้วก็ตาม (ฎีกาที่ 3697/2528)
จำ   -    การที่ผู้รับจำนำยินยอมให้ผู้จำนำเอาทรัพย์สินที่จำนำไปใช้ประโยชน์ ในกิจการของผู้จำนำ เป็นการยอมให้ทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนสู่การครอบครองของผู้จำนำ สิทธิจำนำจึงระงับไป ตามมาตรา 769(2) (ฎีกาที่ 2517/2534)

 

ทบทวน    ยักยอก ป.อ. มาตรา 352

หลัก     "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ..."

  • กรณีเช่าซื้อทรัพย์สิน ถือว่า ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อ การที่ผู้เช่าซื้อเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปขาย เป็นการยักยอกทรัพย์ (ฎีกาที่ 6540/2548, 7727/2544)
  • การนำทรัพย์สินที่ครอบครองไปจำนำ ก็เป็นการเบียดบัง เป็นยักยอกทรัพย์นั้น แต่เงินที่ได้จากผู้รับจำนำ ไม่ใช่เงินที่ตกเป็นของโจทก์ จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกเงินนั้น (ฎีกาที่ 457/2503)

 

ทบทวน    รับของโจร ป.อ. มาตรา 357

หลัก     "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันตนได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษ..."

  • ความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรค 1 นั้น จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังที่การกระทำความผิดในการได้ทรัพย์ นั้นมาสำเร็จไปแล้ว
  • ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับทรัพย์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ ที่ได้มาจากการกระทำความผิด (ฎีกาที่ 2923/2549, 2608/2548)

 

(ทีมงาน Thai Law Consult นำมาจากหนังสือ แพ่งพิสดาร เล่ม 1 และหนังสือ อาญาพิสดาร เล่ม 2 ของ อาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ฉบับพิมพ์ ปี 2552)

 

(A)   ข้อเท็จจริง คดีแรก เช่าซื้อรถ Isuzu D-MAX แล้วรถหาย

1.  ... สิงหาคม 2554 เกษตรสวนปาล์ม มีเงินเก็บ 2 แสนบาท จึงนำไปเป็นเงินดาวน์เพื่อเช่าซื้อรถกระบะ Isuzu D-MAX All New โฟว์วีล 4x4 ชนิด 2 ประตู โดยมีพี่รังสรรค์ ข้าราชการกรมประมง ระดับ 8 ญาติของนันเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ... แต่การเช่าซื้อนี้หาได้เช่าซื้อจากดีลเลอร์หรือเอเย่นต์ของ Isuzu หรือสำนักงานสาขาไม่ เพราะรถ Isuzu ขาดตลาด... นันจึงทำสัญญาเช่าซื้อกับเต๊นท์รถของเจศล ซึ่งมีรถให้แทบจะทันทีที่วางเงินดาวน์

2.  ราคารถคือ 650,000 บาท นันจึงทำสัญญาผ่อนชำระ 60 งวด ๆ ละ 10,000 บาท สัญญาเช่าซื้อลงวันที่ 1 ธันวาคม 2554 และนันชำระเงินประกันภัยรถกระบะคันดังกล่าว จำนวน 20,000 บาท โดยระบุให้ เจศล เป็นผู้รับประโยชน์ถ้ารถยนต์สูญหายหรือเสียหายทั้งคัน สัญญาประกันภัยรถยนต์ เริ่มวันที่ 1 ธันวาคม 2554 ถึง 30 พฤศจิกายน 2555 (ทุนประกัน 500,000 บาท)

3.  ... เมษายน 2555 รถกระบะ D-MAX ของนันหายไปในเวลากลางคืน ขณะจอดอยู่หน้าบ้านของนัน นันร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แจ้งให้บริษัทประกันภัย พี่รังสรรค์ และเจศล ทราบแล้ว

4.  ... กรกฎาคม 2555 เจศล ผู้ให้เช่าซื้อ มีหนังสือทวงถามให้พี่รังสรรค์ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ เพราะนันไม่เคยผ่อนชำระอีกเลยหลังจากรถหาย และอ้างในหนังสือทวงถามว่า บริษัทประกันภัยปฏิเสธไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนรถหาย เพราะสงสัยว่านันจะไม่สุจริต นำรถไปขายแล้วเคลมประกันว่ารถหาย, บริษัทประกันภัย มีข้อมูลว่า นันเป็นหนี้พนันเจ้ามือรายใหญ่ จำนวนเงินเกือบ 5 แสนบาท

5.  15 ธันวาคม 2555 เจศล ผู้ให้เช่าซื้อ ฟ้องนัน ผู้เช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 1 และพี่รังสรรค์ ผู้ค้ำประกัน เป็นจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้อง

6.  20 ธันวาคม 2555 พี่รังสรรค์ มาพบทีมทนาย Thai Law Consult ซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่ สนง.ทนายความสมปราถน์และเพื่อน อาคารพิบูลย์คอนโด1 ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 44 วงศ์สว่าง บางซื่อ กรุงเทพฯ พี่รังสรรค์ให้ทีมทนายตรวจดูข้อเท็จจริงจากเอกสาร แล้วถามว่า คดีจะมีทางออกอย่างไร และนันผู้เช่าซื้อหายตัวไป ติดต่อไม่ได้เลย, ขอให้ทนายช่วยต่อสู้คดีให้ด้วย

  • ทนายสมบัติ บุญสุทัศน์ น.บ.ท.63 ให้ความเห็นว่า เมื่อทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 แต่สัญญาเช่าซื้อระบุว่า "ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย ... สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว ... และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ" หมายความว่า นันผู้เช่าซื้อ จะต้องชำระราคารถกระบะที่เช่าซื้อที่ยังไม่ได้ชำระตามสัญญาจนครบ โดยไม่ได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวดๆ เหมือนกรณีที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ถูกโจรภัย หรือไม่สูญหาย อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 567 และไม่ขัดต่อความสงบ ไม่โมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย และศาลมีอำนาจลดหย่อนได้ หากเห็นว่าสูงเกินส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ตามฎีกาที่ 2805/2540
  • ทนายน้อย ปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64 ให้ความเห็นว่า สัญญาเช่าซื้อของเจศล เจ้าของเต้นท์รถ มีความรัดกุมสำหรับรักษาประโยชน์ของผู้ให้เช่าซื้อมาก เช่นมีข้อตกลงว่า กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากนัน ผู้เช่าซื้อ และจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อนันเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัย และเจศล เป็นผู้รับประโยชน์ ก็เพื่อนันจะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้เจศล จึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และเจศล ได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว
  • ทนายพี่ตุ๊กตา น.บ.ท.64 ให้ความเห็นว่า กรณีรถที่เช่าซื้อสูญหาย ผู้ให้เช่าซื้อรับประโยชน์ทดแทนทั้ง 2 ทาง เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต นันจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออีก ถ้าประกันภัยจ่ายค่าสินไหมจำนวนไม่น้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ตามฎีกาที่ 4819/2549 และ 5819/2550
  • ทนายเจี๊ยบ สาวิตรี จิตซื่อ ให้ความเห็นว่า ในคำฟ้องอ้างว่า เจศล หรือโจทก์ ไม่ได้รับสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และไม่มีหลักฐานของบริษัทประกันภัย หรือเอกสารสรุปคดีของพนักงานสอบสวนว่า บริษัทประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุใด และในบัญชีระบุพยานของทนายโจทก์ ไม่ได้ระบุพยานบริษัทประกันภัย ตรงนี้มีพิรุธ น่าจะหาข้อมูลเพิ่มและคาดว่าจะมีอะไรซ่อนอยู่ เพราะทางหาดใหญ่ จ.สงขลา เคยมีคดีที่เต๊นท์รถเรียกค่าเช่าซื้อและค่าสินไหม พร้อมกันทั้ง 2 ทาง
  • ทนายอมรเทพ เฉลิมพันธ์พิพัฒน์ น.บ.ท.64 รายงานว่า เมื่อสักครู่ได้โทรติดต่อกับผู้จัดการสาขาของบริษัทประกันภัยที่ขายกรมธรรม์ ประกันภัยรถยนต์ของนันให้ข้อมูลว่า บริษัทประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจศลผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกัน ภัย จำนวน 500,000 บาทแล้ว เมื่อ 15 ตุลาคม 2555 ถ้าทนายของนันหรือพี่รังสรรค์อยากได้เอกสาร ขอให้เข้าไปติดต่อกับหัวหน้าสินไหมที่ สนญ. ของบริษัทประกันที่กรุงเทพฯ
  • วันนั้น พี่รังสรรค์ และทีมทนาย Thai Law Consult ได้สรุปว่า จะเขียนคำให้การตามแนวทางของฎีกาที่ 4819/2549 ทีมทนายมั่นใจว่า คดีนี้จะจบในชั้นไกล่เกลี่ย และเจศล ต้อนถอนฟ้องแน่นอน ถ้าไม่ถอนฟ้อง เจศล อาจนอนไม่หลับ ส่วนพี่รังสรรค์ออกจากสำนักงานทนายความไปด้วยสีหน้ายิ้มแย้มขึ้น และพี่รังสรรค์ฝากอวยพรปีใหม่ 2556 ว่าให้น้องๆ ที่กำลังศึกษากฎหมายอยู่ทุกคนที่เข้าชม www.ThaiLawConsult.com ว่า ขอให้ประสบความสำเร็จได้เป็นท่านกันเร็วๆ นะครับ

 

(ทีมงาน Thai Law Consult ได้นำฎีกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาลงไว้แล้วครับ)

 

(B)   ข้อเท็จจริง คดีที่สอง เช่าซื้อรถ Toyota VIGO 2 ประตู 4x4 แล้วเอาไปจำนำ

1.  ปี 2553 สันติ ชาวสวนลำใย จ.ลำพูน ขายลำใยได้ราคาดี มีเงินเหลือ จึงเอาเงิน 220,000 บาท ไปดาวน์รถ Toyota VIGO และกู้ไฟแนนซ์อีก 480,000 บาท ผ่อนชำระ 60 เดือน ๆ ละ 10,000 บาท กำหนดผ่อนชำระงวดแรก 1 พฤษภาคม 2553 หลังจากผ่อนชำระครบ 1 ปี สันติมีปัญหาทางการเงิน จึงนำรถ VIGO ไปจำนำชั่วคราวกับพ่อเลี้ยงอ้าย ชาวเชียงราย ได้เงินมา 200,000 บาท สันติผ่อนชำระค่างวดอีก 3 งวด แล้วไม่ชำระอีกเลย ไฟแนนซ์ทวงถามก็เพิกเฉย พนักงานติดตามยึดรถของไฟแนนซ์สืบทราบว่าสันตินำรถไปจำนำพ่อเลี้ยงอ้ายแต่ ติดตามไม่ได้ ไฟแนนซ์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และต่อมาอัยการฟ้องสันติต่อศาลแขวงในข้อหายักยอก ส่วนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ ไฟแนนซ์ฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัด เรียกค่าเสียหาย 450,000 บาท กับเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง

2.  สันติ โทรสอบถามปรึกษาคดีกับทนายปิ๋ว อังคณา นวลละออง น.บ.ท.64 (เนติบัณฑิตคนแรกของสถาบันราชภัฎเชียงใหม่) และเมื่อสันติเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้มาพบทีมทนายของ Thai Law Consult เมื่อได้ฟังข้อเท็จจริง ทีมทนายได้ให้ความเห็นดังนี้

  • ทนายน้อย ปราธูป ศรีกลับ น.บ.ท.64 ได้ให้ความเห็นว่า ไฟแนนซ์มีอำนาจฟ้องสันติเป็นจำเลยทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา คือ คดีแพ่งเรียกค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีผู้เช่าซื้อไม่คืนรถ VIGO ทรัพย์ที่เช่าซื้อ และไม่ผ่อนชำระเป็นเงิน 450,000 บาทนั้น สันติควรหาเงินชำระทั้งหมดในคราวเดียวก่อนศาลในคดีอาญาพิพากษา เพื่อให้โจทก์ถอนฟ้องทั้งคดีแพ่งและให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)
  • ทนายสมบัติ บุญสุทัศน์ น.บ.ท.63 พูดว่า การที่ผู้เช่าซื้อรถ VIGO ถือว่า ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองรถ VIGO ของไฟแนนซ์ผู้ให้เช่าซื้อ การที่ผู้เช่าซื้อเอาไปขาย เป็นการยักยอกทรัพย์ ตามฎีกาที่ 6540/2548, 7727/2544, 7729/2544 ถ้าเอาไปจำนำก็เป็นการเบียดบัง เป็นการเบียดบังรถ VIGO ไม่ใช่เบียดบังเงินที่ได้จากการจำนำ ตามฎีกาที่ 457/2503
  • ทนายพี่ตุ๊กตา น.บ.ท.64 เสริมว่า ที่สันติถามว่า ทำไมไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือตำรวจไม่ดำเนินการกับพ่อเลี้ยงอ้าย ผู้รับจำนำ เป็นเพราะติดตามตัวพ่อเลี้ยงอ้ายและรถ VIGO ไม่ได้ หรือถ้าติดตามตัวได้ ถ้าฟ้องพ่อเลี้ยงอ้ายว่า รับของโจร อัยการต้องมีหลักฐานแน่นหนาและต้องสืบให้ได้ว่า พ่อเลี้ยงอ้าย รับทรัพย์รถ VIGO โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถที่ได้มาจากความผิดฐานยักยอก โดยสันติเป็นผู้กระทำความผิดฐานยักยอกรถ VIGO ของไฟแนนซ์ ซึ่งพ่อเลี้ยงอ้ายน่าจะมีข้อต่อสู้อยู่มาก (ฎีกาที่ 2923/2549, 2608/2548)
  • ทนายเจี๊ยบ สาวิตรี จิตซื่อ ให้ความเห็นว่า ถ้าสันติจะฟ้องพ่อเลี้ยงอ้ายว่ารับของโจร ก็ฟ้องไม่ได้ เพราะสันติไม่ใช่ผู้เสียหายนิตินัย เพราะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดเสียเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) แต่คดีรับของโจรเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ถ้ามีการร้องทุกข์ถือว่า คำร้องทุกข์เป็นคำกล่าวโทษได้ (ป.วิ.อ. มาตรา 2(8) กรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องได้ เพราะถือเป็นการดำเนินการแทนรัฐในการรักษาความสงบสุขของสังคม มิใช่ดำเนินการแทนผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรค 2
  • ทนายธวัชชัย พูดว่า คดียักยอกทรัพย์ เป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 356 และคดีมีมูลหนี้มาจากการชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อรถ VIGO จึงไม่อยากให้สันติคิดเรื่องดำเนินคดีกับพ่อเลี้ยงอ้ายเป็นคดีอาญาว่ารับของ โจรมาก ควรหาทางติดตามพ่อเลี้ยงอ้าย ขอรถ VIGO คืน แต่ก็มีปัญหาอีกว่า จะเอาเงินที่ไหนไปคืนพ่อเลี้ยงอ้าย แม้การจำนำจะไม่เข้าหลักเกณฑ์การจำนำ เพราะสันติไม่ใช่เจ้าของรถ VIGO ตัวจริง แต่น่าจะบังคับได้ในฐานะสัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งรวมสัญญากู้ยืมเงินและฝากทรัพย์อยู่ด้วย

3.  ทีมทนาย Thai Law Consult และสันติ จึงสรุปว่า ทั้งคดีแพ่งและอาญา ให้สันติให้การต่อสู้คดีและขอโอกาสโจทก์เลื่อนคดี หาเงินมาชำระหนี้ไฟแนนซ์โจทก์ให้เสร็จสิ้น ก่อนศาลในคดีอาญายักยอกทรัพย์รถ VIGO พิพากษา เพื่อให้โจทก์ถอนฟ้อง - โดยในคดีอาญาให้รับสารภาพ แต่ต้องหาเงินมาชำระให้เสร็จสิ้น เพื่อให้โจทก์ถอนฟ้อง

 

(ทีมงานทนายความ Thai Law Consult ได้นำเรื่องจริงทั้ง 2 เรื่อง มาดัดแปลง เพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมายของประชาชน และได้นำฎีกาที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มาลงไว้แล้ว โดยนำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกาครับ ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2556 ทีมงาน Thai Law Consult ขออวยพรให้พี่น้องทุกท่านมีสุขภาพดี สมองสดใส เจริญ เจริญ ในการทำมาหากิน ส่วนน้องๆ ที่ศึกษากฎหมาย ขอให้บรรลุเป้าหมายในเร็ววันครับ สวัสดีปีใหม่ 2556)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6862/2550

ป.พ.พ. มาตรา 572, 1336

          ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อคือสัญญาซึ่ง เจ้าของ เอา ทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็น จำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น เจ้าของ แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ เจ้าของ จึง หมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อและหมายรวมถึงผู้ที่จะมี กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย เมื่อ ค. ได้ซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทมาจาก ห. โดย ห. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจโอนลอยทางทะเบียนให้ ค. ไว้แล้ว เพียงจะนำไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดย ค. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ด้วย เท่ากับว่าจะโอนเป็นชื่อของบริษัทโจทก์เมื่อใดก็ได้ ต่อมาโจทก์ได้ให้ ห. เช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาท และ ห. นำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น เจ้าของ รถแทรกเตอร์คันพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มี อำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห. ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยไม่นำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่โจทก์แต่ กลับนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถแทรกเตอร์คันพิพาทไว้จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคล อื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถแทรกเตอร์ ยี่ห้อโคมัตสุ หมายเลขเครื่อง 6 D 105-81092 คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 408,000 บาท และให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถแทรกเตอร์คืนหรือชดใช้ราคา

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบรถแทรกเตอร์ยี่ห้อโคมัตสุ หมายเลขเครื่อง 6 D 105-81092 แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ชดใช้ราคา 391,000 บาท แทน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...พิเคราะห์ แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า รถแทรกเตอร์คันพิพาทเดิมเป็นของบริษัท ไฮเวย์ แทรกเตอร์ จำกัด และได้ขายให้แก่นายหร่ายไป ต่อมานายหร่ายขัดสนทางการเงินจึงไปยืมเงินนายครองทรัพย์และต่อมาได้ขายรถ แทรกเตอร์คันพิพาทให้แก่นายครองทรัพย์ ทั้งนี้ รถแทรกเตอร์คันพิพาทได้มอบอำนาจให้โอนลอยทางทะเบียนกันไว้ในทุกขั้นตอนของ การซื้อขายแล้วเพียงแต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือการจด ทะเบียนรถยนต์เท่านั้น ปัจจุบันจึงยังเป็นชื่อของบริษัท ไฮเวย์ แทรกเตอร์ จำกัด สำหรับนายครองทรัพย์ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทครองทรัพย์ยนต์ จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ด้วยตามภาพถ่ายหนังสือรับรอง ต่อมาโจทก์ได้ให้นายหร่ายเช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทนี้ไปตามหนังสือสัญญา เช่าซื้อ ต่อมานายหร่ายนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทกับนายหร่ายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากยังมิได้เป็นเจ้าของรถ แทรกเตอร์คันพิพาทแต่อย่างใด เนื่องจากยังมิได้รับการโอนทะเบียนมาอย่างถูกต้อง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 เช่าซื้อคือสัญญาซึ่ง เจ้าของ เอา ทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น เจ้าของ แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ เจ้าของ จึง หมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อและหมายรวมถึงผู้ที่จะมี กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย คดีนี้เมื่อนายครองทรัพย์ได้ซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทมาจากนายหร่ายโดยนาย หร่ายได้ทำหนังสือมอบอำนาจโอนลอยทางทะเบียนให้นายครองทรัพย์ไว้แล้วเพียงแต่ จะนำไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยนายครองทรัพย์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ด้วยเท่ากับว่าจะโอน เป็นชื่อของบริษัทโจทก์เมื่อใดก็ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทกับนายหร่ายโดยข้อเท็จจริงฟัง ได้ว่านายหร่ายได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้ว งวด เช่นนี้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น เจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 มี อำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายหร่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยไม่นำค่าเช่า ซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่โจทก์ แต่กลับนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถแทรกเตอร์คันพิพาทไว้ จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิติดตามและเอา คืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ศาลอุทธรณ์ภาค ได้ วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาประการอื่นของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

( ณรงค์พล ทองจีน - สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - สิริรัตน์ จันทรา )

หมายเหตุ 

          การซื้อขายรถยนต์ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนไปยังผู้ซื้อแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกันโดยมิพักต้องไป โอนทะเบียน การโอนทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ การที่โจทก์จะมีกรรมสิทธิ์ในรถแทรกเตอร์คันพิพาทโดยนิติสัมพันธ์ประการใดกับ ค. ย่อมเป็นเรื่องความสัมพันธ์ภายในบริษัทของโจทก์ แต่การที่โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถแทรกเตอร์คันพิพาท และส่งมอบการครอบครองรถแทรกเตอร์ให้ ห. ครอบครองได้ตามสัญญา จึงถือว่าโจทก์แสดงตัวอย่างเจ้าของรถแทรกเตอร์ผู้มีสิทธิทำสัญญาเช่าซื้อ แล้ว แม้โจทก์จะยังไม่มีชื่อเป็นเจ้าของในเอกสารทะเบียนรถก็ตาม        

          วรพจน์ วัชรางค์กุล

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549

ป.พ.พ. มาตรา 5, 374, 572, 861, 862
ป.วิ.อ. มาตรา 225

          ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อ โจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อ ถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 402,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 342,636 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

           จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 227,030 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

           จำเลยอุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

           โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

           ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อ 10 งวด เป็นเงิน 227,030 บาท แก่โจทก์หรือไม่ ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 กำหนดว่า "ผู้เช่าสัญญาว่า (ก) ...กรณีที่รถยนต์สูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่า จะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที โดยผู้เช่าจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้ รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่ผู้เช่าเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัย ตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (ซ) มาปฏิเสธความรับผิดที่จะต้องชำระราคาดังกล่าวข้างต้น... (ซ) จะประกันภัยรถยนต์โดยทันที (เว้นแต่เจ้าของจะได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างอื่น) และระหว่างอายุสัญญาฉบับนี้จะประกันภัยรถยนต์ไว้ตลอดเวลาโดยใช้กรมธรรม์ชนิด ให้ความคุ้มครองเต็มจำนวนราคาค่าเช่าซื้อโดยปราศจากข้อกำหนดความรับผิดอย่าง ต่ำที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองหรือข้อจำกัดสิทธิใด ๆ กับบริษัทประกันภัยที่เจ้าของเชื่อถือ และให้สลักหลังระบุให้เจ้าของเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เต็มจำนวนและ มอบกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้กับเจ้าของ ผู้เช่าในฐานะผู้เอาประกันต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ อย่างเคร่งครัด ถ้าผู้เช่าส่งคืนรถยนต์ให้แก่เจ้าของหรือถ้าเจ้าของกลับเข้าครอบครองรถยนต์ นั้น ส่วนได้เสียของผู้เช่าในการประกันภัยใด ๆ ที่ทำไว้ตามสัญญาฉบับนี้ให้ตกเป็นของเจ้าของอย่างสิ้นเชิง โดยให้เจ้าของมีสิทธิได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการประกันภัยดังกล่าว รวมทั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตามกรมธรรม์ที่ยังค้างอยู่ ณ เวลาที่ส่งรถยนต์คืน หรือ ณ เวลากลับเข้าครอบครองรถยนต์ และหรือส่วนลดเบี้ยประกันภัยใด ๆ สิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนใด ๆ และเงินทั้งหมดที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายและที่ได้จ่ายในกรณีรถ ยนต์ถูกลักหรือเสียหายอย่างสิ้นเชิงตามสัญญาประกันภัยใด ๆ ดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทรับประกันภัยจ่ายให้แก่เจ้าของโดยตรงและโดยสัญญานี้ผู้เช่ามอบหมาย อำนาจอันจะเพิกถอนมิได้ให้เจ้าของเป็นผู้ออกใบรับเงินให้แก่บริษัทผู้ รับประกันภัยสำหรับเงินใด ๆ ที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว" เห็นว่า หากเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแล้ว กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ ประกันภัยก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ย ประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์ หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตต้องคืนเงินค่า เช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยแต่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

           พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - สุรพล เจียมจูไร - สถิตย์ ทาวุฒิ )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายภคเชษ มีพันลม
ศาลอุทธรณ์ - นายคมสัน ศรีทองสุก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2519

ป.พ.พ. มาตรา 747, 1336

          จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เอารถยนต์ของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันหนี้ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยการจำนำนั้นไม่ผูกพัน โจทก์ผู้เป็นเจ้าของ การที่โจทก์ให้ป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถเพื่อไปติดหน้ารถ แต่จำเลยที่ 2 ไม่นำป้ายวงกลมดังกล่าวไปติด จะถือเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ยังไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่จำเป็นจะต้องติดตามดูแลการติดป้ายวงกลม

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2515 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด คอร์ติน่า สีเหลืองไปจากโจทก์ในราคา 109,230 บาท โดยตกลงจะชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 30 งวด งวดละเดือน ๆ ละ 3,644 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม2515 เป็นต้นไป โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏรายละเอียดของสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันท้ายฟ้อง นับแต่ทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียงงวดเดียว และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา โจทก์ได้ทวงถามและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และให้จำเลยคืนรถยนต์แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาโจทก์สืบทราบว่าจำเลยที่ 3ได้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ได้ติดต่อทวงถาม แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ยอมคืนรถให้โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเพราะอาจนำรถมาให้เช่าได้วันละไม่น้อยกว่า 200 บาท จึงขอให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 109,320 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย คือค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ วันละ 200 บาท เป็นเงิน 19,800 บาท และค่าเสียหายวันละ 200 บาท ตั้งแต่วันฟ้องตลอดไปจนกว่าจะคืนรถหรือใช้ราคาแก่โจทก์

           จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับว่ารถยนต์ตามฟ้องอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 จริง โดยจำเลยที่ 1 ได้นำมาให้โจทก์ (ที่ถูกเป็นจำเลยที่ 3) ยึดไว้เป็นหลักประกันหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศที่จำเลยที่ 1ค้างชำระแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 16,195 บาท การครอบครองของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการครอบครองโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 3 คืนรถยนต์และเรียกค่าเสียหาย

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันคืนรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด คอร์ติน่า สีเหลืองแก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ชำระราคา 109,230 บาทและให้ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เป็นเงิน 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3

           โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันส่งมอบรถคืนโจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้อง

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้น ต้นว่า ให้จำเลยที่ 3ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน ถ้าคืนไม่ได้ให้ชำระราคา 109,230 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราวันละ 100 บาทนับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2515 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516ให้โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดียวกันนี้ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2516 จนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ 3 ฎีกา

          ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2515 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไปจากโจทก์ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.3มีกำหนดชำระ 30 งวด จำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียงงวดเดียวแล้วไม่ชำระอีก โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คืนและชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่คืนให้ ปรากฏว่ารถยนต์ไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศ และจำเลยที่ 3 รับรถนั้นไว้โดยสุจริต โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทมาให้จำเลยที่ 3 ยึดถือไว้เป็นหลักประกันมูลหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 3 นั้น เมื่อรถยนต์ที่พิพาทมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 เพราะยังอยู่ในระหว่างเช่าซื้อไปจากโจทก์การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เอารถยนต์ของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันมูลหนี้ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยดังกล่าว การจำนำนั้นจึงไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของ การที่รถยนต์พิพาทมีป้ายวงกลมมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของปิดอยู่ ทำให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์เป็นของจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อโจทก์รับโอนทะเบียนรถยนต์ ทางการต้องออกป้ายวงกลมให้ใหม่โจทก์ก็นำสืบว่า เมื่อทางการออกป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถ โจทก์ก็ให้จำเลยที่ 2 นำไปติดหน้ารถแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ไม่นำป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์ไปติด จะถือเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ยังไม่ได้ โจทก์ไม่จำเป็นจะต้องติดตามดูแลการติดป้ายวงกลม อนึ่ง ตามพฤติการณ์ในคดี จะถือว่าโจทก์แสดงออกหรือเชิดให้จำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ก็ไม่ได้ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอารถยนต์ของตนคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จำเลยที่ 3 จะปฏิเสธไม่ยอมคืนหาได้ไม่ เมื่อไม่คืนจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

( เดช วุฒิสิงห์ชัย - ถนอม ครูไพศาล - แถม ดุลยสุข )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6548/2548

C
C
C

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7727/2544

ป.อ. มาตรา 352

          จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถ ยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อ กับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ใน ครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ของบริษัทอีซูซุเสนียนต์นครสวรรค์ จำกัด ผู้เสียหาย แล้วจำเลยเบียดบังเอารถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวของผู้เสียหายเป็นของ จำเลยหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,238,009.25บาทแก่ผู้เสียหาย

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 6 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขเครื่องยนต์723835 ราคา 2,238,009.25 บาท ของบริษัทอีซูซุเสนียนต์นครสวรรค์จำกัด ผู้เสียหาย โดยทำสัญญาเช่าซื้อ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยยักยอกรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวหรือไม่โจทก์มีนางสาวจินณ์เกษม สาระคุณ กรรมการบริษัทผู้เสียหาย และนางสาวจารุภา มีพร้า เบิกความเป็นพยานประกอบสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3รับฟังได้ว่าจำเลยเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขเครื่องยนต์ 723835 ชำระเงินวันทำสัญญา 245,245.45 บาทที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวด งวดละ 55,354.55 บาท รวม 36 งวด หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลยผู้เสียหายจึงบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 และใบตอบรับเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์บรรทุกคืนแก่ผู้เสียหายผู้เสียหายนำเช็คที่จำเลย สั่งจ่ายไปเบิกเงินก็ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน พยานหลักฐานโจทก์ดังนี้แสดงว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อชำระเงินล่วงหน้าจำนวนหนึ่งเพียงเพื่อให้ได้รถยนต์ บรรทุกสิบล้อไปไว้ในครอบครองไม่มีเจตนาจะชำระราคาอีก โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่างวดตั้งแต่งวดแรกไม่ขอผัดผ่อน ไม่ติดต่อด้วย เมื่อสัญญาเลิกกันก็ไม่คืนรถยนต์แก่ผู้เสียหาย หากมีข้อขัดข้องควรต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ซึ่งผิดวิสัยผู้ทำการโดยสุจริต นางสาวจินณ์เกษมและนางสาวจารุภาพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า ติดตามสืบหารถยนต์แล้วไม่พบ สอบถามผู้ใหญ่บ้านได้ความว่าจำเลยขายไปแล้ว ส่วนผู้ค้ำประกันเป็นเพียงชาวบ้านที่จำเลยจ้างให้ทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อจำเลยถูกจับคดีกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการ ใช้เช็ค พยานทั้งสองถามจำเลยเรื่องรถยนต์จำเลยบอกว่าขายไปแล้ว แต่ไม่ยอมบอกว่าขายแก่ใคร และรถยนต์อยู่ที่ใด ปรากฏตามบันทึกคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.6 และตามคำเบิกความร้อยตำรวจเอกวิริยะบัณฑิต สถิตย์สุวชาติ พนักงานสอบสวนพยานหลักฐานและพฤติการณ์ดังนี้ชี้ว่าจำเลยซึ่งครอบครองรถยนต์ บรรทุกสิบล้อของผู้เสียหายเบียดบังเอารถยนต์นั้นไว้เป็นของจำเลยหรือผู้อื่น โดยเจตนาทุจริต พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีแต่จำเลยนำสืบปฏิเสธลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน การที่จำเลยอ้างว่ารถยนต์ถูกนายเหน่งเอาไปรับจ้างแล้วไม่เอามาคืน จึงไม่น่าเชื่อเพราะรถยนต์เป็นของผู้เสียหาย จำเลยเช่าซื้อมา จำเลยย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าต้องรับผิดต่อเจ้าของตามสัญญา แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่านายเหน่งที่ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เป็นคนที่ไหนเกี่ยวข้องใกล้ชิดอย่างไร และเพราะเหตุใดจำเลยจึงส่งมอบรถยนต์ซึ่งมีราคาสูงให้ไปโดยไม่ต้องมีหลักฐาน หากเป็นความจริงตามวิสัยผู้สุจริต จำเลยต้องรีบแจ้งผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ติดตามผู้กระทำผิด และตามรถยนต์คืน แต่จำเลยไม่ได้ทำ ข้ออ้างว่าจำเลยได้แจ้งผู้เสียหายกับแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่เจ้าพนักงาน ไม่ยอมรับแจ้งนั้นไม่น่าเชื่อ ดังนี้เห็นว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนัก ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในครอบครอง ของจำเลยไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น"

          พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคารถยนต์ 2,238,009.25 บาท แก่ผู้เสียหาย

( สายันต์ สุรสมภพ - พิชิต คำแฝง - สุพัฒน์ บุญยุบล )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  457/2503

ป.อ. มาตรา 352
ป.วิ.อ. มาตรา 158, 161

           ตามฟ้องของโจทก์นี้ (ดูฟ้องโจทก์) แปลได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกเงินค่าจำนำวิทยุ (ไม่ใช่ยักยอกเครื่องวิทยุ)จึงไม่มีมูลคดีอาญา (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2503)

________________________________

          โจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยได้ตกลงเช่าซื้อวิทยุหนึ่งเครื่องไปจากโจทก์ โดยจำเลยตกลงชำระค่าเช่าให้โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะครบจำนวนราคา วิทยุที่เช่าซื้อไป เมื่อเช่าซื้อไปแล้วจำเลยได้ชำระค่าเช่าให้โจทก์เพียงสองคราวและมิได้ชำระ ให้โจทก์อีกเลย ต่อมาจำเลยได้มีเจตนาทุจริตบังอาจเอาวิทยุของโจทก์ที่จำเลยครอบครองอยู่ใน ฐานะผู้เช่าซื้อไปจำนำไว้กับผู้มีชื่อและโดยเจตนาทุจริตของจำเลย ๆ ได้เบียดบังเอาเงินค่าจำนำวิทยุนี้เป็นของจำเลยหรือบุคคลที่ 3 เสีย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

          ศาลชั้นต้นเห็นว่า มูลกรณีแห่งคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยทำผิดสัญญาทางแพ่งโดยแท้ เพียงแต่เหตุที่จำเลยทำผิดสัญญาเช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ตาม สัญญาแล้วจำเลยเอาวิทยุไปจำนำกับบุคคลที่ 3 เอาเงินใช้เสียเองนั้นจะถือว่าเป็นกริยาบังอาจและมีเจตนาทุจริตหาได้ไม่ เพราะการจำนำนั้นก็เพียงแต่จำเลยส่งมอบทรัพย์ให้ผู้รับจำนำยึดถือเพื่อเป็น ประกันการชำระหนี้เท่านั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยดังที่โจทก์บรรยายมา ไม่มีมูลแห่งความผิดทางอาญาจึงให้ยกคำฟ้องของโจทก์

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็น ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกเงินค่าจำนำวิทยุ หาใช่เป็นฟ้องหาว่ายักยอกเครื่องวิทยุไม่แม้จะถือว่าวิทยุยังเป็นของโจทก์ ซึ่งถ้าหากมีกรณีจะต้องคืนวิทยุและจำเลยคืนไม่ได้ จำเลยอาจต้องใช้เงินให้โจทก์ก็ดี แต่ก็เป็นการบังคับตัวจำเลยให้เอาเงินมาใช้แทนทรัพย์ส่วนตัวเงินที่จำเลยเอา เครื่องวิทยุไปจำนำมาได้ ไม่ใช่เป็นเงินของโจทก์ หรือที่โจทก์จะบังคับเอากับเงินนั้นได้โดยตรง แม้จำเลยจะเอาเงินนี้ไป ไม่นำมาให้โจทก์ โจทก์ก็จะว่าจำเลยยักยอกเงินนี้ไม่ได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่มีมูลคดีอาญา ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว

          พิพากษายืน ยกฎีกาของโจทก์

( ประจักษ์ศุภอรรถ - สัญญา ธรรมศักดิ์ - เจริญ ฤทธิศาสตร์ )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2923/2549

ป.วิ.อ. มาตรา 227

          ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดย รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางแล้ว จำเลยต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ไม่เป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นรถ จักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ พยานโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจทก์ ลำพังคำรับสารภาพชั้นจับกุม แต่จำเลยให้การปฎิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดี จะนำมาฟังลงโทษจำเลยว่าการกระทำความผิดฐานรับของโจรหาได้ไม่

________________________________

( วิชัย วิสิทธวงศ์ - ไพศาล เจริญวุฒิ - จรูญวิทย์ ทองสอน )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4819/2549

ป.พ.พ. มาตรา 5, 374, 572, 861, 862
ป.วิ.อ. มาตรา 225

          ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อ โจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อ ถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระ เงินจำนวน 402,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 342,636 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

           จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 227,030 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

           จำเลยอุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

           โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

           ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อ 10 งวด เป็นเงิน 227,030 บาท แก่โจทก์หรือไม่ ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 กำหนดว่า "ผู้เช่าสัญญาว่า (ก) ...กรณีที่รถยนต์สูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่า จะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที โดยผู้เช่าจะไม่ยกเหตุที่เจ้าของมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้ รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่ผู้เช่าเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัย ตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (ซ) มาปฏิเสธความรับผิดที่จะต้องชำระราคาดังกล่าวข้างต้น... (ซ) จะประกันภัยรถยนต์โดยทันที (เว้นแต่เจ้าของจะได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างอื่น) และระหว่างอายุสัญญาฉบับนี้จะประกันภัยรถยนต์ไว้ตลอดเวลาโดยใช้กรมธรรม์ชนิด ให้ความคุ้มครองเต็มจำนวนราคาค่าเช่าซื้อโดยปราศจากข้อกำหนดความรับผิดอย่าง ต่ำที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองหรือข้อจำกัดสิทธิใด ๆ กับบริษัทประกันภัยที่เจ้าของเชื่อถือ และให้สลักหลังระบุให้เจ้าของเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เต็มจำนวนและ มอบกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้กับเจ้าของ ผู้เช่าในฐานะผู้เอาประกันต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ อย่างเคร่งครัด ถ้าผู้เช่าส่งคืนรถยนต์ให้แก่เจ้าของหรือถ้าเจ้าของกลับเข้าครอบครองรถยนต์ นั้น ส่วนได้เสียของผู้เช่าในการประกันภัยใด ๆ ที่ทำไว้ตามสัญญาฉบับนี้ให้ตกเป็นของเจ้าของอย่างสิ้นเชิง โดยให้เจ้าของมีสิทธิได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการประกันภัยดังกล่าว รวมทั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตามกรมธรรม์ที่ยังค้างอยู่ ณ เวลาที่ส่งรถยนต์คืน หรือ ณ เวลากลับเข้าครอบครองรถยนต์ และหรือส่วนลดเบี้ยประกันภัยใด ๆ สิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนใด ๆ และเงินทั้งหมดที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายและที่ได้จ่ายในกรณีรถ ยนต์ถูกลักหรือเสียหายอย่างสิ้นเชิงตามสัญญาประกันภัยใด ๆ ดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทรับประกันภัยจ่ายให้แก่เจ้าของโดยตรงและโดยสัญญานี้ผู้เช่ามอบหมาย อำนาจอันจะเพิกถอนมิได้ให้เจ้าของเป็นผู้ออกใบรับเงินให้แก่บริษัทผู้ รับประกันภัยสำหรับเงินใด ๆ ที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว" เห็นว่า หากเป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแล้ว กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ ประกันภัยก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ย ประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์ หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตต้องคืนเงินค่า เช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยแต่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

           พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - สุรพล เจียมจูไร - สถิตย์ ทาวุฒิ )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายภคเชษ มีพันลม
ศาลอุทธรณ์ - นายคมสัน ศรีทองสุก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5819/2550

ป.พ.พ. มาตรา 383, 567

          เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ในราคา 425,809.44 บาท ตกลงผ่อนชำระรวม 48 งวด จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถคืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 110,000 บาท และขอให้ใช้ค่าขาดประโยชน์ 20,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 4,000 บาด นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือชำระราคา แทน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 130,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะครบ

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า ลายมือชื่อนางมณีรัตน์ผู้มอบอำนาจมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริง หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม ลายมือชื่อของนายชายผู้มอบอำนาจช่วงเป็นลายมือชื่อปลอม ขณะทำสัญญาเช่าซื้อนายสุรศักดิ์ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ การที่นายสุรศักดิ์มอบอำนาจให้นายสงัดทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์จึงเป็นการมอบ อำนาจโดยมิชอบ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งราคาเช่าซื้อเป็นการนำราคารถยนต์บวกดอกเบี้ยล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 35 งวด เป็นเงิน 310,486.05 บาท ภายหลังรถสูญหายเนื่องจากถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่ระงับ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ส่งรถยนต์คืนหรือใช้ราคา ค่าขาดประโยชน์ เบี้ยปรับราคาเช่าซื้อเป็นราคารถยนต์กับดอกเบี้ยล่วงหน้า โจทก์จึงนำราคาค่าเช่าซื้อมาคิดเป็นราคารถไม่ได้ ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ไม่เกิน 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพ ใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 87,000 บาท และร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์ 12,000 บาท และค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 2,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคา แต่ให้คิดค่าขาดประโยชน์ไม่เกิน 24 เดือน

          จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1

          จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์ แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ราคา 425,809.44 บาท ผ่อนชำระ 48 งวด งวดละ 8,871.03 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 35 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โดยรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป ซึ่งจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความไว้แล้วตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยที่ 1 และแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้แล้วว่าหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบกับขอลดค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระแต่ละงวดและแจ้งการหยุดใช้รถ โจทก์ตกลงทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาหรือให้ส่งมอบรถยนต์คืน สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งรถยนต์คืนโจทก์ หรือชดใช้ค่าขาดประโยชน์หรือค่าเสียหายแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป สัญญเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 โจทก์จะเรียกค่าเช่าซื้อที่เกิดขึ้นหลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายแล้วไม่ ได้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ และไม่ต้องรับผิดค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์อาจนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกให้บุคคล อื่นเช่า สาระสำคัญของอุทธรณ์จำเลยที่ 1 จึงอยู่ที่ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้แล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปแล้วผลของกฎหมายจะเป็นประการใด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยให้ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

          ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 ระบุว่า ในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหายผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับ ค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดราคารถยนต์เท่ากับค่าเช่าซื้อ ส่วนที่เหลืออยู่หรือหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก เมื่อพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้วทั้งจำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองว่าเห็นด้วยกับราคารถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดราคารถยนต์ให้เป็นจำนวน 87,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดค่าขาดประโยชน์ต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 87,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

( ชวลิต ตุลยสิงห์ - สมศักดิ์ เนตรมัย - มานัส เหลืองประเสริฐ )

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 8-1-56)