Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
เว็บ TLC เผยแพร่บทความเพื่อเป็นความรู้แก่ประชาชน
และพร้อมที่จะให้ท่านแคปหน้าจอไปใช้ได้
แต่กรุณาให้เครดิตว่ามาจากเว็บ Thai Law Consult
มิฉะนั้น ท่านอาจจะมีความผิดฐานละเมิดงาน "วรรณกรรม" อันมีลิขสิทธิ์ได้
|
|
|
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit, sed do eiusmod tempor incididunt ut labore et dolore magna...
ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง
หลัก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 287 "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ มาตรา 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง บุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับ เหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย"
ทบทวน ป.วิ.พ. มาตรา 287 เป็นเรื่องขอกันส่วน โดยบุคคลภายนอก นอกจากบุคคลตามมาตรา 288 (ผู้ร้องขัดทรัพย์) มาตรา 289 (ผู้ทรงสิทธิจำนอง) แล้ว หากบุคคลนั้นมีบุริมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆ อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำ ยึดได้ โดยขอกันส่วน
1). บุคคลผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
2). บุคคลผู้มีสิทธิยึด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12
3). ผู้ใช้อำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 พ.ศ. 2515 เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน
4). ผู้รับจำนอง
5). ผู้รับจำนำ
6). ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง
7). เจ้าของร่วม (ป.พ.พ. มาตรา 1357)
8). ในกรณี สามีภริยา ทั้งจดทะเบียนสมรส และไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 32 “ในการยึดทรัพย์สิน ให้ยึดเฉพาะส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้ามีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่า ส่วนใดเป็นของลูกหนี้ ให้ยึดมาทั้งหมด หรือตามสภาพ หากไม่ยึดทั้งหมด จะทำให้เสื่อมราคา เพราะแม้แต่ในระหว่างผู้เป็นเจ้าของร่วมด้วยกัน หากไม่สามารถตกลงในการแบ่งระหว่างกันเองได้ ก็ต้องขายทอดตลาด แล้วรับเป็นเงินแทน เจ้าของรวมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ชอบที่จะร้องเข้ามาในคดี เพื่อขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินในส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์ หรือขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนของ ตน
ข้อสังเกต
– แม้ว่าจะฟังว่ามีการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วนแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนแบ่งแยก โดยยังมีชื่อผู้ร้องและจำเลยเป็นเจ้าของรวม ดังนั้น ผู้ร้องต้องร้องขอกันส่วนที่ดิน ตามมาตรา 287 ซึ่งไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ (คดีไม่มีทุนทรัพย์)
– กรณีไม่ต้องตามเงื่อนไข มาตรา 288 ร้องขัดทรัพย์ (ฎีกาที่ 2451/2548)
(ทีมงาน Thai Law Consult นำมาจากหนังสือ วิแพ่งพิสดาร เล่ม 3 ฉบับปี 2553 ของอาจารย์วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ผู้พิพากษา เนื้อหา 422 หน้า ราคา 240 บาท และคู่มือการบังคับคดี โดย หม่อมหลวงสุพร อิศรเสนา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์นิติบรรณาการ พ.ศ. 2555 เนื้อหา 490 หน้า ราคา 370 บาท หนังสือทั้ง 2 เล่ม ทนายความทุกคนควรมีไว้เป็นหนังสือคู่มือครับ)
ข้อเท็จจริง
ทีมงาน Thai Law Consult เห็นว่าคำร้องขอกันส่วน และคำร้องคัดค้านคำร้องขอกันส่วน ของคดีนี้น่าสนใจ จึงดัดแปลงมาลงไว้ ให้นักกฎหมาย ทนายความใหม่ ได้ศึกษาเป็นตัวอย่างในการเขียนคำร้องครับ
(ทีมงาน Thai Law Consult ได้นำฎีกาน่าสนใจเกี่ยวกับคำร้องขอกันส่วนมาลงไว้แล้วครับ)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2548
ป.พ.พ. มาตรา 1364
ป.วิ.พ. มาตรา 287
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เมื่อผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็น กรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับผู้ร้องก่อนจะมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิ ในที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาที่ดินของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิอื่น ๆ อันอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินนั้นได้ตามกฎหมายซึ่งการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาท ทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
________________________________
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจาก วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำ เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9359 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9359 รวมกับจำเลย ขอให้กันที่ดินส่วนของ ผู้ร้องก่อนออกขายทอดตลาดหนึ่งในสาม
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กันที่ดินส่วนของผู้ร้องก่อนออกขายทอดตลาดเนื่องจาก เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้ แก่ผู้ร้องตามส่วนอยู่แล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กันที่ดินส่วนของผู้ร้องตามโฉนดเลขที่ 9359 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออก 1 ใน 3 ส่วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9359 ที่โจทก์นำยึดขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา เป็นที่ดินที่จำเลยและผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์รวมกัน โดยจำเลยถือกรรมสิทธิ์ 2 ใน 3 ส่วน ผู้ร้อง ถือกรรมสิทธิ์ 1 ใน 3 ส่วน ผู้ร้องและจำเลยได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนสัด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้กันที่ดินส่วยที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาททั้ง แปลงออก ขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็น กรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับผู้ร้องก่อนที่จะมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิ ในที่ดินดังกล่าว ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของ ผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิอื่น ๆ อันอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินนั้นได้ตามกฎหมายซึ่งการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาท ทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นขอกันส่วนโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกา เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นขอกันส่วนในศาลชั้นต้นและชั้นนี้ให้เป็นพับ.
( มนตรี ยอดปัญญา - วิบูลย์ มีอาสา - ประจักษ์ เกียรติ์อนุพงศ์ )
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ - นายเสริมสิทธิ์ สิริเจริญสุข
ศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543
ป.พ.พ. มาตรา 732
ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289
แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนอง ไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เพราะการบังคับคดีแก่ ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย
________________________________
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถแทรกเตอร์ยี่ห้อแคตเตอร์พิลล่า หมายเลขเครื่อง เอ ดี 4 ดี 3549 หมายเลขตัวถังซีเรียล 2330 สีเหลือง ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 400,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาทส่วนคำขออื่นให้ยก แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาท คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2022 ตำบลไชยคราม อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทโดยปลอดจำนองเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2542 โดยผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทได้ในราคา 250,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ว่า ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งจำเลยที่ 2 จำนองทรัพย์พิพาทเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่ผู้ร้อง จำเลยที่ 2 ยังเป็นหนี้ผู้ร้องคิดยอดหนี้ ณ วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นเงิน 1,200,000 บาท ดอกเบี้ย30,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,230,000 บาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทชำระหนี้จำนอง ให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นรวมทั้งโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 287 ด้วย
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องหลังจากนำทรัพย์สินขายทอดตลาดแล้วจึงไม่ชอบด้วยประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสองและกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อ กฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องในฐานะผู้รับ จำนองทรัพย์พิพาทมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอด ตลาดทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม คำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย" และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใดท่านให้จัดใช้แก่ ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ" เช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์ พิพาทเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ ด้วยตามที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ แม้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคสอง จะบัญญัติว่า "ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจด ทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด" ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอา ทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ทั้งนี้เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตาม เจตนาของผู้รับจำนองเท่านั้น แต่ถ้าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ พิพาทออกขายทอดตลาดก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่ เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับ เหนือทรัพย์พิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 ดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้ ร้องแล้ว และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยยังไม่ได้ไต่สวนว่าผู้ร้องมี สิทธิขอรับชำระหนี้เพียงใด จึงไม่ชอบศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องต่อไปแล้วมีคำสั่งตามรูป คดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น"
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
( วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ - สุวัตร์ สุขเกษม - วิบูลย์ มีอาสา )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2965/2537
ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289
ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกับโจทก์ในคดีนี้ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้ รับจำนองทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ถูกบังคับคดีขายทอดตลาดโดยวิธีปลอดจำนองไปแล้วในคดีนี้ จึงขอให้ศาลกันส่วนหนี้จำนองของผู้ร้องจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดัง กล่าวดังนี้ บุริมสิทธิของผู้ร้องเป็นบุริมสิทธิที่จะบังคับ และได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เพียงไม่เกินวงเงินจำนองผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์ จำนองโดยขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องโดยยังไม่ได้ไต่สวนว่าผู้ร้องเป็นเจ้า หนี้ผู้รับจำนองของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และมีสิทธิขอรับชำระหนี้เพียงใด โดยให้เหตุผลว่า การขอรับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 จะต้องยื่นก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดทรัพย์ ผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่ได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ไปแล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนอง จึงไม่ชอบ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องต่อไปแล้วมีคำสั่งตามรูปคดี
________________________________
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 740,409.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีในต้นเงิน 634,330 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามจำนวนที่แต่ละคนต้องรับผิด รายละเอียดปรากฏในคำพิพากษา และให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่จำเลยแต่ละคนจะต้องชำระให้โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,500 บาท แต่จำเลยทั้งแปดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 72905 ตำบลสำโรงใต้(สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งติดจำนองประกันหนี้รายอื่นออกขายทอดตลาดโดยวิธีปลอดจำนอง โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้ในราคา 2,000,000 บาท คดีอยู่ในระหว่างการคำนวณบัญชีของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับโจทก์เป็นบุคคลเดียวกันจำเลยที่ 1 กับผู้มีชื่อยังเป็นหนี้ผู้ร้องสาขาถนนลาดพร้าว ซอย 99ในสินเชื่อประเภทหนี้เงินกู้และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ใน ปัจจุบันและหนี้อันจะมีในภายหน้ากับผู้ร้องเป็นจำนวน 1,200,000 บาท และยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากบังคับจำนองขายทอดตลาดได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงิน และดอกเบี้ยค้างชำระยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้แก่ผู้ร้องจนครบจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้องบางส่วนและไม่ตรงเวลา ครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2528 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ภาระหนี้คิดถึงวันที่ 12 มีนาคม 2528จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ 634,758.50 บาท เมื่อคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องอยู่1,214,947 บาท เมื่อทรัพย์จำนองขายทอดตลาดไปแล้ว ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองจึงมีความจำเป็นขอให้ศาลกันส่วนของผู้ร้องจากเงิน ที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำ ร้อง ครั้นถึงวันนัดศาลชั้นต้นสั่งว่า การขอรับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 จะต้องยื่นก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดทรัพย์ ปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่ได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิรับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แล้ว โจทก์อ้างว่ายังเป็นผู้รับจำนองในหนี้รายอื่นที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่อีกจำนวน1,214,947 บาท โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 72905 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 มาจำนอง แล้วโจทก์คดีนี้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ออกขายทอดตลาดโดยวิธีปลอดจำนอง โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้เองในราคา2,000,000 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้กันส่วนหนี้จำนองจำนวน 1,214,947 บาท เห็นว่า การที่ผู้ร้องและโจทก์ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกันและอ้างว่าเป็นผู้รับ จำนองทรัพย์ของจำเลยที่ 1 บุริมสิทธิของผู้ร้องเป็นบุริมสิทธิที่จะบังคับและได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เพียงไม่เกินวงเงินจำนอง ฉะนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองมีสิทธิร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองโดยขอกัน ส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้ การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกคำร้องของผู้ร้องโดยยังไม่ได้ไต่สวนว่าผู้ร้องเป็น เจ้าหนี้ผู้รับจำนองของจำเลยที่ 1หรือไม่ และมีสิทธิขอรับชำระหนี้เพียงใด จึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องขอผู้ร้องต่อไปแล้วมีคำสั่งตามรูปคดีคำ พิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
( ปราโมทย์ บุนนาค - อากาศ บำรุงชีพ - ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา )