Blog categories

Latest posts

บทความจาก คุณสุดารัตน์ ก่อพันธ์ (ออฟ) - มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เนติบัณฑิตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากจนเกินความสามารถ

ดิฉันได้รับแจ้งให้เขียนบทความเกี่ยวกับการเรียนและการเตรียมตัวสอบชั้น เนติบัณฑิต ซึ่งดิฉันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ใน การเรียนเนติบัณฑิต เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังศึกษาหรือจะศึกษาต่อในชั้นเนติบัณฑิต

เมื่อดิฉันจบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็ตัดสินใจ ศึกษาต่อเนติบัณฑิตทันที ซึ่งตอนนั้นคือสมัยที่ 63 แต่ก่อนที่จะเรียนได้ยินคำร่ำลือต่างๆนาๆ ว่าคนที่จบเนติบัณฑิตได้ต้องเก่งมาก และจำนวนคนที่สอบผ่านก็น้อยมาก ตอนนั้นดิฉันคิดแค่ว่าไม่ว่ายังไงต้องสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตให้ได้ แต่เนื่องจากบ้านดิฉันอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด จึงรับคำบรรยายมาอ่านที่บ้าน เพราะไม่สะดวกที่จะมาเรียนที่เนติฯ ดิฉันใช้เวลาในการเรียนเนติฯ สองปี ซึ่งตรงตามที่ตั้งไว้

สำหรับเทคนิคการเรียนเนติฯนั้น ด้วยความสัตย์จริง สำหรับหนังสือ ดิฉันอ่านเฉพาะคำบรรยายเท่านั้น ซึ่งในหนังสือบรรยายของเนติฯ แต่ละวิชาได้ปูพื้นฐานไว้อย่างดี ทั้งหลักกฎหมาย และยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา ในการเรียนนั้นคำบรรยายจะออกสัปดาห์ละ 1 เล่ม ถ้าต่างจังหวัดต้องใช้เวลาในการจัดส่งซึ่งใช้เวลานานพอสมควร ควรหาคำบรรยายของเนติฯสมัยก่อนๆ ที่ไม่เก่ามากเกินไป เช่น เรียนสมัย 63 เราก็หาคำบรรยายสมัย 62 มาอ่านก่อนล่วงหน้า เพราะเนื้อหาในคำบรรยายไม่ต่างกันมากนัก ดิฉันอ่านคำบรรยายซ้ำไปซ้ำมา 3 รอบ เพราะการอ่านซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เราจำได้ดียิ่งขึ้น

การท่องตัวบท เวลาที่อ่านคำบรรยายแต่ละวิชา ในแต่ละเรื่อง เช่น ถ้าอ่านวิชาครอบครัว มรดก อ่านถึงเรื่องการรับมรดกแทนที่ ก็จะมีมาตราที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในคำบรรยายจะมีมาตรานั้นๆ อยู่ในคำบรรยาย ดิฉันจะอ่านในคำบรรยายรอบหนึ่งแล้วหยิบประมวลกฎหมายมาอ่านทวนอีกรอบหนึ่ง เพราะการเปิดประมวลกฎหมายบ่อยๆ จะทำให้จำถ้อยคำและทำให้ภาพติดตา และเวลาจะใช้จะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญในการท่องตัวบทมากๆ คือ เราได้ถ้อยคำกฎหมาย ซึ่งเวลาเขียนตอบข้อสอบ เราก็ใช้ข้อความในประมวลกฎหมายมาเขียนตอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้คะแนนดียิ่งขึ้น

นอกจากการอ่านคำบรรยาย การท่องตัวบทแล้ว การฝึกทำข้อสอบก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย เนื่องจากเวลาที่มีจำกัด 10 ข้อ 4 ชั่วโมง เฉลี่ยข้อละ 24 นาที ควรบริหารเวลาให้ดี ในส่วนนี้ดิฉันพลาดมาแล้ว คือ อ่านคำบรรยาย ตัวท่องบท แต่ไม่เคยฝึกทำข้อสอบเลย เพราะคิดว่าพร้อมแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนจากตรงไหน ทำให้ทำข้อสอบไม่ทัน และสอบไม่ผ่าน เพราะฉะนั้น ควรหาข้อสอบเนติฯ สมัยก่อนๆ มาฝึกเขียนบ่อยๆ จะทำให้จับประเด็นได้เร็ว

คำพิพากษาศาลฎีกานั้น  สำหรับดิฉันอ่านเพื่อจะเอาหลักกฎหมายในคำพิพากษานั้นๆ ไม่จำเป็นต้องท่องเลขฎีกา ซึ่งการอ่านคำพิพากษานอกจากจะได้หลักกฎหมายแล้ว ยังไม่ภาษากฎหมายที่สละสลวยอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่ดิฉันใช้ในการเรียนเนติฯ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการเรียนแตกต่างกัน แต่สิ่งที่อยากจะฝาก คือ การเรียนเนติฯ นั้น เวลาในการอ่านหนังสือมีน้อย ควรวางแผนการอ่านหนังสือให้รอบคอบ และควรมีวินัยในการอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ เพราะเนติบัณฑิตไม่ได้ ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่ได้มาเพราะความวิริยะ อุสาหะ การวางแผน การเตรียมการและความมีวินัยในการอ่านหนังสือ  ดิฉันเชื่อว่า เนติบัณฑิต ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากอย่างที่คิด

สุดารัตน์  ก่อพันธ์
เนติบัณฑิตไทย สมัย 64