ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64 ผู้เรียบเรียง
ทนายจำเลยต่อสู้คดีตามแนวฎีกากันอย่างไร

 

เรื่องที่ 7      ละเมิดโดยการหมิ่นประมาท


               ถูกถามถึงบ่อยครั้งว่า หมิ่นประมาทในทางแพ่ง กับ หมิ่นประมาทในทางอาญา แตกต่างกันอย่างไร ทีมทนาย Thai Law Consult จึงนำ "หมิ่นประมาทในทางแพ่ง" ซึ่งเป็นการละเมิดอย่างหนึ่ง เป็นเอกเทศนอกจาก ป.พ.พ. มาตรา 420 มาลงไว้ครับ

หลัก  

ป.พ.พ. มาตรา 423

               ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืน ต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่น ก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดย ประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อ ความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อ ความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

               ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเอง หรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่า เพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนไม่ 

 

ทบทวน

  • การหมิ่นประมาทด้วยข้อความจริง แม้ไม่เป็นละเมิด ตามมาตรา 423 นี้ ถ้าหากทำให้เสียหายแก่สิทธิของบุคคลอื่น ก็อาจเป็นละเมิด ตามมาตรา 420 ได้ (ฎีกาที่ 124/2487)
  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 35 "สิทธิของบุคคลในเกียรติยศ ชื่อเสียง ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพ ไม่ว่าด้วยวิธีใดไปสู่สาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบสิทธิดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่ กรณีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
  • หมิ่นประมาท "การแสดงข้อความหรือความหมายออกด้วยประการใดๆ ต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้บุคคลอื่นเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ
  • ดูหมิ่น "กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเหยียดหยามบุคคลอื่น ซึ่งไม่ทำให้ผู้นั้นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ

 

จำ     หมิ่นประมาททางแพ่ง ต่างกับ หมิ่นประมาททางอาญา ดังนี้

หมิ่นประมาททางแพ่ง
หมิ่นประมาททางอาญา
1. ผู้กระทำอาจจงใจ หรือ ประมาทเลินเล่อ ก็ได้
1. ผู้กระทำต้องกระทำโดยเจตนา
2. ข้อความที่หมิ่นประมาทต้องฝ่าฝืนต่อความจริง
2. แม้เป็นข้อความจริง ผู้กระทำก็ผิด
3. นอกจากจะทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ ยังรวมถึง ทางทำมาหาได้และทางเจริญด้วย
3. จำกัดเฉพาะ เสียหายแก่ชื่อเสียง หรือ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

 

(A)     การกล่าว หรือ ไขข่าวแพร่หลาย ต้องกระทำต่อบุคคลที่ 3 และบุคคลที่ 3 นั้น สามารถเข้าใจความหมายของข้อความที่กล่าวหรือไขข่าว

          บุคคลที่ 3 นอกจากผู้กล่าวไขข่าวและผู้เสียหาย โดยเป็นผู้ซึ่งได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้เห็น หรือ รับทราบข้อความจากผู้กล่าวไขข่าว ซึ่งจะมีเพียงคนเดียว หรือ หลายคนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้ร่วมกันทำละเมิด, สามีกับภรรยา, ผู้แอบดูแอบฟัง หรือ สอดรู้สอดเห็นโดยละเมิด และบุคคลที่ 3 นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่ประสงค์จะบอกกล่าวข้อความนั้น

(B)     ข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

  • ข้อความที่กล่าวหรือไขข่าวนั้น ต้องฝ่าฝืนต่อความจริง ---> ถ้าเป็นความจริง ย่อมไม่เป็นละเมิด ตามมาตรา 423 แต่อาจเป็นละเมิด ตามมาตรา 420 (ฎีกาที่ 3316/2525)
  • ต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง มิใช่เป็นเพียงคำด่า คำเปรียบเปรย คำคาดคะเน คำขู่ ล้อเล่นหยอกล้อหรือล้อเลียน (ฎีกาที่ 1752/2514)
  • บุคคลที่ 3 ผู้รับข้อความนั้น ไม่จำต้องเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ข้อความนั้น คนธรรมดาที่ได้ยินได้ฟัง จะต้องเกิดความคิดเห็นขึ้นได้ เช่น คำว่า "ผีปอบ" คนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นผีปอบได้ จึงไม่เป็นหมิ่นประมาท

(C)     เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือ ทางทำมาหาได้ ทางเจริญ ของบุคคลอื่น

1. ข้อความที่กล่าวหรือไขข่าวนั้นเป็นหมิ่นประมาท "ใส่ความด้วยข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงอันเป็นที่เสียหายแก่บุคคลอื่น" เช่น

  • ใส่ความว่าประพฤติชั่ว หรือ ทุจริต เช่น คนโกง คนขายชาติ
  • ใส่ความว่าประพฤติเสื่อมเสียในทางประเวณี เช่น มีชู้ หรือ เป็นหญิงโสเภณี
  • ใส่ความว่าประพฤติเสื่อมเสียในตำแหน่งหน้าที่หรืออาชีพ เช่น ข้าราชการคอรัปชั่น พ่อค้าโกงตาชั่ง
  • ใส่ความว่าเสื่อมเสียในฐานะทางการเงิน เช่น มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ใส่ความว่าเป็นโรคสังคมรังเกียจ เช่น โรคเรื้อน โรคเอดส์

    ข้อความใดที่มีความหมายพิเศษ โจทก์ต้องนำสืบให้เข้าใจความหมาย

2. ข้อความที่กล่าวหรือไขข่าวนั้น เล็งถึงผู้เสียหาย, ถ้ากล่าววถึงกลุ่มคนโดยไม่เจาะจงคนใดคนหนึ่ง หรือ หมดทั้งกลุ่ม ย่อมหาตัวผู้เสียหายไม่ได้

3. เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือ ทางทำมาหาได้ ทางเจริญ

  • ความสำคัญอยู่ที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อชื่อเสียงเสียหาย เกียรติคุณทางทำมาหาได้ และทางเจริญ ก็ย่อมพลอยเสียหายตามไปด้วย
  • มีข้อสังเกต รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 35 ใช้คำว่า "เกียรติยศชื่อเสียง" ตามพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า "เกียรติยศ" ไว้ว่า "เกียรติในฐานะตำแหน่งหน้าที่หรือชาติชั้นวรรณะ" ส่วน "เกียรติคุณ" ให้ความหมายไว้ว่า "เกียรติคุณที่เลื่องลือ ชื่อเสียงโดยคุณงามความดี" แต่อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงก็มีความหมายว่า เกียรติยศ ดังนั้น ทั้ง "เกียรติยศ" และ "เกียรติคุณ" จึงต่างเป็นชื่อเสียงเช่นเดียวกัน

          ฎีกาที่ 3805/2537 กว่าโจทก์จะเป็นบุคคลมีชื่อเสียง และเกียรติคุณเป็นที่รู้จักและยอมรับแก่บุคคลทั่วไปได้ โจทก์ต้องสร้างคุณงามความดีเป็นเวลานาน การที่จำเลยไขข่าวแพร่หลายใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันว่าภรรยาโจทก์กำลังหาทนายความทำเรื่องขอหย่าขาดจากโจทก์ เพราะโจทก์มีความสนิทสนมชิดชอบกับหญิงอื่น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนความจริง ย่อมทำให้ผู้ที่รู้จักโจทก์และได้อ่านข่าวดังกล่าว คิดว่าโจทก์มีความประพฤติในทางไม่ดี กระทำผิดศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ครอบครัวของโจทก์เกิดความร้าวฉาน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและดูหมิ่นโจทก์ ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบข่าวนี้แล้ว ย่อมขาดความเคารพเชื่อถือ เป็นผลเสียต่อหน้าที่การงานและความเจริญก้าวหน้า กับทำให้เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณที่เคยมีอยู่ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดในมูลละเมิด

          ฎีกาที่ 242/2515 ในเรื่องค่าเสียหาย โจทก์เป็นฝ่ายที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่า ตนได้เสียหายจริง ตามจำนวนที่ฟ้องเรียกร้องจากจำเลย

(D)     ควรรู้ได้ว่าไม่จริง

  • การกล่าวหรือไขข่าวอันเป็นการละเมิด ตามมาตรา 423 กฎหมายมิได้บัญญัติว่า ต้องทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ การกล่าวหรือไขข่าว จึงไม่ต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อตามหลักทั่วไป (ฎีกาที่ 4008/2526)
  • ดังนั้น ถ้าได้กระทำโดยรู้สำนึก ก็ถือได้ว่า กระทำละเมิดโดยการหมิ่นประมาท เพราะความตอนท้ายของมาตรา 423 บัญญัติว่า "ผู้กล่าวหรือไขข่าว" นั้น จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขา เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแก่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

          ฎีกาที่ 4008/2528 หนังสือพิมพ์เสนอข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ว่า โจทก์ประพฤติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม มีส่วนพัวพัน เป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ มีนิสัยชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ เมื่อข้อความนั้น ไม่เป็นความจริง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 423 และการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่า ต้องทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้รู้ว่า ข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรรู้ได้ ก็ต้องรับผิด

(E)     ข้อยกเว้นความรับผิด

1. ข้อยกเว้น เพราะมีทางได้เสียโดยชอบในการส่งข่าวสาร (ป.พ.พ. มาตรา 423 วรรค 2)

1.1 ต้องเป็นการส่งข่าวสารระหว่างผู้ส่งข่าวสารกับผู้รับข่าวสารโดยเฉพาะ คือ เป็นการแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารระหว่างกันเอง มิใช่กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายแก่บุคคลทั่วไป คำว่า "ข่าวสาร" นั้น ไม่จำเป็นต้องทำเป็นเอกสารเสมอไป อาจแจ้งหรือกล่าวข้อความด้วยวาจาก็ได้ และอาจกล่าวต่อหน้าก็ได้ เช่น บิดาเขียนจดหมายถึงบุตร หรือ กล่าวกับบุตรด้วยวาจาต่อหน้า ถือว่าเป็นการส่งข่าวสารแล้วเช่นกัน

1.2 ผู้ส่งข่าวสาร มิได้รู้ว่าข้อความที่ตนส่งไปนั้นเป็นความไม่จริง แม้การที่ไม่รู้นั้น จะเกิดจากความประมาทเลินเล่อก็ตาม อันเป็นการยกเว้นหลักทั่วไป ตามมาตรา 420 "ผู้ส่งข่าวสารจะไม่ได้รับการยกเว้นความรับผิด ตามมาตรา 423 วรรค 2 ก็เฉพาะแต่จงใจกล่าวเท็จ เช่น ก. บอก ข. บุตรสาวของตนว่า ค. คู่รักของ ข. เป็นคนชั่วช้าสารเลว เคยติดคุกติดตะรางมาแล้ว ความจริง ค. เป็นคนดี แม้ ก. จะกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ก. ก็ไม่ต้องรับผิดต่อ ค. เว้นแต่ ก. ทราบความจริงแล้วยังจงใจกล่าวเท็จ จึงจะต้องรับผิด

1.3 ผู้ส่งข่าวสาร หรือ ผู้รับข่าวสาร มีทางได้เสียโดยชอบในการส่งข่าวสารนั้น เช่น

  • บิดาบอกบุตรสาวของตน ถึงความประพฤติของชายคนรัก
  • ผู้จัดการสาขา รายงานถึงผู้จัดการสำนักงานใหญ่ ถึงฐานะการเงินของลูกค้า
  • นับสืบรายงานให้ผู้ว่าจ้าง ทราบถึงความประพฤติของสามี

          เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ ข้างต้น ผู้ส่งข่าวสารไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทน แม้ข่าวสารที่ตนส่งจะเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นด้วยข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงก็ตาม

2. ข้อยกเว้น เพราะมีเอกสิทธิในการกล่าวหรือไขข่าว

2.1 เอกสิทธิเด็ดขาด ตามรัฐธรรมนูญ

  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 157
  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 130 วรรค 1 "การกล่าวถ้อยคำใดๆ ในที่ประชุมสภา ไม่ว่าในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือ แสดงความคิดเห็น หรือ ออกเสียงลงคะแนน ไม่ว่าจะเป็นความจริง หรือ ความเท็จ หรือ หมิ่นประมาทใครหรือไม่ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้กล่าวมิได้" และวรรค 4 ยังให้ความคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณา รายงานการประชุมตามข้อบังคับของรัฐสภา และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้นด้วย

          แต่เอกสิทธิ ตามวรรค 1 ไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดอาญา หรือ ละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่รัฐมนตรี หรือ สมาชิกแห่งสภานั้น อาจให้ความคุ้มครองบุคคลตามวรรค 4 เท่านั้น 

          ฎีกาที่ 1929/2528 บุคคลผู้ได้รับเอกสิทธิดังกล่าว แม้ข้อความที่กล่าวหรือไขข่าวจะฝ่าฝืนต่อความจริง ก็ไม่ต้องรับผิด ตามมาตรา 423

2.2 เอกสิทธิเด็ดขาด ตาม ป.อ. มาตรา 331 "คู่ความ หรือ ทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือ ข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (ฎีกาที่ 657/2527)

2.3 เอกสิทธิไม่เด็ดขาด ตาม ป.อ. มาตรา 329 "ผู้ใดแสดงความคิดเห็น หรือ ข้อความใด โดยสุจริต

  1. เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือ ส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามครองธรรม
  2. ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
  3. ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
  4. ในการแจ้งข่าวสารด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
      ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

ยกเว้นความผิดให้เฉพาะผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต การกระทำโดยเข้าใจผิดก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต แต่ถ้ากระทำโดยรู้ว่าเป็นความเท็จ หรือรู้ว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะกระทำ ย่อมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นความผิดแต่อย่างใด

          ฎีกาที่ 1920/2531 เมื่อกฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้เฉพาะแต่ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต อันเป็นเอกสิทธิไม่เด็ดขาด ผู้ที่ได้รับยกเว้นความผิดนั้น จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้ข้อความที่กล่าวหรือไขข่าวจะฝ่าฝืนต่อความจริง ก็ไม่ต้องรับผิด ตามมาตรา 423

จำ     -     กรณีหมิ่นประมาท ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นความจริง ได้รับการยกเว้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 330 นั้น

----> ไม่เป็นการหมิ่นประมาทในทางแพ่งด้วย เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 423 จะต้องกล่าวหรือไขข่าว ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ถ้าข้อความนั้นเป็นความจริง ย่อมไม่เป็นละเมิด อันจะต้องรับผิด ตามมาตรา 423

 

3. ข้อยกเว้น เพราะความยินยอม

  • เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้กระทำ ย่อมไม่เป็นละเมิด เช่น บุคคล 2 คน สมัครใจทะเลาะด่าว่ากล่าวคำหมิ่นประมาทซึ่งกันและกันต่อหน้าบุคคลอื่น เป็นการสมัครใจเข้าเสี่ยงรับอันตราย ซึ่งถือว่าให้ความยินยอม จึงไม่เป็นละเมิด อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ถ้อยคำที่ต่างฝ่ายต่างด่าในการทะเลาะกัน โดยมุ่งหมายให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดด้วยการหมิ่นประมาท (ฎีกาที่ 223/2473)

 

ป.พ.พ. มาตรา 447    "บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามสมควร เพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดี แทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือ ทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้"

 

(ทีมงาน Thai Law Consult นำมาจาก หนังสือละเมิดและความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ของ ศาสตราจารย์ศักดิ์ สนองชาติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ เนื้อหา 320 หน้า ราคาจำหน่าย 280 บาท ภายในเล่มเต็มไปด้วยเนื้อหาน่าสนใจและครบถ้วนเรื่องละเมิด หนังสือเล่มนี้ ทนายอาวุโสมักแนะนำทนายใหม่ให้ซื้อไว้เป็นคู่มือในการทำงานครับ)

 

  • ทีมงาน Thai Law Consult นำฎีกาเด่นเกี่ยวกับละเมิดโดยการหมิ่นประมาท หรือ หมิ่นประมาทในทางแพ่ง มาลงไว้ข้างล่างนี้แล้วครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7869/2542

ป.พ.พ. มาตรา 423, 425, 438
ป.อ. มาตรา 328
ป.วิ.อ. มาตรา 46

          ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อปรากฏว่าคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องได้ถึงที่สุดโดยพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาซึ่งฟังยุติแล้วว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดการลงข่าวดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยการเผยแพร่โฆษณาทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง จำเลยที่ 2 ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดที่ใส่ความโจทก์นั้นเป็นความจริงหรือเป็นการเสนอข่าวสารอันจำเลยที่ 2 มิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง ศาลฎีกาจะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ คดีนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง

          จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 2ด้วยตามมาตรา 425

          โจทก์เป็นนักการเมืองอาวุโสมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ติดต่อกันถึง 6 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ขณะเกิดเหตุเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่และเป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม โจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทั้งขาดความเชื่อถือทางการค้า และสูญเสียโอกาสในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว

________________________________

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 100,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ประกาศคำพิพากษาและคำขออภัยโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานครทุกฉบับด้วยเนื้อที่หนึ่งในสองของหน้าที่ 1 ของแต่ละฉบับเป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกันโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

          จำเลยทั้งสองให้การว่า การรายงานข่าวของโจทก์เป็นไปโดยสุจริตตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทุกประการมิได้ทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาหรือหมดความเชื่อถือต่อตัวโจทก์ โจทก์จึงมิได้รับความเสียหายตามฟ้อง และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมา 100,000,000 บาท สูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน5,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26มีนาคม 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ โจทก์เป็นผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโจทก์เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ติดต่อกันมา 6 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 จำเลยทั้งสองได้เสนอข่าวโดยพาดหัวข่าวในหน้า 1ของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับประจำวันที่ 27 มีนาคม 2535 ว่า สหรัฐยันบัญชีดำณรงค์ป่วย "สมบุญ" อะไหล่ ถ้า "ดอกบัว" ไม่ไหว "ชาติไทย" แทน "จิ๋ว" จัดทัพ 200 เสียง ดึง "ราษฎร" "บิ๊กเต้ - บิ๊กตุ๋ย" บินด่วนเข้าเฝ้าฯ ครม.สูตร "ณรงค์"อาการรอแร่ โฆษกสหรัฐแถลงยืนยันสั่งงดวีซ่า "ว่าที่นายกคนที่ 19" ของเมืองไทยตั้งแต่เดือน ก.ค. 2534 เพราะพัวพันค้ายาเสพติด "ความหวังใหม่ - ปชป."ถล่มตามน้ำยับเยิน "จ๊อด" เรียกเหลิมเจ้าเก่าเข้า บก.สส. เจ้าตัว "ช็อก" ล้มป่วยต้องเรียกหมอรักษาถึงบ้านด่วน เก็บตัวเงียบ" และมีเนื้อหารายละเอียดต่ออีกโดยระบุให้อ่านหน้า 21 และหน้า 22 ปรากฏตามหนังสือพิมพ์ข่าวสด

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดและต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของคู่ความว่าโจทก์ได้นำข้อความทำนองเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันไปฟ้องจำเลยทั้งสองหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารต่อศาลจังหวัดแพร่ คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวนอกจากจะผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีแล้ว ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องได้ถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เอกสารหมาย จ.4ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาซึ่งฟังยุติแล้วว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดการลงข่าวดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยการเผยแพร่โฆษณาทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จำเลยที่ 2 ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ว่าข้อความหรือเนื้อหารายละเอียดที่ใส่ความโจทก์นั้นเป็นความจริงหรือเป็นการเสนอข่าวสารอันจำเลยที่ 2มิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง และศาลฎีกาจะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงใด และจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท นั้น ต่ำไป ควรเป็น 10,000,000บาท ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นสูงเกินไป เห็นว่า โจทก์เป็นนักการเมืองอาวุโสมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไป เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ติดต่อกันถึง 6 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ขณะเกิดเหตุเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ และเป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม โจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทั้งขาดความเชื่อถือทางการค้าและสูญเสียโอกาสในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย เช่นนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาทจึงนับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายที่แพ้คดีต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงสมควรให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย"

          พิพากษายืน 

( ธีรศักดิ์ เตียวัฒนานนท์ - วิเทพ ศิริพากย์ - สุวัฒน์ วรรธนะหทัย )

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6245/2537

ป.พ.พ. มาตรา 423

           หนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ได้ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 3 เขียนคอลัมน์สรุปได้ความว่าซ่าส์มากกว่าแค้น ที่ตั้งรัฐสภาทั่วบริเวณถือว่าเป็นเขตพระราชฐาน ผู้ใดจะพกอาวุธไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ดื่มสุราจนเกือบครองสติไม่อยู่ใช้ฝ่ามือตบหน้าช.วุฒิสมาชิก3ฉาดในข้อหาฐานใช้ปากไม่สบอารมณ์ในการประชุมวุฒิสภาสมัยก่อน ในวันนั้นพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ช. ได้พูดจาประหนึ่งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่มีความรู้ความสามารถอะไรอย่างดีก็แค่หมาน้อยเห่าเครื่องบิน เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ได้ตบหน้าช. จริงโดยได้กระทำในเขตพระราชฐานและโจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือได้ว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยไม่น่าจะก่อเหตุเช่นนั้น การที่จำเลยที่ 3 เขียนข้อความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา จำเลยที่ 3 เป็นผู้เขียนคอลัมน์ "ลูกเล่นลูกจริง"ใช้นามปากกาว่า "วัลลี วัลภา" ในหนังสือพิมพ์ดาวสยามเมื่อวันที่24 กรกฎาคม 2530 หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 3 เขียนใช้นามปากกาว่า "วัลลี วัลภา" สรุปได้ความว่าซ่าส์มากกว่าแค้นที่ตั้งรัฐสภาทั่วบริเวณถือว่าเป็นเขตพระราชฐานผู้ใดจะพกอาวุธไม่ได้ กรณีของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดพรรครวมไทยดื่มสุราจนเกือบครองสติไม่อยู่ใช้ฝ่ามือตบหน้านายชวลิต รุ่งแสง วุฒิสมาชิก 3 ฉาดในข้อหาฐานใช้ปากไม่สบอารมณ์ในการประชุมวุฒิสภาสมัยก่อน ในวันนั้นพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง นายชวลิตได้พูดจาประหนึ่งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่มีความรู้ความสามารถอะไร อย่างดีก็แค่หมาน้อยเห่าเครื่องบิน และข้อความอื่นตามเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ข้อความที่จำเลยที่ 3 เขียนลงพิมพ์ในเอกสารหมาย จ.2 เป็นละเมิดซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้เมาสุราแล้วตบหน้านายชวลิต โจทก์เพียงแต่เข้าไปทักทายนายชวลิตด้วยเสียงดังทำให้ผู้ที่นั่งอยู่ที่โต๊ะอื่นในบริเวณนั้นไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นการทะเลาะวิวาทกันและเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เดินเข้าไปตบไหล่นายชวลิตเพียงครั้งเดียวเป็นการทักทายโดยตบไม่แรงมาก เห็นว่า หากเป็นจริงดังที่โจทก์เบิกความแล้วก็ย่อมไม่มีเหตุที่เลขาธิการรัฐสภาต้องเรียกนายประหยัด ธนูมาศผู้จัดการสโมสรรัฐสภาไปสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสโมสรรัฐสภาในวันนั้นซึ่งนายประหยัดก็ได้ทำบันทึกรายงานให้เลขาธิการรัฐสภาทราบว่าโจทก์ได้ตบหน้านายชวลิตตามเอกสารหมาย ล.4 และได้ความจากคำเบิกความของนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นว่า หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม2530 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตบสั่งสอนวุฒิสมาชิก ซึ่งคู่กรณีคือโจทก์กับนายชวลิต รุ่งแสง และต่อมาก็มีรายงานเอกสารหมาย ล.4มาให้รับทราบ จึงเห็นได้ว่าน่าจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแม้นายชวลิตพยานโจทก์จะเบิกความว่าโจทก์ไม่ได้ตบหน้าตนเพียงแต่โจทก์พูดเสียงดังเท่านั้น แต่ก็รับว่าวันเกิดเหตุโจทก์ดื่มสุรามาบ้างเล็กน้อย เห็นว่าคำเบิกความของนายชวลิตขาดเหตุผล กล่าวคือ หากโจทก์ไม่ได้ล่วงเกินนายชวลิตดังที่นายชวลิตเบิกความแล้วโจทก์ก็ไม่น่าจะต้องพูดกับนายชวลิตเมื่อพบกันหลังจากนั้นว่า "เราไม่มีอะไรกันนะ" การที่โจทก์กล่าวถ้อยคำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความกังวลในการกระทำของตน และโจทก์เบิกความรับว่าโจทก์ได้ตบไหล่นายชวลิตแต่ไม่แรงมาก ส่วนนายชวลิตไม่ได้เบิกความถึงเรื่องดังกล่าวเลย แสดงว่านายชวลิตปกปิดข้อเท็จจริงทำให้คำเบิกความไม่น่าเชื่อ เมื่อพิจารณาข้อนำสืบของฝ่ายจำเลยแล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 ขณะที่จำเลยที่ 3นั่งรับประทานอาหารที่สโมสรรัฐสภาร่วมโต๊ะเดียวกันกับพันเอกณรงค์กิตติขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายวิเชียร แก้วเปล่ง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ยินเสียงโจทก์ซึ่งนั่งอยู่ถัดไปอีก 5 โต๊ะ พูดจาก้าวร้าวเสียงดังมีลักษณะอาการคล้ายคนเมาสุรา และหลังจากนั้นโจทก์ได้ลุกเดินไปยังโต๊ะที่นายชวลิตนั่งพร้อมกับพูดต่อว่านายชวลิตด้วยเสียงดังว่า"มึงแน่นักหรือที่ด่า ส.ส. ว่าเป็นหมาเห่าเครื่องบิน" พร้อมกับใช้มือขวาตบหน้านายชวลิต 3 ครั้ง แล้วโจทก์เดินเข้าห้องน้ำไป ในวันต่อมาหนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นหนังสือพิมพ์บ้านเมืองลงข่าวตามเอกสารหมาย ล.1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งโจทก์ก็เบิกความรับว่าหนังสือพิมพ์บ้านเมืองและหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ลงข่าวว่าโจทก์ตบหน้านายชวลิตจริงและรับว่าโจทก์เคยดื่มสุราจนกระทั่งครองสติไม่อยู่ และบางครั้งเมื่อเมาสุราแล้วทำอะไรไปโดยขาดสติก็มีบ้างเห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์ได้ตบหน้านายชวลิตจริง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวได้กระทำในเขตพระราชฐาน และโจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือได้ว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยไม่น่าจะก่อเหตุเช่นนั้นขึ้นการที่จำเลยที่ 3 เขียนข้อความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดาวสยามตามเอกสารหมาย จ.2 นั้น เห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( นิวัตน์ แก้วเกิดเคน - เสมอ อินทรศักดิ์ - ดุสิต เพชรปลูก )

 

(ฎีกาเหล่านี้ทีมทนายความ Thai Law Consult นำมาจากระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา 4-1-56)